ห้องเพลง**คนรากหญ้า** พักยกการเมือง มุมเสียงเพลง มุมนี้ไม่มีสี ไม่มีกลุ่ม มีแต่เสียง 8/7/2560 - อาสาฬหะ + พระธรรมจักร

กระทู้คำถาม

ห้องเพลงคนรากหญ้าเปิดขึ้นมามีวัตถุประสงค์ เพื่อ

1. มีพื้นที่ให้เพื่อนๆ ได้มาพบปะ พูดคุยระหว่างกัน ในภาวะที่ต้องระมัดระวังการโพสการเมืองอย่างเคร่งครัด
2. เป็นพื้นที่ พักผ่อน ลดความเครียดทางการเมือง ให้เพื่อนๆ มีกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกัน
3. สร้างมิตรภาพและความปรองดอง ซึ่งเราหวังให้สังคมไทยเป็นเช่นนี้ แม้นคิดต่างกัน แต่เมื่อคุยกันแล้วก็เป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม

กระทู้ห้องเพลงเป็นกระทู้เปิด มิได้ปิดกั้นผู้หนึ่งผู้ใด "ขอให้มาดี เราคือเพื่อนกัน" ซึ่งก็เหมือนกับกระทู้ทั่วไป ที่เราไม่จำเป็นต้องทราบว่า User ท่านไหนเป็นใครมาจากไหน  ...ดังนั้น หากมีบุคคลใดที่มีการโพสสิ่งผิดกฎหมายและศีลธรรมอันดีของสังคมนั้น หรือสิ่งรบกวนใดๆ ในบอร์ด เป็นเรื่องส่วนบุคคล ทางห้องเพลงจึงขอแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สวัสดีครับอมยิ้ม17 สมาชิกห้องเพลงทุกๆท่าน วันนี้ วันเสาร์ MC WANG JIE (แอ๊ด) เข้าประจำการครับอมยิ้ม36

และเนื่องจากวันนี้เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา MC ก็เป็น "มหา" เก่า ฉะนั้นก็ขอ "ขึ้นธรรมาสน์" เล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ "อาสาฬหบูชา" ครับ

เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทานการบวชชนิดแรกด้วยพระองค์เองที่เรียกว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" แก่โกณฑัญญพราหมณ์ หลังจากทรงแสดงธรรมจักรกัปปวัตนสูตรจนท่านได้ดวงตาเห็นธรรมคือบรรลุเป็นโสดาบัน หลังจากพระองค์ตรัสว่า "เอหิ ภิกฺขุ=จงเป็นภิกษุ มาเถิด" แล้วท่านก็กลายเป็นพระโกณฑัญญะ หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า "อัญญาโกณฑัญญะ" ซึ่งคำว่า "อัญญา" ที่เติมข้างหน้านั้นแปลว่า "ได้รู้แล้ว" เป็นพระดำรัสที่พระพุทธองค์ทรงเปล่งออกหลังจากที่ท่านได้ดวงตาเห็นธรรมว่า " อญฺญาสิ วต โภ โกณฺทญฺโญ = ผู้เจริญ! โกณทัญญะได้รู้แล้วหนอ" แล้วนั้น พระรัตนะ ก็ครบ ๓ เป็น "พระรัตนไตร" โดยสมบูรณ์ หลังจากนั้นจึงทรงประทาน "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" แก่อีก ๔ ท่านที่เหลือคือท่านวัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ โดยลำดับ และท่านเหล่านั้น ซึ่งเรารู้จักกันดีในชื่อว่า "พระปัญจวัคคีย์" (แปลว่า มีพรรคพวก ๕) สุดท้ายก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ หลังจากได้ฟังพระสูตรคือ อนัตตลักขณสูตรในภายหลัง แต่ก่อนหน้าที่จะเกิดพระรัตนะครบ ๓ นั้น มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่น่าหวาดเสียว หวุดหวิด หรือเกือบจะไม่เกิดพระรัตนไตรแล้ว!
เรื่องราวเป็นเช่นไร จะเล่าให้ฟังครับ...

ตอนที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ๆ นั้น พระองค์ยังมิได้ทรงเป็น "พระพุทธเจ้า" อย่างสมบูรณ์เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เหตุเพราะพระองค์ยังมิได้ทรงแสดงธรรมสั่งสอนผู้ใด และขณะที่พระองค์กำลังทรงพิจารณาธรรมทั้งหลายอยู่นั้น ทรงมีพระปริวิตก ทรงเล็งเห็นว่า ธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้นั้น มีความลึกซึ้งเป็นอันมาก ยากแก่การที่มนุษย์ในโลกนี้จะสามารถเข้าใจ เข้าถึง อย่างพระองค์ได้ ดังนั้น ในเบื้องต้น พระองค์ยังไม่ทรงดำริที่จะสั่งสอนแก่ใครๆ พูดตามภาษาชาวบ้านให้ฟังเข้าใจง่ายๆ คือ ธรรมที่พระองค์เพิ่งตรัสรู้มานั้น ยากเกินไปสำหรับมนุษย์บนโลกนี้ คงไม่มีใครสามารถเข้าใจได้ คงไม่มีใครจะสามารถบรรลุธรรมเหมือนอย่างพระองค์ได้ เพราะฉะนั้นก็จะไม่สอนใครๆละ!

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนอาจารย์ที่ทรงวิชาคณิตศาสตร์ชั้นสูงอย่างแคลคูลัส แล้วมีนักเรียนทั้งหมดเป็นนักเรียน ป.1 ป.2 จะไปสอนให้เข้าใจได้อย่างไร ? เพราะมันเกินระดับสติปัญญาความสามารถของนักเรียนเหล่านั้น

ครั้นทรงมีพระปริวิตกเช่นนั้น ก็เลยเดือดร้อนถึงท้าวสหัมบดีพรหม ต้องมาเข้าเฝ้าและวิงวอนขอให้พระองค์ทรงแสดงธรรมโดยกราบทูลว่า มนุษย์นั้นมีสติปัญญาแตกต่างกัน น่าจะมีผู้ฉลาดที่สามารถเข้าใจธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ได้บ้าง พระองค์จึงทรงใคร่ครวญตามคำทูลวิงวอนของท้าวสหัมบดีพรหม แล้วก็ได้ทรงเล็งเห็นว่า มนุษย์นั้น ฉลาดก็มี โง่ก็มี แบ่งได้เป็น ๔ กลุ่ม เปรียบเสมือนดอกบัว ๔ เหล่า คือ
(๑) อุคฆฏิตัญญู พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที
(๒) วิปจิตัญญู พวกที่มีสติปัญญาดี เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป
(๓) เนยยะ (อ่านว่า "ไนยยะ") พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธา ปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง
(๔) ปทปรมะ (ปะทะปะระมะ) พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน

ใน ๔ จำพวกนี้ ๓ พวกแรก จัดว่าเป็น "เวไนยสัตว์" แปลว่า "สัตว์โลกผู้อันพระองค์พึงทรงแนะนำได้" ส่วนจำพวกที่ ๔ เรียกว่า "อเวไนยสัตว์" ก็ความหมายตรงกันข้าม คือ "สัตว์โลกผู้อันพระองค์ไม่พึงทรงแนะนำได้"

ที่ว่า "ไม่พึงทรงแนะนำได้" นั้น เพราะสัตว์จำพวกนั้นมันโง่จนเกินขั้นจะเข้าใจอะไรๆได้ เหมือนคนเป็นครูเป็นอาจารย์ เจอลูกศิษย์ปัญญาทึบ สอนไปก็เหนื่อยเปล่า อธิบายยังไงก็แล้ว ให้ทำแบบฝึกหัดมากแค่ไหนก็ตาม ก็ยังไม่เข้าใจในเรื่องที่สอนนั้นเสียที จำใจต้องปล่อยไปตามยถากรรม!

ครั้นทรงเล็งเห็นเช่นนี้ จึงได้มีพระดำริที่จะแสดงธรรมต่อไป...แล้วพระองค์ก็ทรงระลึกถึง ๒ อาจารย์คือ อาฬารดาบส และอุทกดาบส ผู้เคยสอนศิลปวิทยาการแก่พระองค์ในสมัยก่อน เป็นอันดับแรก แต่ก็ได้ทรงทราบว่าทั้งสองท่านเสียชีวิตไปแล้ว ....ดังนั้น พระองค์จึงทรงระลึกถึง เหล่าปัญจวัคคีย์ ที่เคยถวายการอุปัฏฐากแด่พระองค์ จึงทรงตัดสินพระทัยที่จะเสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  ถึงตอนนี้ "พระรัตนะ" ยังมีเพียง ๒ เท่านั้น คือ พระพุทธเจ้า และพระธรรม ที่ทรงตรัสรู้

ระหว่างทางเสด็จเดินทาง พระองค์ได้พบกับ สองพ่อค้า ชื่อ ตปุสสะ และ ภัลลิกะ ทั้งสองได้พบพระองค์แล้ว เกิดความเลื่อมใส จึงได้นำข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงมาถวายแด่พระองค์ และทูลขอรับนับถือพระองค์เป็นสรณะ (ที่พึ่ง) ตลอดชีวิต พระองค์ก็ประทานความเป็นสรณะให้, สองพ่อค้านี้ ได้ชื่อว่าเป็น "อุบาสกคู่แรกของโลก" มีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลีว่า "เทฺววาจิกอุบาสก" แปลว่า อุบาสกซึ่งได้เป็นโดยกล่าววาจาสองประการ คือ " พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ....ข้าพเจ้า ขอถึง (นับถือ) ซึ่งพระพุทธเจ้า ว่าเป็นสรณะ, ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้า ขอถึงซึ่งพระธรรม ว่าเป็นสรณะ " เพราะขณะนั้น "พระสงฆ์" ยังไม่มี ทั้งสองจึงเป็นได้เท่านี้ ซึ่งก็นับว่าเป็นบุญวาสนาอย่างล้นเหลือแล้วที่ได้มาพบพระพุทธเจ้าแล้วได้เป็นอุบาสกคู่แรกของโลก แถมตอนท้าย พระพุทธองค์ยังทรงใช้พระหัตถ์ลูบพระเศียร ติดพระเกศาออกมาหน่อยหนึ่ง แล้วประทานให้กับคนทั้งสองเอาไว้บูชาเสียอีกด้วย!!!

อันที่จริง มีคนอีกคนหนึ่งที่ได้พบพระพุทธเจ้า แต่เป็นคนที่เปรียบได้กับ "ปทปรมะ" หรือบัวใต้โคลนตม นั่นคือ ปริพาชกชื่อ ทีฆนขะ,ปริพาชก เป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนา ถือการท่องเที่ยวจาริกไปในที่ต่างๆ ถ้าเป็นหญิงจะเรียกว่า ปริพาชิกา มีมาก่อนหน้าที่พระพุทธเจ้าจะได้ทรงตรัสรู้แล้ว,ชื่อของปริพาชกคนนี้ที่ว่า "ทีฆนขะ" ก็แปลกพิลึก เพราะมันแปลว่า "คนเล็บยาว" สงสัยจะไม่ยอมหรือขี้เกียจตัดเล็บกระมัง ? คนปกติทั่วไปใครที่ไหนจะใช้ชื่อแบบนี้ ท่าทางคงไม่เต็มเต็งแน่ๆ! นาย "เล็บยาว" พอมาพบเจอพระพุทธเจ้าเข้า แทนที่จะเลื่อมใสในพระอิริยาบท ดันบังอาจถามว่า "ใครเป็นครูหรืออาจารย์ของท่าน ?" ครั้นพระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่มีอาจารย์ พระองค์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง นาย "เล็บยาว" แทนที่จะอัศจรรย์ใจเลื่อมใส เปล่าเลย ดันส่ายหัว และแลบลิ้นใส่พระพุทธองค์ซะงั้น ก่อนจะเดินจากไป ดูมันทำ !!!

สองเดือนผ่านไปหลังการทรงตรัสรู้ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ อาสาฬหฤกษ์ พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จมาแสดงธรรมคือปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งทีแรกพวกปัญจวัคคีย์ก็นัดกันว่าจะไม่ถวายการต้อนรับพระองค์ เพราะเห็นพระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา เลิกอดพระกระยาหารกลับมาเสวย ในครั้งก่อน ทำให้พวกตนเสื่อมความเลื่อมใส ถึงกับนัดแนะกันเลยทีเดียวว่า ถ้าพระองค์เสด็จมาถึง ไม่ต้องลุกขึ้นยืนต้อนรับ อาสนะที่นั่งก็ไม่ต้องไปจัดถวาย พระองค์อยากนั่งก็จงนั่งเองเถอะ ว่างั้น! แต่ว่า พอพระองค์เสด็จมาถึงที่ๆ คนทั้ง ๕ อาศัยอยู่ สิ่งที่นัดแนะกันไว้ก่อนก็กลับพากันลืมหมด พากันต้อนรับ จัดปูอาสนะเชื้อเชิญเป็นต้น แต่ก็ยังกระด้างกระเดื่องต่อพระองค์อยู่ จนพระองค์ทรงห้ามเสียและตรัสว่าจะแสดงธรรมให้ฟัง แม้กระนั้นก็ยังไม่วายมีเถียง! ว่าเมื่อก่อนนี้พระองค์ทรงคลายความเพียรเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยาเสียแล้วกลับมาเสวยพระกระยาหาร พวกเราจึงไม่เลื่อมใส ละทิ้งพระองค์ไป อย่างนี้แล้วพระองค์จะแสดงธรรมอะไรกัน ? พระพุทธองค์ก็จึงทรงย้อนว่า แล้วพวกท่านเคยได้ยินเราพูดมาก่อนหรือเปล่าล่ะ ว่าเราจะแสดงธรรม ? เมื่อก่อนเราเคยพูดไหม ? พวกเขาจึงยอมนั่งฟังพระองค์แสดงธรรมแต่โดยดี แล้วก็ได้ฟังพระปฐมธรรมเทศนา "ธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร" ซึ่งแปลว่า "พระสูตรว่าด้วยการยังจักรหรือกงล้อแห่งพระธรรมให้หมุนไป" ความหมายก็คือ "การประกาศพระศาสนา" สถาปนาขึ้นในโลกนี้นั่นเอง ซึ่งหลังจากทรงแสดงธรรมก็ทำให้เกิดพระรัตนะครบ ๓ ดังที่ได้กล่าวมาในตอนต้น

ส่วนใจความหลักของพระธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรนั้น ก็คือ ๒ หัวข้อใหญ่ๆ ได้แก่
(๑) มัชฌิมาปฏิปทา ทรงสอนให้ดำเนินทางสายกลาง ไม่หย่อนยานทำตัวสุขสบายเกินไป และไม่ตึงเคร่งครัดทำตัวเองให้ลำบากมากเกินไป
(๒) อริยสัจ ๔ เป็นความจริง หรือสัจธรรมแห่งพระอริยะ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย (ต้นเหตุแห่งทุกข์) นิโรธ (ความดับทุกข์) และมรรค (หนทางหรือวิธีการที่จะดับทุกข์) ซึ่งมีองค์ ๘ อันต้องใช้ในการเดินทางสายกลางในข้อ (๑) ทุกข้อ คือ
สัมมาทิฐิ (ความเห็นชอบ/ถูกต้อง) ทั่วไปคือ มีความคิดความเชื่อเรื่องบาปบุญเป็นต้น โดยธรรมหมายถึง ความรู้ในอริยสัจ 4
สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) ทั่วไปคือ คิดริเริ่มทำดี เช่นคิดว่าเข้าพรรษาปีนี้ เราจะเลิกกินเหล้า เป็นต้น, โดยธรรมหมายถึง ความคิดในการออกจากกาม ความไม่พยาบาท และการไม่เบียดเบียน
สัมมาวาจา (วาจาชอบ) คือ พูดจาดี มีสาระ มีประโยชน์ เป็นปิยวาจา เว้นจากการพูดเท็จ หยาบคาย ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ
สัมมากัมมันตะ (การงานหรือการกระทำโดยชอบ) คือการทำสิ่งที่ดีต่างๆ เช่นถือศีล ๕ การช่วยผู้ตกทุกข์ได้ยาก เป็นต้น
สัมมาอาชีวะ (อาชีพที่ชอบ) หมายถึง การเว้นจากมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ เป็นสุจริต
สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ) หมายถึง ความพยายามทำคุณงามความดีทุกอย่าง เพื่อป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิด ละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วเอาไว้
สัมมาสติ (การมีความระลึกชอบ) โดยทั่วไปคือ มีสติสัมปชัญญะในการทำสิ่งใดๆ ไม่พลั้งเผลอ และระลึกถึงแต่สิ่งที่ดีงาม โดยทางธรรม มุ่งหมายถึง สติปัฏฐาน ๔
สัมมาสมาธิ (การตั้งใจชอบ) โดยทั่วไปคือ มีความตั้งใจอันเป็นกุศลในเรื่องที่ทำที่เป็นกุศลเช่นกัน ในทางธรรม หมายถึง การบรรลุฌาน ๔
พบกันใหม่ วันพรุ่งนี้อีก 1 วันครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่