อ่านข่าวแล้ว อยากจะถอนเงินออกจากสหกรณ์ แล้วมันน่ากลัวแบบนั้นจริงไหม

จริงๆ ข่าวโกงสหกรณ์ ก็มีเป็นช่าวใหญ่มาให้เห็นเป็นระยะ
ผมก็เอาเงินไปฝากสหกรณ์นะครับ แม้ว่าจะไม่มาก แต่ได้ดอกเบี้ยดีกว่าธนาคาร แถมกู้ก็ง่ายกว่าเยอะ(ไม่ต้องใช้เอกสาร หรือรอการพิจารณานานแบบธนาคาร) แต่ก็ต้องมีคนค้ำด้วย(ผมก็วงคนค้ำใรการกู้ ผลัดกันกู้ ผลัดกันค้ำว่างั้นเหอะ)
แต่พอไปอ่านข่าว มันจะเป็นแบบนั้นจริงไหม

(Jun 29) ระเบิดเวลา'สหกรณ์ออมทรัพย์' : ออกมาตอกย้ำแสดงความกังวล อีกครั้งกับ "ปัญหาสหกรณ์ออมทรัพย์" ของ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

โดยได้แสดงความเป็นห่วงว่าปัญหาวิกฤตสหกรณ์ออมทรัพย์อาจจะเป็นตัวจุดฉนวนปัญหาเศรษฐกิจและจะลุกลามเป็นลูกโซ่ ทำให้ระบบการเงินและเศรษฐกิจไทยสั่นสะเทือนได้
          
"ปัจจุบันธุรกิจสหกรณ์ออมทรัพย์ มีเงินมหาศาลเป็นธุรกิจเงินต่อเงิน หากปัญหาลุกลามเป็นลูกโซ่จะก่อให้เป็นปัญหาทั้งระบบได้" ประสาร กล่าว
          
สิ่งสำคัญที่อดีตผู้ว่าการ ธปท. ได้ออกมาเตือนผู้กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ว่าอย่าชะล่าใจ ถึงแม้ว่ายังไม่มีวิกฤตแต่ก็ต้องระมัดระวัง เพราะวิกฤตเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง พร้อมแนะนำให้รัฐบาลควรที่ต้องใช้ช่วงเวลานี้ในการเข้าไปจัดการก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้นจนกลายเป็น "วิกฤต"
          
แม้ว่าที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังเสนอก็ตาม ซึ่งประสารก็มองว่าเป็นเพียงแค่กฎระเบียบ ซึ่งไม่ทราบว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างจะสามารถปฏิบัติได้ตามหรือไม่ และผู้กำกับดูแลสหกรณ์จะสามารถดูแลได้ทั่วถึงไหม
          
หากจะวิเคราะห์จุดอ่อนสำคัญของระบบสหกรณ์ออมทัรพย์มีทั้งในตัวของผู้กำกับดูแลสหกรณ์เอง รวมไปถึงคุณสมบัติความสามารถและธรรมา ภิบาลของผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ และการกำหนดกฎเกณฑ์การปล่อย สินเชื่อและระดมเงินฝากที่ยังมีความ หละหลวม
          
ประสาร กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องให้สหกรณ์ออมทรัพย์อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ผู้กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์จะต้องปรับบทบาทตัวเอง และสหกรณ์ออมทรัพย์ควร ที่จะต้องเข้ามาเป็นสมาชิกบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เพื่อที่จะตรวจสอบประวัติหรือข้อมูลผู้กู้ให้มีประสิทธิภาพหรือไม่
          
ธปท.ย้ำมาเสมอต้องการจะให้ "สหกรณ์ออมทรัพย์" เข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร ซึ่งเห็นภาพรวมการเป็นหนี้ภาคครัวเรือนที่แท้จริงและปัญหาหนี้สิน
          
ตลอดเวลาที่ผ่านมา สหกรณ์ ออมทรัพย์อ้างเหตุผลไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเข้าเป็นสมาชิกเครดิต บูโร เพราะไม่มีความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ เนื่องจากมีกฎหมายคุ้มครองมีสิทธิเป็นเจ้าหนี้ลำดับแรกๆ ที่จะได้รับเงินคืนก่อนหากมีการฟ้องร้องดำเนินคดีความกัน รวมถึงสหกรณ์จะมีการเซ็นสัญญากับหน่วยงานให้มีการหักเงินเดือนชำระหนี้ก่อน เท่ากับว่าเป็นการปิดประตูความเสี่ยงการเบี้ยวหนี้ของผู้กู้
          
ในมุมมองนี้ก็ไม่ใช่ว่าสหกรณ์ ออมทรัพย์จะไม่มีความเสี่ยงการปล่อย สินเชื่อ การที่สหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ส่งประวัติการขอสินเชื่อ ทำให้ภาพรวมการเป็นหนี้ระดับภาคครัวเรือนบิดเบี้ยว มีปัญหานี้ที่ซุกซ่อนไว้ ในที่สุดปัญหาจะฝีแตกยากเกินจะแก้ไข
          
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จับตามองความเสี่ยงและขนาดของสหกรณ์ที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประสาร รวมไปถึง วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. คนปัจจุบันต่างก็ออกมากระทุ้งและเตือนโดยมีความเป็นห่วงสหกรณ์ออมทรัพย์มาโดยตลอด เนื่องจากสหกรณ์ถือว่าเป็นสถาบันการเงินประเภทหนึ่งที่มีการระดมเงินฝากและมีการปล่อย สินเชื่อ โดยจากข้อมูลล่าสุดของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ณ สิ้นปี 2559 มีสหกรณ์รวมทั้งหมด 7,129 แห่ง มีสินทรัพย์รวม 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 1,499 แห่ง และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 571 แห่ง มีสินทรัพย์รวมกันถึง 2.1 ล้านล้านบาท
          
อีกหนึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนก็สร้างความกังวลใจให้กับ ธปท. โดยในปี 2558 มูลค่าหนี้ครัวเรือนสูงถึงประมาณ 11 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 85% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) โดยยอดหนี้ครัวเรือนนี้เติบโตอย่างมาก เมื่อเทียบกับปี 2554 ที่หนี้ครัวเรือนมีเพียง 7.3 ล้านล้านบาทเท่านั้น เมื่อพิจารณาที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจำแนกตามประเภทสถาบันการเงิน พบว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนจากสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมีสัดส่วนประมาณ 15% ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินอื่น เมื่อพิจารณาที่มูลค่าของสินเชื่อ จากสหกรณ์ออมทรัพย์ระหว่างปี 2554-2558 พบว่ายอดเงินสินเชื่อทั้งระบบของสหกรณ์ออมทรัพย์เติบโตจาก 1 ล้านล้านบาท ในปี 2554 เป็น 1.68 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 1.6 เท่า ในปี 2558 นี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งว่าทำไม ธปท. จึงกังวลกับ "สหกรณ์ออมทรัพย์"
          
แม้ว่าเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ตามที่กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอและมอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะกำกับดูแลสหกรณ์ออกมาเป็นประกาศนายทะเบียนและมีผลบังคับ ในเมื่อ วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น แต่ก็ยังเจอกระแสเครือข่ายสหกรณ์ที่เจรจา ต่อรองขอขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎระเบียบออกไปก่อน เพราะยังไม่มีความพร้อม
          
ทั้งนี้ สาระสำคัญของกฎระเบียบการควบคุมสหกรณ์ออมทรัพย์นั้นส่วนใหญ่ เพื่อป้องกันการใช้สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นช่องพักเงินของเศรษฐีที่มาฝากเงินไว้ โดยไม่ต้องเสียภาษีแถมยังได้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งเงินกู้ โดย ไม่ต้องมีการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดเหมือนธนาคารพาณิชย์ หรือการนำเงินสหกรณ์ไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ ที่ขาดการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่ดีพอ ผู้บริหารสหกรณ์ขาดธรรมาภิบาล มีปัญหาการยักยอกเงิน
         
สำหรับกฎระเบียบที่มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้แก่

1.กำหนดให้อัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากทุกประเภทของสหกรณ์และชุมนุมไม่เกิน 4.5% ต่อปี
          
2.กำหนดให้อัตราจ่ายเงินปันผลไม่เกิน 10% ต่อปี แต่ไม่เกิน 80% ของกำไรสุทธิของสหกรณ์
          
3.การรับฝากเงินจากสหกรณ์อื่น สหกรณ์ผู้รับฝากจะรับฝากเงินจากสหกรณ์ใหญ่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป เมื่อรวมกับเงินกู้ ได้ไม่เกิน 10%ของทุนเรื่อนหุ้นบวกทุนสำรองของสหกรณ์

4. สหกรณ์ขนาดใหญ่ 5000ล้านบาทขึ้นไป จะปล่อยกู้ให้สหกรณ์แห่งใดแห่งหนึ่งไม่เกิน 10%ของทุนเรือนหุ้น บวกทุนสำรองของสหกรณืผู้ให้กู้


นี่เป็นเพียงกระดาษที่จะเขียนบังคับสหกรณ์เท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดการนำไปปฏิบัติใช้ และผู้กำกับดูแลสหกรณ์เองจะมีความสามารถเข้าไปตรวจสอบ ทำให้สหกรณ์อยู่ในกฎระเบียบ ไม่แหกกฎไปสร้างความเสี่ยงและความเสียหายให้กับสมาชิกผู้ฝากเงินกับสหกรณ์ได้หรือไม่
จาก Posttoday โดย ชีวรัตน์ กิจนภาพงศ์
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่