[CR] รีวิวสามัญชน: หม้อน้ำอัพเกรด ดีจริงไหม

ใช้รถมาหลายปี จนเมื่อต้นเดือนเข้าไปซ่อมช่วงล่างที่อู่คุณเล้ง คุณเล้งทักมาว่าหม้อน้ำโหงวเฮ้งไม่ดีนะ ไกล้เสียแล้ว แต่ในช่วง 1 หมื่น กม. นี้ ยังไหวอยู่ เท่านั้นแหละครับ ทำให้ผมรีบหาร้านและอู่ทันที แต่กว่าจะได้เปลี่ยนก็ เกือบจะปลายเดือนแล้วครับ..


ข้อมูลเกี่ยวกับรถ
- ยี่ห้อ/รุ่น: Corolla Altis 2004 (หน้าหมู)
- เครื่องยนต์: 2zz-ge เกียร์ธรรมดา 6 สปีด
- น้ำมันเครื่อง: Mobil1
- น้ำยาหล่อเย็น: Toyota Long Life
- อุณหภูมิทำงาน: 85-95 องศา
- วาล์วน้ำเปิด: 82 องศา
- พัดลม Full Speed: 98 องศา
- หม้อน้ำ: เดิม Toyota แท้ 16 มม. <------------- เปลี่ยนเป็นยี่ห้อ C.H.T. ขนาด 26 มม.


ข้อมูลเกี่ยวกับหม้อน้ำและระบบหล่อเย็น
เชิญชมคลิปจากยูทูปครับ เขาทำไว้ดีมากทีเดียว..
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
1. Water Pump (ปั๊มน้ำ) ปั๊มน้ำเข้าสู่ระบบ ทำให้เกิดการไหลเวียนของน้ำในระบบ น้ำร้อนออกจากเครื่องสู่หม้อน้ำ น้ำเย็นจากหม้อน้ำไหลเข้าเครื่อง
2. Radiator (หม้อน้ำ) กักเก็บน้ำไว้ใช้งาน รับน้ำร้อนจากเครื่อง มีรูรังผึ้งรับลมที่เข้ามาจากหน้ารถเพื่อระบายอากาศร้อนออกไป
3. Thermostat (วาล์วน้ำ) ปิดเมื่ออุณหภูมิต่ำเพื่อให้เครื่องวอร์มอุ่นได้เร็ว เปิดเมื่ออุณหภูมิถึงจุดที่กำหนดเพื่อให้เกิดน้ำหมุนเวียนระบายความร้อน
4. Censor (เซนเซอร์ความร้อนหม้อน้ำ) วัดอุณหภูมิน้ำในระบบ เมื่ออุณหภูมิสูงจนถึงจุดที่กำหนด ECU จะสั่งให้พัดลมทำงานเพื่อระบายความร้อน
5. Coolant (น่ำยาหล่อเย็น) มักผสมกับน้ำมาเรียบร้อยแล้วในอัตราส่วน (ส่วนใหญ่) 50:50 (หลังจากนี้ถ้าผมกล่าวถึงคำว่า "น้ำ" ขอให้เข้าใจว่าผมหมายถึง "น้ำยาหล่อเย็น" นะครับ)

หม้อน้ำอัพเกรดที่นิยมใช้กันมักมีขนาดใหญ่กว่าเดิม อาจจะขยายขนาดจาก 16 มม. เป็น 26 มม. หรือ 16 มม. 2 ชั้น เพราะหวังผลในเรื่องการควบคุมความร้อนที่ดีขึ้น รวมถึงเปลี่ยนจากวัสดุ จากที่ฝาปิดเดิมที่เป็นพลาสติก เปลี่ยนเป็นอะลูมิเนียมทั้งลูกรวมฝาปิด เชื่อมต่อกับเป้นชิ้นเดียว เพราะเชื่อว่ามีความทนทานนานปี ใช้กันจนเปลี่ยนรถกันเลยทีเดียว แต่ราคาก็แพงกว่ามากครับ

ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า
ทางร้านมีสินค้าให้ผมเลือก 2 ตัวครับ คือ แบบฝาพลาสติก หม้อน้ำหนา 26 มม. กับอะลูมิเนียมทั้งลูก หม้อน้ำขนาด 16 มม. เท่าของเดิม แต่รังผึ้งตาถี่กว่าเดิม ซึ่งช่วยให้ระบายความร้อนได้ดีขึ้น เพราะผิวสัมผัสลมมากขึ้นนั่นเอง

1. แบบฝาพลาสติก 26 มม.

2. แบบอะลูมิเนียมทั้งลูก

ผมเองยังไม่เคยใช้ทั้งสองแบบ ก็เลยไม่ทราบว่าแบบไหนจะเย็นกว่ากัน ผมเลยตัดสินใจเอาตัวถูก คือเบอร์ 1* นั่นเองครับ เอามาลองใช้ก่อนว่าเวิร์คไหม ถ้าชอบก็จบไป ถ้าไม่ชอบก็ค่อยเปลี่ยนไปเอาแบบอะลูมิเนียมทั้งใบ แต่ที่แน่ๆ มันหนาขึ้น เก็บน้ำได้มากกว่า ได้แต่คิดว่ามันก็น่าจะดีกว่าของเดิมนะ..

ช่างรุมกัน 4-5 คน ใช้เวลาไม่นาน ไม่ถึง ชม. ก็เปลี่ยน และเทสเสร็จเรียบร้อยครับ..

หม้อน้ำใหม่ vs เก่าครับ


เปรียบเทียบ Before vs After
ในส่วนของการวัดค่าความร้อน ผมใช้ Monster Gauge ที่ต่อจากช่อง OBD2 ครับ ขอให้มั่นใจในความเที่ยงตรง โดยสองวันหลังเปลี่ยน ผมได้ขับรถลุยฝน รถติดๆใน กทม. และได้ขับแบบรถติดๆอีกครั้งในวันนี้เพื่อออกจากเมืองกลับ ตจว. ไปกลับ ตจว. ใช้ความเร็วสูง สลับกับใช้รอบสูงบางช่วง สังเกตความร้อนอยู่ตลอดครับ

ความเร็วต่ำสุดที่ระบายความร้อนได้ดีที่สุด (ต้องขับเดี่ยวๆ ไม่ตามตูดใครนะครับ) เกจวัดได้เย็นที่สุด (ไม่นับจอดติดไฟแดงนานๆ) สำหรับหม้อน้ำเดิมคือ 60 กม./ชม. ถ้าขับเลี้ยงความเร็วนิ่งๆแล้ว ความร้อนจะอยู่ที่ ประมาณ 85 องศา ส่วนหม้อน้ำใบใหม่ต้องเลี้ยงความเร็วประมาณ 70 กม./ชม. อุณหภูมิจะอยู่ที่  แต่ถ้าความเร็วต่ำกว่านี้ และแตะคันเร่งแผ่วๆ หม้อน้ำใบเดิมความร้อนจะค่อยๆขึ้นช้าๆ แต่หม้อน้ำใบใหม่ความร้อนจะค่อนข้างทรงและขึ้นช้ามากครับ ผมเดาว่าที่หม้อน้ำใหม่ต้องใช้ความเร็วสูงกว่า อาจเพราะหม้อน้ำหนากว่าจึงอาจต้องใช้ปริมาณลมที่มากกว่าในการทำให้เย็นได้เท่ากัน

ขับด้วยความเร็วต่ำ ราวๆ 20-50 กม./ชม. ช่วงนี้เป้นช่วงที่ความร้อนพีคที่สุดครับ หม้อน้ำเดิมความร้อนจะขึ้นไปถึง 98 จนพัดลมทำงานจึงลดลงเหลือ 92 แล้วก็ค่อยๆขึ้นไปอีก วนลูปอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ต่อให้พยายามผ่อนคันเร่งเบาๆก็ยังขึ้น ส่วนหม้อน้ำใหม่จะขึ้นช้ากว่าเดิมมากประมาณครึ่งหนึ่ง แต่จะไปตันอยู่ที่ราวๆ 95 องศา ถ้าผ่อนคันเร่งค่อยๆแตะๆก็ค่อนข้างควบคุมไว้ได้ครับ แต่ก็มีหลุดไปถึง 98 อยู่บ้างเหมือนกัน แต่น้อยครั้งมาก

ขับด้วยความเร็วสูงนอกเมือง หม้อน้ำเดิมอุณหภูมิจะอยู่ราวๆ 86-88 องศาครับ ต่อให้ขับ 120 หรือ 160 ยาวๆ ก็อยู่แค่เท่านี้ เพราะลมแรงๆเป่าให้หม้อน้ำเย็นได้ดี ส่วนหม้อน้ำใหม่ จะอยู่ที่ 90-91 องศาครับ หม้อน้ำใหม่จะร้อนกว่าหน่อยนึง

ขับเท้าหนัก และรอบสูงกว่าเดิม เปลี่ยนเกียร์ที่รอบ 4000-4500 (จากปกติเท้าเบา เปลี่ยนที่ 3000-3500) ส่วนใหญ่กรณีแบบนี้จะแบบเจอรถคันอื่นกั๊กๆทางครับ ผมเลยจะขับซิกแซกและแซงออกมาให้ไวๆ หม้อน้ำเดิมความร้อนจะวิ่งไปจนถึง 98 และพัดลมทำงานครับ ขึ้นไวด้วย ส่วนหม้อน้ำใหม่ จะขึ้นช้ากว่า และจะนิ่งอยู่ที่ 95-96 องศาครับ นานๆถ้าเลี้ยงรอบไว้สูงยาวๆอาจจะเกิน แต่ถ้าปล่อยรอบให้ตกลงมาไม่เกิน 3000 ความร้อนจะค่อยๆลงมาอยู่ที่ 90-91 อย่างช้าๆ ตรงนี้หม้อน้ำใหม่ทำได้ดีกว่าครับ


สรุปผลการทดลอง
หม้อน้ำขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ความร้อนเปลี่ยนแปลงช้าลง ขึ้นก็ช้าลง ลงก็ช้าลง และต้องใช้ความเร็วสูงขึ้น หรือปริมาณลมที่มากขึ้นเพื่อที่จะรักษาความเย็นเอาไว้เท่าเดิม แต่หม้อน้ำที่ใหญ่ขึ้นทำให้พัดลมหน้าเครื่องผมทำงานน้อยลงครับ แต่ความร้อนโดยเฉลี่ยแล้ว จะสูงกว่าหม้อน้ำเดิมครับ..

สุดท้ายนี้ อาจะมีข้อจำกัดหรือตัวแปรบางอย่างที่ผมไม่ได้คิดถึง ซึ่งอาจทำให้ผลการทดลองคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่หวังว่ารีวิวนี้จะพอเป็นแนวทางทำหรับผู้ที่จะเปลี่ยนหม้อน้ำหรือผู้ที่สนใจ ถ้ามีส่วนใดผิดพลาดหรือมีคำไม่สุภาพ ผมขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ..

ฝากติดตามผลงานที่เพจ Need For Slow ด้วยครับ:
https://www.facebook.com/Needforslow247/
ชื่อสินค้า:   หม้อน้ำ C.H.T. Altis 03 MT แบบหนา 26 มม.
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่