Human Papilloma Virus "กับดักเสน่หา" สร้างให้ตัวละคร "ลิตา" เป็น


หลายต่อหลายคนไม่รู้จักโรค HPV ซึ่งความเก๋ไก๋ที่ละครเรื่องนี้เอาโรคนี้มาใส่ใน โครงสร้างของเรื่องด้วย ซึ่งถือว่าเป็นความแปลกใหม่พอควรเลยนะคะ เพราะว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักโรคนี่เท่าไหร่นัก วันนี้เจ๊จะมาบอกเล่า เอาความรู้ และเกร็ดเล็กๆของโรคนี้มาเล่าสู่กันฟัง

"โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ควรต้องระวังไม่ใช่แค่โรคเอดส์ แต่โรค HPV" ไวรัสตัวร้ายนี้ก็ไม่ควรไว้วางใจด้วยเช่นกัน เพราะไวรัส HPV เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ซ้ำร้ายอาการของโรค HPV ยังสังเกตได้ยาก เรียกได้ว่าหากติดเชื้อ HPV อาจไม่มีอาการแสดงออกของโรคเลยก็ว่าได้
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย เราควรมาเช็กสัญญาณอันตรายของโรค HPV เพื่อให้รู้เท่าทันโรค คุณมีสัญญาณของโรค HPV ตามนี้หรือเปล่า





HPV คืออะไร

          ไวรัส HPV หรือ Human Papilloma Virus เป็นไวรัสตัวหนึ่งที่มีสายพันธุ์มากกว่า 100 ชนิด โดยสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนักที่รู้จักกันดีคือสายพันธุ์เบอร์ 6, 11, 16 และ 18 ซึ่งการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนักจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่บริเวณมดลูก และสามารถนำไปสู่การเกิดมะเร็งที่ปากมดลูกได้

          ซึ่งโดยส่วนมากการติดเชื้อ HPV มักจะไม่แสดงอาการและสามารถหายได้เองภายในระยะเวลา 2-3 ปี ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานในร่างกายของแต่ละคน ทว่าบางเคสอาจมีการติดเชื้อ HPV นานหลายปี และอาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งปากมดลูกในที่สุด



HPV อาการเป็นอย่างไร สังเกตได้จากตรงไหนกันนะ ?
    
          1. มีหูดขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณว่ากำลังติดเชื้อ HPV โดยหูดอาจมีลักษณะแตกต่างกันไป เช่น มีลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มเรียบแบน เป็นตุ่มสีชมพู หรือเป็นตุ่มสีเนื้อ (ซึ่งสังเกตยากมาก) แต่จะสังเกตได้จากความตะปุ่มตะป่ำของผิวเนื้อ ซึ่งบางคนอาจมีหูดขึ้นไม่มาก แต่บางเคสอาจมีหูดขึ้นหลาย ๆ ตุ่ม มีขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างแล้วแต่เคส ไม่มีอาการเจ็บ    
    
          โดยหูดอาจขึ้นได้ทั้งบริเวณช่องคลอด ปากมดลูก อัณฑะ ทวารหนัก ขาหนีบ หรือขาอ่อน ทั้งนี้หูดอาจขึ้นหลังจากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ HPV ประมาณ 1-4 สัปดาห์ ขึ้นไป

          2. มีอาการคัน แสบร้อนหรือตึงบริเวณที่ติดเชื้อ HPV

          3. มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์

          4. ตกขาวมีกลิ่นเหม็น

          5. ปริมาณตกขาวมากกว่าปกติ

          6. ประจำเดือนมาผิดปกติ

          7. มีสารคัดหลั่งออกทางช่องคลอด หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งอาการนี้อาจพบได้น้อยมาก

          8. ท่อทางเดินปัสสาวะอุดตัน อาจมีอาการปัสสาวะขัด (พบได้น้อยมาก)




การวินิจฉัยโรค

          ผู้ติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อโรคมะเร็งปากมดลูก จะถูกตรวจพบว่าผล Pap Smear (การตรวจสอบความผิดปกติของเซลล์ที่อาจก่อมะเร็งด้วยการขูดเซลล์บริเวณปากมดลูก) มีความผิดปกติ และสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก

          ทั้งนี้เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค แพทย์อาจตรวจหาภาวะอักเสบและติดเชื้อด้วยวิธี Colposcopy (การส่องกล้องเพื่อหาตำแหน่งที่ผิดปกติของปากมดลูกหรือช่องคลอด) และทำการตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวมาตรวจหาความเสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูกเพิ่มเติม

HPV รักษาได้ด้วยวิธีไหน

          โดยปกติแล้ว กว่า 95% ของผู้ติดเชื้อ HPV อาจหายได้เองภายในระยะเวลา 2-3 ปีหลังจากติดเชื้อ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานในตัวของผู้ติดเชื้อแต่ละรายด้วย และก็มีเคสที่เชื้อยังคงอยู่ในตัวผู้ป่วยเป็นเวลานานหลายปี จนอาจนำไปสู่ความเสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูก
    
          อย่างไรก็ตาม การรักษาหรือกำจัดเชื้อ HPV ยังทำได้เพียงผ่าตัดชิ้นเนื้อที่ติดเชื้อออกไป ยังไม่สามารถยับยั้งการแพร่เชื้อ HPV ในร่างกายได้อย่างหมดจด ดังนั้นผู้ติดเชื้อ HPV จึงมีโอกาสกลับมาติดเชื้อนี้ได้อีกครั้ง



แนวทางการปฏิบัติตัวเมื่อติดเชื้อ HPV

          - ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เช่น รับประทานอาหารถูกสุขลักษณะ ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
          - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
          - หลีกเลี่ยงความวิตกกังวลและความเครียด
          - ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
          - งดสูบบุหรี่
          - งดรับประทานยาคุมกำเนิด ในกรณีที่กินยาคุมกำเนิดติดต่อกันนานกว่า 5 ปี
          - ตรวจ Pap Smear ทุก 6 เดือน และตรวจหาเชื้อ HPV ทุก 12 เดือน เพื่อติดตามภาวะการแพร่ของเชื้อ HPV

การป้องกันและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ HPV

          - ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
          - รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
          - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
          - สวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์
          - ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
          - ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกได้

เกร็ดน่ารู้ สำหรับผู้ติดเชื้อ HPV

          - ผู้ติดเชื้อ HPV กว่า 95% สามารถกำจัดเชื้อ HPV ได้เอง จากภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้น

          - ผู้หญิงที่ติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่ไม่เป็นมะเร็งปากมดลูก นั่นหมายความว่า หากติดเชื้อ HPV ก็อาจไม่เสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูกเสมอไป
    
          - ส่วนใหญ่เมื่อวินิจฉัยโรคในขั้นตรวจด้วยกล้องขยายทางช่องคลอด ผลปรากฏว่า มีผู้ตรวจพบความผิดปกติที่ปากมดลูกน้อยมาก แปลได้ว่า ผู้ติดเชื้อ HPV อาจไม่เสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูกทุกคนนั่นเอง

          อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อ HPV ไม่ได้หมายความว่าคุณหรือคู่นอนของคุณมีพฤติกรรมชอบเปลี่ยนคู่นอนเสมอไป เพราะมีการวิจัยที่ยืนยันได้ว่า แม้เพศหญิงหรือเพศชายที่มีคู่นอนเพียงคนเดียว ก็มีสิทธิ์ติดเชื้อ HPV ได้ และแม้ HPV จะเป็นเชื้อที่ติดต่อกันได้ง่าย แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นเชื้อ HPV ที่ไม่ก่อโรค



รู้แบบนี้แล้วนอกจากโรคติดต่ออื่นๆก็ควรระวังโรค HPV เอาไว้ด้วยนะคะ
ด้วยความเป็นห่วงจากเจ๊
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่