มาทำความเข้าใจคำว่า "ละกิเลส" กับ "ดับกิเลส" (3)

ก่อนอื่น ผมขออนุญาตยก "กาลามสูตร" บางส่วนมาแสดงก่อนนะครับ คือ

"...มา สมโณ โน ครูติ - อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา..."

และส่วนที่สำคัญคือ

"...เมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศลหรือมีโทษเมื่อนั้นพึงละเสีย และเมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นกุศลหรือไม่มีโทษ เมื่อนั้นพึงถือปฏิบัติ..."

ก่อนหน้านี้ผมได้ตั้งกระทู้ "มาทำความเข้าใจคำว่า "ละกิเลส" กับ "ดับกิเลส" มา 2 กระทู้ และไม่เคยคิดว่าจะต้องมีกระทู้ที่ 3 ซึ่งผมอยากแนะนำให้ตั้งใจอ่านให้จบก่อนนะครับ ยังไม่ต้องคิดอะไร

และหากเป็นไปได้ ผมอยากให้ผู้ที่เคยอ่านทั้ง 2 กระทู้ก่อนหน้านี้ไปแล้ว ตั้งใจอ่านกระทู้นี้อย่างละเอียดด้วยนะครับ อาจจะยาวสักหน่อย ไม่อยากให้ข้ามส่วนใดไป แม้เรื่องสำคัญจะอยู่ในส่วนท้ายๆ ก็ตาม

เหตุผลที่ผมยกเอาเรื่อง "ละกิเลส" กับ "ดับกิเลส" มาตั้งเป็นกระทู้ ไม่ได้จะเพื่อสอนธรรมะใดๆ หรือที่จริงไม่ควรนำมาเป็นประเด็นใดๆ ด้วยซ้ำ

แต่เริ่มมาจากการที่มีสมาชิกท่านหนึ่ง ได้นำคำพูดของหลวงพ่อปราโมทย์ ที่ใช้คำว่า "ห้ามดับกิเลส" ซึ่งหากเป็นคนทั่วไปที่เริ่มศึกษาธรรมะ มีความศรัทธา หรือเป็นลูกศิษย์ ผมคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร อาจจะไม่ได้สนใจมากนัก เพราะเป็นเพียงคำๆ หนึ่งในการเทศน์ซึ่งมีรายละเอียดอื่นๆ มาประกอบอีก

แต่สำหรับคนที่เข้าใจธรรมะ อาจจะสะดุดกับคำนี้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นคนที่เห็นต่างกับแนวทางการสอนของหลวงพ่อปราโมทย์ เมื่อเจอคำว่า "อย่าดับกิเลส" ก็อาจจะจับคำนี้ไปโยงกับคำว่า "อย่าละกิเลส", "อย่าละสมุทัย" เป็นต้น จะด้วยความเข้าใจแบบนั้นจริงๆ หรือจะเพื่ออะไรก็ตาม จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมตั้งกระทู้ดังกล่าวขึ้นมา

และจากใจจริงนะครับ ผมไม่เคยคิดที่จะปกป้องใคร ไม่เคยคิดที่จะปกป้องหลวงพ่อปราโมทย์ ผมบอกเสมอว่า ผมไม่ได้เป็นลูกศิษย์ใคร ผมเคารพนับถือครูบาอาจารย์ทุกท่านเท่าเทียมกันหมด แต่ที่ผมเคารพศรัทธาสูงสุดมีเพียงหนึ่งเดียวคือ พระพุทธเจ้าเท่านั้น

และด้วยความเชื่อและศรัทธาในตัวหลวงพ่อปราโมทย์ จึงได้อธิบายคำว่า "ดับ" กับคำว่า "ละ" ว่าแตกต่างกันอย่างไร และคำว่า "อย่าดับกิเลส" ที่หลวงพ่อปราโมทย์หมายถึงนั้นคืออะไร

เจตนาจริงๆ ก็เพื่อจะให้แยกแยะระหว่าง "ละกิเลส" กับ "ดับกิเลส" เท่านั้น

ซึ่งมีท่านสมาชิกบางท่าน ที่อาจจะไม่ได้ชอบหรือไม่ชอบหลวงพ่อปราโมทย์ แสดงความเห็นแบบเป็นกลางๆ บอกว่าเป็นเพียงสำนวนโวหารในการเทศน์เท่านั้น อย่าไปให้ความสำคัญมากนัก ซึ่งตอนแรกผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วยนะครับ

และผมก็ต้องขอขอบคุณและอนุโมทนาคุณ Time & Space ด้วยนะครับ ที่ได้แนะนำ "อินทริยภาวนาสูตร" ถือว่าเป็นจุดที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ผมตั้งกระทู้นี้เป็นครั้ง 3

ซึ่งหลังจากที่ผมได้อ่านพระสูตรนี้แล้ว ทำให้ความเห็นผมทุกอย่างเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงครับ

ผมได้คัดพระสูตรมาบางส่วน ดังนี้

"...[๘๕๖] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรอานนท์ ก็การเจริญ
อินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ เป็นอย่างไร ดูกรอานนท์ ภิกษุ
ในธรรมวินัยนี้ เกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ
ขึ้น เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบ
ใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะ หยาบ
อาศัยกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียด ประณีต นั่นคือ อุเบกขา เธอจึงดับความ
ชอบใจ ความไม่ชอบใจ
ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย
อุเบกขาจึงดำรงมั่น ดูกรอานนท์ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งดับความชอบใจ ความไม่ชอบ
ใจ
ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ได้เร็วพลันทันที โดย
ไม่ลำบากเหมือนอย่างบุรุษมีตาดีกระพริบตา ฉะนั้น อุเบกขาย่อมดำรงมั่น ดูกร
อานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่า
ในวินัยของพระอริยะ ฯ..."

(อ่านเต็มๆ อินทริยภาวนาสูตร)

ผมเริ่มต้นกระทู้นี้ ด้วยการยกเอากาลามสูตรมาพูดถึง เพราะอยากจะบอกว่า หลังจากที่ผมได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า แม้ว่าบุคคลที่ใช้คำนี้จะเป็นครูบาอาจารย์ เป็นคนที่เราเคารพนับถือ แต่การใช้คำว่า "อย่าดับกิเลส" เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องจริงๆ ไม่สมควรใช้คำนี้ และจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงครับ

แม้ว่าเจตนาที่ใช้คำนี้จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่เมื่อสิ่งนั้น "ขัดแย้ง" กับพระไตรปิฏก ไม่สมควรนำมาใช้

และจะว่าไปแล้ว เมื่อตัดคำว่า "อย่าดับกิเลส" ออกไป กลับจะยิ่งเกิดประโยชน์มากขึ้นอีก โดยเฉพาะสำหรับผู้เริ่มศึกษาธรรมะ เพราะไม่ว่าการพยายามจะดับกิเลส หรือการพยายามจะไม่ดับกิเลส ก็ไม่ถูกต้องทั้งนั้น เปรียบเสมือนเป็นการให้ความสำคัญ ให้ความสนใจอยู่ดี

เราสามารถสอนธรรมะในเชิงบวก แทนที่จะไปเน้นว่า "อย่าทำอะไร" เป็นให้ความสำคัญกับ "ให้ทำอะไร" เช่น การอยู่กับปัจจุบัน เป็นต้น เท่ากับเราไม่ต้องสนใจว่าจะไปห้ามอดีตอะไรบ้าง หรือห้ามอนาคตอะไรบ้าง

หรืออย่างการที่บอกว่า "อย่าดับกิเลส" หากเป็นคำว่า "ปล่อยให้มันผ่านไป" ก็หมายรวมถึงทุกอย่าง

แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งใด เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับพระไตรปิฏก ซึ่งจะเป็นใครก็ตามไม่สามารถปฏิเสธสิ่งนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ผมไม่มีโอกาสได้เจอหลวงพ่อปราโมทย์ จึงขอฝากลูกศิษย์หรือใครก็ตามที่อาจจะได้เจอ รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาด้วยนะครับ

และสุดท้าย ที่จริง ผมสามารถตั้งกระทู้นี้สั้นๆ แค่ยกเอาอินทริยภาวนาสูตรแล้วบอกว่าไม่ควรใช้คำว่า อย่าดับกิเลส ก็ได้ แต่เพราะผมต้องการแสดงความรับผิดชอบ และให้เห็นว่าผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จริงๆ รวมทั้งอยากจะกล่าวคำขอโทษ ขออภัย คุณสมาชิกหมายเลย 3722212 รวมถึงสมาชิกท่านอื่นๆ พร้อมทั้งขอบคุณท่านที่ตอบแบบกลางๆ ว่าเป็นเพียงสำนวนโวหาร มา ณ ที่นี้ด้วยเลยนะครับ

และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ คุณ Time & Space สำหรับอินทริยภาวนาสูตร ที่จริงอาจจะมีสมาชิกท่านอื่นยกพระสูตรนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว หรืออาจจะเป็นพระสูตรอื่นซึ่งผมไม่มีโอกาสได้ดู ขออนุโมทนาด้วยนะครับ

และก็ต้องขออภัยคุณสมาชิก 3722212 อีกครั้งนะครับ

(สิ่งที่ผมอยากให้ผู้ที่อ่านได้รับจากกรณีนี้ก็คือ เมื่อเราให้ความเชื่อถือศรัทธาใครก็ตาม เราจำเป็นต้องพยายามทำความเข้าใจหรือเข้าข้างบุคคลนั้น โดยอาจจะไม่รู้ว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเรื่องที่ควรถูกตำหนิใดๆ เพราะถ้าไม่ทำแบบนั้นเราจะไม่ได้รับความรู้ แต่เมื่อใดที่พบกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จำเป็นต้องยอมรับและแก้ไข ซึ่งตรงตามหลักกาลามสูตรของพระพุทธเจ้าครับ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่