ช่วนกันอ่าน...ช่วยกันวิจารณ์นะครับ "แบดมินตันลีกไทย 2017 ... ถูกที่ไม่ถูกเวลา"

ในที่สุด หลังจากหารือและประชุมกันมาหลายรอบ สุดท้าย สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็"คลอด"ลีกแบดมินตันไทยขึ้นมาในปีนี้ แต่ดูจะยังมีข้อกังขาหลายเรื่องที่ต้องปรับปรุงในโอกาสต่อไป
เริ่มตั้งแต่เรื่องแรก นั่นคือใช้ชื่อ การแข่งขันแบดมินตัน Badminton Academy Challenge (U23 Thai League 2017) โดยระบุว่า เพื่อให้เป็นไป ตามยุทธศาสตร์ของสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นั่นคือ Build World Champions จึงจัดการแข่งขันแบดมินตัน Badminton Academy Challenge (U23 Thai League 2017) ประจำปี 2560 เพื่อค้นหานักกีฬาดาวรุ่ง เพื่อเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการแข่งขันกีฬาระดับ นานาชาติ
อันนี้ ต้องถามสมาคมว่า"เข้าใจผิด"อะไรหรือเปล่า เพราะอายุ 23 นี้ ปัจจุบันเป็นนักกีฬาระดับท๊อปของโลกทั้งนั้น ...ไม่ใช่ดาวรุ่ง เพราะ"ดาวรุ่ง"มันต้องต่ำกว่า 20 หรือต่ำกว่า 19 อย่างการจัดอันดับโลกของ BWF ในประเภท Junior ก็คืออายุต่ำกว่า 19 ปี
แม้แต่นักแบดมินตัน"ทีมชาติไทย"ชุดปัจจุบัน ลองตรวจสอบดู ก็จะเห็นว่าอายุประมาณนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่"ดาวรุ่ง"ที่จะต้องไปเสาะหากัน(ใหม่)แล้ว

มาถึงการจัดการแข่งขัน ซึ่งจะมี 4 สนามเป็นเสมือน"รอบคัดเลือก" ก่อนที่จะไปชิงชนะเลิศกันที่ Terminal 21 จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 22-24 กันยายน ก็ดูเหมือนสมาคมแบดมินตันฯไม่"ทำการบ้าน" หรือ"ตรวจสอบ"ว่าในแต่ละสนาม จะไปตรงกับโปรแกรมแข่งขันที่ไหน
เริ่มตั้งแต่สนามที่ 1  ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งระบุว่าจะแข่งขันวันที่ 18-20 สิงหาคม ถัดมาเป็นสนามที่ 2 ที่จังหวัดนนทบุรี แข่งขันวันที่ 25-27 สิงหาคม สนามที่ 3 ที่จังหวัดนครสวรรค์ แข่งขันวันที่ 1-3 กันยายน และสนามที่ 4 ที่ แข่งขัน 8-10 กันยายน ซึ่งเรียกได้ว่า แข่งขันกันเกือบเดือนในช่วงสิงหาคม-กันยายน และไปชิงชนะเลิศกันในปลายเดือนกันยายน      
เพื่อให้เห็นภาพว่าการแข่งขัน"แบดมินตันไทยลีก"ในช่วงนั้นจะตรงกับอะไร ขอบอกเลยว่า ตรงกับการแข่งขันสัปดาห์ที่ 34-38 ของ BWF ซึ่งไม่รู้ว่าสมาคมแบดมินตันฯจะส่งนักกีฬาไทยไปแข่งขันรายการไหนบ้าง
เพราะเริ่มตั้งแต่วันที่ 21-27 สิงหาคม คือหลังจบสนามแรกที่ภูเก็ตและกำลังแข่งสนาม 2 ที่นนทบุรี ก็มีรายการ TOTAL BWF World Championships 2017 ที่สกอตแลนด์ และคงไม่มีปัญหา เพราะไทยจะส่งแค่ชายเดี่ยวและหญิงเดี่ยว คือ ทนงศักดิ์ แสนสมบูรณ์สุข และ รัชนก อินทนนท์ ไปแข่งขัน แต่อย่าลืมว่าช่วงเดียวกัน ก็มีแบดมินตันซีเกมส์ ซึ่งนักแบดมินตันทีมชาติไทยต้องไปแข่งขัน และอีกงานที่สำคัญคือการแข่งกีฬามหาลัยโลก
ถัดมาเป็นวันที่ 31 ส.ค.-3ก.ย. เป็นรายการ SUSHANT CHIPALKATTI MEMORIAL India Junior International Badminton Championships ซึ่งเป็นรายการระดับ Junior International Grand Prix ที่อินเดีย รวมทั้งรายการ Junior International Grand Prix ที่ออสเตรเลีย
ต่อมา วันที่ 4-10 กันยายน ก็มีรายการ Grand Prix ที่เวียดนาม คือ YONEX SUNRISE Vietnam Open 2017 และเป็นช่วงเดียวกับรายการ Junior International Challenge ที่มาเลเซีย คือ CELCOM AXIATA Malaysia International Junior Open 2017 ในวันที่ 5-9 กันยายน รวมทั้ง OUE Singapore International Series ที่สิงคโปร์ในวันที่ 19-23 กันยายน
ปิดท้ายด้วย 2 รายการ World Superseries คือ VICTOR Korea Open ในวันที่ 12-17 กันยายน และ YONEX Open Japan ในวันที่ 19-24 กันยายน
นี่เอาเฉพาะรายการแข่งขัน"ใกล้บ้าน" ที่นักแบดมินตันไทยสามารถไปแข่งขันได้ ไม่นับรวมรายการในยุโรปหรืออเมริกากลาง ที่อาจจะ"ไกล" สำหรับการเดินทางไปแข่งขัน
เห็นโปรแกรมของ BWF เลยต้องฝากคำถามไปยังสมาคมถึงการจัด Badminton Academy Challenge (U23 Thai League 2017) ประจำปี 2560 ตามโปรแกรมว่า จัดขึ้นเพื่อให้ได้ชื่อว่าจัดการแข่งขันลีกแบดมินตันแล้ว..ใช่ไหม

มาถึงเงินรางวัล...
สมาคมแบดมินตันฯประกาศว่า การแข่งขัน Badminton Academy Challenge (U23 Thai League 2017) ประจำปี 2560 มีเงินรางวัลมากถึง 1,635,000 บาท โดยแบ่งเป็น แชมป์แต่ละสนาม จะได้ 130,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้ 85,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้ 50,000 บาท ส่วนรอบชิงชนะเลิศ ที่ Terminal 21 จังหวัดนครราชสีมา แชมป์จะได้ 250,000 บาท รองแชมป์ 150,000 บาท และ รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้ 75,000 บาท
นอกจากนั้น สมาคมฯยังมีเงินค่าสนับสนุนทีม ทีมละ 40,000 บาท จำนวน 8 ทีม รวม 320,000 บาท  
เห็น"ตัวเลข"เงินรางวัล ขอบอกว่า ไม่รู้ทีมไหน"อยากจะส่ง" เพราะค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายต่างๆ หากได้แชมป์ จะได้เงินมา 170,000 บาท บวกกันแชมป์รอบสุดท้ายอีก 250,000 บาท ...คุ้มหรือไม่
เอาเป็นว่า"แชมป์"ลีกมาเลเซีย อินเดีย หรือกระทั่งจีน ซึ่งเป็น”"ลีกอาชีพ" แชมป์ของแต่ละประเทศรับเงินรางวัลเป็นสิบล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่มาจาก"สปอนเซอร์" ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมสมาคมแบดมินตันฯ ไม่หา"สปอนเซอร์"มาสนับสนุน

มาถึงการแข่งขัน ที่กำหนดว่าเป็น "ทีมผสมอายุต่ำกว่า 23ปี" โดยแข่งขันกันรวม 5 ประเภท คือ ชายเดี่ยว  2 มือ หญิงเดี่ยว  2 มือ ชายคู่   1 คู่ หญิงคู่   1 คู่ และ คู่ผสม   1 คู่  
ขณะที่คุณสมบัติของทีมเข้าแข่งขัน ระบุว่าจะต้องขึ้นทะเบียนสโมสรอาชีพกับการกีฬาแห่งประเทศไทย และ สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ และแต่ละทีมจะต้องประกอบด้วยนักกีฬาชายอย่างน้อย 4 คน แต่ไม่เกิน 6 คน นักกีฬาหญิงอย่างน้อย 4 คน แต่ไม่เกิน 6 คน เจ้าหน้าที่ประจำทีมของแต่ละทีมมีได้ไม่เกิน 3 คน ประกอบด้วย ผู้จัดการทีม 1 คน ผู้ฝึกสอนและนัก กายภาพรวมกันไม่เกิน 2 คน
ส่วนคุณสมบัติของนักกีฬาผู้เข้าแข่งขัน (1) ต้องเป็นนักกีฬาที่สังกัดชมรม/สโมสร ที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ หรือ BWF และต้องจดแจ้งกับฝ่ายกีฬาอาชีพและการกีฬา จะต้องอายุไม่เกิน 22 ปี (U23) คือต้องไม่เกิดก่อนปี พ.ศ.2538 รวมทั้งไม่อยู่ระหว่างการถูกลงโทษห้ามเข้าร่วมการแข่งขันจากสหพันธ์แบดมินตันโลก (BWF) และ/หรือ การกีฬาแห่งประเทศไทย และ/หรือ สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ และสามารถมีนักกีฬาต่างสังกัดอยู่ในทีมได้ไม่จำกัดจำนวน

สุดท้าย มาถึงกติกาการแข่งขัน ใช้ตาม BWF
แต่...สมาคมแบดมินตันฯกลับระบุว่า การนับคะแนน จะใช้ระบบการนับคะแนน 15x3 Rally Point หรือสรุปง่ายๆก็คือ เล่นเกมละ 15 แต้ม ชนะ 3 ใน 5 เกม โดยหากได้ 14 เท่ากันต้องชนะให้ห่างกัน 2 แต้ม แต่ไม่เกิน 21 แต้ม และพัก 1 นาทีเมื่อมีคะแนนถึง 8 แต้ม และพัก 2 นาทีระหว่างเกม
โดยกำหนดว่านักกีฬาสามารถลงแข่งขันได้ไม่เกิน 2 ประเภท
สำหรับรูปแบบการแข่งขันนั้น ในสนาม 1-4 จะใช้การแข่งขันแบบพบกันหมด เก็บคะแนนตามสนามการแข่งขัน ให้ทีมที่ มีคะแนนดีที่สุด 6 ทีมเข้ารอบชิงชนะเลิศที่จะแข่งขันแบบพบกันหมด โดยการนับคะแนนทีม จะเริ่มจากนับเกมได้เกมเสีย ถ้าเกมเท่ากันให้นับแต้มได้เสีย ถ้าแต้มเท่ากันให้รับตำแหน่งร่วม
การแข่งขัน Badminton Academy Challenge (U23 Thai League 2017) ครั้งนี้ สมาคมฯจะปิดรับสมัคร วันที่ 30 มิถุนายน 2560 โดยแต่ละทีมก็ต้องทำตามกฎ นั่นคือ นักกีฬา ไม่เกิน 12 คน ชาย 6 คน หญิง 6 คน ทั้งนี้นักกีฬาใน 1 ทีมต้องมีไม่น้อยกว่า 8  คน  ชาย 4 คน หญิง 4 คน มีผู้ฝึกสอนไม่เกิน 2 คน ผู้จัดการทีม 1 คน ค่าสมัครเข้าร่วมการแข่งขันทีมละ 10,000 บาท  
ที่น่าตลกและตกใจก็คือ ประกาศระบุว่า จะรับสมัครทั้งหมด 8 ทีม และยังระบุไว้ว่า "ทีมที่สมัครก่อนได้สิทธิก่อน"

เป็นไงครับ... Badminton Academy Challenge (U23 Thai League 2017) เกิดขึ้นมาอย่างที่ฝันหรือเปล่า
แน่นอนว่านี่เป็นเสมือน"หวังดี-ประสงค์ร้าย" เพราะ"เป้าหมาย"ระบุว่าต้องการหา"ดาวรุ่ง" แต่ไปกำหนดอายุ 23 ที่โลกกีฬาปัจจุบันไม่ถือว่าเป็น"ดาวรุ่ง"แล้ว แถม"แบดมินตัน"เอง BWF ยังระบุนักกีฬา"เยาวชน" หรือ Junior ที่อายุต่ำกว่า 19 ไม่ใช่ 23
ขณะเดียวกัน "ช่วงเวลา"ของการจัดการแข่งขัน ก็กินเวลาเกือบเดือน ซึ่งทีมไหนที่สมัครแข่งขัน ก็ต้องหาสปอนเซอร์มาสนับสนุนเอง เพราะเงิน 40,000 ที่ได้รับการสนับสนุน(แต่ต้องเสียค่าสมัคร 10,000) ไม่มีทางที่จะนำมาทำทีมได้เลย
เห็นประกาศนี้ออกมา สรุปสั้นๆว่า"เหนื่อย"กับ"อนาคตแบดมินตันไทย" และไม่ใช่คอยจะจ้องจับผิดอะไร เห็นด้วยว่าเรื่องลีกควรจะมีควบคู่ไปกับการสร้างหรือหานักกีฬา แต่นโยบายของการสร้างนักกีฬาสมาคมควรจะมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลหรือใช้คนให้ถูกงาน นโยบายแบบนี้ต้องเอาคนที่รอบรู้ คนที่เข้าใจกีฬาแบดมินตันที่แท้จริง และให้สอดคล้องกับประเทศต่างๆตัวอย่างที่เห็นชัดคือวันนี้ถ้าเอารุ่น U19 มาแข่งกับ U23 ต้องยอมรับว่ายังสู้กันไม่ได้ และ U23 ก็คือวัยที่ไม่ใช่ดาวรุ่งแล้ว หลายๆประเทศแบ่งประเภทของลีคอย่างชัดเจนคือมีลีกเยาวชนและลีกทั่วไป เพราะการที่จะสร้างยุทธศาสตร์ทางการกีฬาแบดมินตันนั้น"ไม่ใช่แค่มุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จอย่างเดียว แต่หมายถึงต้องสร้างเด็กรุ่นใหม่เพื่อมาทดแทนนักกีฬารุ่นพี่ "เพราะว่า" แบดมินตันเป็นกีฬาที่เล่นง่ายแต่เก่งยาก"

(ดอกปีกไก่)
Cr.Photo สมาคมกีฬาแบดมินตันไทยฯ

ที่มาข่าว : http://www.badmintonthaitoday.com/news_detail.php?nid=944
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่