ภาพถ่ายในอดีต ... นร.สห. 2488




เมื่อกลับบ้านเชียงใหม่ก็ชอบไปค้นหาหนังสือเก่า ๆ ที่บ้าน
ปี พ.ศ. 2554 ได้พบหนังสือสามเล่มนี้ เป็นที่มาของรูปและเรื่องราวของชีวิต นิสิต - นักศึกษามหาวิทยาลัย กลุ่มหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่ 2



*ที่มา*

เมื่อ 8 ธันวาคม 2484 เวลา 2: 00 น. ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกแนวชายฝั่งทะเล
เข้าสู่พื้นที่จังหวัดปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรปราการ
โดยมีทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร ลูกเสือ และอาสาสมัครต่าง ๆ ต่อสู้ทัดทานการรุกรานในครั้งนี้ของญี่ปุ่น
รัฐบาลไทยพิจารณาเห็นว่าไทยมิอาจต้านทานกองกำลังญี่ปุ่นได้ ประกอบกับการที่ญี่ปุ่นสัญญาว่าจะเคารพเอกราช อธิปไตย และเกียรติภูมิของไทย
รัฐบาลจึงมีคำสั่งหยุดยิงและยุติการสู้รบเมื่อเวลา 7.30 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 โดยตกลงยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่าน
แต่การสู้รบในภาคใต้ยังดำเนินอยู่จนถึงบ่ายโมง กว่าที่คำสั่งหยุดยิงจะไปถึง

เมื่อญี่ปุ่นได้เข้ามาแล้ว ขบวนการเสรีไทยภายในประเทศวางแผนจะเอาประชาชนลุกขึ้นรบ
โดยนายอำเภอจะเป็นผู้เกณฑ์กองทัพประชาชนเข้ามาอำเภอ มารบแบบกองโจร
ซึ่งต้องมีนายสิบ นายร้อย เพื่อบังคับบัญชาและทำการฝึกอาวุธ รวมทั้งสอนยุทธวิธีการสู้รบแก่ประชาชนอย่างจริงจัง แต่ที่กรมสารวัตรตอนนั้นไม่มีเลย

ประมาณเดือนมกราคม 2488
พล.ร.ต.หลวงสังวร สุวรรณชีพ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง สารวัตรใหญ่ทหาร




ท่านเห็นว่าบรรดานิสิตชายจำนวนมากของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กำลังว่างการศึกษาเพราะมหาวิทยาลัยปิด จากการถูกญี่ปุ่นยึด และอพยพหลบภัยระเบิด




และภายใต้การสนับสนุนของหัวหน้าเสรีไทยภายใน นายปรีดี พนมยงค์
จึงได้นำแผนนี้เข้าหารีอกับ ม.จ. รัษฎาภิเษก โสณกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์




ซึ่งก็เห็นดีและตกลงยินยอม ให้เรียกประชุมนิสิตจุฬา
โดยอ้างต่อญี่ปุ่นว่า
ขณะนั้นสงครามได้ทวีความรุนแรงขึ้น จำต้องจัดการรักษาความสงบภายในประเทศ
จึงตั้งโรงเรียนนายทหารสารวัตร โดยรับสมัครบรรดานิสิตชายจากจุฬาลงกรณ์เข้ามาเรียน
หลักสูตรหนึ่งปี แล้วแต่งตั้งให้เป็นร้อยตรีสารวัตรทหาร ออกควบคุมรักษาสถาณการณ์ความสงบภายในประเทศ


วันที่ 16 มีนาคม 2488
จึงได้จัดประชุมที่หอประชุมจุฬา




โดยนัดหมายนิสิตที่ไม่ได้อพยพไปไหน ยังอยู่ในกรุงเทพ และไม่มีอะไรทำ
ชี้แจงวัตถุประสงค์ในการเปิดรับสมัครนักเรียนนายทหารสารวัตร
ซึ่งตอนแรกนิสิตต่างงงงวย และไม่สู้เข้าใจเท่าใดนัก แต่มีการกระซิบเป็นทางลับ ๆ ว่า เพื่อไปสู้รบต่อต้านทหารญี่ปุ่น
บรรดานิสิตจึงเข้าใจและสมัครประมาณ 300 คนเศษ แต่ผ่านการตรวจโรค และรับคัดเลือกเป็นนักเรียนนายทหารสารวัตร 298 นาย


โรงเรียนนายทหารสารวัตรตั้งขึ้นภายในกรมสารวัตร
เปิดเรียน 15 เมษายน 2488




จากคำปราศรัยของ พล.ร.ต. หลวงสังวร สุวรรณชีพ ในงานชุมนุมเลี้ยงรุ่น นร.สห. 2488 ในคืนวันที่ 19 กุมพาพันธ์ 2509 เล่าว่า




หลักสูตรการเรียนเป็นเช่นโรงเรียนนายร้อยทุกประการ จนปลายเดือนกรกฎาคม 2488
ได้ทะยอยส่งนักเรียนนายทหารสารวัตร 298 นายนี้ไปที่ค่าย " สวนลดาพันธ์" วัดเขาบางทราย อ.เมือง ชลบุรี




*หมวดสื่อสาร *

ในปี 2487 การรบทวีความรุนแรงมากขึ้นก็คือ
ญี่ปุ่นถูกโจมตีให้ถอยร่นมาจากพม่า มีการโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตรมากขึ้น
ญี่ปุ่นเข้ามายึดครองสถานที่สำคัญต่าง ๆ รวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อเล็งเห็นความปลอดภัย จากการทิ้งระเบิด จึงให้มีการหยุดการเรียนชั่วคราวจนกว่าสงครามจะสงบ

มีนิสิตอีกกลุ่มหนึ่งที่มีคุณวุฒิการศึกษาวิศวะปีที่ 2 สมัครไปฝึกงานที่กรมไปรษณีย์โทรเลข
โดย ร.อ.ม.จ.ลายฉลุทอง ทองใหญ่ ควบคุมการสอนวิชาการสื่อสาร




สถานที่เรียนคือ ชั้นสาม กรมไปรษณีย์โทรเลข อยู่ติดห้องทำงานทหารญี่ปุ่น
สิ่งที่เรียนคือการใช่วิทยุเบื้องต้น จนทั้งเรื่องของเครื่องรับ-เครื่องส่ง
เมื่อถูกสอบถามก็ตอบว่า มาฝึกเพื่อออกไปช่วยญี่ปุ่นสร้างมหาเอเชียบูรพา
ขณะที่นิสิตกลุ่มนี้เดินตามรางรถไฟที่ขึ้นสนิมไปเรียน ก็ได้ข่าวว่า
กลุ่มนักเรียนสารวัตรได้พันขาพันแข้งกันเก่งแล้ว ออกไปแบกปืนวิ่งเล่นที่ลานพระรูปเป็นประจำ

เมื่อทางการเห็นว่าไม่ปลอดภัยแน่นอนแล้วจึงย้ายมาที่ ที่ทำการของกรมไปรษณีย์ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
และได้รับคำสั่งให้สนใจการรับส่งวิทยุด้วยสัญญาณมอส ที่น่าเบื่อสำหรับพวกช่าง

ในที่สุดก็ได้รับคำสั่งให้เข้าพบท่านสารวัตรใหญ่ พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ
เข้าเป็นหมวดสื่อสารของโรงเรียนนายทหารสารวัตร 25 นาย
ได้เริ่มต้นชีวิตทหารคือ หัดพันแข้ง , ตื่นเช้าเข้าห้ัองน้ำ .... คลองข้างวังสวนกุหลาบ , แต่งตัวในเวลาจำกัด การยืนยามหน้าประตู หนีเที่ยว , ล้างส้วม
วางแผนเอาดินเหนียวไปอุดแตร เพื่อพลแตรจะได้ไม่เป่าในการปลุกตอนเช้า
แต่กลับต้องตื่นนอนก่อนเวลาเพื่อมาคอยฟังว่าแตรจะดังตามเวลาที่เคยหรือไม่




ได้รับการอบรมรักษาความลับเฉพาะหน่วย เช่น ปืนเล็ก , ปืนกลหนัก ที่ต่างแยกย้ายกันไปฝึก
หน่วยสื่อสารจะออกไปฝึกที่กองสัญญาณทหารเรือ เมื่อกลับมาก็มาทำเต๊ะกัน
แล้วค่ำวันหนึ่ง
เริ่มมีบางพวกที่ต้องออกไปฝึกภาคสนาม
หมวดสื่อสารได้รับคำสั่งให้ย้ายไปอยู่ในกองสัญญาณทหารเรือเลย เพราะญี่ปุ่นเริ่มสงสัยว่าทำไมจึงมีทหารบกจำนวนหนึ่งเข้าไปในกองทหารเรือทุกวัน
โดย พล.ร.ต.ชาลี สินธุโสภณ ที่ตอนนั้นครองยศ น.อ. เป็นผู้บังคับกองสัญญาณ




การฝึกจะอบรมหนักไปทางเป็นเจ้าพนักงานวิทยุ
คือ
ปกติทหารตื่นตี 5 แต่หน่วยสื่อสารต้องตื่นแต่ตี 4
ตื่นมาก็มีคนมาเคาะสัญญาณกรอกหูให้รับ ... ในห้องนอนเองเลย
6 โมง หยุดพัก อาบน้ำ รับประทานอาหารเช้า
7:30 น.เดินแถวไปที่ทำงาน ... เริ่มเคาะสัญญาณอีก
ท่องสัญญาณ Code Q , Code Z จนบางคนฝันเป็นเสียงสัญญาณ


Code Q หมายถึง กลุ่มของตัวหนังสือ 3 ตัวที่ขึ้นต้นด้วยอักษร Q คิดค้นขึ้นสำหรับการติดต่อสื่อสารด้วยรหัสมอร์ส เพื่อลดระยะเวลาในการรับ-ส่ง ให้สั้นลง
...จากวิกิพีเดีย...

เช่น
ถาม ... QRA ... สถานีของท่านชื่ออะไร ตอบ QRA ... HS1CMC  (เป็นของ จขกท.)
ที่ใช้บ่อยในวิทยุสมัครเล่นคือ QSY แปลว่า ขอให้เปลี่ยนไปส่งด้วยความถี่อื่น หรือจะออกจากความถี่นี้

Code Z
หมายถึง กลุ่มของตัวหนังสือ 3 ตัว ที่ขึ้นต้นด้วยอักษร Z


การอบรมอยู่ที่นี่จะไม่ได้ออกไปไหนต้องหาทางออกต่างกันไปเช่น
เป็นหนอนหนังสือ ศึกษาวิชาช่างวิทยุต่ออย่างละเอียด บางคนทำปทานุกรม ภาษาเยอรมันเป็นไทย รัสเซียเป็นไทย
บางคนตื่นมานัดกันเคาะสัญญา๊ณกลางดึก
บางคนฝากสตางค์ทหารที่ลาออกไปซื้อผ้ามาตัดเสื้อกางเกงใส่โดยการเย็บมือทั้งตัว
บางคนปลุกตัว เป็นลูกหนุมานหรือลิงลม ให้ลองฝีมือปล้ำกัน
บางคนจับกลุ่มกันทำหนังสือรายสะดวก
เพื่อรอวันดีเดย์

นี่คืออดีต นร.สห 2488 คนหนึ่ง ที่ชอบหลับตอนดูมวยตู้
ภาพนี้หลายปีแล้ว แต่เพิ่งถึงบางอ้อว่าทำไมจึงตั้งการ์ดดูเข้าท่า




* บางกอก 003 *

โรงเรียนนายทหารสารวัตรได้มีพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อ 1 เมษายน 2488 มี พล.ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประทาน
ได้เชิญ พ.อ. นากามูระ แม่ทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และ พ.อ. ทูโคดะ สารวัตรใหญ่ทหารญี่ปุ่น มาเป็นแขกผู้มีเกียรติด้วย

ในปี 2488 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตร โจมตีญี่ปุ่นจนต้องถอยร่นมาจากพม่า ทั้งยังได้ครอบครองเป็นเจ้าทางอากาศโดยสิ้นเชิง
ได้เข้ามาทิ้งระเบิดในกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัดทั้งในเวลากลางคืน ซึ่งจะทิ้ง flare ที่สว่างไสวไปทั้งเมืองจนไม่รู้จะไปมุดแอบอยู่ที่ไหน และในเวลากลางวัน

พร้อมกับเครื่องบินทิ้งระเบิด จะมีการทิ้งวัสดุสิ่งของ ยารักษาโรคทางร่มชูชีพลงจำนวนมากกลางท้องสนามหลวง และมีลังอาวุธมาด้วยจำนวนหนึ่ง
กองกำลังนักเรียนและนายทหารสารวัตรก็ต้องพร้อมที่จะเข้ารวบรวมสัมภาระขึ้นรถบรรทุก ก่อนหน้าสัญญาณภัยทางอากาศ
เพื่อไม่ให้ถูกขัดขวางจากปืนกลอากาศ
และยังต้องควบคุมพื้นที่รอบวังสวนกุหลาบอย่างเข้มแข็ง
เพราะเป็นที่พำนักของนายทหารอเมริกันจากหน่วย O.S.S. ที่เล็ดลอดเข้ามาปฏิบัติการกับขบวนการเสรีไทย

ระยะที่สัมพันธมิตรทิ้งระเบิดต่อที่ตั้งทหารญี่ปุ่นในบางกอกและหัวเมืองบ่อยขึ้น
มณฑลทหารบกที่ 1 ก็พลอยขุดสนามเพลาะอ้างว่าเตรียมรับการบุกของฝรั่ง
เจ้ากรมเตรียมทหารได้จัดตั้งโรงเรียนนายสิบ ส.ห.ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง
โดยรับสมัครจากนักเรียนเตรียมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ซึ่งรวมตัวกันเป็น สมาคมเตรียมธรรมศาสตร์-จุฬาอาสาศึก

มีการเรียก นร.สห. จากหมวดและกองร้อยต่าง ๆ ที่ละคน โดยไม่รู้ตัวล่วงหน้าทั้งหมด
ท่านได้ถามถึงความสมัครใจในการปฏิบัติราชการ ที่ต้องสละทั้งกาย จิตใจ และชีวิต เพื่อประเทศชาติ ภาระทางบ้านที่ต้องดูแล
และการรักษาความลับแม้กระทั่งกับ บิดา มารดา
โดย ผบ.ร.ร. พ.ท.สันต์ ณ ป้อมเพ็ชร




วันรุ่งขึ้นคือ วันที่ 8 กรกฎาคม 2488 ทั้งหมดเดินทางโดยรถยนต์ของกรมทาง
ถึงท่าข้ามบางประกงซึ่งตอนนั้นยังไม่มีสะพาน ต้องข้ามแม่น้ำโดยเรือขนานยนต์ข้ามฟาก




ไปยังสวนลดาพันธ์ ใกล้วัดเขาบางทราย ชลบุรี ปัจจุบันคือ ค่ายนวมินทราชินี
เมื่อไปถึงก็ได้รับคำสั่งให้เปลี่ยนเครื่องแบบเป็นชุดกางเกงขาสั้นกับอ้ายโอ๊บ
มีครูฝึก ใช้นามว่า อำนวย ... ซึ่งเป็นนักเรียนไทยในสหรัฐที่โดดร่มลักลอบเข้าเมืองมา
นำอาวุธปืนคาบินมาแจกจ่ายประจำตัว พร้อมกระสุน

เย็นวันนั้นก็ได้เดินทางต่อจากสวนลดาพันธ์โดยรถโดยสารสำหรับนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่มีตราพระเกี้ยวสัญญลักษณ์ของโรงเรียนติดอยู่ข้างรถ
ผ่าน ตลาดชลบุรีซึ่งต้องนอนราบกับพื้นรถเพื่อพราง ผ่าน ศรีราชา นาเกลือ สัตหีบ
จนถึงหลัก ก.ม. 32 บ้านกำนันพัน ตำบลมาบตะพุด ระยอง เมื่อเวลา 21 น. ริมถนนสายสุขุมวิทปัจจุบัน

ตอนนั้น
ภูมิประเทศยังเป็นป่า เต็มไปด้วยสัตว์ร้าย มีเสือเพ่นพ่าน นาน ๆ จึงจะมีรถยนต์ผ่านซักคัน รถยนต์สมัยนั้นใช้ถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิง

เมื่อกำลังจะล้มตัวลงนอน มีคนหนึ่งปรารภทำนองสงสัยว่า มาทำอะไรกันที่นี่ ท่าน ผบ.ร.ร.จึงให้ทุกคนพนมมือ สาบานว่า

" จะยอมเสียสละชีวิตเพื่อประเทศชาติ จะปฏิบัติตามคำสั่งและวินัยโดยเคร่งครัด จะรักษาความลับของทางราชการ
หากผู้ใดทรยศหักหลัง หรือเปิดเผยความลับของทางราชการ ก็ขอให้ต้องอาวุธที่ถืออยู่นี้ตาย "

แล้วจึงเปิดเผยว่า ภาระกิจที่มาคือ สร้างสนามรับอาวุธและพลร่มจากพันธมิตร

แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่