ตื่นจากตาย จากใจคนขายโลง (Part 2)

เข้าใจความตาย เข้าใจโลง เข้าใจคนขายโลง

         คนขายโลง ในมุมมองของคนทั่วไป การทำมาหากินอยู่บนความตายของผู้อื่นทำให้อาชีพนี้อยู่คาบเกี่ยวระหว่างสองความรู้สึก อย่างแรก ถ้ายังไม่มีความตายเกิดขึ้นคนขายโลง คนขายโลงก็จะถูกมองว่าเป็นคนที่หากินกับศพกับคนตาย จากเงินค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพที่ต้องมีอย่างแน่นอน แต่เมื่อความตายได้เกิดขึ้นแล้ว อาชีพคนขายโลงกลับถูกเปลี่ยนบทบาทจากหลังมือเป็นหน้ามือและกลายเป็นฮีโร่ที่เข้ามาช่วยจัดการกับศพ เพราะคงไม่มีใครอีกแล้วที่จะเชี่ยวชาญเรื่องการจัดการศพได้ดีเท่ากับคนขายโลง

     น้อยคนนักที่จะเลือกทำอาชีพคนขายโลง ส่วนมากการเลือกทำอาชีพนี้ก็มักจะเป็นเพราะปัจจัยเรื่องเงิน การขายโลงการสร้างรายได้ที่ไม่เหมือนอาชีพอื่นตรงที่ การขายโลงมีลูกค้าไม่จำกัด ไม่จำกัดฤดูกาลขาย ไม่มีเวลาขายที่ชัดเจน ไม่มีวันหยุด และใช้กลไกการตลาดแบบความสัมพันธ์ของผู้แนะนำ กล่าวคือ เมื่อมีเหตุต้องใช้ ในสภาวะที่จิตใจดิ่งลงต่ำจากภาวการณ์สูญเสียนั้น ลูกค้าแทบจะไม่มีสติที่จะคิดหรือพิจารณา ผู้แนะนำรู้จักใคร รู้จักที่ไหน ลูกค้าก็มักจะตัดสินใจเลือกใช้บริการที่นั่น

          ความหอมหวานของผลกำไรทำให้มีผู้ประกอบการขายโลงที่มากขึ้น ต่างก็งัดกลเม็ดที่จะแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดให้มากที่สุด หนึ่งในวิธีการนั้นคือการที่จะทำอย่างไรให้ผู้แนะนำ สนับสนุนร้านของตนเอง ทำให้สมรภูมิทางการตลาดของวงการคนขายโลงที่คนทั่วไปอาจจะไม่รู้ว่าวงการขายโลงนี้ก็ร้อนแรงเดือดดานไม่แพ้วงการอื่น การขายโลงต่างจากการขายสินค้าอย่างอื่นตรงที่ ผู้ซื้ออยู่ในสภาวะจิตใจที่ไม่พร้อมต่อการพิจารณาตัดสินใจทั้งเรื่องคุณภาพและราคาซึ่งเป็นจุดอ่อนของผู้บริโภคแต่กลับเป็นจุดแข็งของผู้ขาย ผู้แนะนำจึงมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการตัดสินใจซื้อ

     ทุกอาชีพต้องมีจรรยาบันวิชาชีพ อาชีพการขายโลงก็เช่นกัน ในกรุงเทพหรือเมืองใหญ่ที่มักจะตั้งศพไว้ที่วัด การจัดงานศพจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างง่ายเพราะมักจะมีทีมงานคอยประสานงานและให้ความช่วยเหลือในสิ่งที่ไม่รู้ สถานที่ ที่จอดรถก็พร้อมสำหรับการต้อนรับผู้ที่จะมาเคารพศพ แต่ในต่างจังหวัดที่มีธรรมเนียมปฏิบัติในการตั้งศพไว้ที่บ้าน การจัดงานศพจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยากและต้องอาศัยการช่วยเหลือกันของคนในชุมชน โดยมีที่ปรึกษาหลักเป็นร้านขายโลงในพื้นที่ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าการซื้อขายโลงเป็นภาวะที่ผู้ซื้ออยู่ในสภาพจิตใจที่ไม่พร้อมต่อการพิจารณา เวลาเช่นนี้ต้องพึ่งพาอาศัยจรรยาบันของคนขายโลงเข้ามาช่วยแนะนำในสิ่งที่สมควรและมีความชัดเจนในเรื่องของค่าใช้จ่าย เพราะในเวลาที่จิตใจหม่นมัวและหมองเศร้าเช่นนี้ ร้านขายโลงก็เป็นประหนึ่งผู้ถือตะเกียงส่องแสงนำทางให้ผู้ที่อยู่เบื้องหลังของผู้ที่ตายจาก ได้ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันแสนโหดร้ายนี้ไปได้

    มีภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งที่นำเสนอเรื่องราวของคนขายโลงเอาไว้อย่างน่าสนใจ นั่นคือภาพยนตร์เรื่อง DEPARTURES หรือ Okuribito  สุขนั้นนิรันดร (กำกับโดย  โยจิโระ ทากิตะ นักแสดง มาซาฮิโระ โมโทกิ, เรียวโกะ ฮิโรสุเอะ, ซึโตมุ ยามาซากิ) ภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่ออกฉายในปี 2008 ด้วยความละมุนละไมของภาพ บทภาพยนตร์และเพลงประกอบที่ไพเราะมาก ส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์สาขา Best Foreign Language Film ในปี 2009 ภาพยนตร์กล่าวถึงไดโกะพระเอกที่มีอาชีพนักดนตรีแชลโล่ในวงออร์เคสต้า ที่อยู่ๆวงก็ถูกยุบลง ทำให้เขาต้องตกงานอย่างกะทันหัน เพื่อเป็นการอยู่รอด เขาจึงตัดสินใจทิ้งความฝันกับการเป็นนักดนตรี ขายแชลโล่และพามิกะภรรยาสาวแสนสวยย้ายไปอยู่ที่บ้านเกิดในจังหวัดนามางาตะ ที่นี่มีบ้านมรดกของแม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว เป็นที่ที่บันทึกความทรงจำที่ดีระหว่างไดโกะกับแม่ แต่ความทรงจำกับพ่อกลับเลือนรางเพราะพ่อเขาหนีไปตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก ระหว่างที่ไดโกะกำลังหางานอยู่นั้น เขาได้เจอประกาศรับสมัครงานของบริษัทแห่งหนึ่งที่ลงประกาศว่า รับสมัครผู้ช่วยในการเดินทาง เขาเข้าใจว่าเป็นงานไกด์ทัวร์จึงไปสัมภาษณ์งาน เขาได้งานที่นี่ และได้ค่าตอบแทนอย่างสูงจนตัวเขาเองก็ประหลาดใจ แต่เมื่อไปถึงหน้างาน เขาจึงได้รู้ความจริงว่างานที่เขากำลังจะทำ คืออาชีพโนคัง (nōkan) หรือการเตรียมร่างกายที่ไร้วิญญาณของผู้ตายให้พร้อมสำหรับการจัดงานศพ ในตอนแรกตัวไดโกะก็รับไม่ได้กับอาชีพใหม่ที่เขากำลังจะทำ แต่ก็ไม่มีทางเลือกมากนัก เขาจึงจำใจยอมทำงานนี้และปิดบังไม่บอกเรื่องงานกับมิกะ ไดโกะได้ติดตามเจ้าของบริษัทไปจัดการศพ ศพแล้วศพเล่า เขาเริ่มปรับทัศนคติมุมมองของงานที่ทำ ว่ามันเป็นการมอบความสวยงามที่สุดให้กับผู้ที่ตายจากเพื่อเตรียมตัวสำหรับการเดินทางต่อไปในโลกหน้า และมันยังเป็นการบันทึกความทรงจำสุดท้ายของผู้ตายไว้ในความทรงจำของผู้อยู่ไปตลอดกาล ข่าวการทำอาชีพเป็นโนคังของไดโกะ เริ่มไปถึงหูของเพื่อน ต่างก็แสดงความรังเกียจที่เขามาทำอาชีพที่หากินกับคนตาย รวมถึงมิกะภรรยาของเขาเองก็รับไม่ได้ ทั้งสองทะเลาะกันใหญ่โต มิกะขอร้องให้ไดโกะหยุดทำอาชีพนี้ แต่เขาเลือกที่จะปฏิเสธ เพราะการที่เขาได้เห็นคุณค่าของงานที่ทำว่ามันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเพียงใด ความรู้สึกอับอายในอาชีพของสามี มิกะจึงทำประชดด้วยการหนีเขาไป ไดโกะใช้ชีวิตโดยลำพังและทำหน้าที่โนคังต่อไป ภาพยนตร์ได้บรรยายภาพของการจัดการศพที่เป็นไปอย่างมีสมาธิ การเช็ดตัวศพที่มีการระมัดระวังเพื่อไม่ให้ญาติเห็นผิวกายศพ พร้อมบทที่อธิบายความหมายของสิ่งที่ทำ การใส่เสื้อผ้าศพที่มีกระบวนการอันประณีตบรรจง การแต่งหน้าศพให้สวยงาม การจัดท่านอนของศพประหนึ่งการนอนหลับด้วยเสื้อผ้าและใบหน้าที่สวยงาม ก่อนการบรรจุศพลงโลง เมื่อมิกะเริ่มรู้สึกว่าการทำประชดของเธอไม่เป็นผลให้ไดโกะเลิกทำอาชีพโนคังนี้ได้ เธอจึงกลับมาพร้อมกับข่าวดีว่าเธอได้ตั้งครรภ์แล้ว ช่วงเวลาอันประจวบเหมาะนั้น ไดโกะกับการได้รับแจ้งจากเลขาของบริษัทว่าให้เขาไปจัดการศพ แต่คราวนี้เป็นศพของแม่เพื่อนที่เคยดูถูกไดโกะเอาไว้ และครั้งนี้เองที่เป็นจุดเปลี่ยนทัศนคติของมิกะและเพื่อนของไดโกะ จากการได้เห็นกระบวนการจัดการศพอย่างละเอียดทุกขั้นตอน เมื่อมิกะเข้าใจการทำงานของไดโกะแล้วเธอจึงยอมรับที่จะให้สามีของเธอทำงานนี้ต่อไป ช่วงสุดท้ายของเรื่องกับการที่ไดโกะได้ทราบข่าวการตายของพ่อที่ชานเมืองแห่งหนึ่ง ความทรงจำที่เลือนรางเกี่ยวกับพ่อกลับมาชัดเจนเมื่อเขาได้จัดการศพพ่อของเขาเอง พร้อมกับการให้อภัยจากการที่พ่อได้ทอดทิ้งเขาไปในวัยเด็ก

      ภาพยนตร์เรื่องนี้พระเอกของเรื่องได้นำเสนออาชีพคนขายโลงได้อย่างละเอียดและสวยงาม เริ่มตั้งแต่ที่มาของการเปลี่ยนอาชีพมาเป็นคนขายโลง การต่อสู้กับภาวะจิตใจที่ทั้งกลัวและเป็นกังวลต่อความคิดของตนเองและทัศนคติของคนรอบข้างกับอาชีพที่ต้องหากินกับศพของคนตาย แต่ท้ายที่สุดพระเอกก็ได้พบแง่งามของการได้เป็นผู้ช่วยเหลือผู้ที่ตายจาก ให้จากไปอย่างสวยงามพร้อมกับสร้างความทรงจำสุดท้ายให้กับผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ได้รำลึกนึกถึงคุณงามความดี พร้อมกับการให้อภัยในสิ่งที่ผิดพลาดของผู้ที่ผู้ตายจากได้ทำไว้ในวันที่ยังมีชีวิต ทุกช่วงของการดำเนินชีวิตคือการเรียนรู้ ไม่มีใครรู้ทุกเรื่องตั้งแต่เกิด ต่างก็ต้องเรียนรู้ลองผิดลองถูกกันมาแล้วทั้งนั้น ในวันที่หนึ่งชีวิตได้ตายจากจึงเป็นวันที่ผู้ที่ยังอยู่ควรให้อภัยในสิ่งที่ผิดพลาดต่างๆของผู้ตายไปพร้อมๆกับการเรียนรู้ว่า ตัวเราเองได้ศึกษาและเรียนรู้ความผิดพลาดของตนเองบ้างหรือยัง พร้อมกันนั้นจะเป็นการดีมาก หากเราทั้งหลายจะพิจารณาให้อภัยผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ก่อนที่จะต้องมานั่งหน้าโลงศพแล้วจึงกล่าวขอโทษและให้อภัย

           ในมุมของคนที่ไม่เคยจัดงานศพจะคิดภาพไม่ออกว่าร้านขายโลงจะมีบทบาทในการช่วยเหลืออย่างไร ทัศนคติที่ไม่ดีต่อคนขายโลงจึงอาจจะมีบ้าง แต่สำหรับคนที่เคยมีประสบการณ์การจัดงานศพและได้พบประสบการณ์ที่ดีในการแนะนำและนำทางจากคนขายโลง จะมีทัศนคติที่ดีต่อคนขายโลงเพราะการจะก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่หม่นหมองไม่รู้จะทำอย่างไรนั้นมาได้ คนขายโลงเป็นผู้ที่มีบทบาทในการแนะนำและให้ความช่วยเหลืออย่างมาก เพราะคงไม่มีใครที่จะมีประสบการณ์หรืออยากมีประสบการณ์ที่จะได้จัดงานศพซ้ำแล้วซ้ำอีกเหมือนคนขายโลงอย่างแน่นอน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่