The Big Short (2015): ทุนสามานย์บนหลังคน

กระทู้สนทนา
ปีนี้เป็นปีครบรอบ 10 ปีที่เรียนนิด้า และ 10 ปีของวิกฤตซัพไพร์มพอดี จึงได้ฤกษ์ดูหนังเรื่องนี้หลังจากดองไว้เป็นปี ในฐานะคนที่อยู่ในตลาดหุ้นช่วงนั้น ได้เจอ "นรก" ซ้อน "นรก" ราวกับทุนนิยมจะสลาย (และมันก็พิสูจน์แล้วว่าระบบแห่งความโลภและเอาเปรียบส่วนเกินทางเศรษฐกิจของผู้ไม่เท่าทันนั้นตายได้ยากยิ่ง) บวกกับการได้เรียนการเงินที่นำเรื่อง Subprime, CDO, MBS มาสอนกันสด ๆ กับเหตุการณ์ตรงหน้า จึงไม่ยากที่จะอินไปกับหนังเรื่องนี้ที่ชำแหละความเน่าเฟะของโลกทุนนิยมอเมริกาได้หมดเปลือก


ก่อนลงรายละเอียด ขอพูดภาพรวมของหนังเรื่องนี้ว่า ผู้กำกับ Adam McKay ที่มีวิสัยทัศน์เฉียบและมีลูกเล่นแพรวพราว มาเจอกับบทที่เฉียบขาด (สมกับได้ออสการ์) ก็ทำให้หนังที่เสนอเรื่องยากกลายเป็นหนังสนุกชวนติดตาม ราวกับผมกำลังดู The Insider (1999) เวอร์ชั่นกาย ริชชี่กำกับก็ไม่ปาน


หนังแบ่งเรื่องออกเป็นสามองค์ชัดเจน ผ่านคำพูดอ้างอิงจากต่างที่ในแต่ละองค์ ทั้งหมดของเรื่องกระชากหน้ากากผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดของระบบการเงินวอลล์สตรีท (รวมถึงการเงินโลก) ตั้งแต่ระดับหัวยันหาง ทางการ สถาบันจัดอันดับ สื่อ ฯลฯ โดยทั้งหมดต่างเดินไปด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว จนนึกไม่ออกว่าเหลือใครที่พยายามทำเพื่อส่วนรวม (แม้แต่คนที่รังเกียจระบบนี้อย่างที่สุด)


ตัวละครเรื่องนี้มีหลายกลุ่ม ต่างก็ต้องการ The Big Short หรือเก็งกำไรจากตลาดพังครั้งนี้ราวกับการเดิมพันแห่งศตวรรษ และผู้กำกับก็สามารถกระจายบทออกไปได้ไม่ตกหล่น และร้อยเรื่องราวเข้าด้วยกัน จึงขอวิพากษ์สิ่งที่หนังสื่อออกมาผ่านตัวละครต่าง ๆ คือ


Dr.Michael Burry: The Visionary


ตัวละครของคริสเตียน เบล หนังเปิดว่าเขาคือผู้มองออกคนแรกว่าระบบกำลังจะพัง เขาเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น (ตรงข้ามกับดวงตาเขาที่มีน้อยกว่าคนอื่น) และใช้ตรรกะนั้นดำเนินกลยุทธ์ในวันที่คนอื่นมองเขาเป็นตัวตลก ทั้งจากบุคลิก การแต่งตัว ความแปลกแยก (ที่ชอบมาก ๆ คือเขาใส่เสื้อยืด ขาสั้น ถอดรองเท้า ทำงาน ฟังเพลงเฮฟวี่ ถือไม้กลอง และตีกลองระบายเมื่อเครียด เหมือนข้าพเจ้าเวลาเทรดไม่มีผิด โคตรจะเข้าใจ) จนท้ายสุดแล้วเขาก็เลือกที่จะวางมือไปทำสิ่งที่เชื่อต่อไปหลังได้พิสูจน์ดีลครั้งนี้หมดจดแล้ว


Jared Vennett: The Seller


ตัวละครของไรอัน กอสลิง สื่อได้ถึงอาชีพนายหน้านายธนาคารที่หากินจากทุกสิ่งที่ขายได้ในวอลล์สตรีท โดยอาศัยลูกล่อลูกชน การหาประโยชน์จากช่องโหว่ การเป็นผู้ประสานสิบทิศ การหาทางกินกำไรไม่ว่าจะเป็นขาขึ้นขาลงหรือฝั่งไหน สุดท้ายเขาก็ได้กำไรมหาศาลไปจากดีลนี้โดยแทบจะจับเสือมือเปล่า ต่างจากกลุ่มอื่นที่ต้องแบกความเสี่ยงตลอดสองปี


คู่หู Geller & Shipley: The Rookies


ตัวละครของจอห์น มากาโร และฟินน์ วิทร้อค อีกหนึ่งทีมที่เห็นและฉวยโอกาสจากหายนะที่กำลังจะเกิด เป็นตัวแทนทุนขนาดเล็ก (ที่ก็ใหญ่ระดับมากกว่าประชากร 95% ของโลกแล้ว) ที่โดนกีดกันจากทุนใหญ่ในการหาบัตรผ่านเพื่อเข้าสู่เกมที่ใหญ่ขึ้น จนต้องอาศัยทั้งฝีมือ ความเสี่ยงที่สูงขึ้น และสายสัมพันธ์ ให้เข้าถึงดีลครั้งนี้ ทำให้มองเห็นว่าเกมของระบบทุนนี้ไม่เคยเปิดหรือเอื้อให้คนภสยนอกเข้าถึงได้โดยง่าย นับประสาอะไรกับชาวบ้านทั่วไป


ต่อไปเป็นสองตัวละครสุดท้ายที่ชอบเป็นพิเศษ


Mark Baum: The Antagonist


นอกจากนักแสดงตลกที่ผมไม่เคยฮาอย่างสตีฟ คาเรลล์ จะเปลี่ยนตัวเองมาเล่นบทจริงจังและซับซ้อนนี้ได้ "ถึง" แล้ว สมกับที่ถูกเลือกมา ตัวตนของเขายังสะท้อนความเชื่อส่วนตัวของผมด้วย


หนังเปิดเรื่องแสดงให้เห็นว่าเขารังเกียจความสกปรก ความโลภ ความเห็นแก่ตัวของระบบทุนนิยมขนาดไหน มีความใจร้อน ปากไว ปมต่อต้านสังคมในใจ แต่แล้วเขากลับเป็นหัวหน้าทีมกองทุน (ทีมที่ดี) จนเป็นผู้กอบโกยผลกำไรจากการล้มสลายของระบบครั้งนี้


ดูช่างขัดแย้งกันใช่ไหม?


ส่วนตัวผมเคยและปัจจุบันก็ยังรังเกียจทุนนิยม เกลียดความเอารัดเอาเปรียบ ของระบบที่คอยดูดเลือดผู้คนที่ไม่เท่าทัน แล้วเอาความมั่งคั่งไปสู่คนเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ที่คุมระบบ คุมกฎ หรือเข้าถึงทุน แล้วคอยเอาเศษเนื้อโยนให้คนส่วนใหญ่มาแสนนาน ยิ่งหากคุณได้ลองศึกษาสิ่งที่ระบบทุนนิยมของอเมริกาทำกับโลก ทำกับอเมริกาใต้มาเนิ่นนาน คุยจะยิ่งรังเกียจและเห็นความชั่วร้ายสุดกู่ของมัน แล้วสิ่งเหล่านี้ทำให้ผมเป็น Communist หรือ Socialist ไหม? คำตอบคือ ไม่ หากนิยามสิ่งที่ Baum และผมทำคือการเล่นตามเกมของทุน เพราะเรารู้ถึงระบบ (และคอยสาปแช่งให้มันแตกสลายไม่ต่างกัน) เราจึงต้องนำระบบมาใช้เพื่อตอบสนองเรา เราเปลี่ยนโลกไม่ได้ แต่เราเป็นปฏิปักษ์กับระบบทุนที่ชั่วร้ายได้ เพื่อ Decentralize มัน เพื่อนำมาเป็นปัญญาให้กับคนส่วนใหญ่ที่ยังไม่รู้ได้ตาสว่างขึ้น และนั่นคือการช่วยให้ส่วนรวมดีขึ้น สั่นคลอนเหล่านายทุนหน้าเลือดที่คอยกัดกินกับความไม่รู้ของคน


Ben Rickert: The Enlighten


ตัวละครของแบรด พิท บทน้อย แต่เมื่อออกมา ทุกการกระทำและคำพูดชวนให้เรากลับมามองตัวเองว่า เราต้องการใช้ชีวิตในโลกแบบไหน?


เขาเป็น "คนวงใน" ของระบบ แต่เลือกจะหยุด ปล่อยวางและออกมาใช้ชีวิตของตัวเอง เพราะ "พอแล้ว" ความรู้สึกนี้คงคล้ายกับตัวเองเมื่อสิบปีก่อนที่เบื่อกับการเฝ้าหน้าจอ และคิดว่าชีวิตเกิดมาเพื่อทำอะไรได้มากกว่านี้จนตัดสินใจเรียนโทและทำอะไรใหม่ ๆ สุดท้ายเขาก็เป็นผู้ประสานให้ The Rookies ทั้งสองได้รู้จักคนและทำดีลสำเร็จ เมื่อโดนถามว่าทำไมเขาต้องช่วย เขากลับบอกหน้าตายว่า "ในเมื่อคุณอยากรวย ตอนนี้เขาช่วยให้รวยแล้ว" ราวกับจะย้อนกลับว่า ความรวยไม่ใช่คำตอบของอะไรเลย


และฉากที่เป็นหัวใจของเรื่องสำหรับผม มาจากคำพูดของตัวละครนี้หลังจากที่สองหนุ่มดีใจโลดเต้นกับดีลที่กำลังจะสำเร็จใจความว่า "พวกนายดีใจที่จะกำไรมหาศาล แต่ถ้าเราคิดถูก คนจะไร้บ้าน คนจะตกงาน หมดเงินออม หมดบำนาญ รู้ไหมว่ากูเกลียดอะไรเกี่ยวกับการเงิน มันลดค่าชีวิตคนเป็นเพียงตัวเลข นี่ไงตัวเลข ทุก 1% ของอัตราว่างงาน หมายถึงคน 40,000 ต้องตาย เคยคิดถึงมันไหม? เลิกดีใจโลดเต้นห่าเหวได้แล้ว"


ใช่แล้ว หลายครั้งที่ผมเห็นหลายคนที่สนใจเพียงเรื่องของตัวเลขเศรษฐกิจ กำไรขาดทุน บัญชีในธนาคาร ฯลฯ จนลืมไปว่าเบื้องหลังตัวเลขเหล่านี้ ความมั่งคั่งบางอย่าง มีเรื่องราวชีวิตเกี่ยวพันอยู่ข้างหลัง


บางครั้งเราควรหยุดเต้นเป็นลิงไปตามระบบ แล้วออกไปดูโลกให้กว้างและลึกขึ้นก่อนจะสายเกินไป


10/10


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่