การนำฤกษ์ดีมาสู่ตนเองทุกๆวันตามที่พระพุทธเจ้าสอน

ก่อนอื่นบอกก่อนว่าอาจทำให้หลายท่านไม่พอใจ  แต่นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งอยากให้ท่านทั้งหลายได้ศึกษาเพื่อทำนุบำรุงศาสนาสืบต่อไปนะครับ และต้องขออภัยสำหรับท่านที่ไม่พอใจด้วยนะครับ
(เพราะเห็นบางท่าน tag การดูดวงเข้าไปในห้องศาสนาพุทธด้วย เลยคิดว่าคงมีหลายท่านเข้าใจผิดซึ่งเป็นที่มาของกระทู้นี้นะครับ)


การดูดวงเชื่อดวงว่าดวงดีดวงร้ายนั้นไม่มีในพระพุทธศาสนา  พระพุทธเจ้าท่านเพียงสอนให้ดูดวงดาวเพื่อกำหนดทิศหรือเวลาและวันที่หรืออื่นใดในสิ่งดังกล่าวแต่เพียงเท่านั้น   ไม่ได้สอนว่าดวงดาวจะให้โชคดีหรือโชคร้ายอะไรทั้งสิ้น  ดังพุทพจน์ที่ยกมาดังต่อไปนี้


"ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลา ผู้มัว

คอยฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์

ดวงดาวจักทำอะไรได้."

จบ นักขัตตชาดกที่ ๙อรรถกถานักขัตตชาดกที่ ๙


ดังนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าพระพุทธศาสนาไม่สนับสนุนเรื่องดวงดาวให้โชคดีหรือโชคร้ายต่างๆ   ดังนั้นแล้วการดูดวงที่หมอดูทั้งหลายดูจึงไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธอย่างไรทั้งนั้น  จึงไม่ควรโหนเกี่ยวและนำไปรวมกันอย่างที่บางท่านเข้าใจผิด จึงขอฝากไว้นะครับ

ส่วนเรื่องฤกษ์ดียามดีต่างๆ พระพุทธเจ้าท่านสอนดังนี้


ฤกษ์ดีในพระพุทธศาสนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้
สุปุพพัณหสูตร
[๕๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติ
สุจริตด้วยกาย
ประพฤติสุจริตด้วยวาจา
ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเช้า
เวลาเช้าก็เป็นเวลาเช้าที่ดีของสัตว์เหล่านั้น

สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย
ประพฤติสุจริตด้วยวาจา
ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเที่ยง
เวลาเที่ยงก็เป็นเวลาเที่ยงที่ดีของสัตว์เหล่านั้น

สัตว์เหล่าใดประพฤติ
สุจริตด้วยกาย
ประพฤติสุจริตด้วยวาจา
ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเย็น
เวลาเย็นก็เป็นเวลาเย็นที่ดีของสัตว์เหล่านั้น

สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด
เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี มงคลดี
สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี
และบูชาดีในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย
กายกรรมเป็นส่วนเบื้องขวา
ความปรารถนาของท่านเป็นส่วนเบื้องขวา
สัตว์ทั้งหลายทำกรรมอันเป็นส่วนเบื้องขวาแล้ว
ย่อมได้ผลประโยชน์ อันเป็นส่วนเบื้องขวา
ท่านเหล่านั้นได้ประโยชน์แล้ว
จงได้รับความสุข
จงงอกงามในพระพุทธศาสนา
จงไม่มีโรค
ถึงความสุข
พร้อมด้วยญาติ
ทั้งมวล ฯ
จบมังคลวรรคที่ ๕
พระไตรปิฎก ภาษาไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๐
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
หน้าที่ ๒๘๕/๒๙๐ ข้อที่ ๕๙๓-๕๙๕


ที่พึ่งอันประเสริฐที่ควรถือเป็นสรณะเมื่อเกิดความทุกข์

เขมาเขมสรณทีปิกคาถา
พะหุง  เว  สะระณัง  ยันติ  ปัพพะ-
มนุษย์ทั้งหลายส่วนมากเมื่อเกิดมีภัยคุกคาม

ตานิ  วะนานิ  จะ  อารามะรุกขะเจต-
แล้ว ก็ถือเอาภูเขาบ้าง  ป่าไม้บ้าง  อารามบ้าง

ยานิ  มะนุสสา  ภะยะตัชชิตา,
และรุกขเจดีย์บ้าง เป็นสรณะ,

เนตัง  โข  สะระณัง  เขมัง  เนตัง
นั่นมิใช่สรณะอันเกษมเลย  นั่นมิใช่สรณะ

สะระณะมุตตะมัง  เนตัง  สะระณะ-
อันสูงสุด  เขาอาศัยสรณะนั่นแล้ว  ย่อมไม่พ้น

มาคัมมะ สัพพะทุกขา  ปะมุจจะติ,
จากทุกข์ทั้งปวง,

โย  จะ  พุทธัญจะ  ธัมมัญจะ
ส่วนผู้ใดถือเอาพระพุทธเจ้า  พระธรรมเจ้า

สังหัญจะ  สะระณัง  คะโต  จัตตาริ
พระสงฆเจ้า  ว่าเป็นสรณะแล้ว  เห็นอริยสัจจ์

อะริยะสัจจานิ  สัมมัปปัญญายะ
คือความจริงอันประเสริฐทั้งสี่  ด้วยปัญญา

ปัสสะติ,
อันชอบ,

ทุกขัง  ทุกขะสะมุปปาทัง  ทุกขัสสะ
คือเห็นความทุกข์  เหตุให้เกิดทุกข์  ความ

จะ  อะติกกะมัง,
ก้าวล่วงทุกข์เสียได้,

อะริยัญจัฎฐังคิกัง  มัคคัง
แหละหนทางมีองค์แปด  อันประเสริฐเป็น-

ทุกขูปะสะมะคามินัง,
เครื่องถึงความระงับทุกข์,

เอตัง  โข  สะระณัง  เขมัง  เอตัง
นั่นแหละ เป็นสรณะอันเกษม  นั่นเป็นสรณะ

สะระณะมุตตะมัง  เอตัง  สะระณะ-
อันสูงสุด  เขาอาศัยสรณะ นั่นแล้ว  ย่อมพ้น

มาคัมมะ  สัพพะทุกขา  ปะมุจจะตีติ.
จากทุกข์ทั้งปวงได้  ดังนี้.

ธรรมบท  ขุททกนิกาย



      แต่ทั้งนี้ก็มีพระที่ท่านนำการดูดวง ดูฤกษ์มาใช้เพื่อจุดประสงฆ์ที่ดี เพราะบารมีธรรมแต่ละคนไม่เท่ากัน  พระบางองค์ท่านนำจุดนี้มาเพื่อเป็นอุบายในการสอนก็มี ค่อยๆชักนำจากหยาบไปละเอียด เช่น อยากดวงดีทำอย่างไร พระบางองค์ก็บอกให้รักษาศีล
ค่อยๆเป็นลำดับๆไป อะไรแบบนั้น และต่อๆไปก็สอนให้เชื่อเรื่องกรรมแทนเรื่องดวง อย่างนี้ก็มี  อย่างในสมัยพุทธกาลอย่างพระศาสดาเองก็มีอุบายสอนแต่ละคนต่างๆกันไปตามจริตนิสัย อย่างเช่นกรณีของพระนันทะเป็นต้น(ค้นดูเองในกูเกิล เพราะมันยาว)
         ดังนี้ก็ไม่ควรไปตำหนิท่าน   แต่ที่น่าตำหนิคือพระที่ใช้การดูดวงเลี้ยงชีพ ไม่ได้มุ่งสอนหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือผู้ที่ดูดวงและชอบอ้างว่าการดูดวงเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาพุทธ แบบนี้น่าตำหนิเพราะเป็นการบิดเบือนทำลายศาสนาพุทธ

ขอให้เจริญในธรรมทั่วๆกันทุกท่านนะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่