สายสัมพันธ์ ตอนที่ 1 เชียงใหม่-เชียงตุง

สายสัมพันธ์ #เชียงใหม่ #เชียงตุง"ฉันอายุเกือบร้อยแล้ว"คำกล่าวที่ #เจ้านางสุคันธา แห่งนครเชียงตุง บุคคลสำคัญในยุคที่นครแห่งนี้ยังทรงศักดิ์และสิทธิ์เป็นเมืองใหญ่อันดับหนึ่งแห่ง #รัฐฉาน (พื้นที่ใกล้เคียงกับภาคเหนือของไทย)จวบจนกระทั่งมรสุมทางการเมืองที่โหมกระหน่ำเป็นเหตุให้ #ราชวงศ์มังราย สายเชียงตุงต้องแตกกระสานซ่านเซ็น แยกย้ายกันจวบวันนี้
......สภาพเมืองเชียงตุงสมัยที่ท่านยังเล็กอยู่เป็นอย่างไรคะ..
สมัยนั้นเชียงตุงมีเมืองบริวารเป็นเมืองเล็กๆประมาณยี่สิบกว่าเมือง เมืองใหญ่ๆอีกสิบเก้าเมืองชายแดนด้านหนึ่งติดกับแม่น้ำสาละวิน ด้านหนึ่งติดกับแม่สาย ด้านหนึ่งติดกับแม่น้ำโขง สมัยที่เจ้าพ่อ(เจ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลงร่วมสมัยกับรัชกาลที่5และรัชกาลที่6แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)ยังอยู่ชีวิตก็สนุกสบายดี ฉันไม่ได้ไปเรียนที่เมืองนอกหรอกเพราะว่าเป็นผู้หญิง เขาเลยไม่ส่งไป ส่วนผู้ชายส่งไปที่อังกฤษหรือไม่ก็ไปเรียนที่ต่องกี ซึ่งเป็นเมืองที่เจ้าผู้ครองนครไปประชุมกันทุกปีและเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยภูเขาสูง เลยทำให้อากาศหนาวมาก เมืองนี้ยังเป็นที่ตั้งของรัฐบาลอังกฤษในสมัยนั้น เจ้าฟ้าของแต่ละเมืองจะทรงสร้างบ้านไว้องค์ละหลัง เพื่อเป็นที่พักเวลาประชุมที่นั่น จำได้ว่าเวลามีประชุมที่นั่น.เจ้าพ่อต้องออกงานเลี้ยงแทบทุกคืน เดี๋ยวคนนั้นเลี้ยงเดี๋ยวคนนี้เลี้ยง
.......แตกต่างจากเชียงใหม่ไหมคะ...
อากาศที่เชียงตุงไม่ต่างจากเชียงใหม่เท่าไหร่ เนื่องจากมีภูเขามากเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นหน้าร้อน บางวันอากาศร้อนเหมือนกรุงเทพก็มี พอย่างเข้าหน้าหนาวอากาศหนาวจนตัวสั่นเลย ตอนนั้นไฟฟ้าก็ยังไม่มี ต้องคีบถ่านแดงๆใส่เตาดินคล้ายๆเตาอั้งโล่มาตั้งไว้กลางห้อง แล้วพวกเราพี่น้องก็นั่งวงล้อมคุยกันบางทีก็ทานขนมเส้นไปด้วย ขนมเส้นมีอยุ่สองชนิดคือ คือขนมเส้นน้ำจ๋าง และ ขนมเส้นน้ำเจ็ม น้ำเจ็มใส่หมูสับต้มกับมะเขือเทศ ส่วนน้ำจ๋างใส่เครื่องในหมูทอดกรอบ ถ้าไม่ใช่ขนมเส้นก็อาจจะทานข้าวเหนียวกับผักอีกสองสามอย่าง เพื่อเป็นการแก้เบื่อเวลาที่ต้องนั่งนานๆ
.........แล้วเรื่องภาษาหล่ะคะ.........
ที่เชียงตุงใช้ภาษาเขินเป็นภาษาพูดและภาษาพม่าเป็นภาษาเขียน ซึ่งลักษณะของภาษาเขินไม่แตกต่างจากภาษาไทยเหนือสักเท่าไหร่ ทั้งคำพูดและตัวอักษร อย่างภาษาไทย ท่อง ก-ฮ ว่า กอ ไก่ ขอ ไข่ แต่เขินจะท่างว่า กะ ขะ ภาษาเขินพูดคำว่ากินข้าวเหมือนกับภาษาเหนือ สุมาแอ่ว แปลว่า มาเที่ยว สู แปลว่า เธอ เฮา แปลว่าฉัน แต่ถ้าเป็นลื้อจะเรียกตัวเองว่าข้อย
.........ท่านคงจะมีพี่น้องหลายคน.....
พี่น้องที่เป็นพ่อเดียวแม่เดียวกันมีทั้งหมดห้าคน แม่ของฉันเป็นลูกข้าราชการในเชียงตุง ส่วนยายฉันเป็นลูกพระยาแขก ก็เพราะว่าท่านจะคอยทำหน้าที่เป็นผู้นำเจ้าฟ้าเมืองต่างๆ เข้าถวายคำนับเจ้าพ่อ
.....เจ้าพ่อท่านจ้างครูไทยสองคนมาอยู่ที่คุ้ม ชื่อแม่ครูแจ่ม กับแม่ครุบุญชุบ เป็นครูไทยที่มาจากเชียงใหม่นี่แหละ ให้คอยหัดละครไทยให้ใครก็ได้ที่อยากจะเรียน สมัยนั้นตั้งเป็นวงละครไทยเลยนะ เพราะคนไปหัดกันมากเต็มที ส่วนละครพม่านั้นมีอีกวงหนึ่ง สอนโดยคนพม่าอีกเหมือนกัน แต่ละครพม่านั้นมีในเชียงตุงมานานแล้ว เวลาในคุ้มมีงานอะไรสำคัญจะเล่นละครพม่า
.....ตอนที่ฉันอายุได้หกขวบเจ้าพ่อจ้างครูมาสอนพิเศษภาษาเชียงตุงให้พวกพี่ๆด้วยความเป็นเด็ก ฉันเลยเข้าไปนั่งเรียนร่วมกับเขาด้วย ทำให้รู้ภาษาเชียงตุงก่อนเข้าโรงเรียน ทั้งที่สมัยก่อนเด็กอายุหกขวบถือว่ายังเล็กมาก ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ สามขวบก็อ่านหนังสือได้แล้ว พออายุได้เก้าขวบก็เข้าโรงเรียนกินนอนที่โรงเรียนมาแมร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนแม่ชีที่สอนโดยมาแมร์จากอิตาลี่เด็กในเชียงตุงทุกคนต้องเรียนสองภาษาคือ ภาษาพม่า และภาษาอังกฤษ นอกไปจากภาษาท้องถิ่น
.....สมัยนั้นมีโรงเรียนอยู่สองโรงเรียน โรงเรียนหนึ่งคือ โรงเรียนแม่ชี ซึ่งรับเด็กผู้หญิงชาวเขามาเรียนหนังสือ และสอนปักเสื้อผ้าไปด้วย ส่วนพวกชาวเมืองมาเรียนแบบเช้าไปเย็นกลับโดยแยกห้องเรียนกับพวกเรา ฉันเลยไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ภาษาชาวเขา ส่วนอีกโรงเรียนหนึ่งคือโรงเรียนบาทหลวง โรงเรียนนี้รับเด็กผู้ชายชาวเขามาเรียนด้วยเหมือนกัน ถ้าหากตอนกลางคืนมีขโมย หรือเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นที่โรงเรียนแม่ชี มาแมร์จะเป็นคนตีฆ้อง เสียงดัง ง้อง ง้องแล้วพวกเด็กนักเรียนโรงเรียนบาทหลวง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กชาวเขาจะวิ่งมาช่วยที่นี่ฉันต้องไปกินนอนอยู่ที่นั่นตั้งหลายปี จนกระทั่งเรียนจบชั้นหก ถึงได้ออกมาช่วยเจ้าพ่อทำงาน
...........สมัยนั้นมีเพื่อนรุ่นเดียวกันที่สนิทๆไหมคะ......
เพื่อนรุ่นเดียวกันกับฉันสมัยนั้นเป็นลูกสาวเจ้าเมืองย๊อง ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเชียงตุงญาติทางเจ้าพ่อชื่อว่า เจ้าเทพธิดา เดี๋ยวนี้เสียชีวิตแล้ว เรากินนอนอยู่โรงเรียนเดียวกัน สมัยนั้นลูกของเจ้าพ่อที่ไปอยู่โรงเรียนเดียวกันมีสามคน คนใช้อีกสองคน และเจ้าเทพธิดาอีกหนึ่งคน นอนห้องเดียวกัน
......สมัยก่อนการคัดเลือกเด็กที่จะเอามาเป็นคนใช้เจ้านายนั้น เขาจะไม่เลือกจากเด็กที่เป็นลูกขุนนาง แต่เลือกจากลูกของคนชั้นธรรมดา พวก " นาง " หรือ " ชาย " ในเชียงตุงมีคำเรียกคนตามชนชั้นต่างๆกันอย่างคำว่า " อุ๊นาง " หมายถึงลูกสาวพระยา "อุ๊ไจ๊" หมายถึงลูกชายพระยา มาตอนหลังถึงไม่เรียก " อุ๊ " กันแล้วเพราะไม่เหลือคนที่มียศตำแหน่งถึงขั้น " อุ๊ " เหลือแต่ นาง กับ ชาย เฉยๆ ขั้นต่ำลงมา จะเป็นไอ้ กับ อี
.....ส่วนพระสงฆ์นั้นมีหลายชั้น มีคำเรียกต่างกัน ตั้งแต่ ตุ๊ สิทธิ ครูบา จนถึง อายธรรม (อา-ยะ-ทำ) อายธรรมคือตำแหน่งใหญ่ที่สุดเทียบได้กับสังฆราชของไทย แต่คำว่าพระในภาษาไทยหมายถึงเณรของเชียงตุง
.........ที่ว่าเรียนจบมาช่วยเจ้าพ่อทำงานนั้น ทำอะไรบ้างคะ.......
ฉันเรียนจบอายุได้สิบกว่าปี เจ้าพ่อให้เป็นเลขาฯของท่าน คอยรับใช้ท่านสลับกับพี่สาวอีกสองคน เจ้าบัวสวรรค์ และเจ้าทิพเกสร ผลัดกันทำงานคนละวัน สมัยนั้นเจ้าพ่อมีไร่กาแฟด้วย ฉันต้องทำหน้าที่เป็นคนคอยทำบัญชีว่าไร่แห่งนี้มีต้นกาแฟกี่ต้น ให้ผลมาเท่าไหร่
.....สมัยชีวิตสาวๆของฉันสนุกมากกลางวันก็เล่นเทนนิส เนื่องจากเจ้าพ่อทรงดำริให้ สร้างสนามขึ้นในคุ้ม บางครั้งก็มีภรรยาหมอฝรั่งและภรรยาข้าหลวงมาร่วมเล่นด้วย ส่วนคนอื่นๆในเวียงที่สามารถมาเล่นเทนนิสได้จะต้องเป็นพวกลูกสาวขุนนาง เพราะเจ้าพ่อไม่อนุญาติให้ผู้ชายเข้ามาภายในคุ้ม แต่ฉันเล่นไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่น้องสาวฉัน เจ้าบุญฟองซิเล่นเก่ง

..........นอกจากเล่นเทนนิสแล้วมีกิจกรรมอย่างอื่นอีกไหมคะ........
ฉันกับน้องๆชอบขับรถยนต์ไปเที่ยวตามในเวียง สมัยนั้นไม่มีใครในเชียงตุงมีรถยนต์ นอกจากเจ้าพ่อ ซึ่งมีอยู่ สองสามคัน รวมทั้งพี่ชายใหญ่และเจ้าพรมลือ เวลาเราไปไหนด้วยรถยนต์จึงสะดวกสบาย แต่เนื่องจากพื้นทีในเวียงเป็นที่ดอน ไม่เสมอกัน มีเนินสูงต่ำอยู่มากมาย เวลาขับรถยนต์จะต้องขับขึ้นลงเนิน บางทีขับไปแล้วเครื่องดับตอนนั้นยังใช้ระบบเก่าอยู่ เป็นแท่งเหล็กหมุนเพื่อสตาร์ทเครื่องอยู่ มีบางครั้งที่เราหมุนไม่ไหวก็จะให้น้องสองคนที่ไปด้วยกันช่วยเข็นรถไปบนยอดเนิน แล้วผลักรถลงมาเพื่อให้สตาร์ได้ง่ายขึ้น แต่บางครั้งแทนนิสก็อยากเล่านขับรถก็อยากขับ ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง
........คุ้มใหญ่โตขนาดไหนคะ.....
เนื้อที่ของคุ้มกว้างประมาณสิบกว่าไร่ภายในนั้นนอกจากตำหนักของเจ้าพ่อและตำหนักของเจ้าย่าแล้ว เจ้าพ่อยังสร้างบ้านไว้หลังหนึ่ง สำหรับเจ้านางของเจ้าพ่อคลอดลูกเนื่องจากเมื่อก่อนลูกๆทุกคนของเจ้าพ่อคลอดบนตึงใหญ่หรือตำหนักของเจ้าพ่อ แต่ท่านมีลูกหลายคน ภายหลังจึงสร้างอีกหลังหนึ่งสำหรับเป็นที่คลอดโดยเฉพาะ
.....ตำหนักของเจ้าพ่อเป็นตึกสามชั้นแบบแขก ชั้นบนสุดเป็นที่ไว้หิ้งพระ นอกนั้นเป็นที่ว่างเพราะไม่มีใครขึ้นไปอยู่พวกเราเด็กๆเลยชอบขึ้นไปเล่นกันข้างบนนั้น มีอยู่วันหนึ่ง พี่ชายใหญ่ (เจ้าฟ้ากองไต) กลับจากศาลากลางมาเห็นเข้า เลยโดนพี่ดุเสียยกใหญ่เลย
.....บนตำหนักมีห้องถึงเก้าห้อง แต่ละห้องใหญ่โตมากแบ่งออกเป็นสามปีกด้วยกัน ปีกซ้ายเป็นห้องของเจ้าพ่อ ส่วนห้องโถงใหญ่ตรงปีกกลางนั้น เอาไว้สำหรับออกขุนนางเวลามีงานใหญ่งานโต ถัดไปทางด้านหลังอีกห้องหนึ่งเป็นห้องคลัง สำหรับเก็บเงินท้องพระคลัง ฉันยังจำได้ว่า เวลาที่พวกพนักงานเทเงินออกมานับ บางทีเราโชคดีเราเล่นกันอยู่ข้างล่าง จะมีเงินไหลลอดออกมาจากพื้นข้างบนได้มาครั้งละแถบๆ แต่เดี๋ยวนี้เค้าเรียกว่าเงินจ๊าด ตามพม่าแล้ว
.....นอกจากนี้ยังมีห้องถัดไปทางหลังตึกอีกหนึ่งห้อง เป็นห้องของมหาเทวี ปีกขวาเป็นห้องของเจ้าจอมอีกสามห้อง และห้องมหาดเล็กอีกหนึ่งห้อง ส่วนชั้นล่าง ที่ส่วนหนึ่งแบ่งไว้สำหรับต้อนรับเวลามีงานปีใหม่ หรือจะจัดงานเลี้ยงพวกเจ้าเมืองที่ขึ้นกับเมืองเชียงตุงเมื่อเข้ามาคารวะเจ้าพ่อในพิธีคารวะ
.....พิธีคารวะคืออะไรคะ......
พิธีนี้จัดขึ้นปีละสองครั้ง ปีใหม่และออกพรรษาเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความจงรักภักดีของเจ้าเมืองต่างๆในอาณัติของเชียงตุง พิธีนี้มีอยู่สองวันด้วยกัน วันแรกเรียกว่าวันกิ่นป๋าง เป็นวันที่เจ้าเมืองทุกคนจะรัปทานอาหารร่วมกับเจ้าพ่อ โดยมีอาหารหลักเป็นพิเศษอยู่ห้าอย่างคือ แกงฮังเล น้ำซุปถั่วลันเตา ผักกุ่มดอง แคบหมูกับน้ำพริกอ่องและข้าวเหนียว
.....เสร็จจากนั้นวันที่สองถือเป็นวันคารวะ ในวันนี้เจ้าพ่องจะประทับบนแท่นแก้วส่วนพวกเจ้าเมืองจากสามสิบกว่าเมืองจะทยอยกันเข้าไปในห้องพร้อมกับดอกไม้ธูปเทียนมาวางไว้ตรงหน้าแท่นที่เจ้าพ่อประทับคนละขัน เชื่อไหมว่าเขาปักเทียนเล่มใหญ่อย่างกับท่อนไม้(ทำมือประกอบ) มาในขันที่ทำจากเงินแท้ ตีเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมบางๆ เจาะรูตรงกลางประดับด้วยดอกบานไม่รู้โรยทั้งข้างบนข้างล่าง เสียบมาโดยรอบเทียนจำนวนห้าดอก หลังจากนั้นเจ้าเมืองจะ " สูมา " หรือไหว้เจ้าพ่อ เจ้าพ่อให้พรตอบแล้วพวกช่างฟ้อนก็มาฟ้อนหางนกยูงให้พวกแขกบ้านแขกเมืองดู เป็นอันเสร็จพิธี
........เจ้าพ่อของท่านดุไหมคะ.....
ไม่ดุเพราะท่านเป็นอุบาสกที่เคร่งครัดมาก ยึดศีลห้าเป็นหลักประจำใจ สมัยนั้นถือเป็นกฏเลยว่า ถ้าใครไม่คือศีลห้า ไม่รับเข้าทำงานราชการ ลูกผู้ชายทุกคนต้องบวชเรียนเมื่อถึงเกณฑ์ จะบวชเณรหรือบวชพระก็ได้ เวลาเด็กคนไหนอายุครบยี่สิบเมื่อไหร่จะต้องจัดงานบวชเณรให้และถ้าเป็นคนธรรมดาสามัญ จะให้เณรนั่งแห่ไปบนม้าส่วนช้างนั้น เจ้าพ่อเท่านั้นจึงจะมีได้ ท่านมีช้างหลายเชือก เวลาปล่อยช้างออกมาเรียกว่าเต็มลานคุ้มเลย เจ้าพ่อท่านเชี่ยวชาญมากสามารถปีนข้ามจากช้างเชือกหนึงไปอีกเชือกหนึ่งได้โดยไม่ต้องลงมาที่พื้อนและท่านจะมี " อาเปี่ยวต่อ" หรือสาวใช้สามสี่คนคอยนั้งเฝ้ารับใช้ผู้ชายอีกสี่คนไว้สำหรับให้เจ้าพ่อเรียกใช้
.....เรื่องคดีความอะไรในเชียงตุงเจ้าพ่อเป็นผู้ตัดสินเพียงผู้เดียว ฝรั่งไม่เกี่ยว เพียงแต่มาเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น สมัยนั้น ข้าหลวง รองข้าหลวง หมอ และนานทหารอังกฤษจะมาพักกันที่ดอยเหมย พวกอังกฤษชอบที่นี่มาก เป็นสถานที่น่าอยู่ เนื่องจากเป็นดอยสูงที่สุดและสวยที่สุดในเชียงตุง
.......ท่านปกครองอย่างไรคะ......
เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ฝรั่งกำลังล่าเมืองขึ้น แคว้นสิบสองปันนาซึ่งเป็นพวกลื้อได้ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน และถูกครอบครองโดยคนสามชาติด้วยกัน เมืองย็อง เมืองแฮ่ เมืองขัน เมืองลื้อ เมืองหลุย ขึ้นกับอังกฤษ แต่ยกให้เชียงตุงปกครอง เมืองเชียงรุ่ง เมืองน้า เมืองลา เมืองหัน นั้นขึ้นกับจีน ส่วนเมืองที่เหลือตกเป็นของฝรั่งเศส
.....ต่อมาเมืองทั้งห้าเมืองที่เชียงตุงปกครองโดยเชียงตุงเกิดไม่พอใจขึ้นมาต้องการที่จะขึ้นกับอังกฤษโดยตรง ไม่อยากถูกปกครองโดยเชียงตุงอีกต่อไปคิดตั้งตัวเป็นกบฏ เจ้าฟ้ากองไตพี่ชายของฉัน ซึ่งเป็นอุปราชเมืองเชียงตุงในสมัยนั้น จึงขอประทานอนุญาติจากเจ้าพ่อไปสืบราชการที่เมืองยอง จากนั้นท่านก็จัดการแต่งตัวเป็นฝรั่ง เดินทางไปกับคณะข้าหลวงของอังกฤษโดยไม่มีใครในเมืองทราบเลยว่าท่านคืออุปราช

อ่านต่อตอนที่ 2
คัดเนื้อหาและเรียบเรียงโดย :ใหม่สูงค่า เชียงตุง
1.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่