ผงชูรสไม่อันตราย อยากเทหมดซองก็ได้ตามใจ .. อยากป่วยเป็นโรคไตวายกันนักเหรอคะ

ธรรมชาติของวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารล้วนมีโซเดี้ยมแฝงอยู่แล้ว ปริมาณมากน้อยแตกต่างกันไป (ผักเอย เนื้อ-นม-ไข่เอย ผลไม้เอย ถั่วเอย อาหารทะเลเอย) แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุแต่งรสอย่าง เกลือแกง น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ ซีอิ๊วหวาน โชหยุ ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก ซอสถั่วเหลือง ซอสหอยนางรม (น้ำมันหอย) ผงปรุงแกงสำเร็จรูป ผงกันบูดกันรากันเสีย (เบนโซเอตโซเดี้ยม) ผงฟู (ไบคาร์บอเนตโซเดี้ยม) ผงชูรส

หลายชนิดมีรสเค็ม แต่หลายชนิดไม่ได้มีรสเค็ม ได้แก่ ผงฟู ผงกันบูดกันรากันเสีย ผงชูรส แต่มีโซเดี้ยมแฝงอยู่ไม่น้อยเลย แล้วในอาหารคาวร้านอาหารส่วนใหญ่มักจะใส่ผงชูรส ที่หลายครั้งก็เป็นผงรส...  ผง... (หลายร้านใส่อย่างไม่รามือ เพลินมือเลย) เป็นช้อนโต๊ะพูน ๆ (เท่าที่เราเคยเห็นนะคะ ขอไม่พูดถึงชื่อร้านทั้งในที่นี้และหลังไมค์) ซึ่งปริมาณเท่านั้นคุณได้รับโซเดี้ยมต่อมื้อเดียวก็เกินจากที่ตารางโภชนาการกำหนดไว้หลายเท่าตัวแล้ว (ตารางโภชนาการกำหนดไว้ว่า ปริมาณโซเดี้ยมที่พึงได้รับต่อวัน ไม่เกิน ๒,๐๐๐-๒,๔๐๐ มิลลิกรัม)

โซเดี้ยม มีผลต่อสมดุลของน้ำและความดันโลหิตในร่างกายนะคะ ถ้าร่างกายมีปริมาณโซเดี้ยมในโลหิตน้อยเกินไปจากระดับเกณฑ์มาตรฐาน คือ ไม่น้อยกว่า ๑๓๕ แต่ไม่เกิน ๑๔๕ ความดันโลหิตจะตก เรี่ยวแรงน้อย แต่ตรงกันข้ามถ้าปริมาณโซเดี้ยมในโลหิตมากเกินไปจากระดับเกณฑ์มาตรฐาน จะทำให้ร่างกายกระหายน้ำมาก บวมน้ำตามแขน ขา เท้าและใบหน้า ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะออกน้อยลง จนถึงขั้นไตวายได้

ก่อนหน้านี้ข่าวออกกันโครม ๆ ว่าคนไทยป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคไตวายระยะสุดท้าย (ระยะฟอกเลือดล้างไต) กันมากขึ้น มากขึ้น และจะมากขึ้นทุก ๆ ปี ตอนแรกที่ได้ยินข่าวนี้ เราแปลกใจ สะท้อนใจ และเศร้าใจนะคะว่าทำไมถึงป่วยด้วยโรคเหล่านี้กันเยอะขึ้น พอมาเจอคำตอบในกระทู้ถามหาร้านที่ไม่ใส่ผงชูรส ที่ส่วนใหญ่บอกว่าผงชูรสไม่อันตราย ไม่มีโทษ ไม่มีภัยอะไร อยากตักใส่เท่าไรก็ตามอำเภอใจ อยากใส่เป็นทัพพี รึเทหมดซองก็เชิญ (รู้มั้ยคะว่านั่นคือพฤติกรรมที่คุณได้ทำร้าย ทำลายไตของคุณเองอย่างไม่รู้สึกผิด) ทำเอาเราหมดข้อสงสัยไปเลยค่ะกับข่าวนี้

จากประสบการณ์ตรงของเรา ตอนที่เราเข้าฟอกเลือดล้างไต โดนทั้งฟอกผ่านเส้นเลือดเทียมที่คอ และเส้นเลือดเทียมที่แขน (มีบางรายต้องฟอกเลือดที่ต้นขา) โดนเข็มขนาดใหญ่และยาวเท่าเข็มร้อยมาลัย ร้อยอุบะแทงที่แขนข้างเดียวกัน ๒ เล่ม ต่อเข้ากับสายท่อส่งเลือดเข้าเครื่องฟอกเลือดที่เรียกว่าเครื่องไตเทียม อยู่บนเตียงวันละ ๔ ถึง ๕ ชั่วโมง สัปดาห์ละ ๒ ถึง ๓ วัน (หรือวันเว้นวัน) คุมน้ำ คุมอาหารค่อนข้างเคร่งครัดโดยเฉพาะเรื่องเกลือและรสชาติ เพื่อให้ไม่ต้องกินยาลดความดันโลหิตบ่อย ๆ ชีวิตไม่อิสระเลยค่ะ อยากกินอาหารที่มีรสบ้างก็กินไม่ได้ เพราะเคยกินแล้วปวดหัวความดันโลหิตขึ้น อยากไปเที่ยว ไปพักค้างอ้างแรมที่ไหน ที่ไกล ๆ ก็ไปไม่ได้เลย ชีวิตมีแต่ไปฟอกเลือด ฟอกเสร็จเดินกลับบ้านอยู่แบบนี้ ค่ารักษาต่อครั้งขอไม่พูด เอาเป็นว่าสูงก็แล้วกัน

ฉะนั้นขอถามตามหัวกระทู้เลยแล้วกันค่ะว่า ถ้าวันหนึ่งไตคุณทำงานหนักจนไตป่วยแล้วไม่มีวันที่เขาจะฟื้นอีกเลย คุณรับได้เหรอคะที่จะต้องเจ็บตัวโดนเข็มใหญ่สอดแทงเข้าแขน ขาของคุณวันเว้นวันอย่างที่เราเคยประสบมา

ฝากทิ้งท้ายนะคะ อโรคยา ปรมาลาภา. Arōgayā paramālābhā. ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่งเหนือลาภทั้งปวง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่