วัดโพนชัย กับเรื่องราวผีตาโขน

วัดโพนชัย เป็นวัดคู่เมืองของอำเภอด่านซ้ายสร้างขึ้นพร้อมกับพระธาตุศรีสองรัก  ประมาณ  พ.ศ. 2103

          วัดโพนชัย (ชาวบ้านนิยมเรียกว่าวัดโพน) ซึ่งเป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์ฟื้นบ้านด่านซ้าย ผีตาโขน วัดโพนชัยตั้งอยู่บนเนินสูงทางทิศใต้ของอำเภอด่านซ้าย  ห่างจากที่ตั้งที่ว่าการอำเภอประมาณ  1 กิโลเมตร  ห่างจากลำน้ำหมันประมาณ  300  เมตร



      พิพิธภัณฑ์ผีตาโขน ตั้งอยู่ภายในวัดโพนชัย อ.ด่านซ้าย จ.เลย เป็นสถานที่เก็บ และจัดนิทรรศการเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ที่สืบต่อกันมา รวมถึงผีตาโขนที่มีความเชื่อกันว่าเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่สืบทอดมาแต่โบราณกาล ว่างานบุญผีตาโขนนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานบุญหลวง ที่ถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของท้องถิ่นที่รวมเอางานบุญพระเวส (ฮีตเดือนสี่) และงานบุญบั้งไฟ (ฮีตเดือนหก) ให้เป็นงานบุญเดียวกันโดยงานบุญพระเวสมีวัตถุประสงค์จัดเพื่อให้ฟังเทศน์มหาชาติ ส่วนงานบุญบั้งไฟนั้นเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อถวาย บูชาเทวาอารักษ์รักเมือง ขอให้ฝนตกตามฤดูกาล ซึ่งผีตาโขนจะเป็นผู้ออกมาสร้างสีสันและความครื้นเครงในขบวนแห่ ส่วนชื่อของผีตาโขนนั้นเล่าต่อกันมาว่าน่าจะมาจากการสวมหน้ากากคล้ายหัวโขน หรือบางคนเรียกเป็นผีตาขน ผีตามคน และเพี้ยนเป็นผีตาโขนในที่สุด

         นอกจากส่วนที่จัดแสดงประวัติวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ แล้วภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงหุ่นผีตาโขนที่มีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกัน และมี 2 ประเภทคือ ผีตาโขนใหญ่ ผู้ชายและผู้หญิงจะไม่มีการทำใหม่ทุกปี แต่จะทำตามธรรมเนียมที่กำหนดไว้เท่านั้น และผีตาโขนเล็กที่เราพบเห็นกันทุกปี นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการทำหน้ากากผีตาโขนที่มีส่วนประกอบดังนี้

-หัวของผีตาโขน ทำจากหวดนึ่งข้าวเหนียวมาหักพับขึ้นให้มีลักษณะคล้ายหมวก
-หน้าทำจากโคนก้านมะพร้าวถากเป็นรูปหน้ากาก เย็บต่อกับส่วนหัว แล้วเจาะช่องตา
-จมูกทำจากไม้เนื้ออ่อนแกะสลักเป็นรูปร่างต่าง ๆ คล้ายกับจมูกคน ปัจจุบันนิยมทำยาวเป็นงวงช้าง
-เขาทำจากปลีมะพร้าวแห้งมาตัดให้ได้ขนาดที่ต้องการแล้วติดที่ข้างหวด
-การตกแต่งลวดลายเมื่อก่อนนิยมใช้สีธรรมชาติ เช่นปูนขาว ปูนแดง ขี้เถ้า ขมิ้น เขม่าไฟ ปัจจุบันนิยมสีน้ำมันเพราะสะดวกและมีสีสันสดใส จากนั้นจะนำเศษผ้ามาเย็บต่อกับหวดและหน้ากากให้ผ้าคลุมมิดไหล่



ต้นกำเนิดผีตาโขน  กล่าวกันว่า การแห่ผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีจะเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมือง บรรดา ผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิดอาลัยรักจึงพาแห่แหนแฝงตัวแฝงตน มากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสอง พระองค์ กลับ เมือง "ผีตามคน" หรือ "ผีตาขน" จนกลายมาเป็น "ผีตาโขน" อย่างในปัจจุบัน


        ประเพณีแห่ผีตาโขน จัดเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญประเพณีใหญ่หรือที่เรียกว่า "งานบุญหลวง" หรือ "บุญผะเหวด" ซึ่งตรงกับเดือน 7 มีขึ้นที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และจัดเป็นการละเล่นที่ถือเป็นประเพณีทุกปี เกี่ยวโยงกับ งานบุญพระเวสหรือเทศน์ มหาชาติ ประจำปีกับพระธาตุศรีสองรัก ปูชนียสถานสำคัญของชาวด่านซ้าย สำหรับในปีนี้ ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน บริเวณวัดโพนชัยและหน้าที่ ว่าการอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยงานบุญหลวง ประเพณผีตาโขนของอำเภอด่านซ้ายจังหวัดเลย เป็นประเพณีสำคัญ เพราะอยู่ใน สิบสองเดือนสี่งานบุญผะเหวด (พระเวส)แห่ผีตาโขนแม้จะมีเล่นในอีสานถิ่นอื่นบ้าง แต่ที่วัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นที่รู้จักและ จะยังคงอยู่คู่กับ "พระธาตุศรีสองรัก" ตลอดไป


ชนิดของผีตาโขน      ผีตาโขน ในขบวนแห่จะแยกเป็น 2 ชนิดคือ

      - ผีตาโขนใหญ่ ทำเป็นหุ่นรูปผีทำจากไม้ไผ่สานมีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาประมาณ 2 เท่าประดับตกแต่งรูปร่าง

      - ผีตาโขนเล็ก ผีตาโขนเล็กเป็นการละเล่นของเด็ก ไม่ว่าเด็กเล็ก เด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิงชาย มีสิทธิ์ทำ และเข้าร่วมสนุกได้ทุกคน แต่ผู้หญิงไม่ค่อยเข้าร่วมเพราะเป็นการเล่นค่อนข้างผาดโผนและซุกซน

การแต่งกายผีตาโขน ผู้เข้าร่วมในพิธีนี้จะแต่งกายคล้ายผีและปีศาจใส่หน้ากากขนาดใหญ่ ทำจากกาบมะพร้าวแกะสลักและสวมศีรษะ ด้วย

การละเล่นผีตาโขนเนื่องจากงานประเพณีผีตาโขนเป็นงานบุญใหญ่ซึ่งเรียกกันว่างานบุญหลวง จัดขึ้นที่วัดโพนชัย อ.ด่านซ้าย โดยมี การละเล่นผีตาโขน มีการเทศน์มหาชาติมีการทำบุญพระธาตุศรีสองรักและงานบุญต่างๆเข้ามาผสมอยู่รวมๆกัน จึงมีการจัดงานกัน 3 วัน

      - วันแรก เริ่มพิธีตอนเช้า 04.00-05.00 น. คณะแสนหรือข้าทาสบริวารของเจ้าพ่อกวนจะนำอุปกรณ์ มีด ดาบ หอก ฉัตร พานดอกไม้ ธูปเทียน ขันห้าขันแปด(พานดอกไม้ 5 คู่ หรือ 8 คู่) ถือเดินนำขบวนไปที่ริมแม่น้ำหมัน เพื่อ นิมนต์พระอุปคุตต์ พระผู้มีฤทธานุภาพมาก และมักเนรมิตกายอยู่ในมหาสมุทร เพื่อป้องกันภัยอันตราย และให้ เกิดความสุข สวัสดี เมื่อถึงแล้วผู้อันเชิญต้องกล่าวพระคาถาและให้อีกคนลงไปในน้ำ งมก้อนหินใต้น้ำขึ้นมาถาม ว่า "ใช่พระอุปคุตต์หรือไม่" ผู้ที่ยืนอยู่บนฝั่งตอบว่า "ไม่ใช่" พอก้อนหินก้อนที่ 3 ให้ตอบว่า "ใช่ นั่นแหละ พระอุปคุตต์ที่แท้จริง" เมื่อได้พระอุปคุตต์มาแล้ว ก็นำใส่พาน แล้วนำขบวนกลับที่หอพระอุปคุตต์ ทำการ ทักขิณาวัฏ 3 รอบ มีการยิงปืนและจุดประทัดซึ่งช่วงเวลานั้นบรรดาผีตาโขนที่นอนหลับหรือ อยู่ตามที่ต่างๆก็จะมา ร่วม ขบวนด้วยความยินดีปรีดา เต้นรำ เข้าจังหวะกับเสียงหมากกระแร่ง ซึ่งเป็นกระดิ่งผูกคอวัวหรือกระดิ่งให้ดัง เสียงดัง

        - วันที่สอง เป็นพิธีแห่พระเวส ในขบวนประกอบด้วย พระพุทธรูป 1 องค์ พระสงฆ์ 4 รูป นั่งบนแคร่หามตามด้วย เจ้าพ่อกวน นั่งอยู่บนกระบอกบั้งไฟ ท้ายขบวนเป็นเจ้าแม่นางเทียมกับบริวาร ชาวบ้าน และเหล่าผีตาโขน เดินตามเสด็จไปรอบเมือง ก่อนตะวันตกดิน สำหรับคนที่เล่นเป็นผีตาโขนใหญ่ ต้องถอดเครื่องแต่งกายผีตาโขนใหญ่ออก ให้หมดและนำไปทิ้งในแม่น้ำหมัน ห้ามนำเข้าบ้าน เป็นการทิ้งความทุกข์ยากและสิ่งเลวร้ายไป รอจนปีหน้าฟ้าใหม่ แล้วค่อยทำเล่นกันใหม่

        - วันที่สาม เป็นการรวมเอางานบุญประเพณีประจำเดือนต่างๆของปีมารวมกันจัดในงานบุญหลวง ประชาชนจะมานั่งฟังเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ ที่วัดโพนชัย เพื่อเป็นการสร้างกุศลและเป็นมงคลแก่ชีวิตแก่ชีวิต

ปล....ใครรู้จักประเพณี แมงหน้างาม (ผีขนน้ำ) บ้านนาซ่าว ตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย บ้างครับ ถ้ายังไม่รู้จัก และอยากรู้จักเชิญตามลิงค์นี้เลยครับ

https://ppantip.com/topic/36420422
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่