แมงหน้างาม (ผีขนน้ำ) บ้านนาซ่าว ตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย



ถ้าพูดถึงผีตาโขนน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก แต่ถ้าถามว่ารู้จัก ผีขนน้ำ มั้ยผมว่าคงจะมีไม่มากที่จะรู้จัก

         โดยส่วนตัวผมไม่รู้จักเลยว่าผีขนน้ำคืออะไร พอมีโอกาสได้ไปเยือนเชียงคาน และได้ไปเห็น  และสัมผัสกับอดีตที่ยังคงเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคนบ้านนาซ่าวในยุคปัจจุบัน สัมผัสได้ถึงมนต์เสน่ห์ของประเพณี และวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ของ แมงหน้างาม หรือที่เรียกกันว่า ผีขนน้ำ

          ถ้าเราขับรถจากตัวเมืองเลยมุ่งหน้าสู่อำเภอเชียงคาน หากเราสังเกตดีทางด้านซ้ายจะมีป้ายบอกว่า แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม ผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว ซึ่งแหล่งเรียนรู้จะอยู่ทางด้านขวามือ ถ้าไม่สังเกตดีก็คงขับผ่านเลยไป จนทำให้ที่แห่งนี้รกร้าง เพราะคนส่วนใหญ่มุ่งที่ตะไปเชียงคาน โดยส่วนตัวผมหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเลยๆ ประเพณีที่สวยงามคงจะเลือนหายไปกับการเวลาอีก 1 ประเพณี


          ผีขนน้ำ หรืออีกชื่อหนึ่งที่ไม่ค่อยจะใช้เรียกกันแล้วในปัจจุบันคือ แมงหน้างาม เป็นการละเล่นตามความเชื่อที่สืบสานกันมายาวนาน แต่ก็เกือบสูญหายไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และก็มีผู้ที่เห็นความสำคัญได้ช่วยกันพยายามที่จะรื้อฟื้นประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามนี้กลับมาให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย หลายปีต่อจากนั้นมาภาพของผีขนน้ำปรากฏขึ้นเรื่อยๆ ในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ต แต่ก็ยังมีหลายคนเข้าใจว่า ผีขนน้ำ คือ ผีตาโขน ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย

           ตามประเพณีดั้งเดิมนั้น การละเล่นผีขนน้ำจะมีได้ก็ต่อเมื่อ ทางวัดจัดงานวันวิสาขบูชา วันเพ็ญเดือนหกผ่านพ้นไปแล้ว ต่อจากนั้นชาวบ้านนาซ่าว จะกำหนดเอาวันแรม 1-3 ค่ำ ที่ต่อจากวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญ ในการจัดทำพิธีกรรมเลี้ยงบ้าน หรือเลี้ยงผีปู่ ตา

           ตามประเพณีความเชื่อการนับถือผีบรรพบุรุษ เพื่อแสดงความเคารพและตอบแทนบุญคุณที่ “ผีเจ้าปู่”ให้ความคุ้มครองให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ฝนตกตามฤดูกาลทำให้เกษตรกรมีพืชผลในการผลิตดี พร้อมกับมีการละเล่นผีขนน้ำ

           ประเพณีผีขนน้ำ เป็นประเพณีศักดิ์สิทธิ์ เมื่อถึงเดือนหกชาวบ้านบ้านนาซ่าจะรวมตัวกันจัดงานประเพณีผีขนน้ำ เป็นพิธีกรรมเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ “ควาย” สัตว์เลี้ยงที่ให้กำหนดชีวิตผู้คนที่นี่มานานนม โดยบ้านนาซ่าวจึงรวมตัวกันในวันสำคัญทำบุญอุทิศส่วนกุศล ตอบแทนควายที่ให้ชีวิต ให้ความยั่งยืนกับพวกเขา

           ประเพณีผีขนน้ำบ้านนาซ่าว ตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นการละเล่นที่แตกต่างจากที่อื่นๆ ทั้งประวัติความเป็นมา ความเชื่อ รูปแบบวิธีการละเล่น การพัฒนาการอนุรักษ์ การละเล่นผีขนน้ำบ้านนาซ่าว ไม่มีประวัติว่าเล่นครั้งแรกเมื่อใด แต่ชาวบ้านก็เล่นสืบมาเป็นประเพณี เช่นที่บรรพบุรุษเคยปฏิบัติมาทุกปี

           กล่าวคือ ชาวบ้านนาซ่าวแต่เดิม เป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าไทยพวน โดยอพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง จนมาพบบริเวณพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์คือ “นาซำหว้า” ซึ่งเหมาะแก่การตั้งหลังแหล่งเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ พอชุมชนขยายมากขึ้นก็ย้ายมาที่บริเวณบ้านสองโนน ตั้งเป็นหมู่บ้านใหญ่ขึ้น ซึ่งแต่ก่อนหมู่บ้านยังไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ คงนับถือผีบรรพบุรุษ ผีปู่ย่าเท่านั้น


แมงหน้างาม (ผีขนน้ำ)
บ้านนาซ่าว ตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
เมืองเชียงคานปรากฏหลักฐานในประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยกล่าวไว้ในตำนานพระธาตุศรีสองรักว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งราชาอาณาจักรศรีอยุธยา และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งอาณาจักรศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้างร่มขาว)  ได้ร่วมกันพร้อมด้วยข้าทหารเจ้าบ้านผ่านเมืองต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเจ้าแสนเมือง ได้มีส่วนร่วมในการสถาปนาพระธาตุนี้ และหลังจากนั้นเจ้าแสนเมืองได้เดินทางกลับ แต่เสียชีวิตระหว่างการเดินทาง จึงมีผู้สร้างศาลขึ้นที่บ้านนาซ่าว ต่อมาได้มีพิธีบวงสรวง และมีการแสดงแมงหน้างามในพิธีสืบมาจนถึงปัจจุบัน

แมงหน้างาม (ผีขนน้ำ) มีความเชื่อจากกรากเหง้าเดียวกันกับปู่เยอย่าเยอ สิงห์แก้วสิงห์คำ จากอาณาจักรล้านช้าง หลวงพระบาง สาเหตุที่มีแมงหน้างามตามแถบชายแดนอำเภอเชียงคานนี้ ก็สืบเนื่องมาจากผู้คนในแถบนี้ อพยพมาจากเมืองหลวงพระบางและเมืองเวียงจันทร์ จึงถือเป็นประเพณีท้องถิ่นของผู้คนในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากอาณาจักรล้านช้าง มีรากฐานแนวคิด ความเชื่อมาจากการนับถือบรรพบุรุษ

            การละเล่นแมงหน้างาม ในเขตอำเภอเชียงคานจังหวัดเลยนั้น เจ้าแสนเมืองเป็นผู้กำหนดวันเล่นแมงหน้างาม ผ่านบัวนาง (ร่างทรง) เพราะการละเล่นพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ เจ้าแสนเมือง ต้องดูแลและชื่นชมการเลี้ยงหอ ซึ่งการเลี้ยงหอนี้กำหนดมีขึ้นในเดือน ๓ หรือเดือน ๖ เมื่อได้กำหนดวันเวลาแล้วก็จะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ ได้แก่ เหล้า หมากพลู บุหรี่ ผ้าแดง ๑ เมตร เครื่องทรง ๑ ชุด เพื่อเซ่นวิญญาณเจ้านาย

             เมื่อประกอบพิธีตามประเพณีและวิญญาณเจ้าแสนเมืองมาเข้าร่างบัวนางหรือนางเทียมแล้ว ร่างทรงจะพากันร้องรำทำเพลงสนุกสนานได้เวลาระยะหนึ่งก็จะนั่งพัก แล้วเปิดโอกาสให้นางแต่ง จ้ำ หรือผู้ที่ไปร่วมงานได้สนทนาถามเกี่ยวกับความเป็นความตายโชคลาคประจำปี รวมทั้งได้ผูกข้อมือให้เพื่อเป็นสิริมงคลเมื่อทุกคนได้ถามไถ่พอใจแล้ว เจ้าแสนเมืองก็จะบอกเหตุการณ์บ้านเมืองว่าปีนี้เมีเหตุการณ์ร้ายดีประการใดควรดำเนินการอะไรก่อน-หลัง และตอนท้าย จะบอกวันทำบุญและการละเล่นแมงหน้างาม หลังจากนั้นก็จะหาลูกบ้านหลานเมืองร่ายรำสนุกสนาน

                การละเล่นแมงหน้างามมีวัตถุประสงค์ คือ

                -เล่นถวายแก่เจ้าแสนเมือง
                -ขอให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ อยู่ดีมีสุข
                -เล่นประกอบในบุญเดือนหกของบ้านนาซ่าว
                -รำลึกถึงบุญคุณของสัตว์เลี้ยงวัว ควาย ที่ทำคุณประโยชน์แก่ชาวบ้าน
                -ขอฟ้าขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล

            อุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีการละเล่นแมงหน้างาม แบ่งออกเป็นอุปกรณ์ในพิธีแห่ต้นดอกไม้เข้าผาม อุปกรณ์ในพิธีเล่นแมงหน้างามถวายเจ้านายและอุปกรณ์ในการแห่ต้นผึ้งเข้าวัด

             เครื่องแต่งกายที่ใช้ประกอบการละเล่นแมงหน้างามส่วนหัวประกอบด้วย เขาของแมงหน้างาม ทำจากกิ่งไม้ไผ่ที่นำมาดัดให้โค้ง แล้วติดด้วยกระดาษสีต่างๆ เพื่อความสวยงาม หลังจากนั้นจึงนำมาเย็บติดกับผ้า ส่วนหน้าของแมงหน้างามทำมาจากไม้งิ้ว นำมาถากให้ได้รูปสวยงามแล้วแต่งแต้มด้วยสี เพิ่มความสวยงามชุดของแมงหน้างามทำจากผ้าฝ้ายเก่าที่นำมาตัดเย็บเป็นชุดยาว ไม้ครอบศีรษะทำจากไม้ไผ่ที่นำมาสานแบบง่ายๆ สวมใส่ก่อนที่จะสวมหน้ากาก แขวนขอลอไว้ด้านหลัง เวลาเดินหรือเต้นจะส่งเสียงดัง

              ท่ารำการละเล่นของแมงหน้างาม ประกอบด้วย ท่าออกเหล่าเต้นหมู่ ท่าแหมบน้ำส่ำตม ท่าเข้าศอกตอกแหล่ง ท่าคอบเจ้า ท่าเล่นบุญชมชื่น ท่าขอฟ้าขอฝน และท่าลาเลิก

             เครื่องดนตรีประกอบการละเล่นแมงหน้างาม ประกอบด้วย กลอง กะลอ แซ่ง และแคน

             ปัจจุบันยังมีการละเล่นแมงหน้างามอยู่  ๓  จังหวัด คือ เลย เพชรบูรณ์ และสกลนคร



ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก

https://prapenee.wordpress.com/

http://ich.culture.go.th/

http://www.touronthai.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่