Walking Bangkok เยาวราชเช้าจดเย็น



จากที่ได้ไปร่วมกิจกรรม Walking Bangkok กินทุกตรอก โพสต์ทุกซอย กับ Pantip และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในเส้นทางที่ 3 เยาวราช ลัดเลาะย่านมังกรในเมืองกรุง เลยมาเล่าให้ฟังว่าไปเที่ยวที่ไหนมาบ้าง



ทางทีมงานนัดให้ไปพบกันที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษาราว 7.30 น. เพื่อลงทะเบียนและทำพิธีเปิดกันที่นี่ เมื่อลงทะเบียนแล้วก็ได้รับกระเป๋ามาหนึ่งใบ ซึ่งมีทั้งเสื้อ หมวก และร่ม เพราะวันนี้เราต้องเดินท้าทายแดดกันทั้งวัน ต้องมีอุปกรณ์กันยูวีเป็นตัวช่วย ซึ่งทีมงานก็เตรียมมาให้แล้ว

หลังจากพิธีเปิดสั้น ๆ และแนะนำไกด์นำเที่ยวคือ ไกด์นัท ถึงจะหน้าตาเข้ม ๆ แต่มีความรู้ความชำนาญในเส้นทางเยาวราชและประวัติศาสตร์ เกร็ดความรู้ของสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เป็นอย่างดี โดยเริ่มเล่าให้ฟังถึงรายละเอียดของซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษาเป็นที่แรก

ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา หรือเรียกกันทั่วไปว่า วงเวียนโอเดียน แต่ก่อนเป็นวงเวียนน้ำพุและเรียกชื่อกันตามชื่อโรงภาพยนตร์โอเดียน ซึ่งในปัจจุบันไม่มีแล้ว จนในปี พ.ศ. 2542 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ชาวไทยเชื้อสายจีน บริษัท ห้างร้าน กลุ่มมวลชน หน่วยงานราชการ ได้ร่วมใจกันสร้าง ซุ้มประตูวัฒนธรรมไทย–จีน หรือ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ เพื่อถวายเป็นราชสดุดีแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์ของเยาวราช ไชน่าทาวน์ของกรุงเทพ ฯ และหากเปรียบเยาราชเป็นมังกรแล้ว บริเวณนี้ถือว่าเป็นหัวมังกร ต้นถนนเยาวราช



ซุ้มประตูก่อสร้างด้วยศิลปกรรมของจีน หลังคาซุ้มประตูประด้วยด้วยมังกร 2 ตัว และมีพระปรมาภิไธยย่อ ภปร.หุ้มด้วยทองคำบริสุทธิ์หนัก 99 บาทอยู่ด้วย สองฝั่งของซุ้มประตูมีสิงโตหยกขาวแกะสลักคู่หนึ่ง น้ำหนักตัวละ 4 ตัน เป็นของขวัญมงคลจากรัฐบาลจีนในวโรกาสนี้ด้วย

ใต้ซุ้มประตูเชื่อว่าเป็นจุดรับพลังชีวิต บนพื้นจะเห็นแผ่นทองเหลืองสลักภาษาจีน “ตี้” แปลว่าดิน และทั้ง 4 มุมมีภาพไผ่และดอกบัว “เต็ก” ซึ่งหมายถึงคุณธรรม มองไปด้านบนที่คานซุ้มประตู มีแผ่นทองเหลืองติดไว้เช่นกัน โดยสลักคำว่า “เทียน” แปลว่า ฟ้า และมีรูปค้างคาว สัตว์มงคลของจีนทั้ง 4 มุม เรียกในภาษาจีนว่า“ฟู่” มีความหมายถึงโชคลาภ การที่ได้มายืน ณ จุดนี้ ยกมือไหว้ทั้ง 4 ทิศ และนึกถึงคุณงามความดีที่จะกระทำ ถือเป็นการรับพลังจากฟ้าดิน และนำโชคลาภ สิ่งดี ๆ เข้ามาสู่ชีวิต นอกจากนี้ การนำกระเป๋าสตางค์ไว้ที่ปากสิงโตหยกขาว เชื่อว่าจะทำให้เงินทองไหลมาเทมา





หลังจากนั้น เราเดินข้ามถนนไปที่วัดไตรมิตร วัดไตรมิตรเป็นวัดเก่าแก่ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดไตรมิตรวิทยาราม ชื่อเดิมคือ วัดสามจีน เชื่อว่าผู้ที่สร้างวัดเป็นชาวจีนกลุ่มแรก ๆ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย และชาวจีน 3 คนที่ค้าขายจนร่ำรวย ได้ร่วมกันสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น

ผู้คนที่มาที่วัดไตรมิตรส่วนใหญ่มักมุ่งไปชมแต่พระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุด แต่ไกด์นัทนำเราไปชมพระอุโบสถและกราบพระประธานในพระอุโบสถก่อน เพราะมีความสวยงามและน่าสนใจเช่นกัน พระอุโบสถหลังนี้ที่ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2490 แทนพระอุโบสถเดิมที่ได้รับความเสียหายจากระเบิดช่วงครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 พระอุโบสถสร้างด้วยคอนกรีต ทรงจตุรมุข มีหลังคาสามชั้นและชานรอบโดยรอบ บานประตูหน้าต่างประดับด้วยการเขียนลายรดน้ำ ด้านในประดิษฐานพระพุทธทศพลญาณ พระประธาน ซึ่งมีพระพุทธลักษณะงดงาม องค์พระพุทธรูปอยู่ในปางมารวิชัย สร้างด้วยปูนปั้นลงรักปิดทอง ประชาชนทั่วไปเรียกว่า หลวงพ่อโต หรือ หลวงพ่อวัดสามจีน





พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ตั้งเด่นสง่าอยู่อีกด้าน ไม่ไกลจากพระอุโบสถ พระมหามณฑปมี 4 ชั้นและพระพุทธรูปทองคำประดิษฐานอยู่ที่ชั้น 4 สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่ขึ้นบันไดไม่สะดวก สามารถเดินอ้อมไปใช้ลิฟต์ทางด้านหลังได้ พวกเราเดินขึ้นสู่พระมหามณฑปโดยแวะชม พิพิธภัณฑ์วัดไตรมิตร ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช ที่ชั้น 2 ก่อน



ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราชแสดงถึงการโยกย้ายถิ่นฐานของชนชาวจีนมาลงหลักปักฐานประเทศไทย โดยเฉพาะย่านสำเพ็งและเยาวราช นิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่จุดกำเนิดของชุมชนจีน และการเข้ามาของชาวจีนโพ้นทะเลในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1-3 จนกระทั่งกลายเป็นย่านการค้าที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพ ฯ ในยุคนั้นเดินทางด้วยเรือสำเภา เทียบท่าที่สำเพ็ง ย่านการค้าใหญ่ ชาวจีนที่เข้ามามักรับจ้างเป็นกรรมกรแบกหาม หรือขายของหาบเร่ แล้วขยับขยายไปสู่อาชีพอื่น ๆ หรือเปิดร้านขายของต่าง ๆ





ชุมชนชาวจีนเติบโตขึ้นและพัฒนาสู่ยุคที่เรียกว่า ยุคทอง เมื่อมีการขยับขยายจากตลาดสำเพ็งสู่ความเป็นย่านธุรกิจสมัยใหม่บนถนนเยาวราช โดยถนนเยาวราชสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อขยายย่านการค้า มีความยาว 1.4 กิโลเมตร พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกตึกสองข้างถนน และให้เช่าทำมาค้าขาย เปิดโอกาสให้ชาวจีนจำนวนมากได้เริ่มต้นกิจการของตนเอง ทำให้ย่านนี้เติบโตขึ้น เพราะเมื่อเศรษฐกิจดี ผู้คนมีเงินทอง ก็จะมีกิจกรรมด้านความบันเทิงมากขึ้น ทั้งด้านอาหารการกิน โรงงิ้ว การค้าทอง และอื่น ๆ ซึ่งในนิทรรศการส่วนนี้จัดแสดงโมเดลจำลองของถนนเยาราช และภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในยุคนั้นให้ชม





ส่วนที่เหลือจัดแสดงประวัติของบุคคลชาวเยาวราชที่เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลัง พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ต่อชุมชนเยาวราช และสุดท้ายเป็นส่วนของไชน่าทาวน์วันนี้ เสนอภาพลักษณ์อันโดดเด่นของเยาวราชในหลายแง่มุม เช่น ถนนสายทองคำ แหล่งวัฒนธรรมประเพณีจีน และแหล่งรวมอาหารอร่อย



หลังจากนั้น เราเดินต่อไปยังชั้น 3 เข้าชมประวัติและการพบพระพุทธรูปทองคำ ไกด์นัทก็ขอบรรยายให้ฟังกันที่ชั้นนี้ เพราะบนชั้น 4 ที่พระพุทธรูปทองคำประดิษฐานอยู่นั้นมีนักท่องเที่ยวเข้าชมและสักการะเป็นจำนวนมาก คงจะอธิบายเรื่องต่าง ๆ ได้ไม่สะดวก

พระพุทธรูปทองคำของวัดไตรมิตร หรือ พระสุโขทัยไตรมิตร หรือ พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปทองคำแท้ทั้งองค์ หนักถึง 5.5 ตัน เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญของวัดมหาธาตุ สุโขทัย เนื่องจากมีการกล่าวถึงในศิลาจารึก และมีความงามตามแบบพุทธศิลป์สุโขทัย พระพุทธรูปทองคำมีประวัติความเป็นมาที่เหลือเชื่อจนมาประดิษฐานอยู่ที่วัดไตรมิตร



เดิมองค์พระพุทธรูปถูกพอกปูนทับไว้ เป็นพระพุทธรูปธรรมดาทั่วไป และไม่ทราบว่าเหตุใดจึงมาอยู่ที่วัดพระยาไกรได้ ซึ่งในเรื่องนี้มีบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ว่าพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ที่นี่ ต่อมาวัดพระยาไกรกลายเป็นวัดร้าง บริษัท อีสต์เอเซียติก จำกัด ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับสัมปทานป่าไม้ ได้ขอเช่าที่จากรัฐบาล เข้าจัดสร้างโรงเลื่อยไม้ขนาดใหญ่ในบริเวณวัดร้างแห่งนี้ (ปัจจุบันคือ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์) มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมของวัดพระยาไกรออกจนเหลือแต่พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ พอดีกับที่วัดสามจีน (ชื่อเดิมของวัดไตรมิตร) กำลังมีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่และมีพื้นที่มากพอ จึงมีการอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ ดีกว่าจะทิ้งไว้อย่างไม่เหมาะสมและทรุดโทรมลงในพื้นที่ของโรงเลื่อยไม้





องค์พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในเพิงสังกะสีธรรมดาเป็นเวลาถึง 20 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 จึงมีการสร้างวิหารใหม่เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้ แต่ในขณะเคลื่อนย้ายพระพุทธรูป สายเครื่องกว้านที่ใช้ยกขาด ทำให้พระพุทธรูปตกกระแทกพื้น ปูนที่หุ้มบริเวณพระอุระกะเทาะออก เผยให้เห็นเนื้อทองคำบริสุทธิ์ ท่านเจ้าอาวาสจึงให้ลอกปูนออกทั้งองค์ แล้วนำขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิหารนั้นมาจนถึงปี 2550 จึงมีการสร้างพระมหามณฑปแทนพระวิหารเดิม และใช้ประดิษฐานพระสุโขทัยไตรมิตรที่ชั้น 4 ของพระมหามณฑป



นอกจากประวัติความเป็นมาของพระสุโขทัยไตรมิตรแล้ว นิทรรศการที่ชั้น 3 ยังบอกเล่าถึงวิธีการพอกองค์พระด้วยด้วยปูน ซึ่งต้องมีการลงรัก พอกปูน แล้วปิดทองคำเปลว ซึ่งพระพักตร์ของพระพุทธรูปตอนมีปูนปั้นทับไว้นั้นเป็นแบบอยุธยา ต่างจากพระพุทธรูปทองคำด้านในที่เป็นแบบสุโขทัย วิธีการหล่อพระ ข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เมื่อมีการพบพระพุทธรูปทองคำ และบันทึกของกินเนสบุ๊คว่าเป็นปูชนียวัตถุที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกก็จัดแสดงไว้ที่ชั้นนี้





หลังจากเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาขององค์พระพุทธรูป เราขึ้นไปสักการะพระสุโขทัยไตรมิตรที่ชั้น 4 มีนักท่องเที่ยวมากที่ชั้นนี้ ใคร ๆ ก็ต่างอยากมาชมพระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่ ถ่ายรูปเก็บไว้ และสำหรับชาวพุทธก็จะก้มลงกราบน้อมสักการะองค์พระพุทธรูป



จากวัดไตรมิตรเดินลัดเลาะมาอีกไม่ไกลมาถึง เอี๊ยะแซ และนั่นเป็นเวลาคอฟฟี่เบรกของเราในช่วงสาย บนป้ายร้านเขียนไว้ว่า “60 ปี กาแฟดี เอี๊ยะแซ เยาวราช คั่วสด ๆ ชงใหม่ ๆ วันต่อวัน” แต่ที่จริงแล้วร้านกาแฟแห่งนี้เปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 เป็นตำนานร้านกาแฟเก่าแก่ย่านเยาวราช บรรยากาศของร้านยังเป็นสภากาแฟแบบโบราณ มีโต๊ะไม้กลมสีเข้มตั้งอยู่หลายตัว พร้อมเก้าอี้ให้ลูกค้านั่งจิบกาแฟและพูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง



ร้านเอี๊ยะแซใช้เมล็ดกาแฟที่ปลูกในไทย ผ่านการคั่วบดด้วยสูตรเฉพาะของทางร้าน ด้วยกรรมวิธีแบบดั้งเดิม ทำให้ได้รสชาติถูกปากและถูกใจของชาวจีนย่านเยาวราชมาโดยตลอด นอกจากกาแฟ ที่นี่ยังมีเครื่องดื่มสูตรผสมมีชื่อเรียกแปลก ๆ ให้ลอง เช่น หน่อเค่ายั๊วะ (กาแฟร้อน + ชาร้อน) หน่อเค่าเย็น (กาแฟเย็น + ชาเย็น) หน่อเขียว (โอเลี้ยง + น้ำเขียว) หน่อแดง (โอเลี้ยง + น้ำแดง) เฮ่งยิ้ง (น้ำเมล็ดอัลมอนด์) ได้ลองหน่อเค่ายั๊ว รสชาติดีทีเดียว เข้มข้น มัน ไม่หวานจนเกินไป เสียดายที่มีเวลาน้อย ยังไม่ได้ลองขนมปังสังขยาของทางร้านที่ว่าเด็ดเช่นกัน แต่เอี๊ยะแซมีสาขาอยู่ตามห้างดังหลายแห่ง ไว้มีโอกาสค่อยไปจัดเต็มวันหลัง

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่