นายกรัฐมนตรีคนที่ ๔............... ๒๕ เม.ย.๖๐

กระทู้สนทนา
เรื่องเล่าจากอดีต

นายกรัฐมนตรีคนที่ ๔

พ.สมานคุรุกรรม

พันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้เล่าประวัติของท่านไว้เองว่า ต้นตระกูลของท่านคือ พระยา ยมราช (แบน) ในรัชสมัยของพระเจ้าตากสินมหาราช ได้รับพระบรมราชโองการให้ไปกำกับการกรุงกัมพูชา ต่อมามีเหตุการณ์เจ้าแผ่นดินเขมรและเจ้านายเขมรฆ่าฟันแย่งราชสมบัติกัน จึงมีพระบรมราชโองการเรียกตัวพระยายมราช(แบน)เข้ามาจำขังไว้ที่กรุงธนบุรี

ครั้นเมื่อประเทศญวนได้กรีฑาทัพเข้ามาบุกรุกเขมร พระเจ้าตากสินก็มีพระบรมราชโองการให้ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กรีฑาทัพออกไปช่วยเขมรป้องกันทัพญวนที่เข้ามารุกราน เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็ขอพระยายมราช(แบน)ไปในกองทัพด้วย โดยเหตุที่เป็นผู้ชำนาญการทางภาคนั้น

เมื่อมีใบบอกไปแจ้งกองทัพไทยที่กัมพูชาว่า เกิดเรื่องที่เมืองไทย พระยาสรรค์คิดขบถจับพระเจ้าตามสินไว้ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ก็แบ่งกองทัพออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งนำกลับเมืองไทย อีกส่วนหนึ่งให้พระยายมราช(แบน) เป็นผู้กำกับทัพอยู่ที่กัมพูชา

เมื่อเจ้าพระยามหากษัริย์ศึกปราบดาภิเศกขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแล้ว พระยายมราช(แบน) ก็ติดราชการคุมเมืองเขมรอยู่ทางโน้น

ต่อมาอีกแผ่นดินเขมรว่างกษัตริย์ มีเจ้านายเขมรเป็นผู้มีสิทธิ์ได้ขึ้นครองราชสมบัติ ชื่อนักองเอง อายุเพียงห้าขวบ พระยายมราช(แบน) เกรงจะเกิดการรบราฆ่าฟันกันอีก จึงส่งตัวนักองเองเข้ามาถวายที่กรุงเทพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๑ ก็ทรงรับไว้อุปถัมภ์เป็นบุตรบุญธรรม แล้วมีพระบรมราชโองการให้พระยายมราช(แบน) เป็นผู้สำเร็จราชการกรุงกัมพูชา และทรงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปกครองเขมรในฐานะผู้สำเร็จราชการตลอดมา

จนกระทั่งนักองเองได้บรรลุนิติภาวะ ได้ทรงผนวชที่กรุงเทพฯ เป็นนาคหลวงเสร็จแล้วก้เสด็จกลับไปครองราชสมบัติเขมร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๑ จึงแบ่งดินแดนเขมรคือ พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ มงคลบุรี และระสือ ห้าจังหวัดมาขึ้นกับราชอาณาจักรไทยเสีย และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร(แบน) เป็นผู้สำเร็จราชการทั้ง ๕ จังหวัดนี้ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

คราวนี้ตระกูล “อภัยวงศ์” ก็ได้รับใช้แผ่นดินตลอดจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๕ มีเจ้าพระยาคฑาธรธรณินทร์ (เยีย) และเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) ได้ช่วยกันรักษาพระราชอาณาจักรให้ตลอดรอดฝั่งมา จนตอนหลังเขมรก็กลายเป็นประเทศในอารักขาของฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสก็พยายามจะเอาแผ่นดินเหล่านี้กลับคืน จึงขอตั้งกงศุลขึ้นที่จังหวัดพระตะบอง แล้วก็หาเรื่องหาราวต่าง ๆ ตระกูลอภัยวงศ์ก็ช่วยกันผ่อนหนักผ่อนเบาตลอดมา

จนกระทั่งถึง ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) ฝรั่งเศสเอาทหารเข้ามา เอาเรือรบสองลำเข้ามาปิดปากอ่าวไทย ทางเราได้ปืนดีครูดี ก็ยิงจมไปลำหนึ่ง เลยตกลงเจรจากันไปเจรจากันมานาน ท่านก็คงทราบพงศาวดารตอนนั้นแล้ว ว่าเราต้องใช้เงินให้เขาดูเหมือนล้านกว่า หรือสามล้านกว่าบาทนี่แหละ เวลานั้นก็นักว่ามากมาย และเพื่อเป็นประกันการใช้หนี้ ฝรั่งเศสก็เข้ามายึดจันทบุรีตราดเอาไว้ แต่ทหารฝรั่งเศสแทนที่จะถอนออกไปหมดกลับยังยึดตราดอยู่และขอเจรจาเรื่องมณฑลบูรพาต่อไป ทางไทยเราไม่มีหนทางที่จะทำอย่างอื่น ต้องเอากุ้งฝอยแลกปลากะพง

ตามที่ผู้ใหญ่เล่าให้ผมฟังนั้น ได้มีพระบรมราชโองการเรียกเจ้าคุณพ่อของผมลงมากรุงเทพฯ และทรงรับสั่งถามความเห็น เจ้าคุณพ่อของผมก็กราบบังคมทูลว่า เราควรที่จะเอาจังหวัดที่เป็นของไทยไว้ ส่วนจังหวัดที่เป็นเขมรถ้าจำเป็นจะต้องเสีย ก็ควรจะยอมเสียจังหวัดที่เป็นเขมร รักษาจังหวัดไทยไว้ดีกว่า ก็เป็นอันตกลงทำสัญญาคืนมณฑลบูรพาให้แก่เขมรไป (ความจริงให้ฝรั่งเศส)

ท่านเล่าต่อไปว่าสำหรับเจ้าคุณพ่อของท่านนั้น ฝรั่งเศสจะให้อยู่ต่อไป เกียรติยศเกียรติศักดิ์เคยมีมาอย่างไร ก็จะขอให้อย่างนั้น แต่เจ้าคุณพ่อของท่านไม่ยอมอยู่ อ้างว่ามีเจ้านายแต่เพียงคนเดียว จึงอพยพกลับมาเมืองไทย ในขณะที่ท่านมีอายุเพียงสี่ขวบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุราโปรดเก้า ฯ ให้เกณฑ์คนเกณฑ์เกวียนไปรับ ต้องเดินทางมาเป็นแรมเดือนกว่าจะถึงเมืองปราจีนบุรี และในคราวนั้นยังมีพลเมืองเขมรติดตามมาด้วยเป็นจำนวนมาก แล้วครอบครัวของท่านก็ตั้งรกรากอยู่ที่ปราจีนบุรี จังหวัดนี้จึงเป็นที่ตั้งต้นชีวิตของท่านตั้งแต่นั้นมา

จากหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๑๑ เล่าประวัติการศึกษาของท่านไว้ว่า ในเยาว์วัยนายควงได้เข้าศึกษาในโรงเรียนอภัยพิทบาตร ต่อมาได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ย้ายไปโรงเรียนอัสสัมชัญ สอบได้ชั้น ๓ แผนกฝรั่งเศส เมื่ออายุ ๑๕ ปี ได้ถูกส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ในแผนกวิศวกรรมโยธา สำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ ได้ฝึกงานในประเทศนั้น

ที่ประเทศฝรั่งเศสนี้เองที่ท่านได้พบปะเพื่อนฝูงหลายคนที่ต่อมาได้ร่วมกันเป็นคณะราษฎร ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย

หลังจากนั้นเมื่อ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อจาก พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา แล้ว ท่านก็ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ใน พ.ศ.๒๔๘๖ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อมีการประกาศทางวิทยุกระจายเสียงไปแล้ว ท่านจอมพลบอกว่าตนไม่ได้ลาออก และหาใบลานั้นไม่ได้ ครั้นเมื่อถึงเวลาประชุมคณะรัฐมนตรี ท่านก็ไม่ไปประชุมตามปกติ ซึ่งเรื่องนี้ท่านเล่าไว้ว่า

พอผมไปถึงท่านจอมพลก็ทำหน้าตึงกับผมเชียว เขาถามว่าทำไมเวลาประชุมคณะรัฐมนตรีคุณหลวงไม่มา ผมบอกว่าธุระอะไรผมจะต้องมาเมื่อเราลาออกแล้ว จะมาประชุมหาเรื่องอะไรอีก จอมพลก็ว่าคุณหลวงรู้มาได้ยังไงว่าผมลาออก ผมก็บอกว่าพระองค์เจ้าอาทิตย์ ฯ (ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)ให้ใบลาผมดูนี่ ก็ต้องจัดการเรื่องลาออกให้มันเรียบร้อยซี แล้วจึงประชุมกันใหม่ ไม่ยังงั้นก็ไม่ถูกเรื่อง

เขาก็โกรธใหญ่เขาบอกว่าผมไม่อยากให้คุณหลวงทำงานกับผมหรอก ผมก็ตอบว่าผมไม่ได้ของานทำนี่ มาขอผมเองต่างหาก เอ้า....ผมลาออก แล้วผมก็เขียนใบลาเดี๋ยวนั้น ส่งให้แล้วเดินออกจากที่ประชุมทันที

บทบาทของ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ในวิกฤตการณ์สมัย จอมพลแปลก(หลวงพิบูลสงคราม) วางแผนสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจนั้น ท่านได้แสดงความรู้สึกไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงในวิธีการของ ”ท่านผู้นำ” และวางตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามกับจอมพลแปลก จนกระทั่งท่านจอมพลต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๗ ระหว่างนั้นยังไม่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

ที่เขามาเกณฑ์ให้ผมเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนั้นน่ะ ไม่ใช่ว่าเขาชอบขี้หน้าผม เขาจึงเอาตำแหน่งนี้มาประเคนให้ผมหรอก แต่เรื่องมันจำเป็นที่ไม่มีใครกล้ารับ เพราะกลัวหลวงพิบูล ฯ กันหมด และนิสัยของผมมันก็ชอบทำในสิ่งที่ไม่มีใครอยากทำ

ขณะนั้นก็เกิดข่าวเขย่าขวัญเกี่ยวแก่ท่าทีของหลวงพิบูล ฯ ว่าทหารทางลพบุรีจะยกมายึดพระนครบ้าง พวกทหารสนับสนุนหลวงพิบูลบ้างล้วนแต่เป็นข่าวที่บั่นทอนกำลังใจของผู้ที่ไม่ใช่ฝ่ายหลวงพิบูล ฯทั้งสิ้น

ผมจึงไปปรึกษาหลวงอดุลยเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้น เขามีความเห็นว่าทางที่ดี ผมควรจะไปเจรจากับหลวงพิบูล ฯ เองในค่ายทหารลพบุรี ผมก็เห็นชอบด้วย และตกลงว่าจะไปคนเดียว แต่ขุนศรีศรากรซึ่งเป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล อาสาจะนำทางไปด้วย

การเดินทางไปเจรจาครั้งนั้นเป็นไปด้วยดี จอมพล ป.พิบูลสงคราม กับ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ตกลงกันได้เรียบร้อย แต่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งมีอำนาจบังคับบัญชาทหารทั่วราชอาณาจักร และกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยไม่ไว้วางใจ ถ้าเราไม่แก้ไขเสีย กองทัพไทยกับกองทัพญี่ปุ่นก็อาจจะต้องปะทะกัน พันตรี ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี จึงประกาศให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน

ท่านสรุปว่า หลวงพิบูล ฯ คงจะโกรธผมไปพักหนึ่ง แต่ผมไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ผมทำเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน อย่างไรก็ตามในคือวันที่ประกาศนั้น เราก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ทุกอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ทางทหารเรือเขาขอให้ผมไปนอนที่กองทัพเรือ คือนอนบนโต๊ะทำงานของผู้บัญชาการทหารเรือ โดยไม่มีฟูก พอตื่นเช้าก็รู้สึกปวดเมื่อยไปทั้งตัว

นี่แหละสภาพการเป็นนายกของผม

ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีที่สืบต่อมาจาก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ท่านจึงเป็นอันดับที่ ๔ ของประเทศไทย ด้วยประการฉะนี้.

###########
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่