... สวดมนต์อย่างไรจึงจะสัมฤทธิ์ผล ...

...
สวดมนต์อย่างไรจึงจะสัมฤทธิ์ผล
....



       การสวดมนต์ในพระพุทธศาสนามีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เป็นการสวดในสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้เพื่อไม่ให้ลืมในคำสอนนั้นๆ และทบทวนในสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้ว เพราะในครั้งพุทธกาลยังไม่มีพระไตรปิฏก จึงต้องใช้การท่องจำ หลังพุทธปรินิพพานมีการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ 1 ก็ยังใช้การท่องจำสืบทอดต่อกันมา เรียกว่า "มุขปาฐะ" (หมายถึง การท่องด้วยปาก การกล่าวด้วยปาก การจดจำต่อเนื่องกันมาด้วยการสอนแบบปากต่อปาก) ดังนั้น จึงมีการคัดเอาคำสอนที่สำคัญมาสวดสาธยายกันอย่างเนืองนิตย์ คำสอนสำคัญเหล่านี้จึงกลายเป็นบทสวดมนต์ในที่สุด  ในบางคราวพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอาพาธได้มีพระภิกษุมาสาธยายพุทธมนต์ให้พระพุทธองค์ฟัง เช่น บทโพชฌงค์ 7 ทำให้พระองค์อาการอาพาธทุเลาลง ฉะนั้นบทสวดมนต์จึงมีอานุภาพมาก  นับแต่นั้นมาทั้งพระภิกษุและฆราวาสก็สวดมนต์เรื่อยมาเพื่อเป็นการทบทวนคำสอนของพระพุทธเจ้า

      การสวดมนต์เพื่อป้องกันภัยนั้น จะเกิดอานุภาพมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นในบทสวด และความตั้งใจของผู้สวดเป็นสำคัญ เพราะพุทธมนต์แต่ละบทล้วนมีพลังอานุภาพและความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัวแล้ว เพียงแต่ว่าใครจะสามารถนำออกมาใช้ให้เกิดผลได้มากหรือน้อยกว่ากันเท่านั้น หัวใจของการสวดมนต์ให้เกิดฤทธานุภาพนั้น มี อยู่ 5 ประการ เรียกว่า พละ 5  คือ

1.  ต้องมีศรัทธา คือ มีความเชื่อมั่นในอานุภาพของพระรัตนตรัย เชื่อมั่นในอานุภาพของบทสวด เชื่อมั่นในอานุภาพแห่งความดี เชื่อมั่นว่าการสวดมนต์เป็นการทำความดี และเชื่อมั่นว่าเมื่อตนทำความดีด้วยการสวดมนต์แล้ว ความดีจักคุ้มครองตนให้ปลอดภัย ทำให้ชีวิตมีความสุขและคิดให้เป็นสุขได้                

2. ต้องมีวิริยะ คือ มีความเพียร ตั้งใจทำ ไม่ทำด้วยความเกียจคร้าน  

3. ต้องมีสติ คือ ในขณะสวดต้องมีสติรักษาใจให้จดจ่ออยู่กับบทสวด ไม่ปล่อยใจลอยไปคิดเรื่องอื่น คนที่สวดแต่ปาก แต่ใจลอยไปที่อื่น การสวดมนต์ก็เปล่าประโยชน์ 

4. ต้องมีสมาธิ คือ ขณะสวดพึงรักษาจิตให้ตั้งมั่นแน่วแน่อยู่กับการสวดเท่านั้น ถ้าผู้สวดสามารถรักษาสติให้อยู่กับบทสวดได้นานเท่าไร สมาธิก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น จิตที่มีสมาธิมาก ย่อมมีพลังในการปลุกเสกพระพุทธมนต์ให้เกิดอานุภาพได้มาก 

5. ต้องมีปัญญา หมายถึง ต้องสวดด้วยความเข้าใจ คือ ในขณะ สวดมนต์ก็ให้พิจารณาทำความเข้าใจในเนื้อหาของบทสวดไปด้วย เพราะเมื่อเรามีความรู้ความเข้าใจที่ประกอบด้วยเหตุผลแล้ว ก็จะเป็นแรงหนุนให้มีศรัทธามากขึ้น เมื่อศรัทธามากขึ้น ก็ทำให้มีวิริยะมากขึ้น เมื่อวิริยะมากขึ้น สติก็มากขึ้น เมื่อสติมากขึ้นก็เกื้อหนุนให้สมาธิแก่กล้าขึ้น เมื่อสมาธิแก่กล้าขึ้น ปัญญาก็ เฉียบแหลมยิ่งขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ความศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในพระพุทธมนต์ก็จะซึมซาบเข้าสู่จิตใจ ก่อให้เกิดพลานุภาพคุ้มครองตนเองได้อย่างปลอดภัยและมั่นคง 
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่