[กระทู้รวมคำถาม] ขึ้นรถไฟที่ไหน? ตั๋วกี่บาท? ซื้อตั๋วที่ไหน? ฯลฯ กระทู้นี้ตอบให้!

กระทู้สนทนา
สวัสดีครับ

เนื่องจากผมเห็นคนถามกันมาก ถามกันทุกวัน ทุกที่ ว่า...

"ขึ้นรถไฟที่ไหน"

"ตั๋วกรุงเทพ-เชียงใหม่ ราคากี่บาท?"

"ตั๋วรถไฟราคาเท่าไหร่?"

"ต้องไปซื้อตั๋วที่กรุงเทพ (หัวลำโพง) สถานเดียวหรือเปล่า?"

"จะซื้อตั๋วได้ที่ไหน?"

"อยุธยา-หนองคาย มีโบกี้ชั้น 1 ให้บริการมั้ย? ราคากี่บาท?"
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้




"ขึ้นรถไฟได้ที่ไหน?"
ตอบ: ขึ้นอยู่กับขบวนที่จอด และไม่จำเป็นต้องไปขึ้นที่หัวลำโพง (สถานีกรุงเทพ) ส่วนวิธีการดูว่าขบวนอะไรจอดที่ไหนบ้าง และวิธีการตรวจสอบขบวนรถและช่วงเวลา ทำตามข้อด้านล่างเลยครับ

ถ้ารถไฟที่เราจะไปนั้น จอดที่สถานีใกล้บ้าน แนะนำให้ขึ้น-ลงที่สถานีใกล้บ้าน ไม่ต้องไปไกลที่กรุงเทพ แต่ขึ้นอยู่กับเวลาของรถไฟด้วยว่าเราต้องขึ้นหรือลงรถไฟตอนกี่โมง เช่นบ้านอยู่ลพบุรีจะไปเที่ยวเชียงใหม่ใช่ไหมครับ? และเราจะโดยสารไปกับขบวน 9 กรุงเทพ-เชียงใหม่ซึ่งออกจากลพบุรี 20.30 น. (สมมติเฉย ๆ นะครับ อาจไม่ใช่เวลาจริง) เราขึ้นที่ลพบุรีได้เลย แต่ถ้าเราจะกลับจากเชียงใหม่และจะกลับกับขบวน 10 เชียงใหม่-กรุงเทพ แต่บังเอิญ บังเอิญ กำหนดถึงลพบุรีตอนตีสาม (สมมติอีกแล้ว) เราสามารถหันมาลงที่สถานีที่กำหนดเวลาดีกว่านี้ เช่นขบวนเดียวกันนี้ถึงกรุงเทพ 6.50 น. เรายอมลงที่กรุงเทพเลยก็ได้ครับ




"ตั๋วรถไฟจากนี่ไปนู่น นู่นไปนี่ ราคาเท่าไหร่? รถไฟจอดที่ไหน?"
ตอบ: ไม่ต้องไปนั่งถามคนอื่นครับ รฟท. มีเว็บไซต์คำนวณราคาให้อยู่แล้ว [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

เว็บไซต์จองตั๋วออนไลน์ (ที่กล่าวไว้ด้านล่าง) ก็ช่วยคำนวณราคาได้เช่นกัน




"ซื้อตั๋วได้ที่ไหน? ต้องไปที่กรุงเทพ (หัวลำโพง) หรือเปล่า?"
ตอบ: 1. ที่สถานีรถไฟทั่วประเทศ ได้อย่างมาก 60 วัน และจองได้จนกว่าจะถึงกำหนดรถออก ไม่จำกัดว่าขบวนที่เราจะเดินทางเป็นขบวนสายเหนือ สายอีสาน สายตะวันออก หรือสายใต้ (พูดง่าย ๆ คือเราต้องการนั่งรถไฟออกจากกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปหาดใหญ่ เราจองที่อยุธยายังได้เลยครับ)

2. โทร 1690 สามารถจองล่วงหน้าได้ 3-60 วัน ตรวจสอบที่นั่งอย่างเดียวก็ได้ หรือจะให้เขาจองเลยก็ได้ครับ จองเสร็จแล้วจดหมายเลขการจองแล้วเอาไปให้สถานีรถไฟใกล้บ้าน พนักงานจะออกตั๋วและสามารถไปชำระเงินที่นั่นได้เลยครับ ภายใน 24 ชั่วโมงนับจากที่ออกตั๋ว [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

3. ระบบจองตั๋วออนไลน์ผ่านคอมพิวเตอร์และ/หรือโทรศัพท์มือถือ e-Ticket SRT
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
รถไฟแต่ละขบวนจะมีการจำกัดที่สำหรับผู้ที่จองตั๋วผ่านช่องทางนี้โดยเฉพาะ (และ 2 ช่องทางที่กล่าวมาด้านบนนั้นคิดโควต้าที่นั่งเดียวกันนะครับ) ดังนั้นหาก 2 ช่องทางที่กล่าวมาด้านบนนั้นเต็มก็สามารถใช้ช่องทางออนไลน์นี้ได้ครับ
(แต่เพื่อความมั่นใจเราขอดูจอที่พนักงานสถานีก่อนว่ามันไม่ได้เต็มจริง เพราะถ้าซื้อที่ 2 ช่องทางด้านบนนนี้จะมีข้อดีคือสามารถเปลี่ยนเป็นขบวนอื่นและชั้นอื่นได้ และสามารถยกเลิกได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่ระบบออนไลน์จะเสียค่าธรรมเนียมเล็กน้อยตอนจอง และจะโดนหักไปจากเดิมอีกหากต้องการยกเลิกตั๋ว)

นอกจากนี้ ระบบนี้ไม่สามารถจองรถเร็วบางขบวน รถชานเมือง รถท้องถิ่น และรถธรรมดา (ตั๋วเหล่านั้นต้องไปออกตาม 2 ช่องทางที่กล่าวไว้ด้านบนนะครับ)

รถด่วนพิเศษ รถด่วน และรถเร็วบางขบวน สามารถจองได้ที่ http://www.thairailwayticket.com




"การเหมาห้องชั้น 1 คืออะไร? เหมาห้องนอนได้กี่คนเหรอ?"
ตอบ: คำถามนี้ผมให้อภัยเพราะหลายคนไม่เข้าใจคำว่า "เหมาห้อง" คือตอนที่ผมได้ยินคำว่า เหมาห้อง แรก ๆ ผมก็งงเหมือนกันครับ แต่พออ่านได้สักพักจึงรู้...

ปกติแล้วห้องชั้น 1 หากผู้อ่านมาคนเดียวโดยที่ผู้อ่านไม่ได้มาเป็น 2 คน (เช่น มากับแม่ มากับเพื่อน หรือมาด้วยแต่ดันจองตั๋วคนละห้อง) ระบบจะให้ผู้โดยสารเพศเดียวกันมาพักแทน หากผู้อ่านต้องการเหมาห้อง คุณจะอยู่ในห้องเพียงคนเดียวครับ เพิ่มเงินอีก 500 บาทจากราคาเตียงล่างครับ (หากอยู่ในสายที่โล่งจริง ๆ เช่นสายอีสาน เราอาจเหมาห้องได้ในราคาเตียงบน (ซึ่งจะถูกกว่าการเหมาห้องมาก) เราจะมีความเป็นไปได้สูงกว่าในการได้นอนในห้องคนเดียวในราคาที่ถูกกว่าปกติครับ แต่ไม่แนะนำเพราะผู้โดยสารสามารถจองห้องเดียวกันตอนไหนก็ได้)




"ทำของหายบนรถไฟต้องทำอย่างไรดี?"
ตอบ: ถ้าเราทำของหาย แล้วพนักงานประจำขบวนรถหาเจอบริเวณที่นั่ง พนักงานอาจส่งมอบให้นายสถานีที่ผู้โดยสารลง โดยอิงเป็นหลักว่าผู้โดยสารท่านนี้ นั่งที่นั่งอะไร และลงที่ไหนเป็นหลัก ดังนั้นถ้าเราคิดว่าเราทำของหาย ไปติดต่อนายสถานีประจำสถานีที่เราลงจากรถไฟได้เลยครับ

หากนายสถานียังไม่พบ แจ้งรฟท. โทร 1690 เลยครับ




จบแล้วนะครับ หากมีอะไรอีกผมจะเพิ่มเติมให้นะครับ ไม่ที่นี่ก็จะเพิ่มเติมที่ความคิดเห็นของกระทู้นี้นะครับ ขอบคุณที่อ่านกระทู้นี้จนจบนะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่