คาราโครัม ไฮเวย์ (Karakoram Highway) คือถนนเชื่อมระหว่างประเทศปากีสถานกับประเทศจีน ทั้งสองประเทศจับมือกันเริ่มโครงการสร้างถนนนี้เมื่อปีค.ศ. 1959 เสร็จในปี 1979 และเปิดให้ใช้เป็นถนนสาธารณะเต็มรูปแบบเมื่อปี 1986 มีความยาวทั้งหมด 1,300 ก.ม. เชื่อมระหว่างเมือง คาชการ์ (Kashgar) มณฑลซินเจียง ประเทศจีน กับเมือง แอบบอทตาบัด (Abbottabad) ของประเทศปากีสถาน ไปชนกับถนนซึ่งเชื่อมต่อไปถึงทางหลวงหลัก Grand Trunk Road ของปากีสถานที่เมือง ฮาซาน อับดาล (Hasan Abdal) ประกอบเป็นทางหลวงหมายเลข N-35 ทำให้ถนนทั้งสายถูกเรียกว่า Karakoram Highway หรือ KKH และเป็นส่วนหนึ่งของ Asian Highway 4 หรือ AH4
การสร้างถนนซึ่งตัดผ่านเทือกเขาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก 3 เทือกคือ คาราโครัม ฮินดูกูช (Hindu Kush) หรือทีเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเทือกเขา คอเคซัส (Caucasus) และ หิมาลายัน (Himalayan) นั้น ไม่ใช่งานง่ายเลย สังเวยชีวิตคนงานก่อสร้างไปกว่าพันคน หลายๆ ส่วนของถนนขนานหรือทับไปกับเส้นทางสายไหมหรือ Silk Road เดิม ทำให้ถนนเส้นนี้ถูกขนานนามว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับแปดของโลกยุคใหม่ เป็นถนนมาตรฐานเชื่อมสองประเทศที่อยู่สูงที่สุดในโลก โดยด่านพรมแดน กุนจีราบ (Khunjerab Pass) นั้นก็เป็นด่านพรมแดนที่อยู่สูงที่สุดในโลกเช่นกัน โดยมีความสูงอยู่ที่ 4,693 เมตร เทียบกับยอดเขาที่สูงที่สุดในยุโรปคือ มองต์ บลังค์ (Mont Blanc) ของเทือกเขาแอลปส์ (Alps) ซึ่งสูง 4,810 เมตร และยอดเขา เม้าท์ วิทนี่ย์ (Mount Whitney) ของเทือกเขาเซียร่า เนวาดา (Sierra Nevada) ที่สูงที่สุดในแผ่นดินใหญ่ของประเทศอเมริกาซึ่งสูง 4,421 เมตร ทำให้เส้นทางคาราโครัมนี้เป็นที่หมายปองของนักท่องเที่ยวเชิงผจญภัยจากทั่วโลก
เราออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิประเทศไทยไปยังเมือง ราวัลปินดี (Rawalpindi) โดยลงที่สนามบิน เบนาซีร์ บุตโต (Benazir Bhutto) ซึ่งเป็นชื่อของอดีตนายกรัฐมนตรีของปากีสถาน เธอถูกลอบสังหารเสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ที่เมืองนี้ ทำให้ชาวปากีสถานใช้ชื่อของเธอมาเป็นชื่อสนามบินและอื่นๆ อีกมากมาย (ว่างๆ จะเล่าประวัติของเธอให้ฟัง โดยเฉพาะช่วงที่เธอและสามีนำประชาชนมือเปล่าสู้กับปืนของรัฐบาลเผด็จการทหารที่กดขี่ประชาชนจนได้รับชัยชนะ ทำให้ชาวปากีสถานรักเธอมาก แต่เธอก็ต้องสูญเสียญาติมิตรไปกับการลอบสังหารและการจำคุกจากการกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมหลายคน คล้ายๆ กับอิวิต้า เปรองของประเทศอาร์เจนตินา)
ออกจากเมืองราวัลปินดีไปจนเจอถนน N-35 ตอนเลยเมือง ตักศิลา (Taxila) ไปหน่อยนึง ขากลับจะเล่าให้ฟังว่าเมืองในตำนานที่เราคุ้นหูแห่งนี้เป็นอย่างไรบ้าง ผ่านเมือง ฮาริปูร์ (Haripur) เมืองแอบบอทตาบัด (เมืองที่บินลาเดนหนีมาจนมุมจนถูกจับและฆ่าตาย) มาจนถึงเมืองเล็กๆ ชื่อ ทาก๊อต (Thakot) เมื่อข้ามสะพานที่เมืองนี้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางคาราโครัมตัวจริงเสียงจริง แล้วเราก็จะผ่านเมืองเล็กๆ หลายเมืองเช่นเมือง เบชาม (Besham) เมืองดาซู (Dasu) และเมือง ซีลาส (Chilas)
เป้าหมายของเราคือเมืองกิลกิต (Gilgit) ซึ่งห่างจากราวัลปินดีไป 610 ก.ม. (ประมาณกรุงเทพ-ลำปาง) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 16 ชั่วโมง ยิ่งไกลออกไปเท่าไร ถนนก็จะสภาพแย่ลงเท่านั้น และเมืองต่างๆ ที่ผ่านไปนั้นก็จะเต็มไปด้วยความวุ่นวายไร้ระเบียบและฝุ่นๆๆๆ ถือเป็นการท้าทายทั้งสภาพร่างกายและยานพาหนะ จนเลยเมืองชีสาสไปแล้วข้ามสะพานเล็กๆ ไปก็จะเจอถนนที่พอจะเรียกว่าไฮเวย์ได้บ้าง ทำให้จากเมืองชีลาสถึงเมืองกิลกิตใช้เวลาเพียงสองชั่วโมงครึ่งกับระยะทางประมาณ 130 ก.ม.
ระหว่างทางก็จะเจอด่านรักษาความปลอดภัยหลายด่าน บางด่านเราต้องลงจากรถเพื่อไปสแกนพาสปอร์ตและถ่ายรูป บางแห่งเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจติดอาวุธจะนั่งรถไปด้วยเพื่อรักษาความปลอดภัยให้เราในฐานะผู้มาเยือนจนถึงด่านข้างหน้า ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ที่ด่านหรือเจ้าหน้าที่ที่ติดรถมา ต่างก็มีอัธยาศัยและเป็นมิตรดีมาก ขัดกับรูปร่างหน้าตาที่สูงใหญ่น่ากลัว พวกเขาดูดีใจที่ได้เจอนักท่องเที่ยวและปฏิเสธค่าตอบแทนทุกชนิดยกเว้นขนมเล็กๆ น้อยๆ ที่เรานำไปจากเมืองไทย
ระหว่างทางเราก็จะเริ่มเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ถนนคาราโครัมซอกแซกเลียบไปตามไหล่เขากว้างเพียงให้รถสวนกันได้อย่างอบอุ่น ทำเอาเราใจเต้นระทึกเพราะข้างหนึ่งก็เป็นผนังผาสูงชันเสียดฟ้า อีกด้านหนึ่งก็เป็นหุบเขาสูงเห็นลำธารสายน้อยอยู่ข้างล่าง แม้จะไม่น่ากลัวเท่ากับ The Death Road ที่เมือง โคโรอิโค (Coroico) ของประเทศโบลิเวีย แต่ก็ทำให้เราลุ้นทุกครั้งที่มีรถขนาดใหญ่สวนมา บรื๋ยยยยยย..
พอถึงเมืองเบชาม เราก็จะมองเห็นยอดเขาไกลๆ ที่มีหิมะสุมอยู่บนยอดเขาบ้างแล้ว เส้นทางคาราโครัมนี้จะแวดล้อมไปด้วยยอดเขาที่สูงติดอันดับโลกชนิด 7,000+ เมตรหลายยอด ก่อนถึงเมืองชีลาสเราต้องจอดเสียเวลาอยู่เกือบสองชั่วโมงเพราะมีดินถล่มขวางถนนอยู่ ทำให้วันแรกเราไปไม่ถึงเมืองกิลกิต เปลี่ยนเป็นค้างคืนที่เมืองชีลาสแทน
(ยังมีต่อ)
(รูปภาพในทริปนี้ทั้งหมดถ่ายด้วย iPhone 6+ รูปที่ออกเขียวๆ นั้นถ่ายผ่านกระจกรถ ส่วนรูปสีปกตินั้นถ้าไม่ใช่ที่พอจะจอดรถได้ก็คือที่พอจะเปิดกระจกออกได้คืบนึง (ได้แค่นั้น) แล้วแหย่ iPhone ออกไป ใช้การคาดการณ์ความเร็วของรถ หัวโค้ง และองค์ประกอบภาพล้วนๆ ไม่สามารถโฟกัสอะไรได้เลย 555)
หิมะสวยงาม ดอกไม้ผลิบาน ปากีสถาน Karakoram Highway
การสร้างถนนซึ่งตัดผ่านเทือกเขาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก 3 เทือกคือ คาราโครัม ฮินดูกูช (Hindu Kush) หรือทีเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเทือกเขา คอเคซัส (Caucasus) และ หิมาลายัน (Himalayan) นั้น ไม่ใช่งานง่ายเลย สังเวยชีวิตคนงานก่อสร้างไปกว่าพันคน หลายๆ ส่วนของถนนขนานหรือทับไปกับเส้นทางสายไหมหรือ Silk Road เดิม ทำให้ถนนเส้นนี้ถูกขนานนามว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับแปดของโลกยุคใหม่ เป็นถนนมาตรฐานเชื่อมสองประเทศที่อยู่สูงที่สุดในโลก โดยด่านพรมแดน กุนจีราบ (Khunjerab Pass) นั้นก็เป็นด่านพรมแดนที่อยู่สูงที่สุดในโลกเช่นกัน โดยมีความสูงอยู่ที่ 4,693 เมตร เทียบกับยอดเขาที่สูงที่สุดในยุโรปคือ มองต์ บลังค์ (Mont Blanc) ของเทือกเขาแอลปส์ (Alps) ซึ่งสูง 4,810 เมตร และยอดเขา เม้าท์ วิทนี่ย์ (Mount Whitney) ของเทือกเขาเซียร่า เนวาดา (Sierra Nevada) ที่สูงที่สุดในแผ่นดินใหญ่ของประเทศอเมริกาซึ่งสูง 4,421 เมตร ทำให้เส้นทางคาราโครัมนี้เป็นที่หมายปองของนักท่องเที่ยวเชิงผจญภัยจากทั่วโลก
เราออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิประเทศไทยไปยังเมือง ราวัลปินดี (Rawalpindi) โดยลงที่สนามบิน เบนาซีร์ บุตโต (Benazir Bhutto) ซึ่งเป็นชื่อของอดีตนายกรัฐมนตรีของปากีสถาน เธอถูกลอบสังหารเสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ที่เมืองนี้ ทำให้ชาวปากีสถานใช้ชื่อของเธอมาเป็นชื่อสนามบินและอื่นๆ อีกมากมาย (ว่างๆ จะเล่าประวัติของเธอให้ฟัง โดยเฉพาะช่วงที่เธอและสามีนำประชาชนมือเปล่าสู้กับปืนของรัฐบาลเผด็จการทหารที่กดขี่ประชาชนจนได้รับชัยชนะ ทำให้ชาวปากีสถานรักเธอมาก แต่เธอก็ต้องสูญเสียญาติมิตรไปกับการลอบสังหารและการจำคุกจากการกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมหลายคน คล้ายๆ กับอิวิต้า เปรองของประเทศอาร์เจนตินา)
ออกจากเมืองราวัลปินดีไปจนเจอถนน N-35 ตอนเลยเมือง ตักศิลา (Taxila) ไปหน่อยนึง ขากลับจะเล่าให้ฟังว่าเมืองในตำนานที่เราคุ้นหูแห่งนี้เป็นอย่างไรบ้าง ผ่านเมือง ฮาริปูร์ (Haripur) เมืองแอบบอทตาบัด (เมืองที่บินลาเดนหนีมาจนมุมจนถูกจับและฆ่าตาย) มาจนถึงเมืองเล็กๆ ชื่อ ทาก๊อต (Thakot) เมื่อข้ามสะพานที่เมืองนี้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางคาราโครัมตัวจริงเสียงจริง แล้วเราก็จะผ่านเมืองเล็กๆ หลายเมืองเช่นเมือง เบชาม (Besham) เมืองดาซู (Dasu) และเมือง ซีลาส (Chilas)
เป้าหมายของเราคือเมืองกิลกิต (Gilgit) ซึ่งห่างจากราวัลปินดีไป 610 ก.ม. (ประมาณกรุงเทพ-ลำปาง) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 16 ชั่วโมง ยิ่งไกลออกไปเท่าไร ถนนก็จะสภาพแย่ลงเท่านั้น และเมืองต่างๆ ที่ผ่านไปนั้นก็จะเต็มไปด้วยความวุ่นวายไร้ระเบียบและฝุ่นๆๆๆ ถือเป็นการท้าทายทั้งสภาพร่างกายและยานพาหนะ จนเลยเมืองชีสาสไปแล้วข้ามสะพานเล็กๆ ไปก็จะเจอถนนที่พอจะเรียกว่าไฮเวย์ได้บ้าง ทำให้จากเมืองชีลาสถึงเมืองกิลกิตใช้เวลาเพียงสองชั่วโมงครึ่งกับระยะทางประมาณ 130 ก.ม.
ระหว่างทางก็จะเจอด่านรักษาความปลอดภัยหลายด่าน บางด่านเราต้องลงจากรถเพื่อไปสแกนพาสปอร์ตและถ่ายรูป บางแห่งเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจติดอาวุธจะนั่งรถไปด้วยเพื่อรักษาความปลอดภัยให้เราในฐานะผู้มาเยือนจนถึงด่านข้างหน้า ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ที่ด่านหรือเจ้าหน้าที่ที่ติดรถมา ต่างก็มีอัธยาศัยและเป็นมิตรดีมาก ขัดกับรูปร่างหน้าตาที่สูงใหญ่น่ากลัว พวกเขาดูดีใจที่ได้เจอนักท่องเที่ยวและปฏิเสธค่าตอบแทนทุกชนิดยกเว้นขนมเล็กๆ น้อยๆ ที่เรานำไปจากเมืองไทย
ระหว่างทางเราก็จะเริ่มเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ถนนคาราโครัมซอกแซกเลียบไปตามไหล่เขากว้างเพียงให้รถสวนกันได้อย่างอบอุ่น ทำเอาเราใจเต้นระทึกเพราะข้างหนึ่งก็เป็นผนังผาสูงชันเสียดฟ้า อีกด้านหนึ่งก็เป็นหุบเขาสูงเห็นลำธารสายน้อยอยู่ข้างล่าง แม้จะไม่น่ากลัวเท่ากับ The Death Road ที่เมือง โคโรอิโค (Coroico) ของประเทศโบลิเวีย แต่ก็ทำให้เราลุ้นทุกครั้งที่มีรถขนาดใหญ่สวนมา บรื๋ยยยยยย..
พอถึงเมืองเบชาม เราก็จะมองเห็นยอดเขาไกลๆ ที่มีหิมะสุมอยู่บนยอดเขาบ้างแล้ว เส้นทางคาราโครัมนี้จะแวดล้อมไปด้วยยอดเขาที่สูงติดอันดับโลกชนิด 7,000+ เมตรหลายยอด ก่อนถึงเมืองชีลาสเราต้องจอดเสียเวลาอยู่เกือบสองชั่วโมงเพราะมีดินถล่มขวางถนนอยู่ ทำให้วันแรกเราไปไม่ถึงเมืองกิลกิต เปลี่ยนเป็นค้างคืนที่เมืองชีลาสแทน
(ยังมีต่อ)
(รูปภาพในทริปนี้ทั้งหมดถ่ายด้วย iPhone 6+ รูปที่ออกเขียวๆ นั้นถ่ายผ่านกระจกรถ ส่วนรูปสีปกตินั้นถ้าไม่ใช่ที่พอจะจอดรถได้ก็คือที่พอจะเปิดกระจกออกได้คืบนึง (ได้แค่นั้น) แล้วแหย่ iPhone ออกไป ใช้การคาดการณ์ความเร็วของรถ หัวโค้ง และองค์ประกอบภาพล้วนๆ ไม่สามารถโฟกัสอะไรได้เลย 555)