((( เรื่องของเวียตนาม )))

ประเทศเวียตนาม


วันนี้มีโอกาสได้เขียนถึงประเทศเวียตนาม เรื่องราวของประเทศนี้ ในยุค อาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส

กว่าจะมาถึงปัจจุบันประเทศนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง และ เรื่องราวของโฮจิมินห์บิดาแห่งประเทศเวียตนาม

เวียตนามเป็นประเทศเก่าแก่กว่าไทยเยอะ ย้อนไปได้ถึงศตวรรษที่ 2 ก่อน คริสตกาลเลย(ยุคใกล้ๆจิ๋นซีฮ่องเต้ของจีน)

ผู้เขียนจะขอหยิบยกช่วงที่เวียตนามตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสในช่วงปี ค.ศ.1887 (ประมาณช่วงรัชสมัย ร.5)

แต่ก่อนหน้านั้นประวัติศาสตร์สองพันปีของเวียตนามตกเป็นเมืองขึ้นของจีนอยู่เนืองๆ บางช่วงก็ได้ทั้งประเทศตั้งแต่เหนือจรดใต้

บางช่วงก็ได้เฉพาะทางเหนือ แต่ทางเวียตนามเองก็ได้อิสระภาพเรื่อยๆในช่วงราชวงค์ของจีนอ่อนอำนาจลง

ในเอเชียมีไม่กี่ประเทศที่รับประทานอาหารโดยใช้ตะเกียบแบบจีน ก็มี จีน มองโกล เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียตนาม ซึ่งของรับวัฒนธรรมจากจีน


บทที่ 1 การตกเป็นทาสเมืองขึ้น

ปัญหามันเริ่มจากฝรั่งเศส ในยุคนโปเลียน ฝรั่งเศส ถือว่าเป็นชาติที่มีอำนาจมากที่สุดในยุโรป ครอบครองดินแดนในยุโรปได้เกือบทั้งหมด

พอนโปเลียนหมดอำนาจ ฝรั่งเศสก็ตกต่ำ เศรษฐกิจไม่ดี เพราะทำสงครามมาตลอด ประเทศที่เคยครอบครองเคยได้ผลประโยชน์ในยุโรป ตอนนี้ฝรั่งเศสก็ไม่ได้

ฉะนั้นฝรั่งเศสจึงแสวงหาผลประโยชน์จากนอกทวีป ทั้งในแอฟริกาเหนือและเอเชีย

ในเอเชียทางอังกฤษก็มีพม่า อินเดีย มาลายู / สเปนมีฟิลิปินส์ / ฮอลแลนด์มีหมู่เกาะอินโด


เอาคร่าวๆนะครับสำหรับวีรกรรมของฝรั่งเศสในการตักตวงผลประโยชน์จากคาบสมุทรอินโดจีน

ปี 1862 (ช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกา) ฝรั่งเศสเข้ายึดโคชินไชน่าของเวียตนาม
ปี 1884 ฝรั่งเศสเข้าปกครองอันนัมซึ่งเป็นเวียตนามกลาง
ปี 1884 ฝรั่งเศสรบชนะสงครามจีนฝรั่งเศสได้ตังเกี๋ยซึ่งเป็นเวียตนามเหนือ
ปี 1887 ฝรั่งเศสได้ก่อตั้ง เฟรนช์อินโดจีน ซึ่งเป็นประเทศเวียตนามทั้งประเทศเป็นอาณานิคมของฝรังเศส

ในส่วนของกัมพูชา
ปี 1863 สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ ได้ขอเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส เพื่อจะไม่ต้องเป็นประเทศราชของสยาม (อืมอันนี้ขอเป็นอาณานิคมฝรั่งเศสเองเลย)
ปี 1867 สยามยอมรับกัมพูชาในรัฐอารักขาของฝรั่งเศส โดยแลกกับจังหวัดพระตะบองและเสียมราฐเป็นของสยาม

ในส่วนของลาวและพม่า
ปี 1893 วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 เรื่องนี้ยาวจะเอาคร่าวๆนะครับ
- สงครามสยาม-ฝรั่งเศส ในช่วงร.5 ฝรั่งเศสยกทัพเรือปืนเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกร้องจะเอาลาวซึ่งเป็นประเทศราชของสยาม
- ร.5 ได้ขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ เพราะเป็นพันธมิตรกัน หวังจะถ่วงดุลอำนาจกับฝรั่งเศส
- แต่อังกฤษกลับบอกให้สยามทำตามคำเรียกร้องของฝรั่งเศส(ซะงั้น)
- สยามทำตามที่อังกฤษแนะนำ ยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส
- โดยมีอังกฤษได้ทำข้อตกลงร่วมกับฝรั่งเศสว่าจะรับรองบูรณภาพของดินแดนส่วนที่เหลือสยาม
- แต่งานนี้ไม่ฟรี อังกฤษขอค่าแรงจากสยามเป็นดินแดนในรัฐฉานซึ่งเป็นของสยามไป(เอาเข้าไปพวกนี้)

หลังจากเหตุการณ์นี้รัชกาลที่ 5 ทรงโทมนัสอย่างยิ่งจากการกระทำของพวกชาติตะวันตกโดยเฉพาะฝรั่งเศส


ตอนนี้ฝรั่งเศสได้ครอบครองอาณานิคมอินโดจีนแบบสมบรูณ์แบบแล้วในปี 1893

โดยใช้ ไซง่อน ในโคชินไชน่าเป็นเมืองหลวงของอาณานิคม ก่อนจะย้ายเป็น ฮานอยในปี 1902

ในบรรดาประเทศตะวันตกที่ล่าอาณานิคมมีฝรั่งเศสนี่ล่ะที่เป็นตัวสูบเลือดสูบเนื้อเจ้าของประเทศที่สุด

ออกกฏหมายกดขี่เจ้าของประเทศ ตัวเองเป็นเจ้าอาณานิคมมีกฏหมายคุ้มครองทุกอย่าง

เรียกเก็บภาษีมหาโหด ผลผลิตของแต่ประเทศประชาชนเจ้าของประเทศเป็นคนทำ แต่ฝรั่งเศสเอาไปหมด เหลือแค่เศษๆให้ประทังชีวิตกัน

ฝรั่งเศสทำเงินมากมายจาก ข้าว ยางพารา กาแฟ เครื่องเทศ ป่าไม้ ของอาณานิคม

ส่วนใหญ่คนฝรั่งเศสจะมาตั้งรกรากทำกิจการในกัมพูชากับเวียตนามมากกว่า ส่วนที่ลาวคนฝรั่งเศสอยู่มากสุดแบบพร้อมๆกันก็ประมาณ 6-700 คนแค่นั้น


คนเวียตนาม ลาว กัมพูชา ก็อยู่เยี่ยงทาสทำงานเพื่อเจ้าอาณานิคมที่เป็นจอมกดขี่อย่างฝรั่งเศส


บทที่ 2 กำเนิดวีรบุรุษ

จนถึงปี 1890 ได้มีเด็กคนนึงเกิด ที่จังหวัดเหงะอาน ทางตอนเหนือของเวียตนาม เป็นลูกคนที่ 3 ของตระกูลชนชั้นปัญญาชน

ชื่อแรกเกิดคือ "เหงียน ซิญ กุง" เด็กคนนี้เกิดมาในช่วงที่เวียตนามเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิฝรั่งเศส

ช่วงวัยเด็กซิญกุงได้รับการศึกษาที่ดี เริ่มจากเรียนภาษาจีนและปรัชญาขงจื้อ ไม่กี่ขวบก็ย้ายตามบิดาไปเมืองเว้

บิดาของซิญกุงอยากให้ลูกชายได้รับการศึกษาสูงๆจะได้ไม่ต้องลำบากเหมือนคนทั่วๆไปในเวียตนาม

ได้ส่งลูกชายเข้าโรงเรียนเตรียม เพื่อเรียนภาษาฝรั่งเศสและวัฒนธรรมตะวันตกโดยหวังไว้ว่าจะส่งให้ไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส

บิดาของซิญกุงถึงแม้รับราชการให้ฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมแต่ก็พูดเรื่องการปลดแอกจากฝรั่งเศสอยู่บ่อยๆ

จนจุดเปลี่ยนของชีวิตก็มาถึง บิดาของซิญกุงโดนเรียกตัวกลับมาเมืองเว้ และโดยสั่งปลดออกจากราชการเพราะพูดเรื่องเอกราช

ทำให้ชีวิตตกต่ำ ต้องพเนจรออกหางานทำทั้งไปทำงานสวนยางที่ไซง่อนและสุดท้ายต้องขายยาพื้นบ้านเดินทางตลอด

ทำให้ซิญกุงไม่ค่อยได้เจอกับบิดาเลย ซิญกุงก็รู้ว่าชีวิตต้องเป็นอย่างนี้เพียงแค่พ่อพูดในสิ่งที่ทุกรู้ว่าเป็นความจริงแต่ไม่มีใครกล้าพูดเหมือนพ่อ

ในปี 1908 ขณะที่ ซิญกุงอายุได้ 18 ปี กำลังศึกษาอยู่สถาบันการศึกษาแห่งชาติในเมืองเว้

ได้มีชาวนาเดินประท้วงเรื่องการคอรัปชั่นของข้าราชการและการเก็บภาษีที่มากเกินไป

เด็กหนุ่มซิญกุงได้แปลคำประท้วงที่เป็นภาษาเวียตนามเป็นภาษาฝรั่งเศสเพื่อให้ผู้ปกครองต่างชาติได้อ่าน

นั่นเป็นบทบาทแรกทางการเมืองของเขา และผลจากการกระทำเช่นนั้นเป็นที่จับตามองจากตำรวจลับฝรั่งเศส

และในวันต่อมาซิญกุงโดนไล่ออกจากโรงเรียน พ่อโดนไล่ออกจากข้าราชการเพราะพูดเรื่องอิสระภาพ

ตัวเองโดนไล่ออกจากโรงเรียนเพราะแค่แปลคำที่ชาวนาประท้วงเป็นภาษาฝร่ั่งเศส


พออายุ 20 ปี เขาได้เรียนพาณิชย์นาวีได้เรียนรู้การเป็นผู้ช่วยพ่อครัวบนเรือ และในปีต่อมาได้ทำงานแรกเป็นผู้ช่วยพ่อครัวบนเรือเดินทางของฝรั่งเศส

เป็นโอกาสที่ซิญกุงได้เดินทางออกนอกประเทศ เพื่อแสวงหาอิสระภาพส่วนตัวและโอกาสที่ดีของชีวิตที่น่าจะดีกว่าในเวียตนาม

จากนั้นหนุ่มน้อยซิญกุงได้เดินทางรอบโลกกับเรือโดยสาร 2-3 ปีต่อเขาได้เห็นผลอันเลวร้ายจากลัทธิล่าอาณานิคมต่างๆทั่วโลก

ในที่สุดซิญกุงก็ไปถึงฝรั่งเศส เขาตั้งใจสมัครสอบในวิทยาลัยซึ่งฝึกสอนข้าราชการเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ตามประเทศต่างๆในอาณานิคมของฝรั่งเศส

แค่เขาก็โดนปฏิเสธจากวิทยาลัยดังกล่าว ซิญกุงเสียใจมากและเจ็บช้ำกับระบอบของฝรั่งเศสที่ปฏิเสธตัวเขามาตลอด

จากนั้นซิญกุงก็ได้ออกเดินทางอีกครั้งกับเรือโดยสารกับงานเดิม จากระหว่างปี 1911-1915 ไปทั้งแอฟริกา อเมริกาใต้ และ สหรัฐอเมริกา

และได้ไปลงเอยที่เมืองนิวยอร์คทำงานล้างจานในร้านอาหารย่านไชน่าทาวน์

ซิญกุงได้สังเกตว่าในอเมริกามีผู้อพยพมากมายหลายเชื้อชาติที่เข้ามาอาศัยในประเทศนี้

ขนาดแรงงานชั่นต่ำสุดจากแอฟริกาจากเอเชีย ที่ไม่ได้รับการนับถือเท่าพวกคนผิวขาว แต่คนเหล่านั้นยังมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งแต่มีอิสระภาพในการดำรงชีวิต

ซึ่งทำให้เขานึกถึงบ้านเกิดตัวเองที่เวียตนามว่าคนเจ้าของประเทศแท้ๆ ยังไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรในประเทศตัวเองแบบนี้

แล้วไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ซิญกุงได้เดินทางของจากนิวยอร์คมากรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ

ได้งานในครัวของโรงแรมคาร์ตันที่มีชื่อเสียงโดยมีเชฟใหญ่เป็นคนฝรั่งเศส ที่ชอบบุคลิก การนอบน้อม และการพูดภาษาฝรั่งเศสได้ของซิญกุง

จนซิญกุงได้เลื่อนขั้นเป็นถึงผู้ช่วยเซฟอบขนม ถือว่าหน้าที่การงานมั่นคงขึ้นมากสำหรับเด็กหนุ่มจากเวียตนามคนนี้

แต่ช่วงที่อยู่ในลอนดอน เขามีโอกาสได้พบปะผู้ที่ต่อต้านการล่าอาณานิคมหัวรุนแรงจากทั่วโลก เช่น อินเดีย แอฟริกา ไอร์แลนด์ เป็นต้น

เป็นการจุดประกายการปลดแอกบ้านเกิด จนปี 1917 ซิญกุง ได้ลาออกจากงาน แล้วเดินทางไปกรุงปารีสฝรั่งเศส เพื่อเรียนรู้การเป็นนักปฏิวัติ


บทที่ 3 นักปฏิวัติ

   
ภาพ เหงียน ซิญ กุง อายุ ประมาณ 20 ปลายๆหรือ 30 ต้นๆ

ซิญกุงย้ายมาอยู่ปารีสดำรงชีวิตด้วยงานหลายอย่างเช่น เป็นพ่อครัว, รับจ้างแต่งภาพ, รายงานข่าวมวย หรือ งานรีวิวหนังใน น.ส.พ.ฝรั่งเศส

แต่นั่นคืองานเสริมเพื่อให้มีรายได้ เพราะงานหลักที่ไม่มีรายได้คือ ก่อตั้งสมาคมชาวเวียตนามในต่างแดนเพื่อโน้มน้าวให้รัฐบาลฝรั่งเศสปรับเงื่อนไขที่ดีขึ้นต่ออาณานิคมอินโดจีน

ไม่นานซิญกุงและเพื่อนร่วมอุดมกาณ์คนอื่นๆก็ได้ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ต่อต้านการกดขี่ของฝรั่งเศสส่งไปยังชุมชนชาวเวียตนามทั่วฝรั่งเศส

ทั้งหนังสือพิมพ์และบทความที่ซิญกุงเขียนเหล่านั้น ได้โดนลักลอบเข้าประเทศเวียตนามด้วย

ทำให้คนรักชาติชาวเวียตนามเริ่มรู้จักซิญกุง แต่ ซิญกุงไม่ได้ใช้ชื่อจริง แต่ใช้นามปากกาว่า

เหงียน อาย กว๊อก (แปลว่า เหงียนผู้รักชาติ)


บทความที่เขาเขียนถือว่าเป็นการกบฏ ถ้าเขาถูกจับและส่งกลับเวียตนามโทษคือประหารชีวิต

ปี 1919 ประธานาธิบดี วูดโรล วิสสันแห่งสหรัฐ ได้เดินทางมาฝรั่งเศสเพื่อเจรจาสันติภาพแวร์ซาย หลังสงครามโลกครั้งที่ 1

ภายใต้กรอบ 14 ประการในสัญญาสันติภาพ มีข้อหนึ่งกล่าวว่า ทุกชาติจะต้องได้สิทธิในระบอบการปกครองด้วยตัวเอง

ซิญกุงเลยเชื่อว่าสหรัฐกำลังสนับสนุนการล้มล้างระบอบอาณานิคม และทำให้เขามีความหวัง

เขาเลยเดินทางไปพระราชวังแวร์ซาย แต่งตัวในชุดสากลสวมหมวกทรงสูงแบบอารยะประเทศ พร้อมเอกสารรายงานความไม่เป็นธรรมต่างๆที่ชาวเวียตนามไม่ได้รับความเป็นธรรมจากฝรั่งเศส

เขาเชื่อว่าหากรายงานฉบับนี้ถึงมือ ปธน.วิลสัน ทางสหรัฐอาจจะโน้มน้าวฝรั่งเศสให้เอกราชแก่เวียตนามได้

แต่! เขากลับได้รับการปฏิเสธอย่างหยาบคายในการขอเข้าพบ ปธน.วิลสัน แม้กระทั่งเอกสารก็ได้รับการปฏิเสธส่งมอบให้

ทำให้เขาต้องผิดหวังอย่างมากจากชาติที่เขาเคยชื่นชมว่ามีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตยที่สุดในโลก

และนี่เองต้องทำให้เขาหาที่พึ่งใหม่!!!!

ในวันนึงนักสังคมนิยมคนหนึ่งในฝรั่งเศสได้เอาบทความซึ่งเขียนโดย วลาดิเมียร์ เลนิน มาให้เขาอ่าน ในบทความนั้นกล่าวว่า

"กุญแจดอกหนึ่งในการเผยแผ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ก็คือ การให้เสรีภาพแก่ประเทศราชของชาติตะวันตกทั้งปวง"

   
วลาดิเมียร์ เลนิน ผู้นำคอมมิวนีสต์ของรัสเซีย

ทำให้ซิญกุงมีความหวังในการปลดแอกประเทศบ้านเกิด เพราะมีมหาอำนาจอีกขั้วให้การสนับสนุน

แล้วจริงๆทางรัสเซียก็อยากยุติระบอบล่าอาณานิคม แต่ไม่ใช่เพราะสงสารประเทศอาณานิยมเหล่านั้น

แต่เพราะต้องการให้มหาอำนาจโลกตะวันตกอ่อนแอลง เพราะอาณานิคมต่างๆล้วนแต่สร้างผลประโยชน์ให้ประเทศเจาอาณานิคม

เขาไม่ได้เลื่อมใสระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ก็มีเพียงรัสเซียเท่านั้นที่จะยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือณ.เวลานั้น

ปี 1920 ขณะอายุ 30 ปี ซิญกุงได้เข้าร่วมก่อตั้งพรรคคอมมิวนีสต์ฝรั่งเศส เขาเป็นแค่นักเขียนที่ดีในปารีสแต่ต้องการเขาต้องการจะเรียนรู้การเปลี่ยนจากบทความให้เป็นการกระทำขึ้นมา

มีต่อครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่