กาลครั้งหนึ่งในยุโรป : ชีวิตผจญภัยของ...วิทยา เลาหกุล

คำพูดด้วยความรู้สึกเสียดายของ วิทยา เลาหกุล ตำนานนักฟุตบอลไทยคนแรกที่ได้ไปค้าแข้งอาชีพบนลีกสูงสุดของยุโรปในศึกบุนเดสลีก้า เยอรมัน ซึ่งเคยปฏิเสธการย้ายไปร่วมทีม นาโปลี ทีมดังของกัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี เมื่อปี 1982 ก่อนตัดสินใจเลือกย้ายลงไปเล่นลีกล่างกับ เอฟซี ซาร์บรู๊คเค่น ในลีกดิวิชั่น 3 ของเยอรมัน…. ความจริงมันเป็นการตัดสินใจครั้งผิดพลาดครั้งหนึ่งในชีวิตเขา
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1978 “เฮง” วิทยา เลาหกุล ตัดสินใจเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่น โดยไม่ยอมต่อสัญญากับยันมาร์ ดีเซล (เซเรโซ่ โอซาก้า ในปัจจุบัน) ที่ยื่นข้อเสนอให้เขาอีก 5 ปี พร้อมเงินก้อนโตเพราะที่แดนอาทิตย์อุทัยไม่ได้ตอบสนองความฝันของเขาในวัยเด็ก...เขาต้องการเป็นนักฟุตบอลที่ลงเล่นต่อหน้าผู้คนนับหลายหมื่นจนถึงเฉียดแสนคนอย่างที่เคยเขียนเรียงความและวาดภาพไว้เท่านั้น แต่ที่ญี่ปุ่น ฟุตบอลลีกสมัยนั้นยังเป็นเพียงลีกกึ่งอาชีพ (Semi - Pro League)
“ตอนเด็กๆ ผมชอบอ่านหนังสือฟุตบอลสยาม ผมเห็นว่าฟุตบอลอาชีพมีชื่อเสียงและมีตังค์ ผมฝันมาตั้งแต่เด็กแล้ว” วิทยา เลาหกุล ชายวัย 62 ปีปัจจุบัน เริ่มเล่าท้าวความ
“ผมไม่ชอบเรียนหนังสือ แต่ผมชอบเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง เอาดิ๊กชั่นนารี มาเปิดหาคำศัพท์เอง เพราะผมฝันว่าสักวันหนึ่งต้องไปเล่นฟุตบอลอาชีพที่ต่างประเทศ เวลามีวิชาเรียงความ หรือ วาดรูป ผมจะเขียนว่าตัวเองอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ไปเล่นที่ยุโรป ผมชอบวาดภาพตัวเองลงเล่นท่ามกลางกองเชียร์เป็นแสนๆคน”

“ทางสโมสรที่ญี่ปุ่น (ยันมาร์ ดีเซล) ต่อสัญญาให้ผมอีก 5 ปี ผมตอบปฏิเสธไป เพราะตอนนั้นที่ญี่ปุ่นมีแฟนบอลแค่นัดละ 300-400 คนเท่านั้น ซึ่งมันไม่ใช่ที่เคยฝัน”
การกลับมาเมืองไทยอย่างไร้จุดหมายปลายทาง ทำให้ “เฮงซัง” รู้สึกผิดหวังกับการตัดสินใจของตัวเองเล็กน้อย แต่แล้วการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมชาติไทย ที่ลงเตะกระชับมิตรกับ ฟอร์ทูน่า โคโลญจน์ กับ เอสปันญอล บาร์เซโลน่า กลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญครั้งใหญ่ของชีวิต…
“จริงๆ ผมรู้สึกผิดหวังกับตัวเองอยู่นะตอนนั้น ที่เลือกกลับมาไทย”
“แต่มันก็กลายเป็นโชคดีเพราะพอผ่านไป 3-4 เดือน ผมติดทีมชาติไปแข่งกับ ฟอร์ทูน่า โคโลญจน์ และ เอสปันญอล บาร์เซโลน่า… หลังจบแมตช์แรกกับ โคโลญจน์ ก็มีแมวมองเดินมาหาเราที่สนามซ้อม มาดูเรา และเอาผ้าพันคอมาให้ พร้อมสูจิบัตรสโมสร และถามเราว่าไปแฮร์ธ่า เบอร์ลิน ไหม?”
วิทยา ตกใจกับข้อเสนอและคำชักชวน แต่เขาไม่รีรอบอกว่า “ไปซิครับ”
ปี ค.ศ. 1979 ประเทศเยอรมันยังถูกแบ่งดินแดนออกเป็น 2 ฝั่ง คือ เยอรมันตะวันตก ที่ถูกปกครองโดย สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, และฝรั่งเศส กับเยอรมันตะวันออก ที่ถูกปกครองโดยสหภาพโซเวียต แต่กรุงเบอร์ลิน ซึ่งเป็นเมืองหลวง ตั้งอยู่ในดินแดนตะวันออก ซึ่งเป็นของโซเวียตแต่เพียงผู้เดียว ทำให้ต้องมีการทำสนธิสัญญาร่วมกัน เพื่อให้ 4 ชาติ ได้ปกครองเมืองหลวงทั้งหมดด้วย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กรุงเบอร์ลิน แบ่งเป็น 4 ส่วนเช่นกัน โดยมีกำแพงเบอร์ลิน ล้อมรอบเมืองกรุงอยู่อย่างน่าอึดอัด… วิทยา เลาหกุล หนุ่มวัย 25 ปี เดินทางเข้าสู่ดินแดนแห่งสงครามเย็น ด้วยความรู้สึกหวั่นใจเล็กๆ
“เราต้องนั่งรถจากเยอรมันตะวันตกเข้าไปยังเยอรมันตะวันออกเสียก่อน เขาให้ขับได้ช้าๆ ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ถนนมันเป็นเส้นตรงดิ่ง ไม่มีคดเคี้ยวเลย ข้างทางเป็นทุ่งข้าวบาร์เล่ย์ ซึ่งถ้าใครหนีข้ามกำแพงไปก็โดนยิงอ่า คิดเอาง่ายๆ”
“นี่เรากำลังจะไปไหนกันแน่ว่ะเนี่ย” วิทยา เล่าถึงความคิดในสัมผัสแรกที่เดินทางถึงเยอรมัน
“จริงๆผมเคยไปที่นั่น (เยอรมัน) แล้วนะ ไปเก็บตัวฝึกซ้อมกับราชประชาฯ แต่อยู่ที่เมืองใกล้แฟรงเฟิร์ต ซึ่งอยู่ในเยอรมันตะวันตก ผมไม่เคยมีความคิดก่อนหน้านี้ว่าอยากจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่เยอรมันเลย ความฝันของผม คือ อังกฤษ สมัยก่อนหนังสือกีฬานั้นมีแต่ฟุตบอลอังกฤษเท่านั้น”
วิทยา เลาหกุล อาศัยอยู่โดดเดี่ยวที่บ้านพักย่านการปกครองของคนอังกฤษ ซึ่งอยู่เขตตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเบอร์ลิน การเดินทางไปไหนมาไหนไม่ใช่เรื่องง่าย หากเดินทางไปเมืองอื่นๆต้องใช้เครื่องบินเท่านั้น เพราะต้องอยู่ภายใต้กำแพงเบอร์ลินที่โอบล้อมเมืองมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 เขาไม่มีรถขับ เพราะขับไปไหนไม่ได้ มีเพียงจักรยาน 1 คันที่ไว้ใช้คอยขี่ไปสนามซ้อม... แต่ท่ามกลางความน่าอึดอัด เขาก็ได้รู้ซึ้งถึงฟุตบอลที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก...
“พอผมไปถึงเบอร์ลิน ผมต้องไปซ้อมกับทีมสำรองที่นั่นเป็นเวลา 2 สัปดาห์ก่อน…”
“ตอนนั้นมีผู้เล่นจากทีมสำรองหลายคน ถูกดันขึ้นไปเล่นชุดใหญ่ สถานการณ์ของทีมไม่ดี อยู่อันดับ 15 - 16 ประมาณนี้… แล้ว ฮันส์ “กุสต๊าฟ” เอเดอร์ (ซึ่งตอนนั้นเป็นเฮดโค้ชทีมสำรอง) เดินไปบอกกับ คูโน่ คล็อตเซอร์ เฮดโค้ชทีมชุดใหญ่ว่า ผมเล่นดีกว่าไอ้พวกคนที่เพิ่งถูกดึงจากทีมสำรองไปเล่นชุดใหญ่หลายๆคนก่อนหน้านี้อีก ก็เลยถูกส่งไปซ้อมกับชุดใหญ่"
“ผมได้ยินตอนไปถึงเยอรมันว่า ฟุตบอลที่นี่แข็งแกร่งที่สุดในโลก… พอผมได้ซ้อมจริงๆจังๆกับทีมชุดใหญ่ ก็แบบ เออ...ท่าจะจริงแฮะ! ทุกอย่างมันเข้มข้น เป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว ตอนไปใหม่ๆ พวกเขาให้ไกด์ไลน์เป็นสมุดมาหนึ่งเล่มบอกว่า ทำอะไรได้บ้างไม่ได้บ้างในสโมสร กระทั่งเรื่องการไปมีอะไรกับผู้หญิงอื่นที่ไม่ใช่เมียตัวเองด้วย”
“ที่สนามซ้อม มันแข่งขันกันสูงจริงๆ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ตอนนั้นถ้าแข่งนอกบ้านจะเล่นแผน 4-4-2 แต่ถ้าในบ้านจะเล่น 4-3-3 และกองกลางชุดนั้นมี 8 ตัว ผมจำได้ว่าวันแรกๆกับทีมชุดใหญ่ ตอนแบ่งข้างกัน พวกเขาพูดว่า เตะมันเลย (หมายถึงตัว วิทยา เลาหกุล) ให้เดี้ยงเลย เตะมันให้เดี้ยงก่อน สมัยนั้นถ้าลงสนามเป็น 11 ผู้เล่นตัวจริงจะได้เงินโบนัสสูง” วิทยา พูดถึงการซ้อมหฤโหดเยี่ยงถูกรับน้องใหม่
...และหลังซ้อมได้เพียงสัปดาห์เดียวกับทีมชุดใหญ่ วิทยา เลาหกุล บรรลุฝันที่วาดมาตั้งแต่เด็ก…
“เฮ้! วิทยา คุณเตรียมตัวลงสนาม” นั่น คือ คำพูดของ คูโน่ คล็อตเซอร์ ที่ตะโกนสั่งช่วงท้ายเกมที่ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ทีมท้ายตารางตอนนั้นกำลังดวลกับ ฟอร์ทูน่า ดุสเซลดอร์ฟ...ความตื่นเต้นถาโถมเข้าใส่ เพราะเขาได้ไปยืนในจุดที่เคยวาดภาพส่งคุณครูในวัยเด็ก… ท่ามกลางโอลิมปิก สเตเดี้ยม กลางกรุงเบอร์ลิน ที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ สร้างขึ้นมา มีผู้ชมร่วม 60,000 คน ชมเกมเต็มความจุ
“เออ...เราก็ทำได้แฮะ กับสิ่งที่เคยฝันไว้ตอนเด็ก” วิทยา พูดถึงความรู้สึกประทับใจในวินาทีนั้น…
เกมแห่งประวัติศาสตร์ของชายชื่อ วิทยา เลาหกุล จบลงด้วยชัยชนะของแฮร์ธ่า เบอร์ลิน ต้นสังกัด หลังจากนั้นไม่นานเขาได้รับฉายาว่า "ไทยบูม" จากหนังสือพิมพ์ของเยอรมัน แต่ความสุขและความประทับใจของการทำตามฝัน เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ท่ามกลางลีกที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกที่เต็มไปด้วยซูเปอร์สตาร์ มันไม่ได้หอมหวนนักตลอด 3 ปีที่เขาค้าแข้งในถิ่นโอลิมปิก สเตเดี้ยม...ปัญหาอุปสรรคมากมาย ค่อยๆเข้ามา การแข่งขันที่สูงริบ, การไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมทีม, อารมณ์ความรู้สึกที่ได้รับว่าถูกเหยียดเชื้อชาติปรากฏมากขึ้นเรื่อยๆ
“อย่างที่ผมบอกไปว่าการแข่งขันมันสูงมาก ระหว่างการซ้อมผมโดน เจอร์เกน มัวร์ (Jurgen More) ศอกใส่หน้า ผมชกกลับเลย ตอนนั้นเราทั้งคู่โดนปรับกันคนละ 10,000 มาร์กส์เยอรมัน และโดนพัก 1 สัปดาห์… รู้ไหม? ช่วงแรกๆ เวลาเล่นลิงกัน พวกเขาไม่เอาผมเลยนะ พวกเขาไม่ยอมรับผม หรือเวลาลงทีม พวกเขาก็ไม่เอาผม กลัวผมส่งเสีย และจะไล่เอาบอลคืนมายาก...ตอนทดสอบร่างกายไปวิ่งกันในทุกวันอังคาร พวกวิ่งนำหน้าก็จะไปถึงด้านบนของโอลิมปิก สเตเดี้ยม ก็จะถ่มน้ำลายลงมาใส่”
“เวลาอยู่ในสนาม คู่แข่งฝั่งตรงข้ามเรียกผมว่าไอ้ไชนีส (Chinese) ผมบอกผมไม่ใช่ ไชนีส อ่าผมคนไทย… มันก็ยังด่าผมต่อ ไอ้ไชนีส ไอ้หมูสกปรก! แม้แต่แฟนบอลเวลาเราส่งเสีย ส่งผิดก็จะตะโกนด่าผม ฟุตบอลไทยเล่นงี้เหรอวะ คือ มันเจ็บตรงที่มาด่าประเทศเราด้วย แต่ทีคนอื่นส่งเสีย มันไม่เห็นว่าอะไรเลย (ฮา)” วิทยา เล่าต่อแบบติดตลก
“ด้วยความที่ผลงานทีมตอนนั้นไม่ดีเท่าไหร่ ทำให้เปลี่ยนโค้ชบ่อยมาก เอาเป็นว่า 3 ปีที่ผมอยู่เบอร์ลิน ผมต้องเจอกับโค้ชถึง 6 คน...อูเว่ คลีมันน์ โค้ชคนนี้ดุและจิตวิทยาแย่มาก เวลาผมจ่ายบอลเสีย เขาจะด่าแรงมาก บอก ฟุตบอลที่ประเทศไทย ส่งบอลกันงี้เหรอ! เล่นแบบนี้ไปเรียกเมียที่นั่งดูอยู่มาเล่นดีกว่า คือ โค้ชแต่ลคนมีปรัชญาการทำทีมไม่เหมือนกัน เราต้องพยายามปรับตัวตลอด”
“แต่เราต้องพิสูจน์ให้พวกเขาเห็น ถ้าเรายอมแพ้ เราก็ไม่ถึงไหนหรอก… ผ่านไปประมาณ 4-5 เดือน เพื่อนร่วมทีมที่ไม่ให้เราเล่นลิงวงเดียวกับเขา ก็เริ่มเรียกเราเข้ามา บอก วิทยาๆ มานี่ๆ”
“ผมเคยลงไปเจอกับพวกดังๆเยอะนะ สมัยเล่นบุนเดสลีก้า ทั้ง คาร์ล ไฮน์ รุมเมเนเก้ และ พอล ไบร์ทเนอร์ (ของบาเยิร์น มิวนิค) ฮันซี่ มุลเลอร์ (ที่ขณะนั้นกำลังโด่งดังกับสตุ๊ตการ์ท) แต่คนที่ผมชอบที่สุดน่าจะเป็น (ปิแอร์) ลิตต์บาร์สกี้ (ของเอฟซี โคโลญจน์) ตอนนั้นกำลังดังมาก เขาเป็นผู้เล่นที่สามารถเลี้ยงหลบได้ทีละ 5-6 คน ได้สบายๆ ใครก็เอาไม่อยู่” วิทยา พูดถึงช่วงขวบปีแรกในถิ่น โอลิมปิก สเตเดี้ยม
ผ่านพ้นไป 1 ฤดูกาล ชีวิตของ “เฮงซัง” เต็มไปด้วยความยากลำบาก เขาลงสนามเป็นตัวจริงไม่กี่นัด แม้จะลงเล่นเป็นตัวสำรองบ่อยครั้ง จนถูกผู้คนขนานนามว่า “นักเตะ 25 นาที” และที่แย่ไปกว่านั้น… แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ตกชั้นลงไปเล่นลีก้าในฤดูกาลถัดมา…
-ติดตามเรื่องโอกาสที่เกือบได้เล่นเคียงข้าง ดิเอโก มาราโดน่า และจุดเปลี่ยนชีวิตที่เยอรมัน ได้โอกาสหน้า-  ----เครดิตจากhttps://www.fourfourtwo.com/th/features/kaalkhranghnuengainyuorp-chiiwitphcchyphaykhngwithyaa-elaahkul
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่