Review สอบ CU-TEP เมษายน 2560

เนื่องจากผมต้องใช้คะแนนภาษาอังกฤษ แต่คะแนน IELTS หมดอายุไปละ ต้องสอบใหม่
เลยเลือกสำนัก ที่ค่าสมัครถูกสุด คือ CU-TEP  ซึ่งไม่เคยสอบมาก่อนเลย
เป็นประสบการณ์แปลกใหม่ ในชีวิตชายวัยกลางคนที่อยากแชร์ครับ
  
การสมัครสอบ
1.    ถ้าไม่มั่นใจ สมัครสอบ 2-3 ครั้งรวดไปเลย...
CU-TEP เปิดรอบสอบน้อยมาก และรอประกาศผลนาน ถ้าไม่ผ่านก็จะสมัครรอบต่อไปไม่ทัน
แนะนำว่าถ้าไม่มั่นใจ ตัดใจสมัครสองรอบรวดเลยดีกว่า หรือเลือกสอบแบบคอมพิวเตอร์แต่ค่าสมัครแพงกว่า
(ธรรมดา 900 บาท / คอมพิวเตอร์ 2,500บาท แต่สอบเสร็จ รู้ผลเลย)

2.    ต้องเตรียมไฟล์รูปถ่ายหน้าตรงและบัตรประชาชนเตรียมไว้ก่อนสมัคร...
การสมัครผ่านเว็บไซด์สะดวกมาก แต่ต้องใช้รูปหน้าตรงและสำเนาบัตรประชาชน ก็ใช้กล้องมือถือนี่แหละครับถ่ายเอง
เค้ามีวิธีแปลงไฟล์ภาพ ขนาดภาพกี่เมก กี่พิกเซลแนะนำในเว็บไซด์ ไม่ยุ่งยาก การจ่ายเงินผ่านตู้บางธนาคาร ATM ได้
แต่แอปมือถือบางธนาคารเหมือนจะจ่ายไม่ได้

การเดินทาง สถานที่สอบ
3.    เดินทางด้วย MRT ลงสถานีสามย่าน สะดวกสุด...
ผมสอบที่ ตึกมหิตลาธิเบศร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ซึ่งส่วนมากสนามสอบอื่นๆ ก็อยู่ใกล้เคียงกัน
แนะนำให้ใช้ MRT ลงสถานีสามย่าน ออกทางออก 2 จะโผล่เข้ามาชั้นใต้ดินของจามจุรีสแควร์เลย
มีศูนย์อาหารด้วย ปกติเค้าเปิดกี่โมงไม่รู้นะ แต่วันที่ผมสอบไปถึงแปดโมง ก็มีคนนั่งทานข้าวกันแยะแล้ว
หากจะเดินเข้า จุฬาฯ ก็ขึ้นบันไดเลื่อนไปที่ชั้น 1 ประตูหลังของจามจุรีสแควร์อยู่ตรงกับประตูเข้าคณะบัญชีฯ เลยครับ  

4.    ใครมาจากต่างจังหวัด (เหมือนผม)....
ลงหมอชิต หรือ ดอนเมือง แนะนำขึ้น MRT ที่สถานีจตุจักร หรือพหลโยธิน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 35 นาที
ถ้ามาด้วยรถไฟ น่าจะสะดวกสุดลงสถานีหัวลำโพง หรือบางซื่อต่อ MRT ได้เลย
ถ้ามาจากสายใต้ หรือเอกมัย แนะนำให้ใช้ BTS แล้วต่อ MRT ที่อโศกครับ ไม่กี่สถานีก็ถึงสามย่านละ

5.    ตึกมหิตลาธิเบศร...
มีลิฟต์จำนวนน้อย โรงอาหารบริเวณชั้นหนึ่งก็มีไม่กี่ร้าน ต้องเผื่อเวลา ถ้าลิฟต์คนเยอะอาจต้องเดินขึ้นบันได
อ้อ...ตึกนี้ห้องน้ำไม่มีสายฉีดน้ำชำระ ติดกระดาษทิชชู่มาด้วยนะครับ เผื่อใครปวดท้อง..คนเยอะแม่บ้านเติมกระดาษไม่ทัน
ทำธุระเสร็จ ไม่มีทิชชู่ให้ใช้ ได้เจอโศกนาฏกรรมในห้องน้ำแน่ๆ ครับ

6.    ห้องสอบ....
ที่ตึกมหิตลาธิเบศร ลำโพงเสียงชัดเจนดีครับ ไม่เห็นเหมือนที่เคยอ่านรีวิวว่าเสียงแตก แต่แอร์ไม่ค่อยเย็น (หรือนั่งมุมอับ?)
ผมนี่เหงื่อไหลจนหลังเปียก อาจจะด้วยต้องเดินขึ้นชั้นหก หรือตื่นเต้นด้วยไม่รู้นะ 555

การแต่งกาย เอกสารแสดงตน
7.    รองเท้าหุ้มส้นแบบสุภาพ....
ในเว็บไซด์ระบุเรื่องเครื่องแต่กายชัดเจน เว้นแต่รองเท้า...แม้จะระบุชัดเจนในเว็บไซด์ว่า “รองเท้าหุ้มส้น ห้ามใส่ผ้าใบ”
แต่ผมลังเลว่ารองเท้าหุ้มส้นนี่รวมถึงรองเท้ากีฬาและ casual ไหม? ยิ่งต้องเดินทางจากตจว.ด้วยอ่ะ
ใส่รองเท้าหนังเดินทางนี่ลำบากมาก สุดท้ายกลัวมีปัญหา ก็เลยจัดรองเท้าหนังเต็มยศ ที่ไหนได้ คนอื่น
ใส่รองเท้า casual มากันเยอะแยะ ขอให้หุ้มส้น สีสุภาพ แบบสุภาพก็พอ
ขนาดกรรมการที่คุมสอบยังใส่รองเท้าแบบ slip on สีดำ แต่เป็นลาย graffiti ยังกะสาวสเก็ตบอร์ด อย่างเท่!

8.    เตรียมบัตรอื่นนอกจากบัตรประชาชนมาด้วยในกรณีที่หน้าเปลี่ยนมาก…
อันนี้เจอด้วยตัวเอง เพราะช่วงนี้ผมอ้วนขึ้น หน้านี่กลมเชียว แต่ในบัตรประชาชนยังเป็นหนุ่มน้อยหน้าเรียวอยู่
กรรมการเกือบไม่ให้เข้าห้องสอบ ต้องถอดแว่นแล้วควักใบขับขี่มาให้ดูอีกใบว่า เนี่ยะคนเดียวกันครับ ไม่เหมือนตรงไหน?
แค่โดนกาลเวลาทำร้าย 555

9.    ไม่ต้องเอาของไปเยอะไม่มีคนเฝ้าให้....
ตอนเข้าสอบไม่ให้เอาอะไรเช้านอกจากตัวกับเอกสารแสดงตน มีเครื่องเขียนให้เรียบร้อย ของกองไว้หน้าห้อง
นาฬิกาแบบเข็มก็ห้ามนะครับ กรรมการให้ถลกแขนเสื้อดูข้อมือกันเลย  แต่เห็นบางคนขอเอากระเป๋าตังค์ ใส่ถุงซิปใส
วางไว้ใต้เก้าอี้ตัวที่นั่งสอบ อันนี้คงต้องขอกรรมการ แต่ผมเอาใส่ไว้ในกระเป๋าเป้กองไว้นั่นแหละ ไม่มีอะไรให้ขโมย

เม่านักช้อป

ข้อสอบ
10.    เริ่มต้นด้วย Listening 30 ข้อ....
เป็นบทสนทนาสั้น 15 ข้อ ผู้หญิงผู้ชายคุยกัน บางข้อถามรายละเอียดตัวเลข สถานที่ ต้องบวกลบจำนวนด้วยต้องฟังดีๆ
บทสนทนายาว 2 พาร์ต พาร์ตละ 3 ข้อ และที่เหลือเป็นบทบรรยาย ที่สำคัญคือโจทย์ไม่มีเขียนไว้นะครับ
มีแต่ช้อยส์ ต้องฟังโจทย์แล้วเลือกตอบ มีเวลาให้คิดประมาณเกือบนาที หลังจากคำถามสุด้ทายมีเวลาให้ทบทวน
และฝนกระดาษคำตอบ

11.    Reading 60 ข้อ...
มีเติมคำ 15 ข้อ วันนี้เป็นเรื่องการทำหนังที่ไปถ่ายทำในพื้นที่ทดลองระเบิดนิวเคลียร์
บทความสั้น 5 ข้อ วันนี้เป็นเรื่องวัฒนธรรมกินเนื้อหมาในเกาหลี ที่เหลือเป็นบทความขนาดยาวอีก 3 เรื่อง
เจอเรื่องโอกาสทางการศึกษาและความเท่าเทียมของเด็กหญิง การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และจุดเริ่มต้นของซานตาครอส
เพื่อการโฆษณา... พาร์ตนี้ ไม่ยากสำหรับคนที่อ่านบทความ และข่าวภาษาอังกฤษเป็นประจำ

12.    Writing 30 ข้อ...
ทักษะนี้ผมเน่ามาก ยากกว่าที่ฝึกทำมาเยอะ แถมยังลนลาน เพราะเวลาจำกัดด้วย ตอนฝึกไม่ได้จับเวลาจริงจัง
ถ้าได้สอบใหม่ต้องฝึกจับเวลา  แถมยังไม่มีเวลาเผื่อฝนกระดาษคำตอบด้วย จากข้อละนาทีเลยโดนลดเวลาลงไปอีก
โหดมาก!

13.    แต่ละทักษะมีช่วงให้ฝนกระดาษคำตอบ ยกเว้นการเขียน...
สองทักษะแรกใช้วิธีติ๊กกระดาษคำตอบก่อนก็ได้ครับยังไม่ต้องฝนทันที ค่อยมานั่งไล่ฝนทีหลัง มีช่วงเบรคระหว่าง
แต่ละทักษะประมาณ 10 นาที ซึ่งกระดาษข้อสอบจะถูกเก็บไป แต่กระดาษคำตอบอยู่ที่เราจะฝนจะลบอะไรก็ทำได้
แต่ทักษะสุดท้ายต้องทำไปฝนไป หรือต้องแบ่งเวลาไว้เผื่อฝนกระดาษคำตอบด้วย

เม่าเนิร์ด

รีวิวคู่มือเตรียมสอบ  (ผมเลือกอ่าน 2 เล่มที่นิยมใช้กัน)

14.    CU-TEP ฉบับรวมข้อสอบของ สนพ. TGRE
      -    เป็นเล่มรวมข้อสอบแบ่งอธิบายเป็นพาร์ตๆ รายละเอียกเยอะดี มีตัวอย่างข้อสอบให้ทำอีก 4 ชุด...
      แต่เล่มนี้สร้างปัญหาให้ผมครับ เพราะรุ่นน้องที่จบจากจุฬาฯ เค้าแนะนำว่าเล่มเดียวเอาอยู่เพ่!
      สรุป...ไม่อยู่ครับ เพราะ “แนวข้อสอบเปลี่ยน” โดยเฉพาะ Listening

      -    Listening ในเล่มนี้มีโจทย์ให้เรามองหาคำตอบจากช้อยส์ได้เลย ซึ่งข้อสอบจริงไม่มีโจทย์ครับ ต้องฟังเอาเอง
      ซึ่งวิธีที่ใช้ในการทำข้อสอบมันต่างกันนะครับ แค่การเห็นโจทย์กับคำตอบพร้อมกันหรือไม่ ต้องลองทำดูครับ
      แล้วจะรู้ว่ามันต่างกันมากๆ เพราะเราจะคาดเดาได้ยากว่าจะถามอะไร หรือมัวแต่มองช้อยส์บางทีสมาธิหลุดอีก

      -    ในเล่มนี้ตัวอย่างข้อสอบ Listening ไม่ลงรายละเอียด ไม่ค่อยถามเรื่องตัวเลข ถามภาพรวม โทนของเรื่อง
      ข้อถูกผิด ความคิดเห็น แต่ในข้อสอบจริง ลงรายละเอียด ถามตัวเลข ความคิดเห็น อารมณ์ของคนพูด และคำตอบ
      ไม่ตรงไปตรงมา ช้อยส์มี paraphrasing ซึ่งศัพท์ต่างจากที่ฟัง ทำให้การจับประเด็น การเก็บรายละเอียด ต่างกันมาก

      -    Reading ก็ต่างกัน ข้อสอบจริงมีให้เติมประโยค หรือวลีด้วย เน้นรายละเอียด ข้อใดถูกข้อใดผิด โทนการเขียน
      ความคิดเห็นของคนเขียน อ่านแบบสกิมแสกนไม่ค่อยได้ผล ต้องค่อนข้างเข้าใจเนื้อหา และบอกรายละเอียดทั้งหมด
      ใช้การวิเคราะห์ และเข้าใจ paraphrasing  มากกว่าตัวอย่างในหนังสือซึ่งถามตรงไปตรงมามากกว่าครับ  

      -    Writing อันนี้ก็ต่างครับ ข้อสอบจริงยากกว่ามาก ผมทำตัวอย่างในเล่มนี้ได้ 60-70% เลยคิดว่าโอเคร้....มั่นใจๆ
      เจอของจริง...หงายเงิบครับ 555 คิดว่าทำวันนี้ได้ไม่ถึง 50% ข้อสอบมีส่วนขยายประโยคเยอะมาก
      แบ่งส่วนประกอบของประโยคค่อนข้างยาก ตัวอย่างในหนังสือเล่มนี้ดูส่วนประกอบของประโยคง่ายกว่ามากครับ  

      -    แต่เล่มนี้มีส่วนดี คือ มีการแจกแจง สัดส่วนข้อสอบ เทคนิคการทำข้อสอบ ตัวอย่างไวยกรณ์ และจุดสำคัญ
      ที่ออกสอบบ่อยๆ ทั้งหมดนี้ ผมถือว่าวิจารณ์ในหมวกของผู้บริโภคที่ซื้อหนังสือมาเตรียมตัวสอบเนอะ เพราะซื้อมาใช้งาน
      แล้วมันไม่ค่อยตรงกับข้อสอบจริง สนพ.อย่าฟ้องผมนะ ติเผื่อก่อครับ... ถ้ามี Edition ใหม่ฝากเปลี่ยนตัวอย่างด้วยนะครับ


15.    Practice Test (All New Edition 2017) รวมข้อสอบของสนพ. CULI

      -    ผมพึ่งแจ้นไปซื้อมาจาก CU BOOK สดๆ ร้อนๆ หลังสอบ เผื่อรอบนี้ไม่ผ่าน ฝึกทำวนไป 555

      -    ถ้าใครอยากเห็นข้อสอบที่ใกล้เคียงกับของจริงในปัจจุบัน ให้ฝึกทำเล่มนี้ครับ มีวางขายสองเล่ม คือ Practice Test I
      กับ Practice Test II

      -    Practice Test I ส่วนแรกมีข้อแนะนำการสอบ และไวยกรณ์ ศัพท์สำคัญในส่วนแรก และมีข้อสอบ 4 ชุดให้ลองทำ
      ใกล้เคียงข้อสอบจริง

      -    Practice Test II คำอธิบายส่วนแรกเป็นพวกการใช้สำนวน อันนี้ผมว่าประโยชน์น้อย ไม่ค่อยเห็นในข้อสอบเท่าไหร่
      เดาว่าคงใส่มา เพราะต้องมีอะไรขายสักหน่อย จะใส่แต่ตัวอย่างข้อสอบมาก็ดูไม่คุ้มละมั้ง 555 แต่ที่ยอดเยี่ยม คือ
      แนวข้อสอบใกล้เคียงของจริงครับ Edition ล่าสุดด้วย (All New Edition 2017 ยังกะรุ่นรถยนต์!)

      สรุปคู่มือ
      ถ้างบจำกัดและอยากรู้แค่แนวข้อสอบ เลือกซื้อ Practice Test II ก็น่าจะพอ แล้วไปหาอ่านไวยกรณ์เพิ่มเติมจากแหล่งอื่น
      แต่จริงๆ แล้ว ทั้ง สนพ. TGRE และ CULI ยังมีเล่มที่แยกย่อยแต่ละทักษะด้วย เล่ม Grammar ของ TGRE ก็ดีครับ
      ตัวอย่างข้อสอบเยอะดี ติดตรงมันง่ายไปนิดนึง ของจริงจะยากกว่าเท่านั้นเอง แต่ของสำนักพิมพ์อื่นก็ยังมีอีกเยอะ
      ใครชอบเล่มไหน สนพ. ก็เลือกดูครับ

เม่าอ่าน

ความรู้สึกส่วนตัว หลังจากสอบ CU-TEP ครั้งแรก เทียบกับการสอบของสำนักอื่น

16.    โดยส่วนตัว ผมว่า CU-TEP ก็มีมาตรฐานดี ผมเทียบกับคะแนนที่คาดว่าจะได้จากที่สอบวันนี้กับสเกล
คะแนน IELTS และ TOEFL-ITP ที่ผมเคยสอบ ก็ถือว่าน่าจะวัดผลออกมาได้มาตรฐานตรงกัน อันนี้ดี...ขออวยนะ 555

17.    คิดว่า CU-TEP กับ TOEFL เหมาะกับคนที่ชอบไวยกรณ์ และมีคลังศัพท์ในหัวเยอะๆ
เพราะโดยส่วนตัว ผมรู้สึกผ่อนคลายกับการสอบ IELTS มากกว่า เพราะผมไม่ค่อยแม่นไวยกรณ์ ในชีวิตจริงทำงานสายวิทย์
ภาษาอังกฤษที่ใช้มักจะกระชับ คำศัพท์ก็เฉพาะทางไม่ผลิกแผลงมาก การสอบเขียน พูด อ่าน ฟังแบบ IELTS ค่อนข้างใกล้เคียง
กับชีวิตประจำวัน เน้นทักษะการสื่อสารที่คล่องแคล่ว เลยรู้สึกไม่เครียด พอมาเจอประโยคส่วนขยายยาวๆ ศัพท์แสงประหลาดๆ
แบบใน CU-TEP ก็เงิบไปเหมือนกัน

แต่รู้สึกว่า Listening และ Reading ใน CU-TEP ค่อนข้างง่ายกว่า เพราะไม่ต้องวิเคราะห์หลายชั้น หรือฟังสำเนียงประหลาดๆ
แบบใน IELTS และ TOEFL ซึ่งบางครั้งโชคร้าย ไปสอบแล้วเจอสำเนียงอินเดียเข้าไป...ก็เงิบเหมือนกันครับ

เขียนยาวหน่อย แต่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์อยู่บ้าง ใครอ่านแล้วได้อะไรเพิ่มเติม กรุณาแผ่เมตตาให้การแชร์ประสบการณ์ของผม
ส่งผลให้ผม ไม่ต้องดั้นด้นมาสอบ CU-TEP เป็นครั้งที่สอง อีกละกันนะครับ

สวัสดี
ปีใหม่ไทย 2560

เม่าเริงร่า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่