สงสัย....ทำไมหลายคนชอบใช้บัตรเติมนํ้ามัน/ซื้อของ

กระทู้คำถาม
ขอบคุณสำหรับทุกๆประสบการณ์ที่แชร์กัน สุดท้ายที่ Comment36 ผมไม่ตามอ่านแล้วนะครับ ชักยาว

===========================================================================
ความเดิมตอนที่แล้ว
===========================================================================

คือเจอบ่อยมาก บัตรเสียเอย รูดไม่ได้เอย แล้วไม่รู้มีปัญหาอะไรพนักงานต้องวิ่งไป-มา 2-3รอบ กว่าจะปริ้นนู้นนี่เสร็จใบเสร็จเป็นกำ แถวอื่นเติมกับเสร็จแล้ว แถมภาระมาลงที่...อีกต้องเปลี่ยนไปต่อแถวใหม่ เติมนํ้ามันจ่าย 300 500 1000 ง่ายจะตายทำไมต้องทำให้คนอื่นเสียเวลา
เลยสงสัยว่าใช้บัตรมันดียังไง?? นอกจากตัวเองได้เงินคืน
ปล.ผมไม่มีสักใบ ไม่รู้มันมีประโยชน์ยังไง
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 4
นี่คือความแตกต่าง หลักการคิด หลักการใช้ชีวิต
ไม่แปลกใจ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 28
ทำไมชอบใช้บัตรเครดิตเวลาซื้อของ?

1.ถ้ามองเหมือนกับธุรกิจ การใช้บัตรเครดิต มันจะเป็นการหน่วงเงินสด ไว้ให้อยู่กับตัวเราได้มากขึ้นกว่าเดิม (เพิ่มสภาพคล่อง)
ถ้าจขกท.ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน
จขกท.ต้องรอ 30 วัน กว่าที่บริษัท (ลูกหนี้) จะจ่ายเงินสดออกมา

แต่ถ้าจขกท.ทำบัตรเครดิต สถาบันการเงินจะมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยให้ 45-55 วัน เมื่อครบกำหนด สถาบันการเงิน (เจ้าหนี้) จะเรียกเก็บเงินสดของเราไป

นั่นแปลว่า จขกท. จะมีเงินสดอยู่กับตัวนานขึ้น 15-25 วัน
สภาพคล่องมากขึ้น
นำไปสร้างประโยชน์ได้เพิ่มมากขึ้น
หรือ ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอะไร ก็คล่องตัวกว่ามาก

(ถ้ามองแบบธุรกิจ
ธุรกิจที่เจ๊ง ๆ กัน เพราะขาดเงินสด
หลาย ๆ เจ้า ที่เจอปัญหาคือ เจ้าหนี้เรียกเก็บหนี้เราเร็ว แต่ลูกหนี้จ่ายเงินคืนเราช้า

การใช้บัตรเครดิต ก็เปรียบเหมือน
การที่เราขอให้เจ้าหนี้เรียกเก็บหนี้เราช้า ๆ และรอให้ลูกหนี้จ่ายเงินคืนเราให้เร็ว)



2.รายจ่ายก้อนใหญ่ ใช้บัตรรูด มันง่ายกว่ามาก
ตัวอย่างเช่น คนในครอบครัวเกิดเจ็บป่วยรุนแรงขึ้นมา หรือ ต้องไปทำฟันที่มีค่าใช้จ่ายสูง ๆ

ถ้าไม่มีบัตรเครดิต
จขกท. จะต้องไปธนาคาร ไปโอนเงินสด แล้วก็ไปถอนออกมา จากนั้น ก็หอบเงินปึกใหญ่ เดินมาจ่ายที่ฝ่ายการเงินของโรงพยาบาล

แต่ถ้าจขกท.มีบัตรเครดิต ถ้าวงเงินพอก็รูดไปเลย ถ้าวงเงินไม่พอ ก็ขอวงเงินชั่วคราวจากบัตรเครดิตไปก่อน
จากนั้น ก็ไปเคลียร์ยอดหนี้อีกที รวดเดียว

ถ้าบริหารจัดการเป็น บัตรเครดิตมันสะดวกกว่ามาก ๆ



3.สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ
จริง ๆ อันนี้ก็เหมือนกับดัก ที่หลอกล่อให้คนใช้จ่ายผ่านบัตรเยอะ ๆ
เพราะทุก ๆ ครั้งที่มีการใช้จ่าย ธนาคารที่ออกบัตรจะได้รับค่าธรรมเนียมไปด้วย (รูดทีนึง ธนาคารที่ออกบัตรได้ค่าธรรมเนียมเยอะสุด, รองมาก็ธนาคารที่นำเครื่องรูดบัตรไปติดตั้ง, ส่วนที่ได้น้อยที่สุดคือพวก Visa, MasterCard (แต่จำนวนลูกค้าเขาเยอะมาก เพราะมันทั้งโลกเลย เลยทำให้ได้เงินเยอะมาก))
มันเลยมีโปรออกมาเต็มไปหมด
เวลาออกโปรมาที คนมักจะไม่ได้ดูจุดประสงค์ว่า เราอยากได้สินค้าอะไร
แต่มักจะมึนไปกับโปรโมชั่นแทน
แทนที่จะใช้แค่ 1 เท่า
แต่เจอโปร เลยจ่ายไป 2 หรือ 3 เท่า

แต่สำหรับคนที่ระวังตัวดี ๆ จะได้สิทธิประโยชน์ไป
(เช่น ต้องซื้ออยู่แล้ว และ มันมีโปรโมชั่นพอดี
หรือมี cash back ลองนึกดูว่า ถ้าทำฟันไป เสียเงินไป 100,000 บาท ได้เงินคืน 1% = 1,000 บาท แถมมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยอีก 45 วันอีก)
แต่คนที่ ไม่ได้ต้องการจะซื้อของ แต่เจอโปรโมชั่นสร้าง demand เทียมขึ้นมา ก็อาจจะเสียเงินโดยไม่มีเหตุอันสมควร



4.ในร้านค้า ใช้บัตรแล้ว ลูกจ้าง/คนกลาง โกงยากกว่า
เพราะบัตรเครดิต มันตัดตัวเลขในระบบ
ไม่ต้องมายุ่งกับการดึงเงินสดเข้า ๆ ออก ๆ จากลิ้นชัก (ซึ่งลูกจ้างอาจทำการยักยอกไปได้ง่าย เราจะสังเกตได้ว่า ร้านค้าหลาย ๆ ร้าน นับเงินสดกันเป็นรายวัน เพื่อดูว่า ยอดที่ขายออกไป กับ เงินสดที่เข้ามา มันตรงกันไหม)
ไม่งั้น เดี๋ยวลูกจ้างมาโบ้ยผู้ซื้อ ว่า ยังไม่จ่าย บลา ๆๆๆ

หรือ อีกตัวอย่างที่ดัง ๆ ก็เช่น การจ่ายค่าประกันด้วยเงินสดผ่านตัวแทน
เคยอ่านในหนังสือพิมพ์
คือโดยปกติ ลูกค้า ได้ทำการชำระเบี้ยประกัน โดยนำเงินสดไปให้ตัวแทน แล้วตัวแทนก็นำเงินเข้าบัญชีตัวแทน แล้วสั่งให้บริษัทตัดเงินสด
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ตัวแทนดันไปติดพนันบอลหรืออะไรซักอย่างนี่แหละ พอดีถึงยอดชำระเบี้ยประกันของลูกค้าพอดี ตัวแทนเลยเอาเงินสดของลูกค้าไปหมุนก่อน แล้วไม่ได้ทำการชำระเบี้ยประกันให้กับลูกค้า จนลูกค้าขาดประกัน
ต่อมาเรื่องเลยแดงขึ้นมา เลยดังเลย

แต่ถ้าลูกค้า ใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าเบี้ยประกัน
ตัวแทนตรงกลางจะมาใช้วิธีการเช่นนี้ไม่ได้
เพราะบริษัทจะทำการตัดตรงไปที่บัตรเครดิตเลย



5.ร้านจะชาร์จ ค่ารูดบัตร เข้าไปในราคาสินค้าอยู่แล้ว
เวลาเราซื้อสินค้าด้วยบัตรเครดิต
เมื่อร้าน นำบัตรเครดิตเราไปรูด ร้านจะต้องเสีย % จำนวนหนึ่งของราคาสินค้าที่ลูกค้าซื้อ ให้กับธนาคาร
ร้านเกือบทั้งหมด จึงมักจะบวกราคาค่ารูดเข้าไปในสินค้าอยู่แล้ว เพื่อความง่ายในการบริหารจัดการ
การจ่ายเงินสด แปลว่า เราจ่ายแพงกว่าคนที่รูดบัตรเครดิต แถมคนที่รูดบัตรยังได้ cash back + ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยอีก 45-55 วันด้วย
-----








ปัญหาที่อาจจะทำให้รู้สึกว่า การใช้บัตรเครดิตนั้นไม่สะดวกในประเทศไทย
1.บัตรเครดิต ที่ต่างประเทศ
-ถ้าเป็นรายการใช้จ่ายที่มีมูลค่าไม่สูงมากนัก (เช่น ร้านของชำ, ขนส่งสาธารณะบางประเภท) เขามีการใช้บัตรแบบแตะ อย่าง Visa payWave, MasterCard Contactless (โทรไปขอตั้งเพดานกับทางธนาคารได้ ว่า คำว่ารายการใช้จ่ายมูลค่าไม่สูงมากนัก หมายถึง ไม่เกินจำนวนเงินเท่าไร) ซึ่งมันจ่ายเร็วกว่าเงินสดมาก ไม่ต้องมานั่งนับเศษเหรียญอีกด้วย

นอกจากนี้ เวลาซื้อสินค้า เราก็ได้ตังค์ทอนเต็มจำนวนอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องแวะซื้อน้ำขวดทุก ๆ วัน โดยการจ่ายด้วยเศษเหรียญ สมมติน้ำขวดราคา 10.33 เราก็ต้องจ่ายด้วยเหรียญ 10.50 ทางร้านได้ส่วนเกินไปสบาย ๆ 0.17 ถ้าจ่ายแบบนี้ไป 365 วัน เราเสียฟรี ๆ ไป 62.05 แล้ว
แต่ถ้าเราจ่ายด้วยบัตรเครดิตแบบแตะ เราก็ไม่ต้องเสียเปรียบในเรื่องส่วนต่างเงินทอน

(แถมกระบวนการจ่ายด้วยการแตะบัตรนั้น ปลอดภัยมาก
เพราะหยิบบัตร แตะ จบ "ไม่ต้องไปส่งบัตรไปยังมือพนักงาน" <- จุดที่อันตรายอยู่ตรงนี้)

-ส่วนรายการรายจ่ายที่มีมูลค่าสูง ก็เป็นบัตรระบบ chip & pin คือ คนที่จะใช้จ่ายผ่านบัตรได้ ต้องมีตัวบัตร (What you have?) และ ต้องรู้รหัส pin ของบัตร (What you know?) ซึ่งถือว่าปลอดภัยพอสมควร (ที่จริงถ้าผ่านไปอีกไม่กี่ปี ตัวระบบจะยิ่งปลอดภัยยิ่งกว่าในปัจจุบันนี้อีก), เร็ว, และสะดวกกว่าเป็นอย่างมาก



แต่ ในประเทศไทย
-ระบบบัตรแบบแตะอย่าง Visa payWave, MasterCard Contactless พนักงานส่วนใหญ่ใช้งานไม่เป็น
เวลาเราไปใช้ ก็มักจะบอกว่า เครื่องเสีย หรือ ไม่มี
ระบบนี้ จึงเป็นหมันไปเรียบร้อย

-ส่วนรายการรายจ่ายที่มีมูลค่าสูง เมืองไทยยังใช้ระบบ chip & signature อยู่ คือ คนที่จะใช้จ่ายผ่านบัตร ตามมาตรฐานต้องมีตัวบัตร ต้องมีลายเซ็นเหมือนกับด้านหลังของบัตร และร้านควรเรียกดูบัตรประชาชนด้วย ถ้าไม่แน่ใจว่าใช่เจ้าของบัตรเครดิตจริงหรือเปล่า
(เท่าที่มอง ตัวระบบเหมือนจะเป็นการช่วย ๆ กันดู ทั้งเจ้าของบัตร, ทั้งเจ้าของร้านที่รับบัตร, ทั้งทางธนาคารที่ออกบัตร, ทั้งโครงข่ายระบบชำระเงิน มีการป้องกันอยู่มากพอสมควร (ระบบด้านหลัง)
ใครเป็นจุดอ่อนของระบบ ที่ไม่ทำตามนโยบายที่มีการประกาศออกมา ก็ต้องรับผิดชอบในกรณีที่มีรายการฉ้อโกงเกิดขึ้น)
แต่ในทางปฏิบัติ เวลารูดจริง หาได้ยากมากที่จะมีพนักงานที่มาดูลายเซ็น หรือเรียกดูบัตรประชาชนของเจ้าของบัตร (แถมเรียกดู อาจะโดนลูกค้าโวยวายได้อีก)
ไม่ร้านค้า ก็ผู้บริโภคที่จะต้องเจอปัญหา
(สำหรับผู้บริโภคที่บัตรหาย ให้รีบโทรแจ้งธนาคารผู้ออกบัตร + แจ้งความ +/- แจ้งธนาคารแห่งประเทศไทย (แสดงเจตนาว่า เราได้ทำบัตรหาย เผื่อต้องขึ้นศาลกัน))


ในประเทศไทย อาจจะต้องรอจนกว่า ทาง Visa, MasterCard จะปรับนโยบาย ที่จะไม่คุ้มครองร้านค้าที่ไม่ทำการตรวจสอบลูกค้า (เขาเริ่มกระชับพื้นที่เข้ามาเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ) แล้วบีบให้ไปใช้ระบบ chip & pin แทน ปัญหาน่าจะน้อยลง


2.การบริหารจัดการหนี้สินไม่เป็น กล่าวคือ
เวลาใช้บัตรเครดิต มันต้องทำบัญชีคู่ประกอบไปด้วย
(บัญชีคู่ คือ บัญชีที่มีการจัดหมวด สินทรัพย์ หนี้สิน ทุน รายรับ รายจ่าย)
การใช้จ่ายต้องนับรายจ่าย และหนี้สินสะสมเข้าไป พอปลายเดือนก็ไปเคลียร์หนี้สินทีเดียว
ต่อให้มีหลาย ๆ บัตร มันก็สามารถติดตามจำนวน กำไร/ขาดทุน คร่าว ๆ ได้อยู่ ทำให้จมูกไว ไม่ใช้จ่ายเกินตัว

แต่คนส่วนใหญ่ ที่ทำรายรับรายจ่าย ก็มักจะเป็นแบบบัญชีเดี่ยว ซึ่งมันจะสร้างความสับสนได้ง่าย เวลาบริหารจัดการบัตรเครดิตหลาย ๆ ใบ
เพราะ ถ้ามีบัตรเครดิตหลาย ๆ ใบ การใช้บัญชีเดี่ยว อาจจะทำให้เจ้าของบัตรเมาตัวเลขได้
และตามไม่ถูกว่า ไอ้รายจ่ายที่ใช้ ๆ ไปตอนนี้ มันมากกว่า รายได้หรือยัง

ถ้าหนักหน่อย ก็คือคนที่ไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่าย แต่ยังดูยอดหนี้เรียกเก็บสุทธิตอนปลายเดือนอยู่บ้าง แล้วนำมันมาวิเคราะห์
การทำเช่นนี้อาจจะเจอปัญหา bill shock ได้ (ใช้เพลิน) แต่อย่างน้อย ก็ยังไหวตัวทันบ้าง แม้จะช้าไปหน่อยก็ตาม

ส่วนที่หนักที่สุดคือ คนที่ไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่ายเลย แถมไม่ตรวจสอบรายการ ในใบแจ้งหนี้อีกด้วย มุ่งใช้อย่างเดียว
การใช้แบบนี้ บัตรเครดิตจะทำให้รูดเพลินมาก จนไม่มีเงินสดที่จะชำระหนี้ ต้องทำการชำระขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ ซึ่งนี่จะเป็นหนทางที่จะนำพาไปสู่หายนะทางการเงินได้อย่างรวดเร็วมาก

(ปล. เราจะไม่โทษคนที่ชำระขั้นต่ำ ว่า เขาใช้จ่ายเกินตัว
เพราะ ในบางครั้ง คนเรา ไม่มีทางเลือก เกิดมาทางบ้านยากจน มีภาระ และเขาต้องหาเลี้ยงดูครอบครัว แบกทั้งครอบครัวไว้ที่ตัวเขาคนเดียว

สิ่งที่เราเขียน เราสื่อถึง คนที่ไม่มีภาระ แต่ใช้บัตรเกินตัวด้วยตัวของเขาเอง (ไม่ว่าจะมาจากความฟุ้งเฟ้อ การรักความโก้หรู ฯลฯ) จนนำพาไปสู่หายนะทางการเงิน จนต้องทำการชำระหนี้ขั้นต่ำ)
-----







สรุป
ที่เขียนมาทั้งหมด ที่อยากจะสื่อคือ
1.บัตรเครดิต เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ทรงพลัง
แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นเหมือนกับดักยั่วยวนให้เราใช้จ่ายเกินตัวเสียเหลือเกิน

มันอยู่ที่เจ้าของบัตรแล้วว่า สามารถบริหารจัดการการใช้บัตรได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
ถ้าใช้งานได้ถูกต้อง และถูกวัตถุประสงค์ของสถาบันการเงิน ที่ตั้งสมมติฐานตอนออกบัตรออกมา มันจะสร้างประโยชน์
ถ้าใช้งานไม่ถูกต้อง และใช้ผิดวัตถุประสงค์ของสถาบันการเงิน ที่ตั้งสมมติฐานตอนออกบัตรออกมา (เขาให้ใช้จ่ายในการบริโภค แต่ดันนำไปรูดซื้อสินค้าที่จะนำไปขายต่อ เข้าไปในธุรกิจของตน ซึ่งสินค้าเหล่านี้ อาจจะจมทุนนาน) มันอาจจะสร้างโทษเสียมากกว่า (ดอกเบี้ยโหดมาก ถ้าเทียบกับดอกเบี้ยเงินกู้ชนิดอื่น ๆ เพราะมันเป็นการปล่อยกู้แบบไม่มีหลักประกัน ถ้าจะกู้เพื่อมาทำธุรกิจ ควรไปกู้แบบอื่น)


2.ความไม่สะดวก ที่มีอยู่ในปัจจุบัน (เช่น ช้า และ เสียเวลาทั้งหลาย) มันมาจาก ระบบ ที่ยังมาไม่ครบ (แต่ประเทศอื่น ที่เขามาครบแล้ว มันกลายเป็นสิ่งที่ สะดวกมาก)
หรือกรณีที่เน็ตไม่ดี ปริ้นไม่ออก
ถ้าจะให้ถูกต้อง เราก็ควรพูดว่า ระบบเน็ตในไทยไม่ดี, เครื่องอ่านบัตรในไทยไม่ดี, พนักงานใช้ไม่เป็น
จึงทำให้ ชิปในเศษพลาสติก ติดต่อกับยานแม่ไม่ได้ ก็เพราะ สื่อกลางตรงกลางมีปัญหา


3.Trend ของโลก ปัจจุบัน มันกำลังหันไปทาง cashless society
ที่จริง เงินที่จับต้องได้ มันถือว่าเป็นเสี้ยวเดียวของปริมาณเงินทั้งหมดที่หมุนเวียนติ้ว ๆ อยู่ในประเทศ (เงินส่วนใหญ่ของประเทศมันอยู่ในรูปของตัวเลข ที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ ที่เดบิต เครดิต ข้ามไปข้ามมากัน)
และตอนนี้ trend เงินที่เป็นรูปของตัวเลขในระบบคอมพิวเตอร์ในลักษณะนี้ กำลังค่อย ๆ เข้ามาสู่มือของผู้บริโภคแล้ว
ในระยะยาว ยังไงก็หนีไม่พ้น

เหมือนกับที่คนในยุคโบราณที่ใช้เหรียญเงิน เหรียญทองในการแลกสินค้ากัน คงตกใจ ที่เห็นยุคของพวกเรา ใช้เศษกระดาษในการแลกสินค้ากัน
คนในยุคของเรา ก็คงตกใจ ที่เห็นคนในยุคอนาคต ใช้เศษพลาสติก แตะไปแตะมา ในการแลกสินค้ากัน


4.Mind set ที่ว่า หนี้เป็นสิ่งที่พึงน่ารังเกียจ เราก็ไม่รู้ว่า มันเริ่มต้นมาจากไหน แต่เราฟังแล้ว เราไม่เข้าใจ
เราเข้าใจแค่ว่า
4.1.ถ้าจะทำกิจกรรมใด ๆ ขึ้นมา ก็ต้องมีแหล่งเงินทุน
การหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำที่สุด ก็ย่อมดีกว่า การไม่มีแหล่งเงินทุน
4.2.หนี้ มันก็เหมือนโทรโข่ง
ถ้าก่อหนี้ แล้วสร้างประโยชน์ มันจะขยายความรวยให้เราเร็วมากขึ้นกว่าเดิม
แต่ถ้าก่อหนี้ แล้วดันไม่สร้างประโยชน์ หรือ เจ๊ง มันจะทำให้เราเจ๊งรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม

ดังนั้น การก่อหนี้ในจุดประสงค์ที่เหมาะสม ในสัดส่วนที่เหมาะสม และไม่ก่อหนี้เกินตัว ก็ถือว่ามีประโยชน์เช่นกัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่