มหาตมะ คานธี อหิงสา มหาบุรุษ


มหาตมะ คานธี อหิงสา มหาบุรุษ : การแก้ปัญหาจะต้องไม่ใช้การทำสงคราม หรือความรุนแรงทุกชนิด

คานธี (โมฮันดาส เค. คานธี) เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1869 ในตระกูลแพศย์ เพียงวัย 13 ปีเขาก็เข้าพิธีวิวาห์ตามประเพณีท้องถิ่นกับสาวน้อยวัยมากกว่าเขา 6 เดือน นามว่า "กัสตรูพา" เมื่ออายุ 18 ผู้ใหญ่ทางบ้านก็ส่งคานธีไปร่ำเรียนวิชากฎหมายที่ประเทศ
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


"การแก้ปัญหาจะต้องไม่ใช้การทำสงคราม หรือความรุนแรงทุกชนิด เพราะนั่นนอกจากคือการทำลายคุณความดีความงามที่มีอยู่ในมนุษย์ มันยังเป็นการปลุกด้านมืดของมนุษย์ ที่จะนำมาซึ่งการจองล้างจองผลาญกันไม่สิ้นสุด"


"รังเกียจความเลว แต่ไม่เกลียดคนเลว เพราะคนเลวก็มีโอกาสกลับใจให้กลายเป็นคนดีได้เสมอ"

คานธี (โมฮันดาส เค. คานธี) เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1869 ในตระกูลแพศย์ ที่เมืองโพรบันดาร์ รัฐคุชราต ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศอินเดีย  บิดาเป็นนักการเมือง มารดาเป็นหญิงผู้เคร่งศาสนา

เพียงวัย 13 ปีเขาก็เข้าพิธีวิวาห์ตามประเพณีท้องถิ่นกับสาวน้อยวัยมากกว่าเขา 6 เดือน นามว่า "กัสตรูพา" เมื่ออายุ 18 ผู้ใหญ่ทางบ้านก็ส่งคานธีไปร่ำเรียนวิชากฎหมายที่ประเทศอังกฤษ
การใช้ชีวิตในเมืองนอกมิใช่เรื่องง่ายสำหรับเขา ทั้งการกินการอยู่ วัฒนธรรม รวมทั้งปัญหาการเหยียดผิว แต่ด้วยความอดทนคานธีจึงเรียนจบเนติบัณฑิตดังตั้งใจ เขาเริ่มอาชีพการเป็นทนายความอย่างไม่ประสบความสำเร็จนัก และแล้วในปี ค.ศ.1893 จึงตัดสินใจเดินทางไปประเทศแอฟริกาใต้ เพื่อว่าความให้ลูกค้ารายหนึ่ง

และแล้วก็มาถึงวันเริ่มแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ ตั้งแต่ตัวเขาเอง สังคม ประเทศ กระทั่งโลกใบนี้ !

คือ วันที่คานธีโดยสารรถไฟในชั้น First Class เขาต้องตกใจที่จู่ๆผู้โดยสารคนอื่นๆในชั้น First Class นั้น (ซึ่งล้วนเป็นพวกผิวขาว) กลับรวมหัวกันขับไล่ให้คานธีไปนั่งในชั้นราคาถูก เพียงเพราะเห็นว่าสีผิวไม่เหมือนกับพวกเขา คานธีเห็นว่ามันเป็นสิ่งไร้สาระอย่างยิ่ง เขาจึงไม่ยอมทำตามคำข่มขู่นั้น ผลก็คือถูกเจ้าหน้าที่ของรถไฟโยนคานธีออกไปนอกรถ !  แถมตะโกนไล่หลังว่า "รถไฟชั้นหรูมีไว้บริการคนผิวขาวเท่านั้น"
หลังจากวันนั้น คานธียิ่งเศร้าหนักกว่าเดิม เมื่อพบว่าคนอินเดียและคนผิวสีทั้งหลายในแอฟริกาใต้ ล้วนถูกเหยียดให้กลายเป็นคนต่ำต้อยในทุกกรณี เขาจึงตัดสินใจเป็นอีกหนึ่งของผู้เรียกร้องรณรงค์ เรื่องสิทธิมนุษยชนในแอฟริกาใต้ เขาร่วมสู้อยู่ถึง 3 ปี จนรู้ว่าการต่อสู้ครั้งนี้คงยืดเยื้ออย่างแน่นอน จึงตัดสินใจเดินทางกลับอินเดียเพื่อพาครอบครัวมาอยู่ด้วยกันที่แอฟริกาใต้

หลังจากนั้นการร่วมสู้นี้ดำเนินไปอีกราว 6 ปี ( ค.ศ.1902) คานธีก็พบว่าการรณรงค์ที่ผ่านมากลับได้ผลน้อยมาก เขาจึงใช้วิธี "สัตยาเคราะห์" (Satyagraha) นั่นคือ "ดื้อเงียบ" โดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่ใช้การไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ปฏิบัติตามกฎใดๆที่เห็นว่าเป็นความกดขี่หรือไม่เป็นธรรม

คานธีอยู่ร่วมเรียกร้องความยุติธรรมร่วมกับชาวอินเดียที่แอฟริกาใต้ถึงปี ค.ศ.1915 เขาก็พาครอบครัวกลับอินเดียซึ่งกำลังอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ เขาได้รับการต้อนรับของพี่น้องร่วมชาติอย่างล้นหลามทันทีที่กลับยังบ้านเกิด  มหากวีเอก "รพินทรนารถ ฐากูร" ได้ให้สมญานามคานธีว่าเป็น "มหาตมะ คานธี" ซึ่งมีความหมายว่า ผู้มีจิตใจอันสูงส่ง จากนั้นคานธีได้ออกเดินสายทั่วประเทศอินเดีย เพื่อเรียกร้องให้พี่น้องชาวอินเดียได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิเสรีภาพ
แต่แล้วในปี ค.ศ.1919 อังกฤษใช้กฎหมาย Rowlan อันมีเนื้อหากดขี่ชาวอินเดียอย่างชัดเจน วันที่ 10 มีนาคมในปีนั้นเอง คานธีได้ประกาศขอความร่วมมือให้ชาวอินเดียประท้วงด้วยการหยุดงาน ซึ่งได้รับความร่วมมือร่วมใจอย่างดียิ่ง จึงเกิดการหยุดงานทั่วประเทศ

ผู้ปกครองอินเดียซึ่งเป็นชาวอังกฤษในขณะนั้นได้สั่งจับกุมคานธีเข้าคุมขัง นั่นกลายเป็นชนวนให้ประชาชนทั่วประเทศลุกฮือและก่อการจลาจลอย่างขนานใหญ่ ชาวอินเดียมากมายยอมให้ตำรวจใส่กุญแจมืออย่างอาจหาญ ในขณะที่ประชาชนถูกทุบตีกระทั่งมีคนเจ็บคนตายไม่เว้นวัน แต่คลื่นมหาชนกลับถาโถมเข้ามารวมตัวกันมิได้หยุด ชาวอินเดียถูกคุมขังถึงกว่า 17,000 คนกระทั่งผู้นำประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติต่างจับจ้องมาที่อินเดียอย่างไม่วางตา
ในที่สุดฝ่ายปกครองอังกฤษยินยอมปล่อยตัวคานธีออกจากเรือนจำ จากเหตุการณ์ที่มีพี่น้องร่วมชาติตายและเจ็บจากการจลาจล คานธียิ่งเคร่งครัดกับหลักการอหิงสา(ไม่ใช้ความรุนแรง)ในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ รวมทั้งการหยุดยั้งความขัดแย้งของชาวอินเดียมุสลิมและอินเดียฮินดู

และแล้ว...วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1947 อินเดียก็เป็นไทจากจักรวรรดิอังกฤษโดยสมบูรณ์ ในขณะเดียวกัน อินเดีย ก็แตกเป็น 2 ประเทศ คือชาวฮินดูส่วนใหญ่คงอยู่ที่ประเทศอินเดีย ส่วนชาวมุสลิมจำนวนมากไปอยู่ปากีสถาน

สิ่งนี้สร้างความปวดร้าวให้คานธีเป็นอย่างยิ่ง ทั้งที่เพิ่งเบิกบานใจกับการคายอำนาจของอังกฤษได้ไม่นาน ดังนั้นเมื่ออินเดียและปากีสถานจัดเฉลิมฉลอง อิสรภาพ คานธีจึงไม่เข้าร่วมงานของทั้งสองฝ่าย แต่เลือกเดินทางไปยังกัลกัตตา ในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1948 เพื่อระงับศึกระหว่างมุสลิมและฮินดู  เมื่อเจรจาไม่ได้ผล คานธีจึงประกาศอดอาหารอีก นั่นจึงทำให้ทั้งสองฝ่ายเลิกรบกันทันที และ วันที่18 มกราคม ค.ศ. 1948  องค์กรของทั้งคู่ได้ให้สัญญาว่าจะไม่มีการทำลายกันเช่นนี้อีก

13 มกราคม ค.ศ. 1948 คานธีต้องการไปปากีสถาน เพื่อสมานฉันท์กับชาวมุสลิม ทั้งๆที่คานธีเป็นฮินดู สันนิบาตมุสลิมจึงคัดค้านการเข้าปากีสถานของคานธี เพราะเกรงจะเกิดอันตราย คานธีจึงประกาศอดอาหารอีกครั้ง เพื่อสมานฉันท์ระหว่างมุสลิมกับฮินดู

18 มกราคม ค.ศ. 1948 องค์กรประชาชนในนิวเดลฮีให้คำมั่นว่า จะพิทักษ์รักษาชีวิต ทรัพย์สิน และศาสนาของชาวมุสลิมอย่างเต็มที่ คานธีจึงกลับมากินอาหารอีกครั้ง

ยามเย็นของวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1948 ใน ขณะที่คานธี กำลังสวดมนต์ไหว้พระกลางลาน จู่ๆนายนาถูราม โคทเส ชาวฮินดูต่อต้านการสมานฉันท์ของฮินดูกับมุสลิม ก็ชักปืนยิงใส่คานธี 3 นัด เข้าที่ท้องและหน้าอก จนคานธีล้มลง หายใจรวยรินพร้อมพนมมือด้วยความสงบและกล่าวคำว่า "ราม" (พระผู้เป็นเจ้าในภาษาอินเดีย) และแล้วคานธีก็ถึงแก่อนิจกรรมในวัย 78 ปี
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


เส้นทางชีวิต

ค.ศ. 1869
เกิด ที่เมืองโพรบันดาร์ รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย

ค.ศ. 1882
เข้าพิธีสมรสกับเด็กสาวอายุเท่ากันที่ชื่อ กัสตรูพา

ค.ศ. 1887
ไปเรียนวิชากฎหมายที่ประเทศอังกฤษ

ค.ศ. 1893
เดินทางไปประเทศแอฟริกาใต้ เพื่อว่าความให้ลูกค้ารายหนึ่ง

ค.ศ. 1902
ใช้วิธี "สัตยาเคราะห์"ร้องไห้Satyagraha) เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในแอฟริกาใต้

ค.ศ. 1915
พาครอบครัวกลับอินเดียซึ่งกำลังอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ

ค.ศ. 1919
อังกฤษใช้กฎหมาย Rowlan อันมีเนื้อหากดขี่ชาวอินเดีย คานธีนำขบวนชาวอินเดียประท้วงด้วยการหยุดงานทั่วประเทศ ผู้ปกครองชาวอังกฤษในขณะนั้นสั่งจับกุมคานธีเข้าคุมขัง นั่นกลายเป็นชนวนให้ประชาชนทั่วประเทศลุกฮือและก่อการจลาจลอย่างขนานใหญ่

ค.ศ. 1947
อินเดียก็เป็นไทจากจักรวรรดิอังกฤษโดยสมบูรณ์

ค.ศ. 1948
ถูกลอบยิงเสียชีวิตในวัย 78 ปี ขณะที่กำลังสวดมนต์ไหว้พระกลางลาน

วาทะ

"เผื่อมีคนเก็บรองเท้าข้างที่เราทำหล่น เขาจะได้มีรองเท้าอีกข้างเอาไว้ใช้ครบทั้งสองข้าง"

วันหนึ่งคานธีทำรองเท้าหล่นในขณะที่รถไฟขบวนที่เขาขึ้นกำลังออก จึงเก็บรองเท้าข้างที่หล่นไม่ทัน เขาจึงถอดรองเท้าข้างที่เหลือแล้วโยนตามไปนอกรถ และมีผู้ถามด้วยความสงสัยในการกระทำดังกล่าว

"หากมีการนองเลือด ให้มันเป็นเลือดของฉันเถิด เพื่อผู้คนจะได้มีชีวิตอย่างมีอิสรภาพ ฉันขอยอมตายด้วยน้ำมือพี่น้องของฉันเอง"

คานธีเดินทางไปยังจุดที่ชาวมุสลิมและชาวฮินดูขัดแย้งกันสูงสุด เพื่อประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนที่จะให้ทั้งสองฝ่ายรักกันฉันท์พี่น้องร่วมชาติ


อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.newheartawaken.com/guru/22
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่