“เพราะคำว่าแก่นแท้ของสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไม่มีจริง สิ่งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ตายไปแล้ว”

อะไรคือแก่นแท้ ?

           ศาสนา ? วัฒนธรรมแบบไทยๆ ? ตัวเรา ? เมื่อพูดถึงคำว่าแก่นแท้เรามักจะคิดไปถึงคำว่า “ดังเดิม” แล้วอะไรคือความ ดังเดิม ? ในบทความนี้จะถกเถียงเกี่ยวกับคำว่าแก่นแท้ ที่คนเรามักจะโหยหาความเป็นแก่นแท้ของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ศาสนา,วัฒนธรรม,ตัวเรา แม้แต่คำว่า “ตัวเรา” ที่มักจะมีการอ้างว่า ตัวเรายังเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลงไป

           ประเด็นแรกขอกล่าวถึงคือเรื่อง “ศาสนา” เพราะในสังคมในไทยในยุคปัจจุบันผู้คนส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ มักมีคำกล่าวที่ที่ได้ยินหนาหู “ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ” จนกลายมาเป็นวาทกรรมที่รองรับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และเป็นวาทกรรมที่มีความแข็งแรงมากในสังคมไทยเลยทีเดียว ในความหมายประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ผู้คนมักจะกล่าวอ้างแล้วอะไรคือพุทธแท้ อะไรคือพุทธเทียม พอมีพุทธแท้ทำให้เกิดคู่ตรงข้ามคือความว่าพุทธเทียม โดยผู้คนไม่ตั้งคำถามว่าจริงๆแล้วศาสนามีความจริงแท้แค่ไหน แล้วแก่นแท้ของศาสนามีจริงหรือไม่ ?
ยกตัวอย่างบางบ้านนับถือพุทธ แต่ก็มีการตั้งศาลพระภูมิ ทั้งๆที่ศาสนาพุทธไม่เห็นมีข้อไหนที่บอกว่าให้ตั้งศาลพระภูมิในบ้าน พอยกตัวอย่างลักษณะนี้จะเห็นถึงความเชื่อทางศาสนาที่ไม่เป็นระบบปิด ศาสนามีพลวัตรมีการปรับตัวปรับเปลี่ยนไปเสมอ อยู่ที่ว่าใครจะเป็นคนตีความ คนตีความมีอำนาจแค่ไหน ถ้าจะหาความเป็นแก่นแท้ของศาสนาไม่รู้ว่าจะต้องค้นประวิติศาสนาไปไกลเท่าไหร่ หรือจริงๆ อาจจะไม่เจอแก่นแท้ของศาสนาเลยก็เป็นได้ เพราะคำว่าศาสนาอาจไม่มี “แก่นแท้”

           วาทกรรมที่ว่า “ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ” มีภาคปฏิบัติทางวาทกรรมอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการที่สังคมไทยให้ความสำคัญกับศาสนาพุทธมากกว่าศาสนาอื่นในสังคม เช่น ในปฏิทินมีแต่วันสำคัญของศาสนาพุทธ หรือ สื่อทางที่มีการตอกย้ำความสำคัญของศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็นรายการของศาสนาพุทธที่มีพื้นที่อยู่ในสื่อต่างๆ และที่สำคัญคือการผลิตซ้ำของผู้คนในสังคมไทย ว่าศาสนาพุทธอยู่คู่คนไทยโดยไม่คำนึงว่าจริงๆแล้วประเทศไทยไม่มีศาสนาเดียวมาตั้งแต่เริ่ม สิ่งเหล่านี้เป็นภาคปฏิบัติทางวาทกรรมที่ทำให้วาทกรรมดังกล่าวฝังลากลึกในสังคมไทย และทำให้มีการลดทอนความสำคัญของศาสนาอื่นๆ ยากที่จะวิพากษ์ได้ง่ายๆ แล้วอะไรคือพุทธแท้หรือพุทธเทียม ?

           ประเด็นที่สองขอกล่าวถึง “วัฒนธรรม” (Culture) ในประเด็นที่สองจะเป็นการตั้งคำถามถึงคำว่า “วัฒนธรรมไทย” อุดมคติของคำว่าวัฒนธรรมไทยเป็นแบบไหน? คงหนีไม่พ้นกับภาพที่ว่า วัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งที่สวยงาม นึกถึงการรนอบน้อมถ่อมตน รำไทย กินอาหารไทย ( ตัวอย่าง “ฝอยทอง” มาจากประเทศโปรตุเกส แต่สุดท้ายกลายเป็นขนมไทย) ในที่นี้ขอพูดถึงวัฒนธรรมในแบบภาพรวมที่ผู้คนในสังคมพูดถึงกันมากว่าสิ่งนี้คือวัฒนธรรมไทย เช่น คนไทยต้องพูดจาสุภาพนอบน้อมถ่อมตน

           “คนไทยต้องพูดจาสุภาพนอบน้อมถ่อมตน” คำๆนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไร ถ้าลองตั้งคำถามกับคำนี้ สมมติคนในภาคใต้หรือคนภาคอีสารมีวัฒนธรรมการพูดโหวกเหวกโวยวาย แล้วแบบนี้จะเรียกคนในภาคใต้กับคนในภาคอีสารว่าเป็นคนไทยหรือไม่ ? ประเด็นนี้ยังไม่รวมถึงความหลากหลายทางชาติพันธ์ที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากวัฒนธรรมกระแสหลักอย่างวัฒนธรรมไทย

           ถ้าเราคิดในแง่นี้คำว่า “คนไทยต้องพูดจาสุภาพนอบน้อมถ่อมตน” จะเป็นคำที่สร้างความเป็นอื่นในกับบุคคลในสังคมอื่นได้ การสร้างความเป็นอื่นมันน่ากลัว หมายความว่าคนที่ตีวัฒนธรรมของตนขึ้นเป็นหลักในสังคม จะเห็นว่าคนที่ไม่มีวัฒนธรรมเหมือนตนเป็นคนอื่น นำมาสู่การเลือกปฏิบัติกับคนเหล่านี้เป็นคนอื่นมีการกีดกันโอกาสต่างๆ เปรียบเทียบเหมือนวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” ( “โง่ จน เจ็บ” หนังสือประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน หน้า 65-94 เกี่ยวกับเรื่อง วัฒนธรรมการเลือกตั้งของผู้เลือกตั้งชนบท ) ซึ่งวาทกรรมนี้สร้างความเป็นอื่นให้กับผู้คนบางกลุ่มในชนบท

            แล้วอะไรคือแก่นแท้ ? ของคำว่า “วัฒนธรรมไทย” ในเมื่อในรัฐไทยมีการตีเส้นแบ่งเขตแดนไว้อย่างชัดเจน ภายใต้เส้นในแผนที่ประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายมีการพลวัตอยู่ตลอดเวลาและที่สำคัญที่สุดคือการไม่ยอมรับว่าภายในเส้นแบ่งในแผนที่ประเทศไทย มีวัฒนธรรมที่หลากหลายขอละแต่ละพื้นที่และวัฒนธรรมเป็นสิ่งไม่หยุดนิ่ง การที่มีการตีวัฒนธรรมหลักขึ้นมาในเรื่องของวัฒนธรรมไทย “วัฒนธรรมไทย” อาจสร้าง “ความเป็นอื่น” ให้กับผู้คนที่แตกต่างซึ่งเหมือนเป็นการไม่ยอมรับความหลากหลาย

           ประเด็นสุดท้ายเป็นหน่วยย่อยที่สุดคือคำว่า ตัวเรา
           “แม้แต่คำว่า “ตัวเรา” ที่มักจะมีการอ้างว่า ตัวเรายังเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลงไป”
           ในทางสังคมวิทยา มีแนวคิดมากมายที่นำมาเข้าใจในพฤติกรรมของมนุษย์ ขอย้อนกลับไปถึงตัวพ่อของนักสังคมวิทยาอย่าง
เอมิล เดอร์ไคม์ (Emile Durkheim) เชื่อว่ามนุษย์ถูกกำหนดด้วย โครงสร้างและพลัง โครงสร้าง คือกฎระเบียบต่างๆ เช่นกฎหมาย พลังคือ ศาสนาและวัฒนธรรม เป็นต้น เดอร์ไคม์เชื่อว่ามนุษย์ถูกกำหนดจากสิ่งเหล่านี้ ทำให้มนุษย์จิตสำนึกร่วม และสังคมจะดำเนินต่อไปด้วยอย่างปติสุข
มักซ์ เวเบอร์ (Max weber ) เชื่อว่ามนุษย์ให้ความหมายกับสิ่งที่กระทำ มองเข้าไปถึงจิตใจของมนุษย์มองว่ามนุษย์ทุกคนมีเหตุมีผล คิดว่าจะมนุษย์ทำอะไรให้ความหมายกับการกระทำสิ่งนั้น โดยไม่ได้คิดเชิงโครงสร้างและแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับแนวคิดของ เอมิล เดอร์ไคม์ (Emile Durkheim)

           จากที่ยกตัวอย่างแนวคิดของนักคิดทั้งสองมาข้างต้นอยากจะสื่อความหมายให้เห็นว่า มนุษย์สามารถมองการกระทำได้หลากหลายมุม และไม่มีแนวคิดไหนที่อธิบายการกระทำของมนุษย์ได้ทั้งหมดและถูกต้องที่สุด

           จากความคิดของผู้เขียนเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและบริบทของสังคมในช่วงเวลาขนาดนั้น มนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงในด้านความคิดและด้านกายภาพ

           ย้อนกลับไปที่คำว่าแก่นแท้ของตัวเรา เราจะคิดได้ไหม ? ว่าเรามีแก่นแท้ หรือความเป็นดั้งเดิมในความเป็นจริง แต่อยู่ที่ว่าตอนนี้เราเป็นยังไงเป็นแบบไหนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง อนาคตเราจะเปลี่ยนแปลงไปยังไงไม่มีอะไรที่สามารถคาดการณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็น 100 เดอร์ไคม์ 1000 เวเบอร์ หรือ 10000 ฟูโกต์ ก็ไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ได้อย่างครบถ้วน และยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะกลับไปหาแก่นแท้ของตัวเรา
จากข้อความที่เขียนมาทั้งหมดไม่ต้องการแสดงว่าอะไรดี หรือ ไม่ดี ไม่ต้องการจะบอกว่าอะไร แท้หรือไม่แท้ แต่สิ่งที่อยากนำเสนอคือ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่มีคำว่าแท้ในตัวมันเอง ทุกสิ่งมีการรับและมีการปล่อยมีการผสมผสานมีการเคลื่อนไหว แม้แต่ตัวเราเองก็มีการรับสิ่งใหม่ๆทำให้ความคิดเราเปลี่ยนไปตามกาลเวลา สังคมต้องอยู่กับความแตกต่างโดยยอมรับว่าไม่มีอะไรที่เหมือนกันทั้งหมด

“เพราะคำว่าแก่นแท้ของสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไม่มีจริง สิ่งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ตายไปแล้ว”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่