เคล็ดลับความสำเร็จที่เป็นเอกลักษณ์แบบ Uniqlo


Uniqlo ร้านเสื้อผ้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก แต่เป้าหมายของเขาไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น เขายังต้องการเพิ่มยอดขายให้ได้ถึงห้าหมื่นล้านภายในปี 2020 และต้องการเป็นร้านเสื้อผ้าอันดับ 1 ในอนาคต

ทุกคนคงคุ้นเคยกับร้านเสื้อผ้าสัญชาติญี่ปุ่นอย่างยูนิโคล (Uniqlo) กันดี เจ้าของธุรกิจคือ ทะดะชิ ยะไน (Tadashi Yanai) ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2016 นิตยสารฟอร์บส์จัดอันดับให้เขาเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศญี่ปุ่น โดยมีทรัพย์สินมาก กว่า 17.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


ยูนิโคลกลายเป็นร้านเสื้อผ้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกตามหลังอินดิเท็กซ์ (Inditex-เจ้าของแบรนด์ซาร่า (Zara) เอชแอนด์เอ็ม (H&M) และแก๊ป (Gap) แต่เป้าหมายของเขาไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น เขายังต้องการเพิ่มยอดขายให้ได้ถึงห้าหมื่นล้านภายในปี 2020 และต้องการเป็นร้านเสื้อผ้าอันดับ 1 ในอนาคต
ยะไนเปิดร้านยูนิโคลร้านแรกที่ฮิโรชิมะในปี 1984 โดยเปลี่ยนกิจการตัดเสื้อผ้าผู้ชายที่พ่อเขาตั้งขึ้นเป็นร้านเสื้อผ้าลำลองคล้ายยี่ห้อจิออร์ดาโน่ (Giordano) และเปลี่ยนชื่อบริษัทของพ่อจากโอะโกริ โชจิ (Ogori Shoji) เป็นฟาสต์รีเทลลิ่ง (Fast Retailing) ซึ่งสะท้อนหลักการว่าจะตอบสนองลูกค้าเร็วกว่าบริษัทอื่น

การขึ้นมาบริหารงานของยะไนทำให้บริษัทขยายตัวอย่างมาก เพราะเขามีประสบการณ์ในการเดินทางไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้เขาเห็นว่ามีร้านเสื้อผ้าลำลองขนาดใหญ่อย่างเบเนต์ตง (Benetton) และแก๊ป (Gap) อยู่ทั่วโลก โดยที่ผู้คนเองก็แห่กันมาซื้อเสื้อผ้าลำลองเหล่านั้น

ปัจจุบันฟาสต์รีเทลลิ่งมีร้านต่าง ๆ ทั่วโลกภายใต้บริษัทมากกว่า 2,000 แห่ง รวมถึงร้านยูนิโคลในญี่ปุ่นที่มี 852 ร้าน ในต่างประเทศ 633 ร้าน รวมถึงในจีนและในสหรัฐอเมริกาอีกหลายร้าน อาจกล่าวได้ว่าเคล็ดลับการสร้างรายได้ของยะไน คือ


1. จุดยืนในตลาดชัดเจน

ยูนิโคลเน้นขายสินค้าลำลองธรรมดา ๆ แต่ผลิตอย่างประณีต เรียบง่าย ดูดี และมีความเป็นแฟชั่น แต่ก็ไม่ได้ตามกระแสมากนักเหมือนเอชแอนด์เอ็มหรือซาร่า สินค้ายอดนิยม ได้แก่ สเว็ตเตอร์คอวี เสื้อสีสดใส เสื้อขนเป็ด กางเกงเลกกิ้ง กางเกงยีนส์ ฯลฯ โดยเน้นการนำสินค้าส่งถึงผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว คือต้องคุณภาพดีและราคาประหยัด เพราะเขาต้องการให้เสื้อผ้าของเขาเป็น “เสื้อผ้าสำหรับทุกคน” สินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้ยูนิโคลก็คือ เสื้อแจ๊กเก็ตผ้าฟลีซที่ในปี 2000 ขายได้ถึง 26 ล้านตัว

2. สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ

บริษัทของยะไนจับมือกับบริษัทโทเรย์ อินดัสทรีส์ (Toray Industries) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเส้นใยสังเคราะห์ที่ใหญ่สุดของญี่ปุ่นเพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างฮีตเทค (Heattech) เทคโนโลยีเนื้อผ้าที่เปลี่ยนความชื้นให้เป็นความร้อน และสามารถกักเก็บความร้อนเพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย ซึ่งในปี 2012 ขายได้ถึง 130 ล้านตัว

3. ต้นทุนต่ำเพราะยุทธศาสตร์การจัดการ

บริษัทบริหารงานอย่างรอบด้านโดยเริ่มจากการวางแผนผลิตภัณฑ์ การออกแบบ การผลิต การกระจายสินค้า และการเชื่อมโยงของร้านและกลุ่มซัพพลายเออร์

4. การบริหารงานของยะไนมีความเป็นเอกลักษณ์
คือบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นองค์กรในแนวราบและสนับสนุนให้พนักงานแสดงความคิดเห็น และยังเปลี่ยนภาษาสื่อสารขององค์กรเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้เหมาะกับการขยายตลาดไปทั่วโลกในปี 2010 ยะไนได้รับรางวัล International Retailer of the Year Award จาก National Retail Foundation in the U.S.ซึ่งเขาเป็นคนญี่ปุ่นคนที่ 4 ที่ได้รางวัลนี้ และเป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้นับตั้งแต่ปี 1998

นอกจากนี้เขายังได้รับเลือกให้รับรางวัลประธานบริษัทที่ดีที่สุดในปี 2008 และ 2009 ซึ่งจัดโดย Japanese Corporate Executives of Sanno Institute of Management และได้รับรางวัล 50 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในนิตยสารบลูมเบิร์ก มาร์เก็ตส์

5. วิธีบริหารงานร้าน

โดยให้ความสำคัญกับการเลือกพนักงาน การอบรมพนักงาน และการบริหารงานแยกย่อยในส่วนต่างๆ ตลอดจนการต้อนรับลูกค้าและให้บริการอย่างดีเยี่ยม

ที่สำคัญคือ ยูนิโคล คิดใหญ่ ทำใหญ่ เพราะยะไนต้องการผลิตเสื้อผ้าให้คนทั้งโลก และต้องการที่จะอยู่เหนือแบรนด์ใหญ่อย่างซาร่าในที่สุดค่ะ

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพิชชารัศมิ์ได้ที่เพจ FB: Life Inspired by พิชชารัศมิ์

เรื่องโดย : พิชชารัศมิ์ www.marumura.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่