เราออกเดินทางจากเมืองบิคาเนอร์ (Bikaner) มาทางใต้ราว 30 กิโลเมตร เพื่อมายังสถานที่ท่องเที่ยวสุดแปลกของอินเดีย และเมื่อมาถึงแล้ว 4 จาก 12 ของผู้ร่วมเดินทางเต็มใจที่จะรออยู่ในรถ
สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่าวัดคาร์นี มาทา (Karni Mata Temple) หรือเรียกสั้น ๆ ว่าวัดหนู เนื่องจากมีหนูอาศัยอยู่ในวัดถึง 20,000 ตัว และหนู ๆ ทั้งหลายได้รับการปรนเปรอด้วยอาหารและเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ก่อนมาที่นี่ ผมเข้าใจว่าวัดแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับพระพิฆเนศ เนื่องจากพาหนะของท่านเป็นหนูที่ชื่อว่ามุสิกะ แต่ประวัติของวัดนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระพิฆเนศแต่อย่างใด
ตำนานของวัดหนูเกี่ยวข้องกับคาร์นี มาทา ซึ่งเชื่อว่าเป็นอวตารของพระแม่ทุรคา (Durga) มีเรื่องเล่าว่า ลูกชายคนเล็กของคาร์นี มาทา จมน้ำตาย เธอได้ร้องขอเทพแห่งความตายช่วยให้ลูกเธอฟื้นคืนชีพ ในตอนแรกเทพแห่งความตายปฏิเสธ แต่สุดท้ายก็ยอมให้ โดยเหล่าลูกหลานของคาร์นี มาทา เมื่อเสียชีวิตลงจะกลับมาเกิดเป็นหนู จึงมีการสร้างวัดแห่งนี้อุทิศแด่พระแม่คาร์นี มาทา และหนู ซึ่งถือเป็นลูกหลานของท่าน
ส่วนตำนานอีกเรื่องเล่าว่า มีสงครามครั้งใหญ่กลางทะเลทราย ไม่ไกลจากเมืองนี้ เมื่อสงครามยุติลงแล้ว ทหาร 20,000 คนถูกทิ้งไว้กลางทะเลทราย พระแม่คาร์นี มาทา ช่วยให้เหล่าทหารรอดพ้นจากความตายแต่ต้องกลายร่างเป็นหนู และให้วัดเป็นที่อยู่อาศัยด้วย ทหารหนูสำนึกในบุญคุณ จึงไม่ไปไหน อยู่รับใช้พระแม่คาร์นี มาทา เรื่อยมา
ผมและเพื่อน ๆ ที่ตัดสินใจเข้าไปในวัด เดินจากที่จอดรถ ไปยังทางเข้าวัด ระหว่างทางมีร้านขายของหลากหลาย และแน่นอนว่ามีร้านขายเครื่องบูชา อาหารหนู และขนมที่จะถวายหนูรวมอยู่ด้วย
เนื่องจากที่นี่เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ซึ่งต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าไปในวัด เราจึงต้องเอารองเท้าไปฝากไว้ที่ซุ้มรับฝากรองเท้าก่อน แต่ทางวัดไม่ห้ามเรื่องถุงเท้า สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ไม่คุ้นชินในการเดินไปในสถานที่มีหนูอยู่มากมายนั้น มีคำแนะนำบอกต่อกันมาว่าให้ใส่ถุงเท้าคู่เก่าไป เสร็จแล้วก็ถอดทิ้งไปเลย เท่าที่ผมเห็น บางคนสวมถุงเท้าสองชั้นซ้อนเลยก็มี แต่ชาวอินเดียดูจะไม่กังวลในเรื่องนี้ พวกเขาถอดรองเท้าฝากไว้แล้วเดินเข้าวัดไปทันที
การนับถือหนูเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในอินเดียมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 แต่วัดคาร์นี มาทา สีชมพูที่เรากำลังเข้าไปชมนี้สร้างขึ้นต้นศตวรรษที่ 20 ซุ้มประตูด้านหน้าสร้างจากหินอ่อนลวดลายซับซ้อน และมีประตูเงินสลักที่สวยงาม
ภายในมีหนูอยู่ตามมุมต่าง ๆ ส่วนใหญ่กำลังกินธัญพืช นม และขนมที่คนนำมาถวาย บ้างก็วิ่งผ่านไปมา มีเสียงร้องด้วยความตกใจของเด็ก ๆ ที่เข้ามาในวัดให้ได้ยินเป็นระยะ
เทพหนูของวัดแห่งนี้น่าจะสุขสบายด้วยอาหารในถาด และน้ำสะอาดในถ้วย มีการป้องกันศัตรูของหนูไว้อย่างดี ตาข่ายถูกขึงไว้รอบพื้นที่โล่งรอบบริเวณวัด ป้องกันนกตัวใหญ่ไม่ให้มารบกวนหนู รวมทั้งมีชาวบ้านรอบวัดที่ศรัทธาในพระแม่คาร์นี มาทา ผลัดกันมาช่วยเก็บกวาด ทำความสะอาดวัด แต่สภาพหนูบางกลุ่มในวัดก็ดูสุขภาพไม่ดีเท่าไร มีประวัติหนูในวัดติดโรคระบาดตายไปบ้าง แต่วางใจได้ที่ยังไม่เคยเกิดโรคติดต่อมาสู่คน
ที่กลางวัดมีอาคารประดิษฐานเทวรูปพระแม่คาร์นี มาทา ชาวอินเดียต่อแถวกันเข้าไปสักการะ พวกเราเข้าไปต่อแถวบ้าง ยังไม่ทันถึงด้านในก็ต้องออกจากแถวมาก่อน เนื่องจากคนต่างศาสนาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป
เชื่อกันว่า เมื่อมาที่วัดนี้แล้วจะโชคดี หากกินอาหารที่หนูเคยกัดแทะแล้วเหลือไว้ ซึ่งข้อนี้ต้องใช้ความศรัทธาอย่างแรงกล้า อีกข้อหนึ่งคือ จะโชคดีหากมองเห็นหนูสีขาวในวัด เพราะหนูเกือบทั้งหมดมีสีดำหรือเทา การจะได้พบกับหนูขาวนำโชคนั้นยากอยู่เหมือนกัน นอกจากนี้หากพลาดพลั้งไปเหยียบหนูในวัดตาย ต้องถ่ายบาปด้วยการนำรูปปั้นหนูไปถวายคืน
เราเดินถ่ายรูปในวัดสักพักก็กลับออกมา ถอดถุงเท้าทิ้ง รับรองเท้าคืน เราเตรียมสบู่มาล้างเท้ากันด้วย แต่ทางวัดไม่มีก๊อกน้ำบริการ ต้องไปขอใช้ที่ข้างร้านค้าแถวนั้น
วัดคาร์นี มาทา หรือวัดหนู เป็นสถานที่หนึ่งเดียวในอินเดีย และบนโลกใบนี้ ที่หนูได้รับการนับถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานที่แปลก น่ามาชม หากไม่กลัวหนู
คาร์นี มาทา วัดนี้มีหนู
เราออกเดินทางจากเมืองบิคาเนอร์ (Bikaner) มาทางใต้ราว 30 กิโลเมตร เพื่อมายังสถานที่ท่องเที่ยวสุดแปลกของอินเดีย และเมื่อมาถึงแล้ว 4 จาก 12 ของผู้ร่วมเดินทางเต็มใจที่จะรออยู่ในรถ
สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่าวัดคาร์นี มาทา (Karni Mata Temple) หรือเรียกสั้น ๆ ว่าวัดหนู เนื่องจากมีหนูอาศัยอยู่ในวัดถึง 20,000 ตัว และหนู ๆ ทั้งหลายได้รับการปรนเปรอด้วยอาหารและเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ก่อนมาที่นี่ ผมเข้าใจว่าวัดแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับพระพิฆเนศ เนื่องจากพาหนะของท่านเป็นหนูที่ชื่อว่ามุสิกะ แต่ประวัติของวัดนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระพิฆเนศแต่อย่างใด
ตำนานของวัดหนูเกี่ยวข้องกับคาร์นี มาทา ซึ่งเชื่อว่าเป็นอวตารของพระแม่ทุรคา (Durga) มีเรื่องเล่าว่า ลูกชายคนเล็กของคาร์นี มาทา จมน้ำตาย เธอได้ร้องขอเทพแห่งความตายช่วยให้ลูกเธอฟื้นคืนชีพ ในตอนแรกเทพแห่งความตายปฏิเสธ แต่สุดท้ายก็ยอมให้ โดยเหล่าลูกหลานของคาร์นี มาทา เมื่อเสียชีวิตลงจะกลับมาเกิดเป็นหนู จึงมีการสร้างวัดแห่งนี้อุทิศแด่พระแม่คาร์นี มาทา และหนู ซึ่งถือเป็นลูกหลานของท่าน
ส่วนตำนานอีกเรื่องเล่าว่า มีสงครามครั้งใหญ่กลางทะเลทราย ไม่ไกลจากเมืองนี้ เมื่อสงครามยุติลงแล้ว ทหาร 20,000 คนถูกทิ้งไว้กลางทะเลทราย พระแม่คาร์นี มาทา ช่วยให้เหล่าทหารรอดพ้นจากความตายแต่ต้องกลายร่างเป็นหนู และให้วัดเป็นที่อยู่อาศัยด้วย ทหารหนูสำนึกในบุญคุณ จึงไม่ไปไหน อยู่รับใช้พระแม่คาร์นี มาทา เรื่อยมา
ผมและเพื่อน ๆ ที่ตัดสินใจเข้าไปในวัด เดินจากที่จอดรถ ไปยังทางเข้าวัด ระหว่างทางมีร้านขายของหลากหลาย และแน่นอนว่ามีร้านขายเครื่องบูชา อาหารหนู และขนมที่จะถวายหนูรวมอยู่ด้วย
เนื่องจากที่นี่เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ซึ่งต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าไปในวัด เราจึงต้องเอารองเท้าไปฝากไว้ที่ซุ้มรับฝากรองเท้าก่อน แต่ทางวัดไม่ห้ามเรื่องถุงเท้า สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ไม่คุ้นชินในการเดินไปในสถานที่มีหนูอยู่มากมายนั้น มีคำแนะนำบอกต่อกันมาว่าให้ใส่ถุงเท้าคู่เก่าไป เสร็จแล้วก็ถอดทิ้งไปเลย เท่าที่ผมเห็น บางคนสวมถุงเท้าสองชั้นซ้อนเลยก็มี แต่ชาวอินเดียดูจะไม่กังวลในเรื่องนี้ พวกเขาถอดรองเท้าฝากไว้แล้วเดินเข้าวัดไปทันที
การนับถือหนูเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในอินเดียมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 แต่วัดคาร์นี มาทา สีชมพูที่เรากำลังเข้าไปชมนี้สร้างขึ้นต้นศตวรรษที่ 20 ซุ้มประตูด้านหน้าสร้างจากหินอ่อนลวดลายซับซ้อน และมีประตูเงินสลักที่สวยงาม
ภายในมีหนูอยู่ตามมุมต่าง ๆ ส่วนใหญ่กำลังกินธัญพืช นม และขนมที่คนนำมาถวาย บ้างก็วิ่งผ่านไปมา มีเสียงร้องด้วยความตกใจของเด็ก ๆ ที่เข้ามาในวัดให้ได้ยินเป็นระยะ
เทพหนูของวัดแห่งนี้น่าจะสุขสบายด้วยอาหารในถาด และน้ำสะอาดในถ้วย มีการป้องกันศัตรูของหนูไว้อย่างดี ตาข่ายถูกขึงไว้รอบพื้นที่โล่งรอบบริเวณวัด ป้องกันนกตัวใหญ่ไม่ให้มารบกวนหนู รวมทั้งมีชาวบ้านรอบวัดที่ศรัทธาในพระแม่คาร์นี มาทา ผลัดกันมาช่วยเก็บกวาด ทำความสะอาดวัด แต่สภาพหนูบางกลุ่มในวัดก็ดูสุขภาพไม่ดีเท่าไร มีประวัติหนูในวัดติดโรคระบาดตายไปบ้าง แต่วางใจได้ที่ยังไม่เคยเกิดโรคติดต่อมาสู่คน
ที่กลางวัดมีอาคารประดิษฐานเทวรูปพระแม่คาร์นี มาทา ชาวอินเดียต่อแถวกันเข้าไปสักการะ พวกเราเข้าไปต่อแถวบ้าง ยังไม่ทันถึงด้านในก็ต้องออกจากแถวมาก่อน เนื่องจากคนต่างศาสนาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป
เชื่อกันว่า เมื่อมาที่วัดนี้แล้วจะโชคดี หากกินอาหารที่หนูเคยกัดแทะแล้วเหลือไว้ ซึ่งข้อนี้ต้องใช้ความศรัทธาอย่างแรงกล้า อีกข้อหนึ่งคือ จะโชคดีหากมองเห็นหนูสีขาวในวัด เพราะหนูเกือบทั้งหมดมีสีดำหรือเทา การจะได้พบกับหนูขาวนำโชคนั้นยากอยู่เหมือนกัน นอกจากนี้หากพลาดพลั้งไปเหยียบหนูในวัดตาย ต้องถ่ายบาปด้วยการนำรูปปั้นหนูไปถวายคืน
เราเดินถ่ายรูปในวัดสักพักก็กลับออกมา ถอดถุงเท้าทิ้ง รับรองเท้าคืน เราเตรียมสบู่มาล้างเท้ากันด้วย แต่ทางวัดไม่มีก๊อกน้ำบริการ ต้องไปขอใช้ที่ข้างร้านค้าแถวนั้น
วัดคาร์นี มาทา หรือวัดหนู เป็นสถานที่หนึ่งเดียวในอินเดีย และบนโลกใบนี้ ที่หนูได้รับการนับถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานที่แปลก น่ามาชม หากไม่กลัวหนู