[จัดเต็ม] ความแตกต่างระหว่างมอปลายไทยกับ High School ในอเมริกา

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
    สวัสดีค่า หลายคนอาจจะกำลังสนใจหรือไม่ก็สงสัยเกี่ยวกับการศึกษาต่อที่อเมริกาวันนี้เราก็เลยจะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับโรงเรียน “มัธยมปลาย” ในอเมริกาให้ฟังค่ะว่า มีความเหมือนความต่างกับโรงเรียนในไทยอย่างไรบ้าง อาจไม่ได้ลงรายละเอียดเป็นโรงเรียน ๆ ไป แบบโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดเล็กอะไรพวกนั้น เพื่อให้เนื้อหากระชับนะคะ
        สำหรับใครที่อ่านแล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ไม่เห็นด้วย ขอให้เมนต์เล่าประสบการณ์จากมุมมองตัวเองค่ะ ผู้อ่านคนอื่นๆ จะได้เรียนรู้จากหลายๆ ประสบการณ์เนอะ หัวเราะ

ด้านหลักสูตร
1. ไทยเรียนม. ปลายสามปี อเมริกาเรียนสี่ปี
ความต่างแรกของทั้งสองประเทศก็คือ ที่อเมริกาจะแบ่งชั้นเรียนเป็น Freshman, Sophomore, Junior และ Senior ค่ะ ก่อนหน้านั้นจะเป็น Elementary School (ประถมศึกษา) และ Middle School (มัธยมต้น) ตามลำดับ ไม่เหมือนกับไทยที่มีแค่ม.4-6 เท่านั้นสำหรับม.ปลาย

2. ไทยเลือกสายเรียน อเมริกาเลือกวิชาเรียน
เด็กอเมริกันจะเริ่มเลือกวิชาเรียนเองตั้งแต่เกรด 9 หรือม.3 และจะเลือกเป็นรายวิชาไปไม่ใช่เป็นสายวิชา โดยโรงเรียนจะมีลิสต์วิชาที่ต้องเรียนก่อนจบมาให้ เช่น ต้องเรียนภาษาอังกฤษสองปี คณิตศาสตร์สองปี ภาษาต่างประเทศหนึ่งปี อะไรก็ว่าไป นักเรียนมีหน้าที่ลงเรียนวิชาพวกนี้เอง โดยจัดสรรเวลาได้ตามอิสระ เพราะโรงเรียนไม่ได้กำหนดตารางเรียนมาให้ค่ะ

3. อเมริกามีวิชาให้เลือกเรียนเยอะกว่าไทย
จำได้ว่า ตอนเรียนที่ไทยมีวิชาเลือกน้อยมาก รู้สึกจะมีหนึ่งวิชา แล้วก็มีวิชาชุมนุมกับวิชาเสรี ซึ่งตอนเรียนเราเลือกเรียนทำอาหารไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว โรงเรียนไทยจะเลือกวิชาเฉพาะของสายต่าง ๆ แล้วจัดตารางเรียนมาให้เลย เราจะไม่ได้เลือกเอง

ส่วนที่อเมริกานั้นจะมีวิชาให้เลือกเรียนเยอะมาก ๆ สมมติเทอมนี้ต้องเรียนห้าวิชา (แบบนี้ถือว่าลงเรียนน้อยมาก) เราอาจเลือกเรียนวิชาเคมี (Chemistry) ที่เป็นวิชาแนววิทย์ ร่วมกับวิชาถ่ายภาพ (Photography) ที่เป็นแนวอาร์ต และวิชาประสานเสียง (Choir) ปรัชญา (Philosophy) และวรรณกรรมอังกฤษ (English Literature) ซึ่งเป็นหมวดมนุษย์ศาสตร์ (Humanity) แล้วเรียนทุกอย่างที่ว่ามานี้พร้อมกันได้ในหนึ่งเทอม ซึ่งที่ไทยเราเลือกปะปนแบบนี้ไม่ได้เลย

วิชาอื่น ๆ นอกจากที่ว่ามาก็ยังมี วิชาดนตรีออเคสตร้า (Orchestra) และ วิชาเวิร์กชอปต่าง ๆ (Workshop) เช่น ถ้าเลือกวิชางานไม้ (Woodwork) ก็จะได้ทำเก้าอี้ โต๊ะ หรือกล่องใส่ของเล็ก ๆ วิชานี้ญาติของโฮสต์เราลงเรียนไปก็ได้ทำจิ๊กซอว์ เครื่องบิน ซึ่งทำเสร็จแล้วให้เป็นของขวัญได้เลย

4. บุคลากรมีความสามารถหลากหลายกว่า
สาเหตุที่อเมริกาเปิดวิชาได้มากมายในโรงเรียนก็เพราะมีอาจารย์ที่หลากหลาย ไม่ได้มีแค่อาจารย์จบภาษาอังกฤษ จบไทย จบวิชาพื้นฐานเท่านั้น เพราะอาจารย์ที่อเมริกาเรียนจบในสาขาอื่น ๆ มาก่อนแล้วค่อยมาเป็นอาจารย์ไฮสคูลภายหลัง นักเรียนจึงได้เรียนรู้จากผู้คนที่หลากหลาย

5. มีวิชาในระดับสูงให้เลือกเรียนด้วย
อีกสิ่งที่วิชาเรียนในอเมริกาต่างจากไทยก็คือ เขามีวิชาระดับยากให้เลือกเรียนด้วย ซึ่งต่างจากวิชาทั่วไป (regular classes) เช่น วิทย์พื้นฐาน อังกฤษพื้นฐาน วิชาระดับสูง หรือ AP (Advance Placement) เป็นวิชาที่เอาไปยื่นตอนเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อพาสชั้นได้ เพราะมีระดับความยากพอ ๆ กับการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจริง ๆ  
เพื่อนชาวปากีสถานของเราคนหนึ่ง เรียนจบจากโรงเรียนที่ใช้ระบบอังกฤษ ซึ่งเปิดสอนวิชาระดับสูงเหมือนกัน (แต่เรียกว่าวิชา IB) พอเรียนจบมาต่อมหาวิทยาลัย เพื่อนคนนี้ก็ข้ามวิชาเรียนไปได้หลายวิชาเช่น ในวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ต้องเรียนแคลคูลัส 1 แคลคูลัส 2 เขาไม่ต้องเรียนอีก นักเรียนอเมริกันก็เหมือนกัน ถ้าเรียนวิชาระดับสูงมา พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ข้ามวิชาที่เรียนไปแล้วได้เลย นอกจากช่วยประหยัดเวลาเรียนแล้ว แต่ละคนยังได้รู้ระดับความสามารถของตัวเองอย่างชัดเจนด้วยว่าตัวเองอยู่ขั้นไหน และยังมีที่ยากขึ้นไปกว่านี้อีกกี่ขั้น ทำให้วางแผนการเรียนได้ตั้งแต่อยู่ม.ปลาย ซึ่งเราคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ เลยล่ะค่ะ

6. เน้นการปฏิบัติให้ทำจริงมากกว่าท่องจำ
การเรียนในไทยมักจะเน้นให้อ่านหนังสือมากกว่า เห็นได้ชัดคือวิชาเคมี อย่างเราเรียนสายศิลป์คำนวณมา ก็จะได้เรียนวิชาเคมี ฟิสิกส์ ชีวะมาบ้างอย่างละเทอม ไม่ได้เรียนพร้อมกันทุกวิชาเหมือนสายวิทย์ พอเรียนเสร็จก็ไปติวกับอาจารย์อุ๊ต่อตั้งแต่ทุ่มนึงถึงสามทุ่ม นั่งท่องเรื่องลิเทียม โซเดียม โปแตสเซียม แล้วจินตนาการว่าถ้ามันผสมกันจะระเบิดยังไงโดยไม่เคยได้ทดลองจริงเลย
พอเรามาอเมริกาก็เลยลองลงวิชาเคมีดู เพราะอยากรู้เรื่องวิทยาศาสตร์บ้าง เคยได้ยินมาว่าที่นี่เน้นให้ทดลองจริง (ไม่เน้นคำนวณมาก ให้ใช้เครื่องคิดเลขได้) ปรากฏก็ได้ทดลองทุกวันจริงๆ โดยในช่วงต้นคาบอาจารย์จะสอนเนื้อหาก่อนว่า สารเคมีอะไรผสมกันจะเกิดปฏิกิริยาอะไร จากนั้นอีกครึ่งชั่วโมงก่อนจบคาบก็จะเป็นช่วงทดลองสิ่งที่อาจารย์ได้บรรยายไปก่อนหน้านี้ แต่ถ้าวันไหนเรียนเรื่องที่ไม่มีการทดลองประกอบ เช่นเรื่องการดุลสมการเคมี อาจารย์ก็จะให้ทำการทดลองแปลก ๆ แทน เช่น ทำไอติม ทำยาสีฟัน ซึ่งทำให้นักเรียนรู้สึกสนุกกับวิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้น

เราว่า การทดลองจะเป็นประโยชน์มากกับเด็กที่เรียนรู้จากการปฏิบัติ (Doer) ในห้องเรียนหนึ่ง มีเด็กที่เรียนรู้ด้วยวิธีต่างกันหลายแบบ บางคนเรียนรู้ได้ดีจากการอ่าน บางคนเรียนรู้จากภาพ จึงควรต้องมีวิธีการสอนหลาย ๆ อย่างเพื่อนักเรียนทุกคน ส่วนหนึ่งที่โรงเรียนอเมริกันทำแบบนี้ได้ อาจเป็นเพราะการจัดสรรงบประมาณที่เอื้อกว่าของไทย ซึ่งไม่มีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เพียงพอก็เป็นได้

7. เด็กฝรั่งเดินเรียน เด็กไทยอาจารย์มาถึงห้อง
เป็นอีกเรื่องที่เราเห็นได้ชัด และหลายคนก็คงเห็นได้จากการดูหนังต่างประเทศ เช่น High School Musical ค่ะ คือที่อเมริกาเขาจะไม่ให้เด็กอยู่ติดห้องเป็นม.6/2 6/3 6/4 เหมือนที่ไทยเราทำ แต่อาจารย์นั่นแหละที่จะเป็นฝ่ายอยู่ประจำห้องแทนค่ะ

อย่างโรงเรียนไฮสคูลที่เราไป เขาจะจัดห้องวิชาวิทย์อยู่ด้วยกันคือใกล้ๆกันหมดเลยเป็นเหมือน Science wing หน้าห้องจะเป็นโต๊ะอาจารย์ กระดานและตู้เก็บของทดลอง ด้านหลังห้องเป็นโต๊ะทำการทดลองที่นั่งได้สี่ห้าคน (เหมือนเรื่องทไวไลท์มากกก!) ส่วนชั้นบนเป็นหมวดวิชาภาษาอังกฤษ อาจารย์ที่สอนวิชาแบบเดียวกันก็จะอยู่ห้องใกล้ ๆ กันหมด ถ้าเราลงวิชาหมวดภาษาอังกฤษก็ไปหาห้องได้จากตรงนั้น ซึ่งเราว่าเป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะอาจารย์จะได้ไม่ต้องเหนื่อยแบกสื่อการสอนไปมา ปล่อยให้เด็ก ๆ ที่ยังมีแรงเดิน ไปหาห้องกันเองดีกว่า ในมุมของนักเรียนก็เหมือนกับได้ออกแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองจริง ๆ (คือหาห้องเองด้วยเลยไง 555555 ) ทำให้รู้ตัวว่าตอนนี้ถึงเวลาเรียนแล้ว ไม่ใช่ว่าอยู่ห้องก็เล่นกันจนไม่รู้ว่าอาจารย์เข้าห้องมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ไม่มีใครบอกสวัสดีอาจารย์ ถ้าอาจารย์อยู่ติดห้องไปเลยก็น่าจะพร้อมสอนตลอดเวลา ไม่ต้องกลัวเข้าห้องสายด้วย

8. ในอเมริกาได้เรียนกับคนหลากหลายกว่า
เนื่องจากว่านักเรียนได้เลือกวิชาตามใจชอบ ก็เลยจะได้เจอเพื่อนที่หลากหลายมาก ที่ไทยเราเรียนอยู่ห้องเดียวกันตั้งสามปี ที่โรงเรียนเรามีสิบแปดห้อง ห้องติด ๆ กันก็จะรู้จักกัน ส่วนห้องอื่น ๆ ก็ไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ แต่ที่อเมริกาเราจะได้รู้จักเพื่อนนักเรียนหลากหลาย หรือแม้แต่รุ่นพี่รุ่นน้องปีอื่นด้วย สามารถถามรุ่นพี่ที่เรียนด้วยกันได้เลยว่าวิชานู้นนี้เป็นยังไง การสอบ SAT ยากมั้ย ต้องเตรียมตัวยังไง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนแน่นแฟ้นขึ้น และมีโอกาสได้รับความคิดเห็นที่หลากหลายมากขึ้นด้วย
แต่ไม่ใช่ว่าการจัดห้องแบบไทยจะไม่มีอะไรดีเลยนะคะ ข้อดีอย่างหนึ่งของมันก็คือ เราจะได้เพื่อนที่ผูกพันมาก ๆ ในห้องเดียวกัน มองตาก็รู้ใจ เหมาะกับการทำงานกลุ่มที่สุด แต่ที่อเมริกา เราไม่ได้มีคนที่รู้จักกันดีขนาดนั้น เวลาต้องจับกลุ่มทำงานเลยอาจมีอาการ awkward บ้าง ไม่รู้จะไปอยู่กลุ่มไหนดี โดยเฉพาะนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เพิ่งมาถึงแล้วยังไม่ทันได้สนิทกับใคร

9. อเมริกาเน้นห้องเรียนเล็ก ๆ เด็กน้อย ๆ
จำนวนนักเรียนแต่ละห้องของอเมริกาน้อยมาก ส่วนมากมีนักเรียนต่ำกว่าสามสิบคน บางคลาสเรียนกันอยู่แค่สี่ห้าคนก็มี ตัดภาพมาที่ไทย ห้องหนึ่งของเรามีกันตั้งห้าสิบคนอัดเข้าไป อาจารย์ดูแลไม่ทั่วถึง มีการแบ่งแยกเด็กหน้าห้อง กลางห้อง หลังห้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีนัก
ห้องเรียนเล็ก ๆ ช่วยให้โรงเรียนอเมริกันจัดการสอนแบบ discussion base หรืออภิปรายกลุ่มได้ สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โต้วาทีกันได้ทั่ว ต่างจากของไทยที่อาจารย์จะเป็นคนพูด ให้ฟัง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักเรียนของที่อเมริกาและไทยต่างกันออกไปด้วย
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่