ดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติจ่อเคว้ง หลังดีอี-กสทช.ยังสับสนตัวเองเรื่องใบอนุญาต

กระทู้ข่าว
วงการสื่อสารมึนนโยบายกระทรวงดีอี ปลุกผีระบบสัมปทานคุมดาวเทียมสื่อสารของประเทศทั้งที่ไม่มีอำนาจ จนทำไทม์ไลน์โครงการยิงดาวเทียมใหม่ “ไทยคม 9” จ่อเคว้งกลางอากาศ เตือนรัฐ-กระทรวงดีอีหากยังสับสนบทบาท ระวังแม้แต่วงโคจรดาวเทียมของชาติก็อาจหลุดมือ

แหล่งข่าวใน กสทช. เปิดเผยถึงกรณีที่ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เตรียมหารือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อหารือปัญหาในการกำกับดูแลกิจการดาวเทียมของประเทศว่า ล่าสุดกระทรวงดีอี ยังไม่สามารถหาแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการบริหารจัดการดาวเทียมสื่อสารของชาติได้ รวมทั้งยังไม่มีข้อยุติเกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ว่าควรกำหนดให้อยู่ในระบบใบอนุญาต หรือกลับไปอยู่ภายใต้สัมปทานเหมือนเมื่อก่อน โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงดีอีได้หารือประเด็นดังกล่าวกับ กสทช.แล้ว แต่ กสทช.ได้ให้คำแนะนำว่าเป็นเรื่องที่กระทรวงจะต้องไปเจรจากับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)เอง เนื่องจากที่ผ่านมา กสทช.ได้ออกใบอนุญาตให้ไทยคมแล้วตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553(พรบ.กสทช.)  หากจะนำเอาระบบสัมปทานกลับเข้ามาใช้จะต้องเป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาล และตอนนี้ก็ติดขัดข้อกฎหมายอยู่

ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านี้หลายปี กระทรวงดีอีเองได้เห็นชอบให้บริษัทไทยคมดำเนินการจัดสร้างไทยคม 7 และ 8 ซึ่งนอกจากเพื่อให้ลูกค้ามีดาวเทียมและช่องสัญญาณใช้งานได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังช่วยรักษาวงโคจรดาวเทียมของประเทศไม่ให้หลุดมืออีกด้วย ทั้งกระทรวงดีอียังออกหน้าเจรจากับสหภาพโทรคมนาคม(ไอทียู)และยังเห็นชอบให้ กสทช.ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้แก่บริษัทไทยคมด้วย ซึ่งทุกอย่างดำเนินการไปตามครรลองของกฎหมายอยู่แล้ว  

“การที่จู่ๆ กระทรวงไอซีทีเดิมจะดึงเอาดาวเทียมกลับเข้าไปอยู่ในระบบสัมปทานอีก เพื่อบังคับให้บริษัทเอกชนต้องจ่ายค่าสัมปทานเพิ่มขึ้น ทั้งที่ไม่มีกฎหมายรองรับนั้นจึงเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงอาจทำให้รัฐทำผิดกฎหมายและขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งก่อนหน้า กสทช.เองก็ยืนยันชัดเจนแล้วว่า ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้แก่ไทยคมไปตามกฎหมายที่มีแล้ว หากจะนำเอาระบบสัมปทานกลับเข้ามาใช้ หรือจะเรียกเก็บรายได้อื่นเพิ่มเติม กระทรวงก็จะต้องไปเจรจากับภาคเอกชนเอาเอง แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุป”

แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่ากระทรวงดีอี และ กสทช.น่าจะศึกษาบทเรียนจากการประมูลทีวีดิจิตอลที่รัฐบาลภูมิใจกันมากว่า ประมูลแล้วได้เงินเยอะแต่เอกชนขาดทุน หลายรายต้องแพ็คกระเป๋ากลับบ้านเก่าไป จนท้ายที่สุดวันนี้รัฐบาลก็ต้องมาแก้ปัญหาโดยการให้นายกฯและหัวหน้าคสช.ออก ม.44เยียวยาให้ กิจการดาวเทียมก็เช่นกัน วงโคจรดาวเทียมที่ชอบคิดกันว่า เป็นทรัพยากรของประเทศที่ต้องเอามาหารายได้ให้กับภาครัฐนั้น จริงๆ แล้วควรดูสภาพตลาดด้วยว่า กิจการดาวเทียมต้องไปค้าขายแข่งขันกับต่างประเทศ หากรัฐเก็บค่าธรรมเนียมเกินความเหมาะสมเอกชนก็แข่งขันไม่ได้ สุดท้ายจะไม่มีใครกล้าลงทุนแม้แต่รัฐเองสุดท้ายแล้ว แม้แต่วงโคจรดาวเทียมของชาติก็อาจไม่สามารถจะรักษาเอาไว้ได้

ส่วนความคืบหน้าการจัดสร้างดาวเทียมไทยคม 9 ที่ไทยคมได้เจรจากับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ให้เข้าร่วมลงทุนดาวเทียมในสัดส่วน 30% นั้น จนถึงขณะนี้ยังรอกระทรวงดีอีส่งเรื่องให้รัฐบาลเห็นชอบ ซึ่งนอกจาก กสท.จะร่วมทุนในสัดส่วน 30% มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาทแล้ว ยังจะเป็นผู้บริหารการตลาดลูกค้าในประเทศไทยท้ังหมด ส่วนไทยคมจะหันไปทำตลาดต่างประเทศแทน

“เรื่องนี้คาราคาซังมาหลายปีแล้ว หากรัฐยังไม่เร่งตัดสินใจในระยะ1-2ดือนจากนี้ นอกจากประเทศไทยอาจสูญเสียสิทธิ์วงโคจรไปแล้ว แม้จะตัดสินใจให้เดินหน้าโครงการสร้างไทยคม 9 ออกมาก็ไม่ทันการแล้วเพราะต้องใช้เวลาจองและจัดสร้างดาวเทียม 2-3 ปีถึงเวลานั้นลูกค้าที่หมดสัญญากับไทยคมอื่นๆ คงหันไปใช้บริการดาวเทียมต่างประเทศกันหมดและคงยากจะดึงกลับมาได้อีก”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่