http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=60697
อวสานของโมเดิร์นเทรด?/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เมื่อเร็ว ๆ นี้ บัฟเฟตต์ได้ขายหุ้นวอลมาร์ท ห้างค้าปลีกอันดับหนึ่งของโลก ที่เขาเข้าลงทุนมากว่า 10 ปีจนหมดหรือเกือบหมด เขาเคยมีหุ้นวอลมาร์ทคิดเป็นเงินประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือหนึ่งแสนล้านบาท แต่ในระยะสองสามปีที่ผ่านมาเขาก็ได้ทยอยขายหุ้นออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเขาก็ได้ขายหุ้นเทสโก้ซึ่งเป็นห้างค้าปลีกอันดับสามของโลกออกไปหมดเช่นเดียวกันแม้ว่าการขายในครั้งนั้นอาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาเรื่องของบรรษัทภิบาลก็ตาม ถ้าจะวิเคราะห์ดู บัฟเฟตต์น่าจะสรุปแล้วว่า อนาคตของ Modern Trade หรือ “ค้าปลีกสมัยใหม่”—สำหรับคนไทย ที่บัฟเฟตต์เรียกว่า “Traditional Trade” หรือ “ค้าปลีกดั้งเดิม” นั้น กำลังถึงกาล “อวสาน” หรือกำลังถดถอยลงเรื่อย ๆ ปัญหาของ “ค้าปลีกดั้งเดิม” ในสายตาบัฟเฟตต์ก็คือ การเข้ามารุกของการ “ค้าปลีกสมัยใหม่” คือ E-commerce ที่ค้าขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ตนำโดยบริษัทอะเมซอนที่สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่วอลมาร์ทไม่สามารถต่อสู้ได้แม้จะพยายามนำระบบ E-commerce ของตนเองเข้าร่วมแข่งขันด้วยก็ตาม
คำถามที่สำคัญสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยก็คือ “โมเดิร์นเทรด” ของไทยนั้น กำลังถึงกาล “อวสาน” หรือกำลัง “หมดยุค” ไม่โตหรือโตช้าลงไปมากอย่างที่อาจจะกำลังเกิดขึ้นในอเมริกาหรือยัง? การที่จะตอบคำถามนั้นได้ เราคงต้องมาทำความเข้าใจในเรื่องของเศรษฐศาสตร์การค้าปลีกในภาพใหญ่เสียก่อนว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไรในประวัติศาสตร์และทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น
ในสังคมที่ยังไม่พัฒนาเท่าไรนั้น การค้าปลีกจะทำกันใน “ตลาดสด” หรือร้านค้าซึ่งอาจจะรวมถึงบ้านที่อยู่อาศัยของเจ้าของที่จะมี “หน้าร้าน” ที่เป็นทางสัญจรของผู้คน ผู้ค้าจำนวนมากมักจะเป็นเจ้าของร้านและเป็นพนักงานขายด้วย ร้านค้าแต่ละแห่งนั้น จะมีทำเลที่ตั้งเพียงแห่งเดียวหรือมีจำนวนไม่มาก ระบบการบริหารร้านค้าเป็นแบบที่อาศัยเจ้าของและพนักงานเป็นคนจัดการซึ่งมักจะมีประสิทธิภาพต่ำ เหนือสิ่งอื่นใด มันก็ไม่คุ้มที่เขาจะลงแรงทำระบบที่มีต้นทุนสูงแต่ค้าขายนิดเดียว
สังคมที่ “กำลังพัฒนา” หรือสังคมที่คนมีรายได้ดีขึ้นเป็นคนชั้นกลางมากขึ้นแบบไทยนั้น ระบบค้าปลีกก็จะเริ่มเปลี่ยนไปเป็นระบบที่ให้บริการแก่คนซื้อดีขึ้น วิธีการค้านั้นก็คือ การเป็นระบบ Modern Trade หรือการ “ค้าปลีกสมัยใหม่” ที่มีการจัดตั้งร้านค้าในอาคารที่ทันสมัยปรับอากาศตลอดปี มีการสร้างเครือข่ายร้านจำนวนมากทั่วประเทศหรือในบริเวณกว้าง ร้านทุกร้านที่เป็นชื่อเดียวกันมักจะมีระบบบริหารร้านค้าที่ดีและเหมือนหรือใกล้เคียงกัน ด้วยวิธีการแบบนี้ มันสามารถให้บริการที่ดีขึ้นและด้วยต้นทุนการบริหารที่ลดลงเนื่องจากมันมี Economies of Scale หรือมีการประหยัดเนื่องจากขนาดของยอดขายที่สูงซึ่งทำให้คุ้มที่จะลงทุนในระบบที่ดีและมีราคาแพงได้
ยุคสมัยปัจจุบันที่เป็น “Digital Economy” ซึ่งทำให้ต้นทุนในการติดต่อสื่อสารและโลจิสติกส์หรือการขนส่งเคลื่อนย้ายสินค้าต่ำลงมาก ทำให้ระบบการค้าปลีกผ่านอินเตอร์เน็ตหรือ E- commerce ก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ ความจำเป็นที่จะต้องมีหน้าร้านเพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาซื้อสินค้าก็ลดลงเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน ต้นทุนในการโฆษณาผ่านสื่อสมัยใหม่ก็ถูกลงและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยเฉพาะในสังคมสมัยใหม่ที่ผู้คนต่างก็ “ดูจอ” เพื่อหาข้อมูลและติดต่อสื่อสารเกือบทุกอย่างที่ตนเองต้องการผ่านโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต นี่ทำให้ผู้ขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตไม่ต้องมีหน้าร้านและไม่ต้องเสียค่าโฆษณามากอย่างผู้ค้า “ดั้งเดิม” อย่างวอลมาร์ท และนั่นทำให้อะเมซอนซึ่งเพิ่งจะเริ่มทำการค้ามาแค่ประมาณ 20 ปี โดยที่ไม่มีหน้าร้านเลย มียอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และในที่สุดก็จะมากกว่าวอลมาร์ทซึ่งก่อตั้งมากว่าห้าสิบปีและมีสาขาทั่วสหรัฐและในโลก มูลค่าหุ้นของอะเมซอนในปัจจุบันนั้นใหญ่กว่าวอลมาร์ท คอสโค และทาร์เก็ท ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐรวมกัน
ข้อสรุปของผมก็คือ ความก้าวหน้าหรือการเติบโตของการค้าปลีกนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของสังคมและเรื่องทางเศรษฐกิจของการทำธุรกิจค้าปลีก ประการแรกก็คือ ถ้าเป็นสังคมเจริญแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่มีความมั่งคั่งสูงอย่างในสหรัฐ การค้าปลีกก็จะมุ่งหน้าเข้าสู่การค้าแบบ E-commerce ซึ่งจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และจะทำลายการค้าที่ผ่านร้านเครือข่ายจำนวนมากในที่สุด แน่นอน มันไม่หมดไป แต่จะค่อย ๆ น้อยลง และนั่นทำให้ธุรกิจไม่โตและราคาหุ้นค่อย ๆ ถดถอยลงอย่างในกรณีหุ้นวอลมาร์ทที่หุ้นไม่ไปไหนมาหลายปีและกำลังตกลงอย่างช้า ๆ อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างไทยเองนั้น ระบบการค้าแบบมีหน้าร้านเป็นเครือข่ายส่วนใหญ่ก็ยังโตอยู่แม้ว่าในระยะยาวอาจจะมีความเสี่ยงที่จะถูกทดแทนจากการค้าแบบ E-commerce ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่ “เพิ่งจะเริ่มพัฒนาเร็ว” อย่างเวียตนามเองนั้น การค้าแบบเครือข่ายก็ถือว่าเป็น “Modern Trade” หรือเป็น “การค้าปลีกสมัยใหม่” ที่กำลังโตเร็วมากและราคาหุ้นของบริษัทที่ทำก็วิ่งกันอุตลุต
นอกจากเรื่องของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาก็คือความคุ้มค่าของการค้าขายผ่านระบบ E-commerce เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ สินค้าของร้านค้าที่จะถูกทำลายง่ายที่สุดก็คือสินค้าที่มีมูลค่าหรือราคาปานกลาง เช่น ชิ้นละ 500 หรือ 1000 บาทขึ้นไปถึง 2-3 หมื่นบาท เป็นสินค้าที่มีความเป็นมาตรฐานสูง มีแบบจำกัด ตัวอย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ หรือไม่ก็เป็นสินค้าที่คนซื้อมีรสนิยมเฉพาะตัวเช่น เสื้อผ้าผู้หญิงเป็นต้น
สินค้าที่น่าจะยังปลอดภัยจาก E-commerce พอสมควรก็คือสินค้าที่มีราคาแพงมากหรือถูกมากที่ทำให้ไม่คุ้มที่จะขายหรือจัดส่งให้กับลูกค้า สินค้าราคาแพงมากเช่นบ้านหรือเครื่องประดับเพชรนั้นเป็นเพราะคนซื้อ “คุ้ม” ที่จะเดินทางไปดูหรือเลือกซื้อสินค้านั้นที่ร้านแทนที่จะดูจากอินเตอร์เน็ตและไม่แน่ใจว่าสินค้าจะดูดีจริงหรือไม่ ส่วนสินค้าที่ถูกมากเพียงชิ้นละไม่เกิน 4-50 บาท เช่นสินค้าในร้านสะดวกซื้อนั้น มันไม่คุ้มสำหรับบริษัทที่จะรับคำสั่งและจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและการจัดส่ง ในขณะที่สินค้าบริโภคและอุปโภคที่ใช้ประจำวันอย่างวอลมาร์ทเองนั้น แม้ว่าแต่ละรายการอาจจะไม่แพงแต่เนื่องจากรายการที่ซื้อแต่ละครั้งมักจะมีจำนวนมาก รวมแล้วอาจจะมีมูลค่า 3-4000 บาท ซึ่งคุ้มสำหรับการทำ E-commerce ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายโดยเฉพาะที่เป็นรายใหญ่อย่างอะเมซอน
ในฐานะที่เป็น VI และมองการลงทุนระยะยาว ในระยะหลังนี้ ก่อนที่จะซื้อหุ้นค้าปลีก ผมคงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าในที่สุดหรือในระยะเวลาอันไม่นาน มันจะมีโอกาสที่จะถูกทำลายโดย E-commerce หรือไม่ประกอบด้วยเสมอ นั่นคือกรณีในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในตลาดหุ้นเวียตนามเองนั้น บริษัทที่ทำโมเดิร์นเทรดแบบเครือข่ายกลับกำลังโตวันโตคืนและความเสี่ยงเรื่อง E-commerce น่าจะยังมีน้อยยกเว้นสินค้าบางอย่างที่อาจจะถูกแทนที่ง่ายเช่น โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
อวสานของโมเดิร์นเทรด?/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
อวสานของโมเดิร์นเทรด?/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เมื่อเร็ว ๆ นี้ บัฟเฟตต์ได้ขายหุ้นวอลมาร์ท ห้างค้าปลีกอันดับหนึ่งของโลก ที่เขาเข้าลงทุนมากว่า 10 ปีจนหมดหรือเกือบหมด เขาเคยมีหุ้นวอลมาร์ทคิดเป็นเงินประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือหนึ่งแสนล้านบาท แต่ในระยะสองสามปีที่ผ่านมาเขาก็ได้ทยอยขายหุ้นออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเขาก็ได้ขายหุ้นเทสโก้ซึ่งเป็นห้างค้าปลีกอันดับสามของโลกออกไปหมดเช่นเดียวกันแม้ว่าการขายในครั้งนั้นอาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาเรื่องของบรรษัทภิบาลก็ตาม ถ้าจะวิเคราะห์ดู บัฟเฟตต์น่าจะสรุปแล้วว่า อนาคตของ Modern Trade หรือ “ค้าปลีกสมัยใหม่”—สำหรับคนไทย ที่บัฟเฟตต์เรียกว่า “Traditional Trade” หรือ “ค้าปลีกดั้งเดิม” นั้น กำลังถึงกาล “อวสาน” หรือกำลังถดถอยลงเรื่อย ๆ ปัญหาของ “ค้าปลีกดั้งเดิม” ในสายตาบัฟเฟตต์ก็คือ การเข้ามารุกของการ “ค้าปลีกสมัยใหม่” คือ E-commerce ที่ค้าขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ตนำโดยบริษัทอะเมซอนที่สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่วอลมาร์ทไม่สามารถต่อสู้ได้แม้จะพยายามนำระบบ E-commerce ของตนเองเข้าร่วมแข่งขันด้วยก็ตาม
คำถามที่สำคัญสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยก็คือ “โมเดิร์นเทรด” ของไทยนั้น กำลังถึงกาล “อวสาน” หรือกำลัง “หมดยุค” ไม่โตหรือโตช้าลงไปมากอย่างที่อาจจะกำลังเกิดขึ้นในอเมริกาหรือยัง? การที่จะตอบคำถามนั้นได้ เราคงต้องมาทำความเข้าใจในเรื่องของเศรษฐศาสตร์การค้าปลีกในภาพใหญ่เสียก่อนว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไรในประวัติศาสตร์และทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น
ในสังคมที่ยังไม่พัฒนาเท่าไรนั้น การค้าปลีกจะทำกันใน “ตลาดสด” หรือร้านค้าซึ่งอาจจะรวมถึงบ้านที่อยู่อาศัยของเจ้าของที่จะมี “หน้าร้าน” ที่เป็นทางสัญจรของผู้คน ผู้ค้าจำนวนมากมักจะเป็นเจ้าของร้านและเป็นพนักงานขายด้วย ร้านค้าแต่ละแห่งนั้น จะมีทำเลที่ตั้งเพียงแห่งเดียวหรือมีจำนวนไม่มาก ระบบการบริหารร้านค้าเป็นแบบที่อาศัยเจ้าของและพนักงานเป็นคนจัดการซึ่งมักจะมีประสิทธิภาพต่ำ เหนือสิ่งอื่นใด มันก็ไม่คุ้มที่เขาจะลงแรงทำระบบที่มีต้นทุนสูงแต่ค้าขายนิดเดียว
สังคมที่ “กำลังพัฒนา” หรือสังคมที่คนมีรายได้ดีขึ้นเป็นคนชั้นกลางมากขึ้นแบบไทยนั้น ระบบค้าปลีกก็จะเริ่มเปลี่ยนไปเป็นระบบที่ให้บริการแก่คนซื้อดีขึ้น วิธีการค้านั้นก็คือ การเป็นระบบ Modern Trade หรือการ “ค้าปลีกสมัยใหม่” ที่มีการจัดตั้งร้านค้าในอาคารที่ทันสมัยปรับอากาศตลอดปี มีการสร้างเครือข่ายร้านจำนวนมากทั่วประเทศหรือในบริเวณกว้าง ร้านทุกร้านที่เป็นชื่อเดียวกันมักจะมีระบบบริหารร้านค้าที่ดีและเหมือนหรือใกล้เคียงกัน ด้วยวิธีการแบบนี้ มันสามารถให้บริการที่ดีขึ้นและด้วยต้นทุนการบริหารที่ลดลงเนื่องจากมันมี Economies of Scale หรือมีการประหยัดเนื่องจากขนาดของยอดขายที่สูงซึ่งทำให้คุ้มที่จะลงทุนในระบบที่ดีและมีราคาแพงได้
ยุคสมัยปัจจุบันที่เป็น “Digital Economy” ซึ่งทำให้ต้นทุนในการติดต่อสื่อสารและโลจิสติกส์หรือการขนส่งเคลื่อนย้ายสินค้าต่ำลงมาก ทำให้ระบบการค้าปลีกผ่านอินเตอร์เน็ตหรือ E- commerce ก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ ความจำเป็นที่จะต้องมีหน้าร้านเพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาซื้อสินค้าก็ลดลงเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน ต้นทุนในการโฆษณาผ่านสื่อสมัยใหม่ก็ถูกลงและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยเฉพาะในสังคมสมัยใหม่ที่ผู้คนต่างก็ “ดูจอ” เพื่อหาข้อมูลและติดต่อสื่อสารเกือบทุกอย่างที่ตนเองต้องการผ่านโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต นี่ทำให้ผู้ขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตไม่ต้องมีหน้าร้านและไม่ต้องเสียค่าโฆษณามากอย่างผู้ค้า “ดั้งเดิม” อย่างวอลมาร์ท และนั่นทำให้อะเมซอนซึ่งเพิ่งจะเริ่มทำการค้ามาแค่ประมาณ 20 ปี โดยที่ไม่มีหน้าร้านเลย มียอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และในที่สุดก็จะมากกว่าวอลมาร์ทซึ่งก่อตั้งมากว่าห้าสิบปีและมีสาขาทั่วสหรัฐและในโลก มูลค่าหุ้นของอะเมซอนในปัจจุบันนั้นใหญ่กว่าวอลมาร์ท คอสโค และทาร์เก็ท ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐรวมกัน
ข้อสรุปของผมก็คือ ความก้าวหน้าหรือการเติบโตของการค้าปลีกนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของสังคมและเรื่องทางเศรษฐกิจของการทำธุรกิจค้าปลีก ประการแรกก็คือ ถ้าเป็นสังคมเจริญแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่มีความมั่งคั่งสูงอย่างในสหรัฐ การค้าปลีกก็จะมุ่งหน้าเข้าสู่การค้าแบบ E-commerce ซึ่งจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และจะทำลายการค้าที่ผ่านร้านเครือข่ายจำนวนมากในที่สุด แน่นอน มันไม่หมดไป แต่จะค่อย ๆ น้อยลง และนั่นทำให้ธุรกิจไม่โตและราคาหุ้นค่อย ๆ ถดถอยลงอย่างในกรณีหุ้นวอลมาร์ทที่หุ้นไม่ไปไหนมาหลายปีและกำลังตกลงอย่างช้า ๆ อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างไทยเองนั้น ระบบการค้าแบบมีหน้าร้านเป็นเครือข่ายส่วนใหญ่ก็ยังโตอยู่แม้ว่าในระยะยาวอาจจะมีความเสี่ยงที่จะถูกทดแทนจากการค้าแบบ E-commerce ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่ “เพิ่งจะเริ่มพัฒนาเร็ว” อย่างเวียตนามเองนั้น การค้าแบบเครือข่ายก็ถือว่าเป็น “Modern Trade” หรือเป็น “การค้าปลีกสมัยใหม่” ที่กำลังโตเร็วมากและราคาหุ้นของบริษัทที่ทำก็วิ่งกันอุตลุต
นอกจากเรื่องของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาก็คือความคุ้มค่าของการค้าขายผ่านระบบ E-commerce เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ สินค้าของร้านค้าที่จะถูกทำลายง่ายที่สุดก็คือสินค้าที่มีมูลค่าหรือราคาปานกลาง เช่น ชิ้นละ 500 หรือ 1000 บาทขึ้นไปถึง 2-3 หมื่นบาท เป็นสินค้าที่มีความเป็นมาตรฐานสูง มีแบบจำกัด ตัวอย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ หรือไม่ก็เป็นสินค้าที่คนซื้อมีรสนิยมเฉพาะตัวเช่น เสื้อผ้าผู้หญิงเป็นต้น
สินค้าที่น่าจะยังปลอดภัยจาก E-commerce พอสมควรก็คือสินค้าที่มีราคาแพงมากหรือถูกมากที่ทำให้ไม่คุ้มที่จะขายหรือจัดส่งให้กับลูกค้า สินค้าราคาแพงมากเช่นบ้านหรือเครื่องประดับเพชรนั้นเป็นเพราะคนซื้อ “คุ้ม” ที่จะเดินทางไปดูหรือเลือกซื้อสินค้านั้นที่ร้านแทนที่จะดูจากอินเตอร์เน็ตและไม่แน่ใจว่าสินค้าจะดูดีจริงหรือไม่ ส่วนสินค้าที่ถูกมากเพียงชิ้นละไม่เกิน 4-50 บาท เช่นสินค้าในร้านสะดวกซื้อนั้น มันไม่คุ้มสำหรับบริษัทที่จะรับคำสั่งและจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและการจัดส่ง ในขณะที่สินค้าบริโภคและอุปโภคที่ใช้ประจำวันอย่างวอลมาร์ทเองนั้น แม้ว่าแต่ละรายการอาจจะไม่แพงแต่เนื่องจากรายการที่ซื้อแต่ละครั้งมักจะมีจำนวนมาก รวมแล้วอาจจะมีมูลค่า 3-4000 บาท ซึ่งคุ้มสำหรับการทำ E-commerce ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายโดยเฉพาะที่เป็นรายใหญ่อย่างอะเมซอน
ในฐานะที่เป็น VI และมองการลงทุนระยะยาว ในระยะหลังนี้ ก่อนที่จะซื้อหุ้นค้าปลีก ผมคงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าในที่สุดหรือในระยะเวลาอันไม่นาน มันจะมีโอกาสที่จะถูกทำลายโดย E-commerce หรือไม่ประกอบด้วยเสมอ นั่นคือกรณีในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในตลาดหุ้นเวียตนามเองนั้น บริษัทที่ทำโมเดิร์นเทรดแบบเครือข่ายกลับกำลังโตวันโตคืนและความเสี่ยงเรื่อง E-commerce น่าจะยังมีน้อยยกเว้นสินค้าบางอย่างที่อาจจะถูกแทนที่ง่ายเช่น โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น