รายงานวิศวกรสร้างบ้านฉบับที่ 2

กระทู้คำถาม
สวัสดีครับเพื่อนๆชาวพันทิพย์

เนื่องจากผมได้มีโอกาสในการ สร้างบ้านของผมเอง เป็นบ้านของคุณพ่อคุณแม่ผม
ตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบไปจนถึงการสร้างจนแล้วเสร็จ

เป็นโอกาสอันดีที่จะได้รวบรวมข้อมูลตั้งแต่ต้นจนจบให้ผู้ที่มีความสนใจได้ศึกษาและติดตามกันครับ
ถ้าผิดถูกอย่างไรก็สามารถแนะนำได้ครับ

อันนี้เป็นรายงานฉบับเดิมที่เคยเขียนไว้ครับ
สามารถอ่านควบคู่กันได้

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

จากที่ผมลงไว้ตอนที่ 1 https://ppantip.com/topic/36115803
วันนี้ก็จะมาต่อตอนที่ 2 เลยนะครับ

หลังจากที่ตอน 1 ที่ผมได้เขียนเรื่องงานออกแบบ
ต่อไปก็จะเป็นขั้นตอนการทำหน้างานจริงโดยจะเริ่มจากหมวดงานเสาเข็มเจาะ
ในการดำเนินงานจะเริ่มจากการวางผังทั้งโครงการและระยะร่นต่างๆโดยการวางผังจะอ้างอิงจาก GRID LINE ตามระยะต่างๆที่ปรากฏในแบบก่อสร้าง



จากรูปแสดงตำแหน่งของ Footing จะเห็นว่ามีเส้น GRID LINE ทั้งฝั่งแนวราบและแนวดิ่ง
โดยฝั่งแนวราบจะเป็นตัวอกษร A-E และ แนวดิ่งเป็นตัวเลข 1-6 และที่จุดตัดของ GRID LINE จะเป็นตำแหน่งของ Footing แต่ละตัว

เราสามารถสร้าง GRID LINE แบบนี้ที่หน้างานได้เช่นกันโดยใช้วิธีทำผังไม้รอบทั้งโครงการ
และขึงเส้นเอ็นทำเป็น “ GRID LINE สมมุติ” เพื่อหาตำแหน่ง Footing และ ตำแหน่ง เสาเข็ม ที่หน้างานจริง





ในการทำผังไม้และขึงเส้นเอ็นทำ GRID LINE จะขึ้นจาก "แนวหมายเลข 6" ก่อน  โดยวัดจากแนวเขตที่ดินฝั่งขวาเข้ามา 3 เมตรเท่ากับะยะร่น
เราก็จะได้ "แนวหมายเลข 6" ขึ้นมาเป็นแนวแรก

เมื่อได้ "แนวหมายเลข6" แล้วจากนั้นก็จะขึ้น "แนวอักษร A" ซึ่งตั้งฉากอยู่กับแนว "หมายเลข6" โดยเราจะใช้กระเบื้องแกรนิโต้ช่วยในการทำแนวฉาก
โดยเลื่อนแนวกระเบื้องให้ขนานกับ "เส้นเอ็นของแนวหมายเลข6" ก่อน จากนั้นจึงดึงเส้นเอ็น "แนวอักษรA" ให้ได้แนวกับ "อีกด้านหนึ่งของกระเบื้องที่ตั้งฉาก" กับ "แนวหมายเลข 6" เราก็จะได้ "แนวอักษร A" ขึ้นมา

แต่ "แนวอักษร A" นี้ก็ต้องวัดอีกว่าห่างจาก "แนวที่บินฝั่งบน" เท่ากับ 3.00 ม. ตามระยะร่น
ซึ่งถ้าไม่ได้ก็ต้องปรับขยับ "แนวอักษร A" ใหม่อีกครั้ง

เมื่อได้ "แนวอักษรA" มาแล้ว ก็วัดระยะจาก "แนวอักษรA" ลงมาด้านล่าง ขนานกับ "แนวหมายเลข 6" เท่ากับ 11.80 เมตร ก็จะได้ "แนวอักษรE"
ซึ่งตอนนี้เราก็จะได้ทั้งหมด 3 แนวคือ ด้านบน ด้านข้างขวา และ ด้านล่าง

จากนั้นก็วัดระยะจาก "แนวหมายเลข 6" ไปด้านซ้าย ขนานกับ "แนวอักษร A" และ "แนวอักษรE" เท่ากับ 13.05 เมตร ก็จะได้ตำแหน่งของ "แนวหมายเลข1"

และเราจะได้แนวกรอบนอกทั้ง 4 ด้านเป็นรูปสี่เหลี่ยม จากนั้นก็จะตรวจสอบความถูกต้อง
โดยวัดระยะจาก "แนวอักษร A" ถึง "แนวอักษร E" บน "บนแนวหมายเลข 1" ก็จะได้เท่ากับ 11.80 เมตร

ถ้าไม่ได้ก็ต้องตรวจสอบที่มุมต่างๆว่าได้ฉากหรือไม่และพยายามจัดให้ได้ระยะห่างที่ถูกต้อง และแนวจุดตัดก็ต้องได้ฉากเช่นกัน
และที่สำคัญคือระดับของผังไม้ที่ใช้รอบด้านที่ใช้ขึงเอ็นก็ต้องได้ระดับเดียวกัน
เพราะถ้าผังไม้ไม่เท่ากันก็จะเพิ่มขึ้นระยะบนเส้นเอ็นเพราะเกิดแนวลาดเอียงและเกิดความผิดเพี้ยน ซึ่งผมใช้กล้องระดับในการตรวจสอบเป็นหลัก

เมื่อเราตรวจสอบแล้วว่าด้านกว้างได้ระยะ 11.80 เมตร และด้านยาวได้ 13.05 เมตร
ก็ต้องทำการตรวจสอบระยะร่นต่างๆใหม่อีกครั้งว่าด้านบนและด้านซ้ายได้ระยะร่นเท่ากับ 3.00 ม.
เพราะในการปรับต่างๆอาจไปกระทบระยะร่นและตัวเลขผิดเพี้ยนได้
แต่ถ้าตัวเลขต่างๆถูกต้องแล้วการปรับในขั้นนี้จะง่ายเพราะในการปรับจะขยับแนวทั้งหัวและท้ายเท่ากันให้ตรงตามตัวเลขก็จะได้แนวที่ถูกต้อง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่