ความเป็นมาของ กฎหมายควบคุมอาวุธปืนในประเทศไทย

ความเป็นมาของ กฎหมายควบคุมอาวุธปืนในประเทศไทย

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทย พบว่ามีการนำปืนใหญ่มาใช้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น
มีเอกสารโบราณที่กล่าวถึงปืนใหญ่ เช่น

พ.ศ.2091-2111 พระราชพงศาวดารกรุงสยาม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
โปรดเกล้าให้นำปืนใหญ่ ชื่อ นารายณ์สังหาร ลงเรือไปยิงกองทัพของพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้

พ.ศ.2034-2037 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ปืนที่แต่เดิมเรียกกันว่า ปืนไฟ มีการนำมาใช้ในประเทศไทย
ช่วงติดต่อทางการค้ากับประเทศโปรตุเกส

พ.ศ.2076-2089 พระไชยราชาธิราช มีการว่าจ้าง กองพลปืนไฟและทหารรับจ้างสัญชาติโปรตุเกส
เข้าเป็นทหารในราชสานัก ปืนที่นำเข้ามีสองแบบ คือ

ปืนไฟแบบพกพา เป็นปืนขนาดสั้น บรรจุกระสุนทีละ 1 นัด ยิงในระยะกลาง
ปืนคาบศิลา เป็นปืนยาวที่ออกแบบ ยิงในระยะไกล


พ.ศ.2179 (ค.ศ.1636) จดหมายเหตุ โยส เซาเต็น ผู้จัดการบริษัทการค้าฮอลันดา
เข้ามาสมัยพระเจ้าทรงธรรม และสมัยพระเจ้าปราสาททอง บรรยายว่า

กองทัพของพระเจ้าแผ่นดินสยาม มีปืนใหญ่ ซึ่งมีคุณภาพดีหลายกระบอก แต่พวกเขาไม่ชำนาญวิธีใช้
ส่วนกองทัพเรือนั้น มีเรือรบเป็นจำนวนมากและมีปืนใหญ่บรรทุกไปด้วยก็จริง แต่ทหารบนเรือรบยังไม่ชำนาญการใช้


พ.ศ.2230 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ เอกอัครราชฑูตฝรั่งเศสผู้มีอำนาจเต็มของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ฝรั่งเศส
บรรยายว่า

ชาวสยามไม่ใคร่มีปืนใหญ่มาก โปตุเกตุเมื่อมาเกาผู้หนึ่งที่ถึงแก่กรรมในราชการสงคราม
ได้หล่อปืนใหญ่ถวาย(สมเด็จพระนารายณ์ฯ) หลายกระบอก
แต่ปืนใหญ่ที่โปตุเกตุหล่อเหล่านั้น ข้าพเจ้าสงสัยว่าเขารู้จักทำดีได้จริงจังเหมือนในทวีปยุโรปเจียวหรือ

แต่บางท่านบอกข้าพเจ้าว่า เมื่อทำก็เอาฆ้อนตีย้ำกระบอกปืนเวลาเผาแดง ให้เนื้อเหล็กแน่นด้วยเหมือนกัน
มิใช่เทเหล็กหลอมเอาลวกๆ แต่พอแล้วๆ ไป



La canons siamois offerts à Louis XIV

กรุงศรีฯได้ส่งปืนใหญ่เป็นบรรณาการไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จำนวน 2 กระบอก
ซึ่งได้มีส่วนร่วมในปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2332
โดยทั้งสองกระบอกยิงทลายประตูคุกบาสตีย์ เดอ โชมองต์ บันทึกว่า

ปืนใหญ่ 2 กระบอก ยาว 6 ฟุต (1.82ม.)
ทำด้วยเหล็กที่ยืดได้ตีเป็นรูปในขณะที่เย็นลง มีลวดลายเป็นเงินที่ฝังไว้
ตั้งไว้บนรถซึ่งมีลวดลายเป็นเงินฝังไว้ด้วย และทำในประเทศสยาม


แม้ว่าการนำอาวุธปืนมาใช้ในประเทศไทย มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แต่ช่วงเวลานั้น
ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายออกมาควบคุมการใช้อาวุธปืนโดยตรง
มีแต่ความคิดที่จะออกกฎหมายควบคุม การมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองของบุคคล  

พ.ศ.2295 ได้มีการออก

กฎให้แก่ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการเมือง จ.ศ.144  กำหนดให้มีการทำตำหนิรูปพรรณปืนไว้ว่า

ถ้าลูกบ้านนั้นมีปืนไว้ สำหรับตัวใช้ ก็ให้เอาปืนนั้นมาช่วยบอกแก่ผู้ใหญ่ นายบ้าน
และให้ผู้ใหญ่บ้านนั้น วัดชั่นยาว และกฎหมายเอารูปพรรณปืนนั้นไว้
ถ้าแลหาจาฤกมิได้ ให้เอาไปให้ผู้รักษาเมือง
ผู้รั้งกรมการจาฤกปืนนั้น ลงในลำกล้องปืนนั้นให้สำคัญตามกฎ

แล้วให้มอบปืนนั้นไว้ให้แก่เจ้าของ ให้เอาไว้สำหรับตัว


จากข้อความข้างต้นได้กำหนดว่า

ถ้าบุคคลใดมีอาวุธปืนเอาไว้ใช้ส่วนตัว ถ้าปืนไม่มีรูปพรรณหรือมี
แต่เป็นภาษาที่อ่านไม่ได้ ให้เจ้าของปืน นำปืนมาให้เจ้าหน้าที่ ทำเครื่องหมายไว้เป็นหลักฐาน


ต่อมาได้มีข้อบังคับเกี่ยวกับอาวุธปืน เท่าที่ปรากฏส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปของประกาศ กล่าวคือ

จ.ศ. 1222 (พ.ศ. 2403) รัชกาลที่ 4
พระราชบัญญัติกฎหมายท้องน้า, ห้ามบุกรุก, ห้ามยิงปืน ฯลฯ
ที่เกี่ยวกับการห้ามยิงปืนตอนหนึ่ง ความว่า

อนึ่ง ถ้ายิงปืนศิลาแลปืนนกหลอก ตามวังเจ้าต่างกรม แลเจ้ายังไม่ได้ตั้งกรม
แลบ้านข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อยจะตั้งป้อมหัดบุตรหลานญาติ พี่น้องบ่าวไพร่ ให้ชำนิชำนาญในการยิงปืนเล็กก็ได้
แต่ให้จดหมายไปบอกต่อเจ้าพนักงานกรมมหาดไทย กรมพระกระลาโหม ให้รู้กำหนดเวลาทุกวัน
ฤาในวันมีกำหนด เจ้าพนักงานกรมมหาดไทย จะได้ให้กรมพระแสงไปตรวจตราดูป้อมที่จะหัดยิง
ให้พ้นทางคนเดินไปเดินมา เมื่อหัดยิงนั้นจะได้ไม่ถูกเป็นอันตราย

อนึ่งถ้าไปยิงสัตว์ก็ยิงได้ แต่ที่ป่าที่ทุ่งนา ที่มิใช่ที่วัดที่บ้าน มิใช่ทางคนที่เดินไปมา
ถ้าจะยิงในวัด ที่บ้าน ที่หนทางคนเดินไปมา ผู้ที่จะยิงลางทีคนดีบ้าง คนเมาสุราบ้าง
ไม่ทันเห็นคนก็จะไปถูกคนป่วยเจ็บตาย

ครั้นไปเอาตัวผู้ที่ยิงถูกคนตายนั้น มาจะปรับไหมทำโทษตามกฎหมายว่ายิงคนตาย ผู้ที่ยิงนั้นก็เถียงว่า
หาได้แกล้งยิงคนไม่ ต้องถุ้งเถียงโอกเอกกันกว่าจะตัดสินตกลงก็ยาก ปืนนั้นก็เป็นอาวุธทางไกล
อาจที่จะทำลายชีวิตคนได้กว่าจักษุเห็น คือบังฝา บังต้นไม้ ไม่เห็นได้ด้วยจักษุ ปืนก็ตลอดไปถูกคนตายได้

เหตุนี้จึงได้ตั้งกฎหมายไว้ ห้ามมิให้ยิงปืนเล็กที่บ้าน หรือที่ป่าที่ทุ่งก็ดี
ห้ามมิให้ยิง ช้างม้า แลโคกระบือ แลสัตว์ ที่เจ้าของหวงห้ามเลี้ยงไว้

ถ้าผู้ใดไม่ฟังขืนยิงปืนให้ผิดแต่กฎหมายนี้ จะต้องปรับไหมเงิน
ตั้งแต่ 160 บาทขึ้นไป และ 400 บาทลงมา ตามยิงมากแลน้อยตามกฎหมาย
ถูกช้าง ม้า โค กระบือ สุกร เป็ด ไก่ สัตว์ที่มีเจ้าของเลี้ยงอยู่ทำให้ตาย
จะต้องคิดเงินให้ตามราคา ของๆเจ้าของตามของมากแลน้อย

อีกส่วนหนึ่ง ถ้าคนฝ่ายไทยยิงถูกคนป่วยเจ็บตายจะปรับไหมลงโทษ ตามกฎหมายเดิมในประเทศสยาม
ถ้าคนต่างประเทศถูกยิงคนป่วยเจ็บตาย กงสุลจะปรับไหมทำโทษตามกฎหมาย

(กฎหมายนี้เลิกใช้สมัยรัชกาลที่ 5)

จ.ศ.1229 (พ.ศ.2410)
ประกาศตั้งผู้จับคนยิงปืนในแขวงกรุงเทพฯ โดยมิได้บอกปากเสีย
ประกาศเรื่องยิงปืนให้ขออนุญาตก่อน
ประกาศห้ามไม่ให้พนักงานผู้ยิงปืนพิธีตรุษ ทำอย่างอ้ายนาก อ้ายแย้ม ปีเถาะนพศก ในประกาศฉบับนี้บัญญัติว่า

อ้ายนาก หลวงสุรินทรเดช และอ้ายแย้มขุนจงใจยุทธ ทำความผิดให้ขัดเคืองใต้ฝ่าละอองฯ
ให้ลงพระราชอาญาจำไว้ ณ คุก ถ้าพนักงานยิงปืนในพระราชพิธีตรุษ ณ วัน 14ฯ 4 ค่า ปีเถาะนพศก
ถ้าผู้ต้องการยิงปืนกระทำความผิดให้ขัดเคืองฝ่าละอองฯ เหมือนอย่างอ้ายนาก อ้ายแย้ม
จะเอาตัวผู้นั้นทำโทษถึงประหารชีวิตพร้อมด้วยกันกับอ้ายนาก อ้ายแย้มนั้น


จ.ศ.1236 (พ.ศ.2417) ประกาศเรื่องปืนแคตริงกัน โดยกำหนดห้ามมิให้ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน หรือหาไว้ใช้สอย
(ซึ่งปืนแคตริงกัน ในปี จ.ศ.1246 (พ.ศ.2427) มี ประกาศห้ามเครื่องศาสตราวุธ กระสุนดินดำ
โดยกำหนดห้ามมิให้นำเครื่องศาสตราวุธ และกระสุนดินดำ และเครื่องระเบิดต่างๆ เข้ามาในราชอาณาจักร)


ประกาศเจ้านครเชียงใหม่ ห้ามมิให้ราษฎรลักลอบซื้อเครื่องศาสตราวุธ กระสุนดินดำ
(เชียงใหม่ เป็นประเทศราช ทางกรุงเทพเพียงแต่ส่งข้าหลวงกำกับขึ้นไปเป็นที่ปรึกษาให้กับเจ้าผู้ครอง
นครเท่านั้น ดังนั้น เชียงใหม่จึงมีอำนาจที่จะออกกฎหมายภายในเองได้)

ร.ศ.118 (พ.ศ.2442) ประกาศข้อบังคับสาหรับอาวุธต่างๆ กระสุนดินปืนซึ่งมาจากต่างประเทศ ให้ใช้ไปพลางก่อน ร.ศ.118
โดยห้ามมิให้ผู้ใดบรรทุกเครื่องศาสตราวุธ กระสุนดินดำเข้าในราชอาณาจักรสยาม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานฝ่ายสยามก่อน
และให้ตราพระราชบัญญัติเข้าโดยผิดกฎที่กำหนดมีโทษปรับและจำขัง หรือทั้งปรับทั้งจำและให้ริบเป็นของรัฐบาลสยาม

ประกาศห้ามมิให้ถืออาวุธปืนและยิงปืน และให้จุดใต้ตามเพลิงในเวลากลางคืนในมณฑลต่างๆ
แต่ประกาศนี้ได้ถูกยกเลิกไปในปี ร.ศ.128 (พ.ศ.2452)

ร.ศ.127(พ.ศ. 2450) รัชกาลที่ 5
ตรากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ขึ้นใช้บังคับ

โดยกฎหมายฉบับนี้ ได้มีบทบัญญัติเรื่องอาวุธปืน ส่วนลหุโทษ คือ ปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท ในลักษณะความผิดที่
ผู้ใดพกพาอาวุธปืนที่บรรจุกระสุนปืน เข้าไปในหมู่บ้าน ในเมือง ในที่ชุมนุมชน
และห้ามเด็ดขาด ไม่ให้นำอาวุธปืนเข้าไปในงานนักขัตฤกษ์

ร.ศ.128 (พ.ศ.2452) ประกาศข้อบังคับสำหรับการที่จะนำปืน และปัศตันกระสุนดินดำเข้ามาในมณฑลภูเก็ต
ซึ่งเป็นการให้อำนาจข้าหลวง เทศาภิบาล และผู้ว่าราชการเมืองในมณฑลภูเก็ต
ออกใบอนุญาตให้นำปืนเข้ามาในเมืองได้ตามข้อบังคับที่กำหนดไว้

ร.ศ.131(พ.ศ. 2455) รัชกาลที่ 6 อาวุธปืนในประเทศไทยมีความแพร่หลายมากขึ้นจึงเกิด
พระราชบัญญัติอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนรัตนโกสินทรศก 131

พระราชบัญญัตินี้ ห้ามมิให้ผู้ใดทำหรือซ่อมแซม หรือค้าขาย
หรือมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนในราชอาณาจักร โดยมิได้รับอนุญาตจากรัฐบาล

กล่าวคือ ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนอำเภอเสียก่อน ส่วนอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน
ที่ใช้ในยามสงครามห้ามมิให้ออกใบอนุญาตในการนำเข้า ทำซื้อขาย ซ่อมแซมเป็นอันขาด

แต่เมื่อมีการประกาศ พรบ.อาวุธปืน 2455 นั้น
ให้ใช้บังคับเฉพาะกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ 1 ตุลาคม รศ.113 เป็นต้นไป
และได้กำหนดว่า ถ้าจะให้บังคับใช้ในมณฑลอื่น จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา

จนกระทั่งวันที่ 7 สิงหาคม ร.ศ.132 (พ.ศ. 2456) จึงมี พรบ.อาวุธปืน 2455
กำหนดให้ใช้ใน 17 มณฑล ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน ร.ศ.132 (พ.ศ.2456) เป็นต้นไป

หลังจากได้ประกาศใช้ พรบ.อาวุธปืน 2455 แล้ว
ได้มีประกาศ และกฎเสนาบดีต่างๆ ออกตามพรบ.อาวุธปืน 2455มาอีก

พ.ศ.2458 ได้มี ประกาศแก้ไขเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนรัตนโกสินทรศก 131

โดยกำหนดคำว่า อาวุธปืนเสียใหม่ ให้มีความหมายว่า

อาวุธปืนทุกชนิด รวมทั้งที่ใช้ยิงได้ด้วยวิธีอัดลม หรือเครื่องกลอย่างใด
และตลอดถึงส่วนใดของอาวุธปืนนั้นๆ ด้วยแต่ไม่กินความถึง ปืนสาหรับเด็กเล่น


พ.ศ.2477 ประกาศใช้ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดและดอกไม้เพลิง พ.ศ.2477
วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2477 มีสาระสำคัญดังนี้

1. ห้ามมิให้บุคคลใดมีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนบางชนิด เช่น อาวุธปืนและกระสุนปืนที่ใช้ในการสงคราม
2. กำหนดการอนุญาตให้บุคคลผู้มิได้ออกร้านค้าอาวุธปืน หรือผู้ทำ มีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนได้ โดยการได้รับอนุญาตก่อน
3. มีการอนุญาตให้ผู้ออกร้านค้าอาวุธปืน หรือผู้สั่งทำ ซ่อม และค้าอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนได้โดยรับใบอนุญาตก่อน
4. วัตถุระเบิดและดอกไม้เพลิง ห้ามมิให้ผู้ใดทำ สั่ง นำเข้า ค้า หรือมี เว้นแต่จะได้รับอนุญาตก่อน
5. ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้ ต้องระวางโทษจาคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ

พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดและดอกไม้เพลิงพุทธศักราช 2477 ใช้บังคับอยู่ 13 ปี
จึงตรากฎหมายขึ้นใหม่อีกครั้ง และได้เพิ่มเรื่องสิ่งเทียมอาวุธปืนขึ้น โดยใช้ชื่อว่า

พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490
ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2490 และมีการบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2490 จนถึงปัจจุบัน

หลังจากนั้นได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีก 9 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2543 ซึ่งใช้ต่อเนื่องมาจน ถึงปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่าการออกกฎหมายควบคุมการมีและใช้อาวุธปืนนั้น มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
พ.ศ.2295 การออก กฎให้แก่ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการเมือง จ.ศ.144
ต่อมามีข้อบังคับซึ่งมักจะอยู่ในรูปของประกาศ จนกระทั่งได้มาออกเป็นพรบ.อาวุธปืน 2490
ใช้มาจนถึงปัจจุบันดังที่ได้กล่าวข้างต้น เมื่อพิเคราะห์ตามประวัติกฎหมายอาวุธปืนดังกล่าวเห็นได้ว่า

แรกทีคนไทยมีสิทธิ และเสรีภาพในการครอบครองซื้อขายอาวุธปืนได้อย่างเสรี ต่อมาตระหนักได้ว่า
อาวุธปืนมีอันตรายมาก และมีอำนาจทะลุทะลวงได้สูงเกิดกว่าที่มนุษย์จะคาดคิดได้ เช่น

ยิงทะลุรถยนต์ ทะลุผนังบ้าน หรือแม้กระทั่งทะลุตัวมนุษย์ จึงได้เกิดการกำหนดข้อห้ามไม่ให้มีการยิงปืนโดยไม่มีเหตุอันควรขึ้น
ต่อมาได้ออกฎไม่ให้พก พาอาวุธปืนเข้าไปในงานรื่นเริง หรืองานนักขัตฤกษ์
เมื่ออาวุธปืนมีการครอบครอง และใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น จึงมีการจดทะเบียนอาวุธปืน เช่นเดียวต่างประเทศ
และออกข้อกำหนดในการซื้อขายแลกเปลี่ยน การโอนอาวุธปืนโดยต้องได้รับความยินยอม หรือได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนอำเภอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่