บันทึกย้อนอดีต
เขาชะโงกถิ่นเก่าเหล่าสื่อสาร
พ.สมานคุรุกรรม
เขาชะโงก เป็นชื่อของยอดเขาลูกหนึ่ง ในจำนวนหลายลูก ซึ่งรายล้อมพื้นที่ราบ ตำบลพรหมณี อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ยอดเขาที่เรียงรายจากทิศตะวันตก ย้อนไปทางทิศเหนือ แล้วอ้อมมาทางทิศตะวันออก คือ เขายางดำหรือเขาประดู่ เขาแหลม เขาฝาละมี เขาน้อย และเขาดิน ถัดจากนั้นไปทางเบื้องหลังจึงเป็นเทือกเขาใหญ่ ที่มีอาณาเขตครอบคลุมเข้าไปในสี่จังหวัด คือสระบุรี นครราชสีมา ปราจีนบุรี และนครนายก ซึ่งยอดที่สูงสุดในเขตนครนายก ก็คือ เขาเขียว พื้นที่ทั้งหมดในบริเวณที่กล่าวถึงนี้ อยู่ในเขตหวงห้ามของกองทัพบก มีเนื้อที่รวมทั้งตัวภูเขาเหล่านั้นด้วย ประมาณ ห้าหมื่นถึงแปดหมื่นไร่
ในสมัยโบราณนั้นเป็นป่าทึบ ลึกลับและน่ากลัว เพราะเป็นแดนที่มีไข้ป่าชุกชุม มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในรัชสมัยของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช นั้นนครนายกเป็นเมืองหน้าด่าน ด้านตะวันออก ขณะที่กรุงศรีอยุธยากำลังทำศึกกับพม่าด้านตะวันตก เขมรก็ยกกองทัพเข้ามาตีเมืองปราจีนบุรี เมื่อยึดได้แล้วก็เคลื่อนทัพใหญ่เข้าสู่เมืองนครนายก นายด่านขณะนั้น มีกำลังทหารอยู่เพียงเล็กน้อย ได้ทำการต่อสู้ต้านทานอย่างเต็มกำลัง แต่เหลือวิสัยที่จะสู้กับกองทัพเขมรได้ จึงรวบรวมผู้คนถอยไปตั้งมั่นอยู่ที่เขาชะโงก เพราะเป็นชัยภูมิที่ดี ข้าศึกไม่สามารถติดตามกวาดล้างได้ ในระหว่างนี้ชาวนครนายกได้หลบหนีออกจากเมืองไปเป็นจำนวนมาก พวกชายฉกรรจ์ก็เข้ามาซุ่มหลบภัย อยู่กับนายด่านที่เขาชะโงกเพิ่มขึ้น ครั้นเสร็จศึกพม่าแล้ว ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งกองทัพมาขับไล่เขมร นายด่านผู้นี้จึงได้นำกำลังที่มีอยู่ เข้าช่วยโจมตีเขมร จนข้าศึกถอยออกไปจากแผ่นดินไทย
นายด่านท่านนี้จึงเป็นที่เคารพนับถือ ของชาวนครนายก ว่าเป็นวีรบุรุษผู้กล้าหาญ เมื่อท่านสิ้นชีวิตลง ก็ถือว่าเป็นเทพารักษ์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ มีผู้ตั้งศาลให้บนโขดหินใหญ่ใกล้เขาชะโงก ขนานนามว่า เจ้าพ่อขุนด่าน เป็นที่เคารพสักการะตลอดมา จนถึงปัจจุบัน
ที่บริเวณเขาชะโงกนี้ ถัดจากเจ้าพ่อขุนด่านเข้าไปเป็นหน้าผา และมีน้ำตกเล็ก ๆ ตามธรรมชาติ ที่หน้าผานั้นมีภาพพระพุทธรูปยืน เล่ากันว่ามีแสงสะท้อนจากอ่างเก็บน้ำตก ไปจับที่ผนัง บางรายก็ว่าเป็นเพราะรอยด่าง จากน้ำฝนที่ไหลลงมานานปี จึงเกิดเป็นลวดลาย คล้ายพระพุทธรูปยืน พอมองเห็นได้ราง ๆ ต่อมามีบริษัทเอกชน และของทางราชการ ได้เข้าไปตั้งโรงงานผลิตหินอ่อนที่เชิงเขา จึงได้เขียนเป็นภาพพระพุทธรูป ประทับยืนให้เห็นชัดเจนขึ้น เรียกว่าพระพุทธฉาย อยู่ในบริเวณวัดพระฉาย
ในบริเวณเขาชะโงกนี้ เป็นพื้นที่ซึ่งอุดมไปด้วยหินอ่อนและหินสบู่ ซึ่งใช้แกะสลักประดิษฐ์เป็นวัสดุของใช้ หรือเครื่องประดับได้สวยงาม ทั้งเป็นหินที่ทนไฟใช้ทำเตาในโรงงาน อุตสาหกรรมทำแก้ว หรือโรงงานกระดาษ ได้ดีเป็นพิเศษ และมีปริมาณมากมายเหลือเฟือ ว่ากันว่าขุดไปชั่วชีวิตก็ยังไม่หมด
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารญี่ปุ่นได้ยกกำลัง เข้ามาตั้งมั่นอยู่ในบริเวณนี้ โดยได้ตั้งกองพันอยู่ที่เขาชะโงก และมีกองร้อยเรียงรายไปจนถึงเขาฝาละมี เพื่อใช้เป็นที่เก็บสมบัติ หรือทรัพย์สินที่ยึดมาจากมาลายูและสิงคโปร์ รวมทั้งเป็นที่ควบคุมเชลยด้วย โดยให้เชลยเหล่านั้นสร้างที่พักอาศัย ทำด้วยไม้ไผ่มุงจาก และตัดทางเข้าจากถนนใหญ่ สายหินกองไปอรัญประเทศ เข้ามาถึงเขาชะโงกเป็นระยะทางประมาณ ๘ กิโลเมตร บนยอดเขาสูงมีการปรับพื้นที่ให้ราบเรียบ เพื่อเป็นที่ตรวจการณ์ หรือตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน ตามถ้ำหรืออุโมงค์ ก็ได้ดัดแปลงเป็นคลัง เก็บอาวุธกระสุน และทรัพย์สินที่สำคัญ
เมื่อสงครามสงบญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ได้ยอมมอบตัวต่อกองทัพสัมพันธมิตร ที่เข้ามาในประเทศไทย และได้จัดการกลบถ้ำหรืออุโมงค์เหล่านั้นเสียทั้งสิ้น ชาวบ้านทั่วไปจึงมีความเข้าใจว่า ทหารญี่ปุ่นคงจะฝังอาวุธและทรัพย์สินต่าง ๆ ไว้บนเขา และหลังจากสงครามสงบแล้วหลายสิบปี ก็ยังมีชาวญี่ปุ่นมาดูสถานที่บริเวณเขาชะโงก เขาฝาละมี หลายกลุ่มหลายคณะ จึงทำให้น่าเชื่อขึ้นไปอีกว่า ทหารญี่ปุ่นที่เคยอยู่บริเวณนี้ และยังมีชีวิตอยู่ หรือลูกหลานของเขาเหล่านั้น อาจจะมาสืบหาแหล่งซ่อนสมบัติ หรืออาจจะมาดูสถานที่แห่งความหลัง หรือมาเคารพวิญญาณของบรรพบุรุษของเขาเท่านั้นก็เป็นได้ เพราะยังไม่มีใครเคยพบสมบัติเหล่านั้น จนกระทั่งทหารสื่อสารได้เข้าไปครอบครองพื้นที่บริเวณนี้
ก่อนที่ทหารสื่อสารจะเข้ามาตั้งอยู่ที่เขาชะโงก เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ พื้นที่นี้ได้มีหน่วยเสบียงสัตว์ ของกรมการสัตว์ทหารบก ตั้งอยู่ก่อนแล้ว แต่เป็นเพียงหน่วยเล็ก ๆ เมื่อกองทัพบกได้อนุมัติให้หน่วยทหารสื่อสาร เข้าครอบครองพื้นที่ หน่วยนั้นจึงได้เคลื่อนย้ายไป เนื่องจากกองทัพบกได้จัดตั้ง ศูนย์การทหารสื่อสาร ออกไปเป็นเอกเทศ แยกจากกรมการทหารสื่อสาร เช่นเดียวกับ ศูนย์การทหารราบ ที่ปราณบุรี ศูนย์การทหารม้า ที่สระบุรี และศูนย์การทหารปืนใหญ่ ที่ลพบุรี โดยได้เลือกพื้นที่บริเวณเขาชะโงก จังหวัดนครนายก เพราะมีภูมิประเทศเหมาะสมที่จะเป็นหน่วยฝึก และเพื่อให้เป็นหน่วยรักษาพื้นที่ของกองทัพบก ซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวางด้วย
พื้นที่ซึ่งจะให้ทหารสื่อสารรักษานี้ ทางราชการได้เวรคืนที่ดินจากชาวบ้าน ประมาณ ๖๐-๗๐ หลังคาเรือน และขึ้นทะเบียนไว้เรียบร้อยแล้ว เป็นเนื้อที่ประมาณ ๘๕๐ ไร่ กรมยุทธโยธาทหารบก ได้เริ่มก่อสร้างอาคารให้ตามลำดับ กรมการทหารสื่อสารจึงได้จัดกำลังทหารจำนวนหนึ่ง ไปเฝ้ารักษาอาคาร และจัดสถานีวิทยุไว้สำหรับติดต่อ กับหน่วยในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เดือน กรกฏาคม ๒๕๐๑
จนถึงเดือน ธันวาคม ๒๕๐๑ จึงได้เคลื่อนย้าย กองร้อยโรงเรียนทหารสื่อสาร เข้าที่ตั้งเขาชะโงกเป็นหน่วยแรก และมีแผนที่จะย้าย กองพันนักเรียนนายสิบทหารสื่อสาร เป็นลำดับต่อไป แต่เนื่องจากที่ตั้งแห่งนี้ ขาดแคลนสิ่งสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้าและน้ำประปา ไม่สามารถรับการสนับสนุนจากจังหวัดนครนายก ได้ ต้องติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเอง และใช้น้ำตกธรรมชาติบนวัดพระฉาย โดยต่อท่อลงมาใช้ เมื่อถึงหน้าแล้งน้ำแห้งก็ขาดแคลนเป็นประจำ ประกอบกับอาคารที่ก่อสร้างด้วยไม้ ชำรุดทรุดโทรมเร็ว เนื่องจากมีปลวกมากกำจัดไม่ทัน จึงยังไม่ได้เคลื่อนย้ายหน่วยอื่นมาเพิ่มเติม คงมีแต่กองร้อยโรงเรียนทหารสื่อสาร ตั้งอยู่เพียงหน่วยเดียวเท่านั้น
หน่วยนี้ได้ตั้งอยู่ที่เขาชะโงกถึงสิบปี ใน พ.ศ.๒๕๑๐ มีการยุบหน่วยศูนย์การทหารสื่อสาร เหลือเป็นโรงเรียนทหารสื่อสารตามเดิม ลดกำลังกรมนักเรียนลง เป็นกองพันนักเรียน จึงได้ย้ายกองบังคับการกองพันนักเรียน และกองร้อยนักเรียนนายสิบ ไปตั้งรวมกับกองร้อยโรงเรียนทหารสื่อสาร ในพื้นที่เขาชะโงก และเปิดป้ายชื่อหน่วยเมื่อเดือน เมษายน ๒๕๑๑
หน่วยได้พยายามแก้ไขการขาดแคลนสิ่งสาธารณูปโภค โดยเฉพาะน้ำใช้ ได้ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล แต่น้ำที่สูบขึ้นมาก็เป็นน้ำปูนสีขาวขุ่น น้ำกินได้อาศัยน้ำฝนที่รองจากหลังคาบ้านพัก เมื่อขาดแคลนน้ำกินก็ต้องใช้รถไปบรรทุกน้ำประปาจากจังหวัด เป็นระยะทางไปกลับประมาณ ๓๖ กิโลเมตร ไฟฟ้าก็ยังคงต้องใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าของหน่วยเอง ซึ่งสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมาก ต่อมาผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายส่งกำลังบำรุง และคณะ ได้ไปตรวจเยี่ยมหน่วย และได้พบเห็นข้อขัดข้องเหล่านั้น จึงรายงานให้กองทัพบกทราบ จึงได้รับอนุมัติหลักการให้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โครงการ ๒ ปี โดยให้กรมโยธาธิการทหารบก ประสานกับกรมชลประทาน แต่ก็มีอุปสรรคยังไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นกองพันนักเรียน จึงต้องเผชิญกับความขาดแคลนเหล่านั้นต่อไป
จนถึง พ.ศ.๒๕๑๓ กองทัพบกมีโครงการที่จะย้ายกรมการทหารสื่อสารทั้งหมด ไปอยู่ที่ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร การก่อสร้างทั้งหลายในพื้นที่เขาชะโงก จึงต้องระงับลง แต่หน่วยของทหารสื่อสาร ก็ต้องอยู่ที่เขาชะโงกต่อไปอีก ๑๐ ปี ถึง พ.ศ.๒๕๒๒ การก่อสร้างอาคาร กองพันนักเรียน โรงเรียนทหารสื่อสาร ที่กระทุ่มแบนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งสถานที่ทำงานและบ้านพักข้าราชการ จึงได้เคลื่อนย้ายกองพันนักเรียน และหน่วยรองที่ตั้งอยู่ ณ เขาชะโงก ตำบลพรหมณี อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ไปเข้าที่ตั้งใหม่ ณ ตำบลสวนหลวง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัด สมุทรสาคร ตั้งแต่ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ตามลำดับ จนถึง พฤษภาคม ๒๕๒๓ จึงได้เคลื่อนย้ายหน่วยสุดท้ายไปเข้าที่ตั้งใหม่ครบถ้วน รวมอยู่ในพื้นที่ของ กองพันทหารสื่อสาร กองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งต่อมาได้ขยายเป็น กรมทหารสื่อสารที่ ๑ ในปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ ได้รับพระราชทานนามว่า ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน
สำหรับพื้นที่เขาชะโงก ยังมีทหารสื่อสารเหลืออยู่แต่หน่วยพยาบาล เพื่อช่วยราชการ โครงการ เกษตรรวมใจ ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริ อยู่ในความดูแลของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) เขาฝาละมี ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ๒๕๒๓ จนถึง พ.ศ.๒๕๒๖ จึงได้เปลี่ยนเป็น ศูนย์พัฒนาการเกษตรเบ็ดเสร็จ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมการสัตว์ทหารบก
ทหารสื่อสารจึงถอนกำลังที่ส่งไปช่วยราชการ กลับเข้าที่
ตั้งปกติ และหมดภารกิจที่เกี่ยวข้องกับเขาชะโงก ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา.
##########
เขาชะโงกถิ่นเก่า ๑๖ ก.พ.๖๐
เขาชะโงกถิ่นเก่าเหล่าสื่อสาร
พ.สมานคุรุกรรม
เขาชะโงก เป็นชื่อของยอดเขาลูกหนึ่ง ในจำนวนหลายลูก ซึ่งรายล้อมพื้นที่ราบ ตำบลพรหมณี อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ยอดเขาที่เรียงรายจากทิศตะวันตก ย้อนไปทางทิศเหนือ แล้วอ้อมมาทางทิศตะวันออก คือ เขายางดำหรือเขาประดู่ เขาแหลม เขาฝาละมี เขาน้อย และเขาดิน ถัดจากนั้นไปทางเบื้องหลังจึงเป็นเทือกเขาใหญ่ ที่มีอาณาเขตครอบคลุมเข้าไปในสี่จังหวัด คือสระบุรี นครราชสีมา ปราจีนบุรี และนครนายก ซึ่งยอดที่สูงสุดในเขตนครนายก ก็คือ เขาเขียว พื้นที่ทั้งหมดในบริเวณที่กล่าวถึงนี้ อยู่ในเขตหวงห้ามของกองทัพบก มีเนื้อที่รวมทั้งตัวภูเขาเหล่านั้นด้วย ประมาณ ห้าหมื่นถึงแปดหมื่นไร่
ในสมัยโบราณนั้นเป็นป่าทึบ ลึกลับและน่ากลัว เพราะเป็นแดนที่มีไข้ป่าชุกชุม มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในรัชสมัยของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช นั้นนครนายกเป็นเมืองหน้าด่าน ด้านตะวันออก ขณะที่กรุงศรีอยุธยากำลังทำศึกกับพม่าด้านตะวันตก เขมรก็ยกกองทัพเข้ามาตีเมืองปราจีนบุรี เมื่อยึดได้แล้วก็เคลื่อนทัพใหญ่เข้าสู่เมืองนครนายก นายด่านขณะนั้น มีกำลังทหารอยู่เพียงเล็กน้อย ได้ทำการต่อสู้ต้านทานอย่างเต็มกำลัง แต่เหลือวิสัยที่จะสู้กับกองทัพเขมรได้ จึงรวบรวมผู้คนถอยไปตั้งมั่นอยู่ที่เขาชะโงก เพราะเป็นชัยภูมิที่ดี ข้าศึกไม่สามารถติดตามกวาดล้างได้ ในระหว่างนี้ชาวนครนายกได้หลบหนีออกจากเมืองไปเป็นจำนวนมาก พวกชายฉกรรจ์ก็เข้ามาซุ่มหลบภัย อยู่กับนายด่านที่เขาชะโงกเพิ่มขึ้น ครั้นเสร็จศึกพม่าแล้ว ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งกองทัพมาขับไล่เขมร นายด่านผู้นี้จึงได้นำกำลังที่มีอยู่ เข้าช่วยโจมตีเขมร จนข้าศึกถอยออกไปจากแผ่นดินไทย
นายด่านท่านนี้จึงเป็นที่เคารพนับถือ ของชาวนครนายก ว่าเป็นวีรบุรุษผู้กล้าหาญ เมื่อท่านสิ้นชีวิตลง ก็ถือว่าเป็นเทพารักษ์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ มีผู้ตั้งศาลให้บนโขดหินใหญ่ใกล้เขาชะโงก ขนานนามว่า เจ้าพ่อขุนด่าน เป็นที่เคารพสักการะตลอดมา จนถึงปัจจุบัน
ที่บริเวณเขาชะโงกนี้ ถัดจากเจ้าพ่อขุนด่านเข้าไปเป็นหน้าผา และมีน้ำตกเล็ก ๆ ตามธรรมชาติ ที่หน้าผานั้นมีภาพพระพุทธรูปยืน เล่ากันว่ามีแสงสะท้อนจากอ่างเก็บน้ำตก ไปจับที่ผนัง บางรายก็ว่าเป็นเพราะรอยด่าง จากน้ำฝนที่ไหลลงมานานปี จึงเกิดเป็นลวดลาย คล้ายพระพุทธรูปยืน พอมองเห็นได้ราง ๆ ต่อมามีบริษัทเอกชน และของทางราชการ ได้เข้าไปตั้งโรงงานผลิตหินอ่อนที่เชิงเขา จึงได้เขียนเป็นภาพพระพุทธรูป ประทับยืนให้เห็นชัดเจนขึ้น เรียกว่าพระพุทธฉาย อยู่ในบริเวณวัดพระฉาย
ในบริเวณเขาชะโงกนี้ เป็นพื้นที่ซึ่งอุดมไปด้วยหินอ่อนและหินสบู่ ซึ่งใช้แกะสลักประดิษฐ์เป็นวัสดุของใช้ หรือเครื่องประดับได้สวยงาม ทั้งเป็นหินที่ทนไฟใช้ทำเตาในโรงงาน อุตสาหกรรมทำแก้ว หรือโรงงานกระดาษ ได้ดีเป็นพิเศษ และมีปริมาณมากมายเหลือเฟือ ว่ากันว่าขุดไปชั่วชีวิตก็ยังไม่หมด
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารญี่ปุ่นได้ยกกำลัง เข้ามาตั้งมั่นอยู่ในบริเวณนี้ โดยได้ตั้งกองพันอยู่ที่เขาชะโงก และมีกองร้อยเรียงรายไปจนถึงเขาฝาละมี เพื่อใช้เป็นที่เก็บสมบัติ หรือทรัพย์สินที่ยึดมาจากมาลายูและสิงคโปร์ รวมทั้งเป็นที่ควบคุมเชลยด้วย โดยให้เชลยเหล่านั้นสร้างที่พักอาศัย ทำด้วยไม้ไผ่มุงจาก และตัดทางเข้าจากถนนใหญ่ สายหินกองไปอรัญประเทศ เข้ามาถึงเขาชะโงกเป็นระยะทางประมาณ ๘ กิโลเมตร บนยอดเขาสูงมีการปรับพื้นที่ให้ราบเรียบ เพื่อเป็นที่ตรวจการณ์ หรือตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน ตามถ้ำหรืออุโมงค์ ก็ได้ดัดแปลงเป็นคลัง เก็บอาวุธกระสุน และทรัพย์สินที่สำคัญ
เมื่อสงครามสงบญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ได้ยอมมอบตัวต่อกองทัพสัมพันธมิตร ที่เข้ามาในประเทศไทย และได้จัดการกลบถ้ำหรืออุโมงค์เหล่านั้นเสียทั้งสิ้น ชาวบ้านทั่วไปจึงมีความเข้าใจว่า ทหารญี่ปุ่นคงจะฝังอาวุธและทรัพย์สินต่าง ๆ ไว้บนเขา และหลังจากสงครามสงบแล้วหลายสิบปี ก็ยังมีชาวญี่ปุ่นมาดูสถานที่บริเวณเขาชะโงก เขาฝาละมี หลายกลุ่มหลายคณะ จึงทำให้น่าเชื่อขึ้นไปอีกว่า ทหารญี่ปุ่นที่เคยอยู่บริเวณนี้ และยังมีชีวิตอยู่ หรือลูกหลานของเขาเหล่านั้น อาจจะมาสืบหาแหล่งซ่อนสมบัติ หรืออาจจะมาดูสถานที่แห่งความหลัง หรือมาเคารพวิญญาณของบรรพบุรุษของเขาเท่านั้นก็เป็นได้ เพราะยังไม่มีใครเคยพบสมบัติเหล่านั้น จนกระทั่งทหารสื่อสารได้เข้าไปครอบครองพื้นที่บริเวณนี้
ก่อนที่ทหารสื่อสารจะเข้ามาตั้งอยู่ที่เขาชะโงก เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ พื้นที่นี้ได้มีหน่วยเสบียงสัตว์ ของกรมการสัตว์ทหารบก ตั้งอยู่ก่อนแล้ว แต่เป็นเพียงหน่วยเล็ก ๆ เมื่อกองทัพบกได้อนุมัติให้หน่วยทหารสื่อสาร เข้าครอบครองพื้นที่ หน่วยนั้นจึงได้เคลื่อนย้ายไป เนื่องจากกองทัพบกได้จัดตั้ง ศูนย์การทหารสื่อสาร ออกไปเป็นเอกเทศ แยกจากกรมการทหารสื่อสาร เช่นเดียวกับ ศูนย์การทหารราบ ที่ปราณบุรี ศูนย์การทหารม้า ที่สระบุรี และศูนย์การทหารปืนใหญ่ ที่ลพบุรี โดยได้เลือกพื้นที่บริเวณเขาชะโงก จังหวัดนครนายก เพราะมีภูมิประเทศเหมาะสมที่จะเป็นหน่วยฝึก และเพื่อให้เป็นหน่วยรักษาพื้นที่ของกองทัพบก ซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวางด้วย
พื้นที่ซึ่งจะให้ทหารสื่อสารรักษานี้ ทางราชการได้เวรคืนที่ดินจากชาวบ้าน ประมาณ ๖๐-๗๐ หลังคาเรือน และขึ้นทะเบียนไว้เรียบร้อยแล้ว เป็นเนื้อที่ประมาณ ๘๕๐ ไร่ กรมยุทธโยธาทหารบก ได้เริ่มก่อสร้างอาคารให้ตามลำดับ กรมการทหารสื่อสารจึงได้จัดกำลังทหารจำนวนหนึ่ง ไปเฝ้ารักษาอาคาร และจัดสถานีวิทยุไว้สำหรับติดต่อ กับหน่วยในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เดือน กรกฏาคม ๒๕๐๑
จนถึงเดือน ธันวาคม ๒๕๐๑ จึงได้เคลื่อนย้าย กองร้อยโรงเรียนทหารสื่อสาร เข้าที่ตั้งเขาชะโงกเป็นหน่วยแรก และมีแผนที่จะย้าย กองพันนักเรียนนายสิบทหารสื่อสาร เป็นลำดับต่อไป แต่เนื่องจากที่ตั้งแห่งนี้ ขาดแคลนสิ่งสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้าและน้ำประปา ไม่สามารถรับการสนับสนุนจากจังหวัดนครนายก ได้ ต้องติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเอง และใช้น้ำตกธรรมชาติบนวัดพระฉาย โดยต่อท่อลงมาใช้ เมื่อถึงหน้าแล้งน้ำแห้งก็ขาดแคลนเป็นประจำ ประกอบกับอาคารที่ก่อสร้างด้วยไม้ ชำรุดทรุดโทรมเร็ว เนื่องจากมีปลวกมากกำจัดไม่ทัน จึงยังไม่ได้เคลื่อนย้ายหน่วยอื่นมาเพิ่มเติม คงมีแต่กองร้อยโรงเรียนทหารสื่อสาร ตั้งอยู่เพียงหน่วยเดียวเท่านั้น
หน่วยนี้ได้ตั้งอยู่ที่เขาชะโงกถึงสิบปี ใน พ.ศ.๒๕๑๐ มีการยุบหน่วยศูนย์การทหารสื่อสาร เหลือเป็นโรงเรียนทหารสื่อสารตามเดิม ลดกำลังกรมนักเรียนลง เป็นกองพันนักเรียน จึงได้ย้ายกองบังคับการกองพันนักเรียน และกองร้อยนักเรียนนายสิบ ไปตั้งรวมกับกองร้อยโรงเรียนทหารสื่อสาร ในพื้นที่เขาชะโงก และเปิดป้ายชื่อหน่วยเมื่อเดือน เมษายน ๒๕๑๑
หน่วยได้พยายามแก้ไขการขาดแคลนสิ่งสาธารณูปโภค โดยเฉพาะน้ำใช้ ได้ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล แต่น้ำที่สูบขึ้นมาก็เป็นน้ำปูนสีขาวขุ่น น้ำกินได้อาศัยน้ำฝนที่รองจากหลังคาบ้านพัก เมื่อขาดแคลนน้ำกินก็ต้องใช้รถไปบรรทุกน้ำประปาจากจังหวัด เป็นระยะทางไปกลับประมาณ ๓๖ กิโลเมตร ไฟฟ้าก็ยังคงต้องใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าของหน่วยเอง ซึ่งสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมาก ต่อมาผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายส่งกำลังบำรุง และคณะ ได้ไปตรวจเยี่ยมหน่วย และได้พบเห็นข้อขัดข้องเหล่านั้น จึงรายงานให้กองทัพบกทราบ จึงได้รับอนุมัติหลักการให้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โครงการ ๒ ปี โดยให้กรมโยธาธิการทหารบก ประสานกับกรมชลประทาน แต่ก็มีอุปสรรคยังไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นกองพันนักเรียน จึงต้องเผชิญกับความขาดแคลนเหล่านั้นต่อไป
จนถึง พ.ศ.๒๕๑๓ กองทัพบกมีโครงการที่จะย้ายกรมการทหารสื่อสารทั้งหมด ไปอยู่ที่ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร การก่อสร้างทั้งหลายในพื้นที่เขาชะโงก จึงต้องระงับลง แต่หน่วยของทหารสื่อสาร ก็ต้องอยู่ที่เขาชะโงกต่อไปอีก ๑๐ ปี ถึง พ.ศ.๒๕๒๒ การก่อสร้างอาคาร กองพันนักเรียน โรงเรียนทหารสื่อสาร ที่กระทุ่มแบนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งสถานที่ทำงานและบ้านพักข้าราชการ จึงได้เคลื่อนย้ายกองพันนักเรียน และหน่วยรองที่ตั้งอยู่ ณ เขาชะโงก ตำบลพรหมณี อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ไปเข้าที่ตั้งใหม่ ณ ตำบลสวนหลวง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัด สมุทรสาคร ตั้งแต่ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ตามลำดับ จนถึง พฤษภาคม ๒๕๒๓ จึงได้เคลื่อนย้ายหน่วยสุดท้ายไปเข้าที่ตั้งใหม่ครบถ้วน รวมอยู่ในพื้นที่ของ กองพันทหารสื่อสาร กองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งต่อมาได้ขยายเป็น กรมทหารสื่อสารที่ ๑ ในปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ ได้รับพระราชทานนามว่า ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน
สำหรับพื้นที่เขาชะโงก ยังมีทหารสื่อสารเหลืออยู่แต่หน่วยพยาบาล เพื่อช่วยราชการ โครงการ เกษตรรวมใจ ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริ อยู่ในความดูแลของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) เขาฝาละมี ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ๒๕๒๓ จนถึง พ.ศ.๒๕๒๖ จึงได้เปลี่ยนเป็น ศูนย์พัฒนาการเกษตรเบ็ดเสร็จ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมการสัตว์ทหารบก
ทหารสื่อสารจึงถอนกำลังที่ส่งไปช่วยราชการ กลับเข้าที่
ตั้งปกติ และหมดภารกิจที่เกี่ยวข้องกับเขาชะโงก ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา.
##########