แชร์ประสบการณ์ สอบเข้าหมอและเรียนหมอที่อเมริกา

ข้อมูลที่เขียนนี้อาจจะมีไม่ครบหรือไม่ครอบคลุมนะคะ บางมหาลัยอาจจะมีข้อยกเว้นที่เราไม่รู้ เราเขียนจากที่เราเจอมาเท่านั้น ถ้ามีคำถาม ถามได้นะคะ จะมาพยายามตอบทุกคำถาม หรือมีข้อแนะนำติชม พร้อมรับค่ะ

การสอบเข้าหมอต้องเริ่มจากการที่เรียนจบปริญญาตรีมาก่อน (บางมหาลัยมีให้แบบจบ ม ปลาย มาต่อเลย แต่ว่าน้อยมากจริงๆ หลายๆมหาลัยเคยลอง แต่ต้องพับโปรแกรมไป เพราะเด็กที่จบมาปลายมีความพร้อมไม่เท่ากับเด็กที่จบปริญญาตรี อันนี้เราขอข้ามประเด็นนี้ไปนะคะ มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน) จะเป็นปริญญาตรีสาขาไหนก็ได้ แต่ต้องเรียนมีวิชาบังคับให้ครบหน่วยกิต วิชาบังคับของแต่ละมหาลัยจะต่างกันไป แต่โดยหลักๆแล้ว ได้แก่วิชา ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ อังกฤษ และ เลข แต่บางมหาลัย(ส่วนใหญ่) ก็จะบังคับวิชาชีวเคมี สังคม นักเรียนส่วนใหญ่จึงเลือกเรียนสาขาชีวะวิทยาไปเลย หรือไม่ก็สรีระวิทยาไปเลย เพราะไหนๆก็ต้องเรียนอยู่แล้ว แต่ถ้าบางคนชอบทางอื่น มีความสนใจด้านอื่น จะเรียนการละครมาสอบหมอก็ไม่แปลก ตราบใดที่คุณมีวิชาบังคับ คุณก็สามารถสมัครได้ ทีนี้พอเข้าไปเรียนแล้วพื้นฐานจะแข็งเท่าเด็กสายวิทย์หรือไม่ อันนี้ก็แล้วแต่คน บางมหาลัยบังคับว่าวิชาบังคับต้องเรียนในอเมริกาเท่านั้น แต่บางมหาลัยก็บอกเลยว่าต้องจบปริญญาตรีจากอเมริกามาเท่านั้น (ตัวเราจบตรี จบโท ที่ไทยมาแล้ว มานั่งเรียนใหม่หมด -.-)

ระหว่างที่เรียนนั้น ก็ต้องมีงานจิตอาสาหรือประสบการณ์การทำงานไว้บ้าง เช่นไปอาสาสมัครในโรงพยาบาล งานอาสาช่วยสังคม หรือทำกิจกรรมในโรงเรียน อะไรก็ได้ที่คุณชอบและทำให้คุณเติบโต หรือคุณแน่ใจแน่ๆแล้วว่าจะเรียนหมอจริงๆ เราเองก็ไม่ได้ตามเทรนมาก เราทำงานสังคมที่เราอยากทำ และคิดว่าเราทำแล้วจะมีความสุข มากกว่าการที่ทำเพราะคิดว่ามันต้องทำ

การสมัครเข้าหมอจะใช้เวลายาวนานหลายเดือน จะเปิดรับสมัครช่วงเดือนมิถุนายน และจะประกาศผลเดือนอย่างช้าสุดก็อาจจะเป็นเมษาเลยก็ได้ แล้วแต่มหาลัย แต่ถ้าสมัครไว ก็อาจจะรู้ผลเร็วราวๆเดือนตุลาหรือธันวา แต่ละมหาลัยก็ต่างกันไป แต่โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระยะเวลาประมาณนี้ อาจจะเริ่มสมัครตั้งแต่กำลังเรียนปี 3 พอจบมาจะได้ต่อเข้าหมอไปเลย แต่หลายๆคนก็จะรอให้จบก่อน ค่อยสมัคร แล้วใช้ช่วงเวลาที่รอเรียนหมอ ไปทำอะไรที่อยากทำ หรือหลายๆคน ถ้าสมัครไม่ได้สักที ก็จะสมัครปริญญาโทไปด้วยเลย เพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวเองในปีถัดไป

การสอบจะต้องสอบ MCAT (The Medical Collage Admission Test) ประกอบด้วยวิชา ชีวะเคมี ชีวะ ฟิสิกส์ เคมี เคมีอินทรี(ออร์เคม) จิตวิทยาและสังคม และการคิดวิเคราะห์และการให้เหตุผล(ทางภาษา) ค่าสมัครสอบก็อยู่แถวๆ $310-$365 อยู่ที่ว่าสมัครเร็วหรือช้า หลังจากสอบแล้ว คะแนนจะเก็บไว้ 3 ปี ต่อให้สอบใหม่ ก็ยังมีคะแนนเก่าอยู่ด้วย และจะส่งคะแนนทั้งหมดไปให้ที่มหาลัย การเตรียมสอบของเราใช้เวลาหลายปี เพราะว่าเราเองไม่เก่งภาษาอังกฤษมาก่อน (สมัย ม 1-2 สอบยังได้เกรด2 สอบเอนทรานซ์ได้ 33 เต็ม 100 เรียนมหาลัยเราก็ได้ C ตลอด เราเพิ่งมาพัฒนาภาษาตอนอายุ 21-23) MCAT verbal reasoning เราว่ามันยากสำหรับเราอ่ะนะ ศัพท์ไม่ยาก แต่การตีความและตอบมันยากอ่ะ แต่พวกวิชาอื่นเราไม่ได้มีปัญหาอะไร เลยเอาพลังทั้งหมดไปลงที่ verbal reasoning อย่างเดียว ในที่สุด เราก็ตัดใจสอบ ผลออกมาก็ดีใจ ก็เริ่มสมัครเลย เราสอบรอบเดียว เพราะกลัวว่าถ้าสอบอีกคะแนน verbal reasoning จะไม่โชคดีเหมือนรอบแรก ฮาาาาา

นอกจากคะแนนแล้ว ก็จะต้องใช้ letter of recommendation และ essay จากนั้นเราก็ทำการยื่นสมัคร primary application โดยผ่านศูนย์กลางการสมัคร AAMC ค่าสมัครคือ $160 สำหรับมหาลัยแรก แล้วมหาลัยถัดไปก็คิดเพิ่ม มหาลัยละ $83 เช่น ถ้าสมัคร 20 มหาลัย ค่าสมัครรอบแรกคือ $160+(19x$83) = $1737 แล้วทางศูนย์ จะส่งทั้งหมดไปที่มหาลัย หลังจากที่มหาลัยได้ใบสมัครเราแล้ว ก็จะส่ง secondary application มาให้ ซึ่งเค้าก็จะ screen คร่าวๆว่าผ่านไหน แต่บางมหาลัยก็ไม่screenเลย ส่งให้หมดทุกคน เค้าก็จะได้เก็บค่าสมัครไป -.- ค่าสมัครแต่ละมหาลัยก็ต่างๆกันไป มีตั้งแต่ $60 - $200 (อันนี้คร่าวๆ อาจจะมีแพงหรือถูกกว่านี้ก็ได้) แต่ที่เราสมัครส่วนใหญ่จะอยู่ที่แถวๆ $100 ค่าสมัคร secondary นี้ต้องจ่ายเพิ่มจากตอนแรกค่ะ ไม่เกี่ยวกับ primary และต้องมี essay อีกต่างหาก ของเรานี่ก็ต้องอ่านแล้วอ่านอีก primary เราเขียนแก้ไปประมาณ 80-100 รอบ แล้วใช้เวลาเป็นปี เพราะพอเราเขียนไว้ เราจะทิ้งไว้สักสัปดาห์นึง หรือครึ่งสัปดาห์ พอให้มันลืมๆไปบ้าง แล้วพอกลับมาอ่านดู มันแปลกๆ เราก็จะแก้ได้ คำทุกคำมันต้องมี impact จะเขียนเพื่อให้ครบตามจำนวนคำไม่ได้ (คือคิดว่า ถ้าอ่านของเราแล้วต้องแบบว่า โว้วววววววววว อยากรับโว้ยยย คนนี้uniqueไม่เหมือนใคร) secondary บางอันเราก็เตรียมไว้นานเหมือนกัน สำหรับมหาลัยที่เราอยากไปแน่ๆ โดยรวมแล้วของเราช่วงสมัคร เราใช้เงินไปแถวๆ $4000 - $4500 รวมทั้งค่าเครื่องบินที่บินไปสัมภาษณ์อีก ทีนี้จะมากหรือน้อย ก็ขึ้นกับว่าเราจะสมัครกี่มหาลัย (นี่ยังไม่ได้เรียน ค่าใช้จ่ายก็อ่วมละ)

ถ้าผ่านแล้วก็จะเป็นการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งเทรนตอนนี้ก็คือ MMI (miltiple mini interview) คือจะมีหลายๆห้อง แต่ละห้องมีหนึ่งสถานการณ์หรือหนึ่งคำถาม อาจจะเป็น
- ทำไมอยากเป็นหมอ
- ทำไมอยากมาเรียนกับเรา
- สมมติว่าคุณชนน้องหมาคนอื่นตายแล้วตอนนี้กำลังจะเข้าไปบอกเจ้าจอง
- คุณไปเที่ยวต่างประเทศกับเพื่อนๆแล้วเพื่อนคุณหาย คุณจะทำยังไง
ที่ฮิตถามมากก็คือพวกที่ตอบตรงๆไม่ได้ จะเป็น topics ทางสังคมที่ค่อนข้างซับซ้อน หรือปัญหาethic  หรือกรณีที่เป็นข้อโต้เถียงในสังคมช่วงนั้นๆ หรืออะไรก็ได้ที่เค้าจะถาม ของเราที่เจอมามีตั้งแต่ 2 stations ไปจนถึง 12 stations แต่ละอันก็ประมาณ 7-9 นาที แล้วแต่ละคนก็จะให้คะแนน แล้วเอาคะแนนสัมภาษณ์นั้นไปพิจารณา ส่วนใหญ่เค้าจะดูว่าคุณดูจริงใจไหม ดูเย็นชาไหม เป็นมนุษย์โรบอทไหม ดูเข้ากับคนอื่นได้ไหม แม้จะตื่นเต้น แต่มันก็พอให้เห็นได้ อีกอย่างคือเค้าจะมองว่าคุณให้เหตุผลในคำตอบอย่างไร มากกว่าการที่คุณตอบว่าอะไร ยิ่งเหตุผลที่ลึกซึ้ง มาจากหลายมุมมอง จะได้คะแนนดี เพราะแสดงให้เห็นว่าเราก็มองจากมุมอื่นเป็น ซึ่งสำคัญมากในการเป็นหมอ คนไข้ 108 เค้าต้องมองไม่เหมือนคุณ สำหรับเรากว่าจะจบแต่ละวันนี่ก็หมดแรงเดินเลย เพราะใช้พลังงานเยอะ ไหนจะพลังสมองคิดคำตอบ ไหนจะพลังสมองเอาไว้คิดภาษาอังกฤษ ไหนจะพลังเอาไว้ควบคุมความตื่นเต้น บางวันมหาลัยโคตรใหญ่ กว่าจะเดินถึงตึกจากที่จอดรถ รองเท้าก็กัดซะระบม -.-

ทีนี้ก็เลือกว่าจะเรียนหมอแบบไหน หมอที่เมกามีสองแบบค่ะ คือ แบบ MD และแบบ DO ทั้งสองแบบมีใบประกอบอาชีพคล้ายๆกัน แต่ที่ MD ทำไม่ได้คือการทำ Osteopathic manipulative treatment ตัวเราเองเลือกเรียน DO เพราะว่าใกล้ครอบครัว ส่วนความต่างของ MD และ DO ก็จะเป็นเรื่องของการเข้าเฉพาะทางค่ะ ส่วนมาก MD จะเข้าเฉพาะทางมากกว่า แต่รายได้ทั้งสองเฉลี่ยก็พอๆกัน ถ้าเทียบระหว่างเฉพาะทางเดียวกัน และ MD จะไปทำงานต่างประเทศได้ง่ายกว่า ถ้าเข้าได้หลายที่ ก็ต้องเลือกว่าจะไปที่ไหน ส่วนใหญ่ก็จะเลือกจากชื่อเสียง ค่าเล่าเรียน บรรยากาศในมหาลัย ทุนวิจัย คนอื่นๆที่มาสัมภาษณ์ดูเข้ากันได้ไหม และใกล้ครอบครัว ค่าเรียนจะอยู่แถวๆ $33,000-$55,000 ต่อปี (อันนี้ไม่รวมค่าอื่นๆนะ) และต้องเรียน 4 ปี นักเรียนส่วนมากก็จะกู้เรียนกัน ยกเว้นว่าทางครอบครัวมีเงินช่วยจ่าย

โดยสองปีแรกจะเรียนวิชาพื้นฐาน แต่สมัยนี้หลายๆมหาลัยเริ่มให้นักเรียนเข้าดูคนไข้ตั้งแต่ปีหนึ่งเลย (มหาลัยเราเป็นแบบนี้) ตอนแรกๆก็กลัว นียังไม่รู้ไรเลยเนี่ยนะ ต้องสอบตรวจคนไข้ละ(OSCE) แต่มองย้อนไป เราชอบนะ เพราะว่ามันติดหัวดี แล้วเวลาเรียนมันทำให้รู้ว่า ที่นั่งอ่านหนังสือเป็นบ้าเป็นหลังนี่ก็เพื่อคนที่เราจะต้องดูในอนาคต มันทำให้ตัวหนังสือมีชีวิตชีวาขึ้น(ดูเวอร์นิดนึง ฮ่าๆๆ) ส่วนวิชาที่เรียน เวลาจะสอบก็เป็นเคสคนไข้ไปเลย แล้วใช้ความรู้พื้นฐานนั้นมาตอบ พอจบสองปีนี้ จะต้องสอบ USMLE step 1 จึงจะไปต่อได้

ถ้าได้ไปต่อ สองปีหลังก็เริ่ม rotations ไปที่คลินิคหรือหวอดต่างๆ ปี 3 จะเป็นวิชาบังคับ จะเลือกได้ 1-3 rotations ส่วนปีสี่ก็เลือกได้เยอะหน่อย
ระหว่างช่วงปี 3 นั้น ต้องคอยสอบเรื่อยๆในส่วนที่เราไป rotate มา เรียกว่า shelf exam ส่วนปีสี่นั้น ไม่มี shelf exam (ไม่รู้ว่าที่อื่นมีรึป่าว แต่มหาลัยเราไม่มี) ถึงแม้ไม่มี shelf exam เวลาเราไป rotate อาจารย์หมอ อาจจะให้สอบข้อสอบของเค้าก็ได้ เพื่อที่เค้าจะส่งใบประเมิณให้มหาลัยเราได้ ช่วงปีสี่นั้น ชีวิตค่อนข้างยุ่งเพราะว่าต้องสอบ USMLE step 2 CS/CK อาจจะสอบก่อนหรือหลังสมัครแพทย์ประจำบ้าน(residency) แพทย์ประจำบ้าน เงินเดือนพอประทังชีวิตแต่ชั่วโมงทำงานนี่เขี้ยวลากดิน (อันนี้เค้าบอกมาอีกทีนะ เรายังไม่ถึงจุดนั้น ฮ่าๆๆ) เงินเดือนของresident ที่นี่อยู่แถวๆ $50,000เศษ ไปถึง $50,000 กว่าต่อปี ถ้าตีเป็นเงินไทย อาจจะมองว่าเยอะ แต่ถ้ามองปัจจัยอื่นๆด้วย มันไม่เยอะมาก เพราะต้องเริ่มจ่ายเงินที่กู้มารวมทั้งดอกเบี้ยด้วย สมมติว่าของเราค่าเทอมปีละ $55,000 สี่ปีก็ $220,000 รวมดอกเบี้ยด้วยก็ $300,000-$400,000 อยู่ที่อัตราดอกเบี้ยและเราจ่ายได้เร็วแค่ไหน ฉะนั้น พอเริ่มทำงานหลายๆคนก็จะขอจ่ายแบบผ่อนๆไปก่อน คือขอจ่ายน้อยๆ แต่จ่ายเรื่อยๆ เรื่องเงินกู้นั้น มีปัจจัยหลายอย่างแล้วแต่ตัวบุคคลค่ะ บางคนที่ต้องกู้เรียนสมัยปริญญาตรีด้วย เงินกู้ก็จะทบไปอีกหลายเท่าตัว หรือถ้าต้องกู้เพื่อเป็นค่าอยู่อาศัยด้วย ก็ต้องบวกไปอีก

พอจบ residency แล้วอาจจะ สามปี หรืออาจจะเจ็ดปี จึงค่อยจะมีชีวิตเป็นของตนเอง (ถ้าไม่ต่อfellowship) เวลาก็อาจจะมีเยอะขึ้น แต่ก็แล้วแต่ว่าเฉพาะทางด้านไหน ส่วนเงินเดือนก็จะเพิ่มขึ้น อาจจะแถวๆ แสนนึงถึงสามแสนเหรียญต่อปี อยู่ที่ว่าทำเฉพาะทางด้านไหน ทำงานที่ไหน ทำเองหรือว่ารวมกลุ่มกัน..... สุดท้ายจะเรียนหมอ ต้องใจรักจริงๆค่ะ เพราะว่าหนทางแสนยาวไกล ค่าเรียนก็หนักหน่วง ผลสุดท้ายมันดี แต่ปัจจัยในชีวิตคุณ สามารถรอเก็บผลผลิตได้หรือไม่ ยังไงก็โชคดีนะคะ ........ THE END

ปล. มันมีหลายปัจจัยมากค่ะ ทั้งเรื่องเงิน เรื่องการเป็น citizen หรือ permanent resident เพราะเค้าอยากรับคนที่จะอยู่ต่อทำงานในประเทศ เค้าไม่อยากผลิตหมอแล้วออกนอกประเทศ แล้วถ้าไม่เป็น citizen หรือ permanent resident ก็อาจจะกู้เรียนไม่ได้ ดังนั้นก็ต้องมีเงินรอในแบงค์ และเล็งๆไปที่มหาลัยเอกชน ที่เขียนมาเพื่อเป็นแนวทาง เผื่อใครคิดๆไว้ แต่ยังไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี แต่ถ้าอยากจริงๆ คนเราก็จะหาทางค่ะ สู้ๆนะคะ อายุเฉลี่ยของนักเรียนมหาลัยเราอยู่ที่ 24 ปี แต่มีตั้งแต่อายุ 21-45 เราเองก็ส่วนมากจะอยู่กลุ่มพื่อนที่อายุปลาย20กว่าๆ 30ต้นๆ เพราะเข้ากันได้ดี อยู่กับเด็กๆแล้วเรางงมุกเด็กๆ คุยเรื่องอะไรฮิตๆสมัยนี้เราก็ตามไม่ทัน ฮ่าาาาาาา สำหรับน้องๆ ม ปลายที่คิดจะเรียนหมอที่เมกา แนะนำให้มาเรียนที่เมกา ตั้งแต่ ป ตรีเลยค่ะ ต่อให้ไปเรียนที่อังกฤษหรือแคนาดา อาจจะต้องเรียนใหม่
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่