มารู้จักกับอุปกรณ์ช่วยชีวิต Automated External Defibrillator : AED กันครับ

สวัสดีครับ  ในภาวะวิกฤติทางการแพทย์หลายอย่าง นั้น  ภาวะหัวใจหยุดเต้นเป็นภาวะหนึ่งที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
ในการปฐมพยาบาลผู้ที่หัวใจหยุดเต้นด้วยการ CPR แล้ว  หลังจากนั้น (ในเวลาอันสั้น) มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ตัวหนึ่ง
ที่จะช่วยให้หัวใจกลับมาเต้นตามเดิมด้วยตัวมันเองได้  อุปกรณ์นี้เรียกว่า Automated External Defibrillator  ย่อว่า AED ครับ
AED คือ เครื่องวินิจฉัยการเต้นของหัวใจ และ สามารถกระตุกหัวใจด้วย Pulse ไฟฟ้ากระแสตรง  เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นได้ปกติอีกครั้ง
โดยเครื่อง AED นี้  จะมีข้อจำกัดเหมือนกับเครื่องกระตุกหัวใจแบบอื่น ๆ คือ ช่วยได้เฉพาะภาวะที่หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบสั่นพริ้ว
หรือ หัวใจห้องล่างเต้นเร็ว (VT)  หรือ แผ่วระรัว (VF)  

ก่อนอื่น  มารู้จักระบบไฟฟ้าหัวใจกันก่อน
   หัวใจของเราเต้นเองได้อย่างไร ?  หัวใจเต้นได้ด้วยการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งทำงานด้วยระบบไฟฟ้าที่ปล่อยมาจาก
"ขั้วไฟฟ้า" ภายในหัวใจเอง  ต้นกำเนิดของไฟฟ้านี้มาจากกลุ่ม Cells ที่ชื่อว่า pacemaker cells  มันสามารถสร้าง
กระแสประสาทขึ้นมาเองได้และส่งไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้เองทำให้หัวใจเต้นสม่ำเสมอครับ  pacemaker cells จะมี 2 ชนิด
คือ  Sinoatrial node (SA node)  และ  Atrioventricular node (AV junction)

  แต่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินกับบุคคลใด  ที่ทำให้ระบบไฟฟ้าหัวใจที่ออกจาก SA node - AV junction ทำงานผิดปกติ
ไม่ว่าจะเกิดจาก โรค  อุบัติเหตุ  จะทำให้คลื่นไฟฟ้าที่ไปสั่งงานกล้ามเนื้อหัวใจนั้น ผิดปกติ  ทำให้การเต้นของหัวใจ
ผิดจังหวะไปมาก  ส่วนใหญ่จะมีอาการ "สั่นพริ้ว" โดยจะบีบตัวเบา ๆ สูงถึงนาทีละ 200 - 300 ครั้ง  มิได้บีบตัวอย่างแข็งแรง
นาทีละ 60 - 100 ครั้งดั่งปกติ  ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้  ความดันตกวูบ  ทำให้หมดสติ
และอาจเกิดภาวะสมองตายตามมาได้ครับ .... หากบุคคลใดเกิดภาวะเช่นนี้ ก็จะต้องได้รับการ CPR และจะต้อง
ได้รับการกระตุกหัวใจอย่างเร่งด่วน  ซึ่งเป็นหน้าที่ของ AED ครับ


อุปกรณ์ AED คืออะไร
AED คือ เครื่องวินิจฉัยการเต้นของหัวใจ และ สามารถกระตุกหัวใจด้วย Pulse ไฟฟ้ากระแสตรง  อุปกรณ์นี้  เมื่อเปิดเครื่องทำงาน
มันจะสามารถตรวจวัดค่าทางไฟฟ้าของหัวใจ  และหากตรวจพบว่าผู้ป่วยนั้นมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติเครื่องก็จะ (พูด) แนะนำ  
ให้ผู้ใช้งานกดปุ่ม Shock เพื่อตัวกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าครับ  การใช้งาน AED เพื่อกระตุกหัวใจ  ผู้ประสบเหตุไม่จำเป็นต้องมี
ความรู้ด้านการแพทย์  แต่จะต้องทำตามขั้นตอนที่ออกแบบมาให้สั้น รัดกุม  โดยการวางแผ่นโลหะ (Electrode pads)
ใว้ที่ตำแหน่งทะแยงกลางหน้าอกตามภาพล่างนี้  ที่ต้องวางแบบนี้เพื่อกระแสไฟฟ้าที่เข้ากระตุกจะได้เข้าเป็นทิศทางที่ถูกต้องครับ
ส่วนขั้นตอนอื่น ๆ ก็เป็นไปตาม AED แต่ละเครื่องซึ่งไม่ขอกล่าวถึง


หน้าตาเครื่อง Automated External Defibrillator : AED


ภาพของ Electrode pads ที่จะต้องแปะให้ถูกตำแหน่งร่างกาย  โดยที่ pad จะมีภาพระบุใว้ชัดเจนอยู่แล้ว


ในการกระตุกหัวใจด้วย AED  เครื่องจะตรวจสอบ "สภาพไฟฟ้าหัวใจ" ของผู้ป่วยโดยอัตโนมัติ โดยที่ผู้ใช้งานไม่ต้องตั้งค่า
อะไรยุ่งยากเลยเพราะเครื่องออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานง่ายที่สุด  ขั้นตอนการใช้งานจะมีเพียง 3 ขั้นเท่านั้น

1. แปะ Electrode pads เข้ากับหน้าอกผู้ป่วย
2. รอเครื่องตรวจสอบคลื่นหัวใจ (ระหว่างนั้นเครื่องจะพูดออกมาให้รอ , ห้ามแตะร่างกายผู้ป่วย)
3. หากจะต้อง Shock เครื่องจะพูดออกมาให้เรากดปุ่ม Shock  พร้อมแสดงไฟสัญญาณที่ปุ่มนั้น

หลังจากนั้นเครื่องก็จะตรวจสอบอีกครั้งว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นอย่างไร  ต้องทำอะไรต่อหรือไม่  โดยเครื่องจะพูดแนะนำออกมาทุกครั้ง
ท่านจะเห็นว่าเครื่องนี้ออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนใช้งานได้โดยไม่ต้องตั้งค่าตัวเลขอะไรยุ่งยากเลย  ตาม concept ของ AED ครับ
เมื่อเครื่องปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปแล้ว  มันจะทำการกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจทั้งหมดเพื่อให้หัวใจที่กำลังผิดปกติอยู่นั้น
เกิดสิ่งที่เรียกว่า Depolarization  ทำให้ activity ทางไฟฟ้าในหัวใจหยุดหมด  และนี่เองที่ทำให้มีช่วงว่างให้กล้ามเนื้อหัวใจ
มีโอกาสรับคลื่นไฟฟ้าจาก SA node ได้ใหม่  ทำให้มีโอกาสกลับมาเต้นแบบปกติได้ครับ

บทความนี้  ผมเขียนขึ้นโดยได้รับการสนับสนุน การแนะนำ และ แรงบันดาลใจ  จากเพจ Street Hero Project
ซึ่งเป็นเพจนี้  เป็นเพจที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะในด้านการแพทย์  การช่วยเหลือกันในสังคม
ผมขอขอบพระคุณเจ้าของเพจมา  ณ  ที่นี้ครับ  https://www.facebook.com/streetheroproject/
บทความนี้จะนำลงในเพจ Street Hero Project ด้วย  รวมทั้งบทความอื่น ๆ ที่จะมีออกมาต่อไปด้วยครับ

สวัสดีครับ อมยิ้ม17
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่