สสส. และหน่วยงานภาคี ห่วงใยเด็กไทย น้อมนำพระราชดำรัสสมเด็จพระเทพฯ สร้างศูนย์เรียนรู้....สู่ “เด็กไทยแก้มใส”

กระทู้ข่าว
จังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับ สสส. และหน่วยงานภาคี มีความห่วงใย และเล็งเห็นความสำคัญของเด็กไทย โดยพร้อมที่จะแก้ปัญหาเด็กไทยให้มีโภชนาการสมวัย สุขภาพดี ผลการเรียนดี และมีจิตสาธารณะจึงน้อมนำพระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไว้เป็นแนวทางในการจัดทำโครงการเด็กไทยแก้มใส เจริญตามรอยพระยุคลบาท เจ้าฟ้านักโภชนาการ เพื่อพัฒนาศูนย์เรียนรู้ในชุมชน โดยคัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อม 3 แห่ง ของจังหวัดสมุทรปราการ โดย สสส. สนับสนุนทั่วประเทศ 120 แห่ง เพื่อร่วมสร้างต้นกล้าเด็กไทยแก้มใสให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการสร้างต้นกล้าให้แผ่นดินหวังให้โรงเรียนเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชน มุ่งสู่การพัฒนาให้เด็ก และเยาวชนเติบโตสมวัย ด้วยเหตุนี้ จึงได้จัดงานเปิดบ้าน “ศูนย์เรียนรู้เด็กไทยแก้มใสถวายเจ้าฟ้านักโภชนาการ จังหวัดสมุทรปราการ” ขึ้น ณ โรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษา จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อช่วงเช้าวันก่อน โดยมีนายสยาม ศิริมงคล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ , รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปัญญา ไข่มุก กรรมการทรงคุณวุฒิ สสส. , ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา , นายภาคินัย สุนทรวิภาตผู้อำนวยการโรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษา , นายวรพจน์ สิงหราช ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดคลองสวน (พรหมอุทิศวิทยาคาร) และนายธวัชโพธิ์แก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสวนส้ม (สุขประชานุกูล) และท่านอื่น ๆ มาร่วมเป็นเกียรติในงานกันอย่างคับคั่ง นอกจากนี้แล้วในงานยังได้มีการจัดกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ การจัดนิทรรศการฐานเรียนรู้โครงการเด็กไทยแก้มใสตามรอยพระยุคลบาทเจ้าฟ้านักโภชนาการ , การจัดแปลงสาธิตเกษตรโรงเรียน , การจัดตลาดนัดเด็กไทยแก้มใส , ตัวอย่างโครงการอาหารกลางวันตามมาตรฐานโภชนาการของโรงเรียน และกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “ อนาคต..การขยายผลสู่ความยั่งยืนของโครงการเด็กไทยแก้มใส เจริญตามรอยพระยุคลบาท เจ้าฟ้านักโภชนาการ”ดำเนินรายการโดย อาจารย์สง่า ดามาพงศ์
โดยก่อนหน้านี้ นายชาติชาย อุทัยพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการได้เคยกล่าวไว้ว่า “สมุทรปราการมีโรงเรียนสำหรับเด็กวัย 6 –14ปี 165,600 คน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึง มัธยมต้น รวมทั้งสิ้น 290 แห่ง  จากการสำรวจไอคิวเด็กไทย ปี2554 และปี 2559 ของ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าค่าเฉลี่ยไอคิวเด็กไทยจังหวัดสมุทรปราการ =100.41 และ 101.09 (ค่ากลางมาตรฐาน IQ = 100 )  ผลการดำเนินงานอนามัยแม่และเด็กจังหวัดสมุทรปราการ ปี 2559 โดยภาพรวม พบว่าสภาวะสุขภาพของเด็กดีขึ้นเป็นลำดับ  เด็ก 6-14 ปี มีรูปร่างสูงดีและสมส่วน ร้อยละ 64.8  และมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 17.37  ทั้งนี้ มีเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคในอนาคต คือเด็กที่มีภาวะอ้วน ถึงร้อยละ 15.9  และ เด็กขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตระยะยาว ทำให้มีภาวะผอม ร้อยละ 9.7 และภาวะเตี้ย ร้อยละ 8.42 การโภชนาการที่ดี และสุขภาพที่แข็งแรง จึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะส่งเสริมให้เด็กทุกคนเจริญเติบโต และพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ เป็นคนมีคุณภาพของสังคมไทย อย่างไรก็ตามใน อดีตที่ผ่านมา เด็กไทยในวัยเรียนจำนวนมากขาดแคลนอาหารกลางวัน และมีปัญหาการขาดสารอาหาร จนทำให้มีนํ้าหนัก และมีส่วนสูงตํ่ากว่าเกณฑ์จึงส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต และการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ ถึงแม้หลายหน่วยงานได้ร่วมกันแก้ไขแต่ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมเด็กในวัยเรียนได้ทั้งประเทศยังมีเด็กนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวโดยลำพัง ทั้งนี้เพราะเด็กเหล่านี้อาศัยอยู่ตามชายขอบของประเทศในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกลการคมนาคม มีสภาพทางภูมิศาสตร์ไม่เหมาะสม จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการจัดบริการขั้นพื้นฐานของรัฐไม่ว่าจะเป็นการศึกษา บริการสาธารณสุข ตลอดจนสาธารณูปโภคต่างๆที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทำให้เด็กในพื้นที่เหล่านี้ขาดโอกาสในการพัฒนามากกว่าเด็กในพื้นที่ส่วนอื่นของประเทศ และเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพบเห็นสภาพปัญหาดังกล่าว ทำให้ทรงห่วงใยเด็กและเยาวชนเหล่านี้ดังที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า ในบรรดาคนยากจนทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเห็นจะเป็นเด็กๆ พวกเด็กนักเรียนที่ซูบผอม อาหารการกินไม่สมบูรณ์เช่นนี้จะเอาเรี่ยวแรงและสมองที่ไหนมาเล่าเรียน โตขึ้นอาจจะไม่มีเรี่ยวแรงทำงานทำมาหากิน ก็ต้องทุกข์ยากยิ่งขึ้น จึงทรงริเริ่มดำเนินโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันขึ้นเมื่อพ.ศ.2523 โดยทรงทดลองทำที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 3 โรง เมื่อได้ผลแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายไปยังโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศในปีต่อมา”
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และหน่วยงานภาคี จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริและแนวทางการทรงงานมาเป็นแบบอย่างในการขยายผลในโรงเรียนสังกัดต่างๆ ที่สมัครใจและมีเด็กปฐมวัยถึงวัยเรียนที่กำลังเจริญเติบโต ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาและขยายโอกาสถึงมัธยม 3 จำนวน 544 โรงเรียนตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ปี 2559 ได้คัดเลือกโรงเรียนพัฒนาให้มีความพร้อมเป็นศูนย์เรียนรู้ 120 แห่ง ซึ่งในจังหวัดสมุทรการมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ8 แห่งคือโรงเรียนวัดแหลมโรงเรียนบ้านบางจากโรงเรียนวัดแคโรงเรียนคลองบางแก้วโรงเรียนคลองสำโรง โรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษา โรงเรียนวัดคลองสวน และโรงเรียนสวนส้ม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่