วันทหารผ่านศึก ๓ ก.พ.๖๐

กระทู้สนทนา
เรื่องเล่าจากอดีต

ทหารไทยในสงครามนอกประเทศ

พ.สมานคุรุกรรม

การที่ประเทศไทยได้ส่งทหารไทย ออกไปปฏิบัติการนอกประเทศนั้น มิใช่แต่ใน ปัจจุบันที่เป็นข่าวฮือฮา เพราะได้มีข่าวปรากฏทางโทรทัศน์เท่านั้น แต่ทหารไทยได้ออกไปปฏิบัติการรบนอกประเทศ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาแล้ว

แต่ที่จะนำมาเล่าในคราวนี้ มิได้เก่าโบราณถึงปานนั้น เพราะเป็นทหารในสงครามสมัยใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ หรือสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่ล่วงมาเพียงไม่ถึงร้อยปีนี้เอง

สงครามโลกครั้งที่ ๑ มีประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส รุสเซีย เบลเยี่ยม และ แซร์เบีย เป็นฝ่ายสัมพันธมิตร อันต่อมาภายหลังมีประเทศอิตาลี อเมริกา และไทยเข้าร่วมด้วย ฝ่ายหนึ่ง และมีประเทศเยอรมัน เอ๊าสเตรียฮุงกาเรีย รวมกันเรียกว่าฝ่ายประเทศท่ามกลางยุโรปเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง สงครามได้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗

เดิมประเทศไทยวางตัวเป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายใด ครั้นต่อมาถึง พ.ศ.๒๕๖๐ สงครามทั้งสองฝ่ายเข้าที่คับขัน และฝ่ายประเทศท่ามกลางยุโรป คือเยอรมัน ออสเตรีย กำลังทำการรบได้เปรียบฝ่ายสัมพันธมิตร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงตัดสินพระทัยเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมันและออสเตรีย เมื่อ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๖๐ พร้อมกับส่งทหารไทยไปร่วมรบกับฝรั่งเศสในทวีปยุโรป ด้วย

ในคราวนั้นประเทศไทยส่งทหารไปประมาณพันสองร้อยเศษ โดยมี พลตรี พระยาพิชัยชาญฤทธิ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๔ เป็นหัวหน้า และมี ร้อยโท เมี้ยน โรหิตเศรณี เป็นนายทหารคนสนิทของผู้บัญชาการ

ร้อยโท เมี้ยน โรหิตเศรณี ท่านนี้ ต่อมาก็คือ พันเอก หลวงยุทธสารประสิทธิ์ ท่านได้เป็นนายกสมาคมสหายสงคราม (ทหารผ่านศึกในสงครามโลกครั้งที่ ๑) ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๔ ท่านได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับสงครามครั้งนี้ไว้ หลายครั้งหลายคราว ตลอดเวลาที่ท่านเป็นนายกสมาคมอยู่นานถึง ๓๒ ปี เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจมากสำหรับคนรุ่นหลัง เพราะเป็นสิ่งที่ท่านได้รู้เห็นมาด้วยตนเอง

ท่านเล่าว่า การรบพุ่งในคราวมหาสงครามโลกครั้งที่ ๑ นั้น เป็นการรบหรือพิฆาตฆ่าซึ่งกันและกัน ด้วยความเหี้ยมโหดเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าไม่ระลึกถึงระเบิดปรมาณูของปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ เข้ามาผสมด้วยเสียอย่างเดียวแล้ว สงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็ต้องจัดว่าเหี้ยมโหดยิ่งไปกว่าสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพราะต่างฝ่ายต่างก็ใช้แก๊สพิษเข้าต่อสู้ประหัตประหารซึ่งกันและกัน สนามรบอันกว้างใหญ่ไพศาลเต็มไปด้วยกลิ่นศพ นอนตายทับถมสังเวยแม่พระธรณีจนกลิ่นตระหลบไปหมด ทหารตายด้วยแก๊สพิษมีจำนวนมากยิ่งกว่าตายด้วยอาวุธ ใด ๆ เมื่อมีการเปลี่ยนแนวรบไปข้างหน้า กองฝังศพก็ตามไปทำการฝัง ศพที่ถูกฝังไว้ใหม่ ๆ ประเดี๋ยวพ่อเจ้าประคุณกระสุนปืนใหญ่ขนาดมหึมาก็ตกมาระเบิด ขุดพลิกแผ่นดินเอาซากอสุภกลับขึ้นมาใหม่อีก จนสนามรบเต็มไปด้วยแมลงวันหัวเขียวขนาดโต ๆ มันกินศพเสียอิ่มหมีพีมันไปตาม ๆ กัน และเจ้าหนูในสนามรบก็ชุกชุมและตัวใหญ่ไม่ใช่เล่น เพราะได้อาหารจากศพจนสุขภาพสมบูรณ์ ส่วนมนุษย์เราสิปลิดชีวิตกันจนตายซับตายซ้อน ประดุจว่าในขณะนั้นชีวิตมนุษย์ไม่มีค่าอะไร

สมัยนั้นนักคำนวณทางทหารบวกลบคูณหารว่า ส่วนเฉลี่ยนักบินมีอายุยืนเพียง ๓ เดือน ทหารม้า ๖ เดือน ทหารราบ ๑ ปี ดูท่าก็จะใกล้ความจริงอยู่ไม่น้อย ท่านได้กล่าวสรุปไว้ว่า มีนักรบทั้งสองฝ่ายเข้าสงคราม หกสิบหกล้านคน เสียชีวิตเก้าล้านคน บาดเจ็บสามสิบหกล้านคน ส่วนทหารไทยที่ว่าส่งไปพันกว่าคนนั้น ตายไปสิบหกคน และบาดเจ็บ สามสิบเจ็ดคน


..............พวกทหารอาสานอกจากไปทำคุณประโยชน์สองประการนี้ จนเราลืมตาอ้าปากมีสิทธิเอกราชเต็มที่แล้ว ยังทำให้โลกรู้จักประเทศสยาม เดิมพวกนานาประเทศรู้จักประเทศสยามน้อยเต็มที...........เพราะฉะนั้นการไปสงครามของทหารอาสาในครั้งกระนั้น นอกจากเรื่องศาลกงศุลและภาษีขาเข้าแล้ว ยังเป็นการประกาศแก่โลก ซึ่งขณะนั้นมีทหารนานาชาติเกือบทั่วโลกอยู่ในกรุงปารีส ได้รู้จักคนไทย ทหารไทย กองทัพไทย ดีขึ้นเป็นอันมาก ในเมื่อเราเดินสวนสนามผ่านประตูชัยที่กรุงปารีส และไปสวนสนามอวดเขาที่อังกฤษและ เบลเยี่ยม
ข้าพเจ้ามีเวลาเพียงเท่านี้ ซึ่งผิดกว่าปีที่แล้ว ๆ มา เพราะเห็นว่าอายุ ๙๑ ปีแล้ว ถ้าไม่เผยแพร่ความจริงเสียบ้าง เยาวชนที่เกิดใหม่ภายหลังก็คงไม่รู้เรื่องอะไร
ทหารอาสาทั้งหลายมีอยู่ ๑,๒๘๔ คน บัดนี้ได้ล้มหายตายจากไป จนขณะนี้มีเหลืออยุ่เพียง ๑๓๒ คนเท่านั้น ซึ่งที่อยู่ก็ล้วนแต่จะไปไหนทีก็ต้องมีคนพยุงซ้ายพยุงขวา มิฉะนั้นก็จะหกล้ม พวกข้าพเจ้าจะอยู่ให้ท่านดูหน้าทหารอาสาอีกได้ไม่เกิน ๑๐ ปี ก็ตายหมดแล้ว จึงขอแสดงความจริงใจให้ท่านทราบ.........

พันเอก แสง จุละจาริตต์ อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เขียนไว้ว่า
สิ่งที่ผมซาบซึ้งน้ำใจของกระทรวงกลาโหม ต่อผลงานของ พันเอก หลวงยุทธสารประสิทธิ์ ก็คือ โดยปกตินายทหารได้รับพระราชทานตำแหน่ง เลื่อนยศ เลื่อนชั้น ก็เป็นผลจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบ ในระหว่างที่ตนอยู่ในประจำการ แต่นายทหารนอกกอง นายทหารกองหนุน นายทหารพ้นราชการ จะไม่ได้ถูกพิจารณาเลื่อนยศ เลื่อนชั้นแต่ประการใด คุณหลวงยุทธสารประสิทธิ์ ได้รับพระราชทานยศจากพันตรีเป็น พันโท เมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ ภายหลังที่เป็นข้าราชการบำนาญมาแล้ว ๑๐ ปี หลังจากนั้นอีก ๑๐ ปีได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เป็น ราชองครักษ์พิเศษ รับราชการสนองพระเดชพระคุณเมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ ต่อมาก็ได้รับพระราชทานยศจากพันโทเป็นพันเอก เมื่อ ๙ กันยายน ๒๕๑๕

พันเอก หลวงยุทธสารประสิทธิ์ ไม่ได้มีตำแหน่งขนาดแม่ทัพนายกองใด ๆ เลย ในระหว่าง รับราชการประจำการนั้น แต่ได้ทำงานในหน้าที่ ที่ท่านรับผิดชอบอย่างเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ผลงานที่ได้ประกอบในชีวิตบำนาญและในชีวิตนายกสมาคมสหายสงครามโลกครั้งที่ ๑ เป็นงานที่ยากกว่าหลายเท่า เพราะเป็นตำแหน่งงานซึ่งไม่มีอำนาจที่หน่วยราชการใด หรือประชาชน จะต้องเกรงใจ เป็นงานที่ต้องไปกราบไหว้ขอความช่วยเหลือตลอดเวลา เป็นงานที่เสียสละกำลังร่างกายกำลังปัญญา กำลังทรัพย์ส่วนตัวอย่างจริงจัง และได้อดทนปฏิบัติมาตลอดเวลา ๓๒ ปี.....

พันเอก หลวงยุทธสารประสิทธิ์ ได้ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๖ สิริอายุได้ ๙๑ ปี เศษ และทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ ๑ คนสุดท้าย คือ ร้อยตรี ยอด สังข์รุ่งเรือง ก็ได้ถึงแก่กรรมเมื่อ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๖ นี้เอง สิริอายุได้ ๑๐๔ ปี
สมาคมสหายสงคราม และทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ ๑ จึงเหลืออยู่แต่เพียง วงเวียน ๒๒ กรกฎา และอนุสาวรีย์ทหารอาสา ที่มุมสนามหลวง กับในหน้าประวัติศาสตร์ ของ ชาติไทยเท่านั้น.

#########

วารสารข่าวทหารอากาศ
กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่