วรรณคดีบันทึกเหตุการณ์ สมัยกรุงธนบุรี

นิราศกวางตุ้ง
อ้างอิงจาก กวางตุ้งเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน โดย โชติช่วง นาดอน 7 มิถุนายน 2549 11:01 น.

นิราศกวางตุ้งเรื่องนี้แต่งใน รัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช พ.ศ.2324
        
ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงส่งราชทูต ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับเฉียนหลงฮ่องเต้สามครั้ง
พระยามหานุภาพผู้นี้เดินทางไปกับคณะราชทูตในครั้งที่สาม
        
สองครั้งแรก เฉียนหลงฮ่องเต้ไม่ทรงรับรองฐานะของพระเจ้าตากสิน คือ ยังไม่ยอมรับว่าพระเจ้าตากสินเป็นกษัตริย์
จนกระทั่งคณะทูตไทยไปเยือนครั้งที่สาม เฉียนหลงฮ่องเต้จึงทรงรับรองให้คณะทูตเข้าเฝ้า นั่นคือ

ได้รับตราตั้งโลโต และสถานะอ๋องนั่นเอง แต่ทว่าคณะทูตกลับมาถึงไทยเมื่อผลัดแผ่นดินแล้ว
        
ทูตไทยไปครั้งนั้น มีเรือสำเภาจีนเดินทางไปถึง 11 ลำ ออกเดินทางจากกรุงธนบุรี
เมื่อวันอังคารเดือน 7 แรม 13 ค่ำ พุทธศักราช 2324 เรื่องราวของคณะทูตระหว่างเดินทางนั้น

ชนรุ่นหลังทราบจากที่ปรากฏใน นิราศกวางตุ้งของพระยามหานุภาพนี้เท่านั้น

วรรณคดีเรื่องนี้จึงนับว่ามีประโยชน์มากทั้งทางวรรณกรรม และทางประวัติศาสตร์
พระยามหานุภาพผู้นี้ มียศขุนนางบรรดาศักดิ์ใด ขณะที่เดินทางไปกวางตุ้งนั้นไม่ปรากฏ
เมื่อท่านกลับมาถึงไทย ได้รับราชการในรัชกาลที่ 1 โดยเป็นกวีมีชื่อในสมัยนั้น และได้รับยศเป็นพระยามหานุภาพ
        
เรื่องย่อของนิราศกวางตุ้ง มีว่า

ขบวนเรือสำเภาจีน 11 ลำออกเดินทางจากกรุงธนบุรี ถึงปากน้ำในตอนเช้า ต้องรอน้ำขึ้นถึงสองวันจึงเดินทางต่อไปได้
เมื่อออกปากอ่าวแล้ว แล่นเลียบฝั่งอ้อมแหลมญวน จนถึงเมืองกวางตุ้งใช้เวลา 33 วัน คณะทูตเข้าพักเรือนรับรอง(กงกวน)

ในเรื่องใช้คำว่า กงกวนเก่า ทำให้น่าคิดว่า พระยามหานุภาพเคยเดินทางไปกวางตุ้งมาแล้ว จึงระบุว่า
ได้พักที่บ้านรับรองเดิม จงตกหมูอี๋(อุปราชเมืองกวางตุ้ง) จัดการให้ม้าเร็วนำหนังสือไปแจ้งข่าวราชทูตไทย
ขอเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงปักกิ่ง ม้าเร็วเดินทางไปกลับใช้เวลา 27 วัน

เฉียนหลงฮ่องเต้โปรดให้คณะราชทูตไทยเข้าเฝ้าได้ คณะทูตเชิญพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงธนฯ
ล่องเรือจากกวางตุ้งไปปักกิ่ง ณ วันศุกร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 12 ปีฉลู

ส่วนขุนนางที่เจรจาการค้า มิได้ร่วมเดินทางไปกับราชทูต อยู่ทำการค้าขายที่กวางตุ้ง
ต้องรอคณะทูตไปกลับกรุงปักกิ่งอยู่ถึง 3 เดือน จึงได้กลับไทย
        
นิราศกวางตุ้งนี้เรียก กรุงจีนว่า กรุงราชคฤห์ ฮ่องเต้จีน เรียกกษัตริย์ราชคฤห์
        
ถือเป็นคติการเขียนแบบเก่า ที่นิยมนำชื่อนครใหญ่ๆ ในประวัติศาสตร์ของชมพูทวีป
มาเรียกเป็นชื่อเมืองต่างๆ รอบๆเมืองไทย เช่น

เรียกกรุงญวน ว่า จุฬนี
เรียกเมืองคุนหมิง ว่า วิเทหราช
เรียกเมืองมาวหลวง(ต้นเค้าของไทใหญ่) ว่า กรุงโกสัมพี เป็นต้น
        
เรือสำเภาเดินทางไป 33 วันจึงถึงเขตกวางตุ้ง เรือสำเภาจะเข้าเมืองกวางตุ้งทางใด อ่านในนิราศแล้วยังนึกไม่ออก
ทราบแต่ว่าจาก โหลบาน(ซึ่งน่าจะเป็นบริเวณปากน้ำกวางตุ้ง) แล่นเรือเข้าแม่น้ำไปสองวันจึงถึงเมืองกวางตุ้ง

ระหว่างโล้สำเภาพบปลาวาฬ ความว่า

จะดูโดยทิศใดก็ใจหวาด       วิปลาศเห็นวาฬขึ้นข้างขวา
ประมาณยาวราวสามสิบห้าวา     ที่ท่อนหน้าไม่ตระหนักประจักษ์ใจ
เห็นคล้ายกุ้งที่กะพุ้งแพนหาง     ประมาณกว้างนั้นสิบห้าวาได้
แต่โดยลมอมชลที่พ่นไป     ก็สูงได้โดยหมายกับปลายตาล
เขาก็กลับใบบากออกจากที่     คเนหนีจะให้พ้นแถวสถาน
เอาธูปเทียนบวงบนขึ้นลนลาน     วันทนาปลาวาฬวุ่นวาย



ระหว่างทางก่อนล่องเข้าแม่น้ำจูเจียง พระยามหานุภาพเอ่ยชื่อ เกาะมะเกาสถาน  
คือเมืองท่า มาเก๊า
        

       เขาบอกกันว่านั่นแลขอบเขต    เป็นประเทศที่จีนทั้งหลาย
       ก็ชื่นเริงบันเทิงร่ำทำกรุยกราย   บ้างอธิบายบอกเบื้องเรื่องคิรี
       อันโหลบานนี้ทวารแต่ชั้นนอก   ที่เข้าออกกวางตุ้งกรุงศรี
       จำเพาะทางเข้าหว่างคิรีมี         ครั้นลมดีก็ได้แล่นเข้าโหลบาน
       ขึ้นยืนดูผู้คนมั่งคั่ง                  ฝรั่งตั้งเต็มเกาะมะเกาสถาน
       เป็นท่วงทีหนีไล่ก็ได้การ          มีกำแพงสามด้านดูดี

       
จากเวลาออกเดินทางมาถึงตรงจุดนี้ พระยามหานุภาพบอกว่าเป็นเวลา 33 วัน
ระยะทางประมาณสามร้อยโยชน์เศษ บริเวณนี้มีป้อมรักษาการ เจ้าหน้าที่จีนลงเรือมาสอบถามที่มาที่ไปของขบวนเรือ

เมื่อทราบว่าเป็นคณะราชทูตก็รับตัวคณะทูตลงเรือจีนไป ขบวนเรือแล่นเข้าแม่น้ำไปสองวันจึงถึงเมืองกวางตุ้ง
(คือเมืองกว่างโจว หรือกวางเจา(แต้จิ๋ว) ในแม่น้ำจูเจียง)
       
       แต่เข้าคลองไปได้สองราตรี       ก็ถึงที่หยุดพักนัครา
       เห็นกำปั่นแลสำเภาเขาค้าขาย    เป็นทิวทอดตลอดท้ายคฤหา
       ทั้งสี่แถวตามแนวนัครา             ก็ทอดท่าหน้าเมืองเป็นเรื่องกัน
       แต่เสากระโดงที่ระคะตะกะก่าย   จนสุดสายเนตรแลแปรผัน
       บ้างขึ้นล่องเที่ยวท่องจรจรัล       สุดอนันต์ที่จะนับคณนา

       
ท่าเรือกวางตุ้งมีเรือสำเภามาค้าขายมากมายนับไม่ถ้วน สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจการค้าเมื่อสองร้อยกว่าปีมาแล้ว
ต่อไปเป็นคำบรรยายป้อมค่ายสำหรับป้องกันเมือง ขณะนั้นจีนยังไม่ได้รบพุ่งทำสงครามกับฝรั่งนักล่าอาณานิคม
       
       พิศภูมิสถานที่นัคเรศ                 เป็นขอบเขตอยู่แนวเนินผา
       มีกำแพงสามชั้นกั้นนัครา            ล้วนศิลาแลงปรับระดับดี
       อันหอรบนางเรียงที่เรียงเรียบ      ไว้ระเบียบป้องกันบุรีศรี
       มีป้อมขวางอยู่กลางชลธี            วารีแล่นรอบเป็นขอบคัน
       ตรงฟากเมืองไว้เครื่องข้างเรือรบ  ก็เตรียมครบทอดราอยู่ท่านั้น
       พอขุกเหตุสังเกตคืนวัน              ก็เรียกทันถอยไล่ก็ได้ที

       
ป้อมค่ายใหญ่โตเตรียมไว้ดี ทหารประจำการและกองเกณฑ์ก็มีตระเตรียมพร้อม
       
คณะทูตไทยได้เข้าพักที่กงกวนเก่า(ที่พักรับรองทูตต่างประเทศ) ต่อมาทูตได้เดินทางไปกรุงปักกิ่ง
ส่วนคณะเจรจาการค้าต้องอยู่ค้าขายที่กวางตุ้ง ซึ่งพระยามหานุภาพเขียนบอกเป็นนัยว่า

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ออกไปรบทัพจับศึกยังจะง่ายกว่า ด้วยเกรงว่าจะมีผิดพลาดบกพร่อง ค้าขายไม่ได้กำไร
แต่ในที่สุดบุญญาธิการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทำให้การค้าขายราบรื่น

       
        ฝ่ายทูตเขาจะไปเห็นได้ดี            เพราะธุลีบาทคุ้มคลุมไป
        อันพวกเราอยู่ขายจำหน่ายของ     แต่นั่งตรองนอนตรอมจนผอมไผ่
        ที่ขาดเหลือเจือครบบรรจบไป       ก็มีในบานชีว่าทั้งห้าบาน
        ครั้งเสร็จของเงินทองสำเร็จรับ      แล้วประดับเภตราจะมาสถาน
        ความดีใจประหนึ่งได้วิมานปาน     แต่นับวารคอยเคร่าทุกเช้าเย็น
       
        ...ประการใดไปทางระวางเหตุ      ก็สังเกตรัถยาเข้ามาถวาย
        เห็นการค้าเหลือบ่าจะแบกตะพาย  ถ้าหักค่ายฤาตีทัพขอรับไป
        ไม่เห็นช่องเลยว่าของพระราชทรัพย์  จะได้กลับฤามามากลายเป็นง่ายได้
        แล้วแสนยากที่ทะเลคะเนไกล        ก็กลับพามาได้สะดวกดี
        ดังเทวามาสุมประชุมทรัพย์           ไว้สำหรับหน่อเนื้อพระชินศรี
        จะสร้างสมอบรมพระบารมี             ในยุคนี้บรรจบให้ครบกัลป์


ตอนชมบ้านเมือง

                อันร้านรายขายของทั้งสองฟาก        ประหลาดหลากล้วนทำด้วยฉำฉา
        ประจงเจียนเขียนวาดแล้วชาดทา             ที่ตั้งหน้าตรงร้านกระดานทอง
        เป็นวิสัยลูกค้าบรรดาขาย                       จารึกรายไว้ให้ดูรู้ของ
        ที่กระถางธูปเทียนนั้นเขียนทอง               ทั้งเตียงรองหลั่นลดนั้นรจนา
        อันเครื่องร้านที่สำหรับประดับของ             ล้วนแก้วแหวนเงินทองนั้นหนักหนา
        แพรพรรณสรรพสิ่งละลานตา                  ทั้งเสื้อผ้ามุ้งม่านตระการใจ
        ทั้งถ้วยโถโอจานแลจันอับ                     จะคณนานามนับไปเป็นไหนไหน
        บ้างหาบคอนร่อนขายอุบายไป                 บ้างเคาะไม้แทนปากก็มากมาย


ตอนที่กล่าวถึง ประเพณีการห่อเท้าของผู้หญิงจีน

                อันชมสาวที่ชาวสถลมาศ         ไม่อุจาดเหมือนจีนประจำท่า
         อันรูปทรงสรรเสริญจำเริญตา            ครั้นพิศเบื้องบาทาก็เสียดาย
         เอาผ้าคาดขึงเหนี่ยวจนเรียวรัด          พาวิบัติอินทรีย์ให้มีสลาย
         จะดำเนินมิใคร่ตรงพอทรงกาย          ย่อมใช้ชายขายค้ามาให้กิน



พระยามหานุภาพพาดพิงถึงหลวงราไชย ว่าได้ติดโรคผู้หญิง(กามโรค) จากหญิงคณิกา
จนต้องเก็บตัวไม่กล้าออกพบผู้ใด ในนิราศกวางตุ้ง ความว่า

           ที่ภักดีโดยการก็งานเปลือง     ไม่ยักเยื้องกิริยาเหมือนราไชย
เมื่อท่านยุกรบัตรหาปฤกษาของ     ก็ปิดป้องโรคาไม่มาได้
เอาอาสัจที่วิบัตินั้นบอกไป      พะวงใจอยู่ด้วยรักข้างลักชม
ยิ้ม ทองราวทองธรรมชาติ      พิศวาสมิได้เว้นวันสม
จนโรคันปันทบข้างอุปทม      เสนหาส่าลมขึ้นเต็มตัว

อุปทม คือ กามโรค ชนิดหนึ่งในคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา
อุปทม (อุปทังสโรค) แบ่งออกได้ ๔ จำพวก
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่