จุดเปลี่ยนซีพีเจ้าสัว ‘ธนินท์’ ตั้งทายาทสืบทอดธุรกิจ


เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์องค์กรที่ย้อนหลังไปถึง ปี 2482 ด้วยการถ่ายโอนอำนาจการบริหาร จากรุ่น 3 คือ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ สู่รุ่นที่ 4 คือ บุตรชาย 2 คน นั่นคือ สุภกิต และศุภชัย โดยเจ้าสัวธนินท์ ประธานอาวุโสซีพี ได้ลงนามประกาศแต่งตั้ง สุภกิต บุตรชายคนโต ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ส่วน ศุภชัย บุตรชายคนที่ 3 (ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารบมจ. ทรูคอร์ปอเรชั่น) ขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานคณะผู้บริหาร ซีพี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา

เจ้าสัวธนินท์ จะอายุครบ 78 ปีเต็มในวันที่ 19 เมษายน 2560 โดยเกิดปี 2482 มีทายาท 5 คน เป็นลูกชาย 3 คน และลูกสาว 2 คน ปัจจุบัน เครือซีพี มี 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร โทรคมนาคม ค้าปลีกและค้าส่ง ปี 2558 มียอดขายทั่วโลกกว่า 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ1.5 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ การถ่ายโอนอำนาจจากรุ่นสู่รุ่นครั้งนี้ เจ้าสัวธนินท์มีความคิดมาระยะหนึ่งแล้ว ดังบทสัมภาษณ์กับสำนักข่าว นิกเกอิ ของญี่ปุ่นเมื่อปีที่ผ่านมาเจ้าสัวธนินท์กล่าวถึงการสืบทอดตำแหน่งไว้ตอนหนึ่งว่า สุภกิต ลูกชายคนโต เป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีเพื่อนฝูงมากมาย เขาเป็นคนดี คนที่รู้จักต่างก็ชอบเขา สุภกิตรับผิดชอบดูแล “ทรูวิชั่นส์” (True Vision; ธุรกิจให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก) ตั้งแต่เริ่มต้น ปัจจุบันสุภกิตยังดูแลการลงทุนขนาดใหญ่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และธุรกิจค้าปลีกในประเทศจีนอีกด้วย

ส่วนณรงค์ ลูกชายคนที่ 2 เจ้าสัวธนินท์บอกว่าเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูงมาก เขามอบหมายงานขยายธุรกิจโลตัสซูเปอร์เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นกิจการไฮเปอร์มาร์เก็ตในจีนให้ดูแล แต่จากการที่ณรงค์ไม่มีอำนาจบริหารงานอย่างเต็มที่ ทำให้แนวคิดหลายอย่างไม่ได้นำไปใช้ปฏิบัติจริง ธุรกิจจึงยังขยายไม่ได้ตามเป้าหมายที่เขาวางไว้ แม้ณรงค์จะประสบกับปัญหาอุปสรรค และความยากลำบากในการทำงานเพียงใด ก็ไม่เคยท้อแท้ หรือบ่นให้พ่อได้ยินแม้แต่น้อย

ศุภชัย ลูกชายคนที่ 3 เดิมทีเริ่มทำงานในตำแหน่งผู้บริหารในบริษัทที่ทำธุรกิจผลิตพีวีซี ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทของเบลเยียม

ต่อมาศุภชัยได้รับการโอนย้ายให้มารับผิดชอบธุรกิจโทรคมนาคมของเครือ ซึ่งเจ้าสัวบอกว่าเขาให้ลูกชายคนนี้เริ่มจากโทรศัพท์พื้นฐาน (โทรศัพท์บ้าน) เพื่อตั้งต้นเรียนรู้ขึ้นไปทีละขั้น

ขณะที่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี 2540 ธุรกิจโทรคมนาคมของเครือได้รับผลกระทบเช่นกัน ธนาคารเจ้าหนี้หลายแห่งที่ศุภชัยเข้าไปเจรจาเรื่องแผนการปรับปรุงธุรกิจจนเกิดความเชื่อมั่น ได้เสนอแนะให้ศุภชัยดำรงตำแหน่งซีอีโอของบริษัท ซึ่งต่อมาธุรกิจนี้ก็สามารถผ่านพ้นวิกฤติมาได้และพัฒนาเติบโตกลายเป็น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ในทุกวันนี้

สำหรับแนวทางการสืบทอดธุรกิจ เจ้าสัวธนินท์ ให้สัมภาษณ์ว่า เขาได้ปรึกษากับพี่ชายทั้ง 3 คนแล้ว และกำหนดแนวทางคร่าวๆ ไว้ว่า ขั้นตอนแรก ตัวเขาเองจะดำรงตำแหน่งประธานอาวุโสของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ขณะที่ให้สุภกิตดำรงตำแหน่งประธาน และศุภชัยดำรงตำแหน่งซีอีโอ

โดยระหว่าง 10 ปีที่ถัดจากนี้ไป เจ้าสัวธนินท์บอกว่าต้องสร้างว่าที่ซีอีโอคนใหม่ของเครือ ขึ้นมารับช่วงต่อ และคิดว่าผู้บริหารระดับสูงควรมีวาระการบริหารงานที่ระยะเวลา 10 ปีจะเหมาะสมที่สุด เพราะ 5 ปีนั้นอาจสั้นเกินไป แต่หลังจาก 10 ปี เขาก็จะลงจากตำแหน่งประธานอาวุโส สุภกิต ซึ่งเป็นลูกชายคนที่ 1 ก็จะมารับตำแหน่งประธานอาวุโสแทน

ส่วนศุภชัยลูกชายคนที่ 3 ก็จะมาดำรงตำแหน่งประธานของเครือ ตำแหน่งซีอีโอที่ว่างลงหลังจากศุภชัยพ้นวาระ ก็จะมีผู้บริหารคนใหม่มาดำรงตำแหน่งต่อไป

การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เป็นไปตามหลักการบริหารของเจ้าสัวธนินท์ที่ว่า การวางมือต้องทำในเวลาอันควร ไม่เร็วหรือช้าเกินไป ส่วนทายาทที่ขึ้นมารับช่วงต่อ ภารกิจท้าทายที่รออยู่ คือนำพาเครือซีพีที่ผ่านยุคธุรกิจไร้พรมแดนขึ้นสู่กลุ่มธุรกิจระดับโลกมาแล้ว เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ที่ขนาดไม่ได้เป็นจุดได้เปรียบอีกต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,230 วันที่ 26 – 28 มกราคม 2560

ที่มา http://www.thansettakij.com/2017/01/26/126995
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่