[SR] (Review) JACKIE (2016) : จมดิ่งสู่ห้วงความทุกข์ทรมานไปกับ Natalie Portman

JACKIE : หม้ายหมายเลขหนึ่ง (2016)

“เหตุการณ์ที่ร้ายที่สุด คือ เหตุการณ์ที่ยากจะลืมมากที่สุด”

“นี่คือโอกาสครั้งที่ 2 ที่ Natalie Portman มีสิทธิ์คว้า Oscar ไปครอง”


          JACKIE คือ ภาพยนตร์ที่น่าสนใจในปีนี้ จากการคว้ารางวัลต่างๆในเทศกาลหนังใหญ่ทั้งหลาย ด้วยการแสดงอันทรงพลังของ Natalie Portman จนได้เข้าชิงลูกโลกทองคำไปแล้วในสาขานักแสดงนำหญิงประเภท Drama แม้ว่าเธอจะพลาดสำหรับเวทีนี้ แต่ในเวที Oscar นับว่า เธอเป็นตัวเต็งที่น่าจับตามองยิ่งนัก หากวัดกันหมัดต่อหมัดกับเรื่องอื่น

          JACKIE ได้รับการกำกับโดย Pablo Larraín มีเรื่องราวเกี่ยวกับชีวประวัติของ Jacqueline Kennedy ภรรยาผู้โด่งดังของ John F. Kennedy ซึ่งได้เล่าเรื่องถึง เหตุการณ์ในขณะเคเนดี้ถูกลอบสังหารและช่วงเวลาถัดจากนั้นหลังจากที่สามีเธอตายไปแล้ว อันเป็นช่วงเวลาที่ทุกข์ที่สุดของเธอ ผ่านการสัมภาษณ์โต้ตอบไปมาระหว่างเธอและนักข่าว สลับกับการย้อนไปถึงเรื่องราวเหตุการณ์ในวันนั้น

๋JACKIE มีเอกลักษณ์ที่ความสมจริงของหนัง

          JACKIE เป็นหนังแนวดราม่า-ชีวประวัติ หากจะพูดถึงเนื้อเรื่อง JACKIE ต้องขอบอกว่า ไม่มีอะไรมาก เพราะ เป็นการเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์หลังจากที่เธอสูญเสียสามีล้วนๆ และด้วยความที่หนังทำออกมาในลักษณะซีเรียสจริงจังเข้มข้น มีการทำภาพเลียนคล้ายเหตุการณ์จริงมาประกอบ ทำให้หนังออกมาแบบกึ่งสารคดีและมีเป็นหนังที่ Real มากๆ (เน้นความสมจริงเป็นหลัก) มีโทนหนังในบรรยากาศหม่นหมอง กดดัน อมทุกข์ตลอดเวลา เล่นที่ความรู้สึกของ Jackie เป็นหลัก ผ่านอารมณ์ต่างๆของเธอที่แปรปรวนไปมา (เหมือนคลื่นทะเลในวันที่พายุโหมกระหน่ำ)

          หนังจึงเด่นในเรื่องของการพรรณนาความรู้สึก ความกดดัน ความทุกข์อันทรมานที่ Jackie ต้องเผชิญ เราจะได้รู้ว่าเธอเศร้าอย่างไร กดดันและเครียดกับชีวิตอย่างไร หนังจะเปิดเผยสิ่งเหล่านี้ออกมาให้คนดูจนรู้ถึงเบื้องลึกของเธอในมุมๆต่างที่เราไม่เคยได้เห็นและทำให้เราเข้าใจในในความทุกข์ของเธออย่างลึกซึ้ง

บรรยากาศสถานที่ในหนังสมจริง ราวกับถ่ายในช่วงเวลานั้น

          ในส่วน Production หนัง ถือว่าหนังทำได้สมจริงมาก เพราะ สภาพสิ่งของและสถานที่ต่างๆในหนัง ให้บรรยากาศราวกับเอาของจริงมาใช้ในหนัง (ซึ่งส่วนใหญ่จำลองขึ้นมา) ทั้งบรรยากาศในทำเนียบขาว สภาพห้องต่างๆในทำเนียบ การแต่งกายของนักแสดง รวมถึงบรรยากาศของช่วงถนนที่ใช้ในการเดินแห่ขบวนศพก่อนนำเข้าสู่พิธีฝัง ทั้งหมดนี้ให้ความรู้สึกเหมือนของจริง สถานที่จริงอย่างน่าสนใจ อีกจุดหนึ่งที่ผมว่าหนังค่อนข้างใส่ใจในรายละเอียด คือ การทำโทนภาพหนังออกมาเหมือนกับภาพจากกล้องฟิล์ม ให้บรรยากาศย้อนไปราวกับได้ถ่ายทำในเวลานั้นจริงๆ จุดนี้จึงเป็นจุดที่พิถีพิถันในรายละเอียดสูง เพื่อให้ได้ความสมจริงที่สุด

          ส่วนสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นข้อเสียของหนัง (และเป็นข้อดีด้วย) ก็คือ ความที่หนัง Real มากๆ ราวกับสารคดี ทำให้เนื้อหาของหนังเน้นไปตามจริง หนังจึงนิ่ง ไม่เร้าใจ ไม่เน้นสนุกอย่างหนังแนวเดียวกันเรื่องอื่นๆ รวมถึงยังดูยากพอสมควร ต้องตีความอารมณ์และอินกับ Jackie ตลอดเวลา ซึ่งในจุดนี้ ผมคิดว่าไม่น่าจะถูกใจคอหนังที่ชอบดูหนังปกติ (หากใครที่ไม่ถูกแนวนี้หรือไม่อินกับนักแสดง รับรองว่ามีสิทธิ์หลับได้) หนังจึงเหมาะสำหรับคนที่สนใจเฉพาะกลุ่มมากกว่า โดยเฉพาะคนที่สนใจในเรื่องราวเหตุการณ์ลอบสังหารหรืออยากจะรู้จักในตัวตนของ Jackie และอยากชมการแสดงอันทรงพลังของ Natalie Portman

          ถึงแม้ว่าหนังจะมีข้อเสียตรงที่หนังดูไม่สนุก ไม่ตื่นเต้นเหมือนเรื่องอื่นๆ แต่ก็ได้รับการชดเชย โดยการแสดงของ Natalie Portman แทน (หากเรื่องนี้คนที่แสดงเป็น Jackie เล่นได้มือไม่ถึงอย่างของ Natalie Portman รับรองว่า หนังจะไม่เปรี้ยงแน่นอน เพราะ บท Jackie เป็นบทเสาหลักที่ค้ำยันหนังเรื่องนี้เอาไว้อย่างมั่นคง)


นักแสดง : Natalie Portman คือ ผู้แบกหนังเรื่องนี้ไว้ได้อย่างทรงพลังในระดับเข้าชิง Oscar

          ผมคงไม่มีคำพูดใดๆ คำอื่นนอกจากประโยคนี้แล้ว 'Natalie Portman คือ ผู้แบกหนังเรื่องนี้อย่างแท้จริง' (ดูๆไปก็คล้าย Leonardo จาก The Revenant (2015)) เธอทุ่มทุกอย่างในการแสดงครั้งนี้เพื่อเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็น Jackie ตัวจริง ทั้งน้ำเสียง บุคลิก ท่าทาง นิสัย อย่างน่าเหลือเชื่อ มิหนำซ้ำในด้านการแสดงอารมณ์เธอก็ทำได้โคตรยอดเยี่ยม ทั้งในบทดราม่าที่ตึงเครียดสุดขีด แววตาความสิ้นหวัง อารมณ์อันแปรปรวนหลังเผชิญเรื่องที่ร้ายที่สุดในชีวิตและความโกรธเกรี้ยวที่ซ่อนไว้หน้าอันเรียบนิ่ง แฝงด้วยความเยือกเย็น (คล้ายๆกับน้ำที่นิ่งเรียบ แต่ข้างในกำลังเดือดระอุพร้อมระเบิดประทุ)

          หนังเรื่องนี้ ถือเป็นหนังที่วัดความสามารถและอินเนอร์ของนักแสดงล้วนๆ เพราะ หนังทิ้งทุกอย่างไว้ให้ผู้ที่แสดงบท Jackie เป็นเสาหลักของหนัง มันจึงเป็นการวัดความสามารถแบบหมัดต่อหมัดของ Natalie Portman ว่าเธอคือของจริงในวงการภาพยนตร์หรือเปล่าและเราก็พบว่า ‘เธอคือของจริง’ เธอควบคุมทุกอย่างได้ตามใจสั่งและคุมหนังทั้งเรื่องได้อย่างสมบูรณ์และทรงพลังน่าอัศจรรย์ ผมจึงคาดว่า ยังไงเธอก็คงจะได้เข้าชิง Oscar อย่างแน่นอนและโอกาสได้อีกครั้งก็มีพอสมควร (เธอเคยได้มาแล้วจาก Black Swan (2010))

          แต่หากถ้าถามความประทับใจ ผมยังรู้สึกประทับใจบทนักแสดงนำหญิงของเธอจาก Black Swan มากกว่า เพราะ Black Swan มีองค์ประกอบหนังที่สมบูรณ์ คือ ดีด้วยและสนุกด้วย แก่นเรื่องทรงพลัง นักแสดงนำก็แสดงได้ยอดเยี่ยม ฉากต่างๆและเนื้อเรื่องที่ดี บทอันเข้มข้น ดนตรีที่สมบูรณ์ องค์ประกอบทุกอย่างจึงเกื้อกูลกันและกันอย่างลงตัว ไม่ทิ้งให้เธอต้องแบกหนังทั้งเรื่องอย่างโดดเดี่ยวเหมือนใน Jackie ที่เน้นการแสดงและเน้นอินเนอร์อารมณ์เป็นหลัก

          อย่างไรก็ตาม ผมก็ขอชื่นชมในความสามารถและสปิริตการแสดงของเธอ เพราะ ไม่ว่าจะเป็นหนังเรื่องไหน เธอก็ยังคงแสดงหนังเรื่องนั้นด้วยคุณภาพระดับ Masterpiece และสำหรับบท Jackie นี้ ผมยังยกให้เป็นบทที่ยากและท้าทายที่สุดสำหรับเธออีกด้วย

ดนตรีประกอบภาพยนตร์ : จมดิ่งสู่ท้องทะเลแห่งความทุกข์ทรมาณ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

Mica Levi - "Intro" (Jackie OST)

          Jackie ได้รับการประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์จาก Mica Levi ซึ่งสามารถทำบรรยากาศหนังที่น่าอึดอัดได้เป็นอย่างดี เสียงดนตรีขึ้นต้นของเพลง Intro คล้ายกับ 'เสียงของสิ่งของบางอย่างขนาดใหญ่ร่วงหล่นลงสู่ความมืดมิด' (เหมือนใจที่หล่นวูบ) สร้างบรรยากาศหนังที่ไม่มั่นคง เสริมกับความทุกข์ของ Jackie ที่ต้องเผชิญอยู่อย่างแสนสาหัส
    
          ส่วนเพลงอื่นๆ ก็ให้บรรยากาศคล้ายกัน คือ สร้างความรู้สึกหน่วง น่าอึดอัดใจ พร้อมกับเสียงลากยาวของเครื่องดนตรีซึ่งก็ทำให้บรรยากาศหนังตึงเครียด เกิดภาวะสุดขีดชั่วขณะ เข้ากับหนังได้เป็นอย่างดี

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

Mica Levi - "Burial" (Jackie OST)
      
       นอกจากนี้ยังมีเพลงที่น่าสนใจ โดยการยกเพลงในอดีตที่มีความเกี่ยวข้องและมีทำนองที่โดดเด่นมาใช้ในภาพยนตร์ คือ Finale Ultimo จากละครเวทีเรื่อง Camelot ซึ่งเป็นเพลงที่เคเนดี้ชอบมากเป็นพิเศษ การนำเพลงนี้มาใช้ยิ่งทำให้บรรยากาศของหนังดูหดหู่ขึ้นไปอีก เพราะ เมื่อใดที่เพลงนี้ถูกเปิดขึ้นมา เวลานั้นก็คือ ช่วงเวลาที่ Jackie ทุกข์มากที่สุด ด้วยความเสียใจและคิดถึงสามี

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

Jackie | Soundtrack | Richart Burton - Camelot

สรุป

          “ เหตุการณ์ที่ร้ายที่สุด คือ เหตุการณ์ที่ยากจะลืมมากที่สุด ” เหตุการณ์ร้ายๆ จะยังคงอยู่กับเราต่อไปเรื่อยๆและสุดท้ายมันก็ขึ้นกับว่า ‘เราจะอยู่กับมันอย่างทนทรมานตลอดชีวิต’ หรือว่า ‘จะเลิกใส่ใจและเตรียมพร้อมสู้กับสิ่งที่จะเกิดในวันข้างหน้า’ ซึ่งอย่างหลังคงเป็นสิ่งที่ดีกว่าสำหรับการเดินชีวิตไปข้างหน้าและการมีชีวิตที่มีความสุข

          สำหรับ JACKIE ผมให้คะแนนไปเลย 7.8/10 (มาจากการแสดงของนาตาลี 9.5/10 แต่ความสนุกของหนัง 7/10) JACKIE คือ หนังดีที่อาจไม่สนุก หนังมีความน่าสนใจอยู่ 2 อย่าง คือ เรื่องราวเบื้องลึกของ Jackie ที่ไม่เคยมีใครรู้และการแสดงชั้นเยี่ยมจาก Natalie Portman ที่สามารถคุมหนังเรื่องนี้ได้อย่างสมบูรณ์ พร้อมกับบรรยากาศหนังอันเต็มไปด้วยความหน่วง ความอึดอัด กดดันและความเครียด ความทุกข์ทรมานของผู้หญิงที่ต้องสูญเสียสามีไป (แต่ก็ไม่เหมาะสำหรับคนดูหนังสายปกติที่ชื่นชอบความเร้าใจ เพราะ ด้วยความที่หนังนิ่งเรียบ ก็อาจทำให้เราหลับได้ ถ้าเราไม่อินไปกับตัวละคร)

          หากคุณต้องการดูการแสดงที่ยากที่สุดของ Natalie Portman ที่มีสิทธิ์คว้า Oscar ได้เป็นครั้งที่ 2 พร้อมกับเรื่องราวอันน่าปวดใจของภรรยาผู้สูญเสียสามี JACKIE คือ หนังที่คุณห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง

“เหตุการณ์ที่ร้ายที่สุด คือ เหตุการณ์ที่ยากจะลืมมากที่สุด”

7.8/10


2 Academy Award nominations (24/01/2017)

----------------------------------------------------------------------

Jackie (2016)(Imdb)
Director: Pablo Larraín
Writer: Noah Oppenheim
Stars: Natalie Portman, Peter Sarsgaard, Greta Gerwig

----------------------------------------------------------------------

ป.ล. ถ้าต้องการรู้เพิ่มเติมหรืออยากศึกษาเกี่ยวกับ JACKIE สามารถอ่านได้จากกระทู้นี้นะครับ ผมเห็นว่ามีข้อมูล เบื้องหลัง เกร็ดหนังเกี่ยวกับ JACKIE อย่างครบถ้วนครับ



ป.ล.2 อีกหนึ่งช่องทาง หากชอบรีวิวหรืออยากติดตามพูดคุยกันนะครับ

ชื่อสินค้า:   Jackie หม้ายหมายเลขหนึ่ง
คะแนน:     
**SR - Sponsored Review : ผู้เขียนรีวิวนี้ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง แต่มีผู้สนับสนุนสินค้าหรือบริการนี้ให้แก่ผู้เขียนรีวิว โดยที่ผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนอื่นใดในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่