จับตา!! DTAC พันธมิตร TOT 4G 2300 MHz สรุปดีลภายในไตรมาสแรก ปีนี้



'ดีแทค'เตรียมสรุปดีล'ทีโอที'ให้บริการ 2300 MHz ไตรมาส1/2560นี้ 'ซีอีโอ'ลั่นเน้นการให้บริการโครงข่าย 4G ที่มีคุณภาพ เร่งขยายโครงข่ายต่อเนื่อง เมินตกอันดับผู้ให้บริการอันดับ 2

16 ม.ค. 60 นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ปัจจุบันดีแทค มีจำนวนลูกค้าที่ใช้งานอยู่ที่ระดับ 25 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นผู้ใช้บริการในระบบรายเดือน (โพสต์เพด) จำนวน 4.7 ล้านเลขหมาย โดยดีแทคดีให้ความสำคัญลงทุนโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดีแทคยังไม่สามารถตอบได้ว่าในไตรมาส 4/2559 จะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ดังนั้นเราจึงไม่ให้ความสำคัญของการจัดลำดับของประเทศไทย แต่ดีแทคต้องการคงลำดับการเป็นผู้ให้บริการอันดับที่สอง



อย่างไรก็ตาม จุดยืนของดีแทคหลักๆ ยังคงให้ความสำคัญในการขยายโครงข่ายการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมาดีแทคได้ขยายจำนวนสถานีฐานของการให้บริการ 4G บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) จำนวน 10,000 แห่ง และมีสถานีฐานในระบบ 4G รวม ทั้งคลื่น 1800-2100 MHz รวม 20,000 แห่ง และบริการ 3G บนคลื่น 850 MHz และ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ (GHz) จำนวน 30,000 แห่ง

ขณะเดียวกันดีแทคยังมีความมั่นใจในเรื่องคลื่นความถี่และยังอยากให้หน่วยงานภาครัฐบริการจัดการเกี่ยวกับแผนคลื่นความถี่ออกมาให้ชัดเจน ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 1/2560 ดีแทคจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับแผนธุรกิจการให้บริการคลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz

นอกจากนี้ ดีแทคยังเตรียมพร้อมกับแนวทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จะนำคลื่นความที่ของดีแทค ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่  30 กันยายน 2561 ซึ่งคาดว่า กสทช.จะนำคลื่นดังกล่าวมาจัดสรรและประมูลต่อไป ขณะที่คลื่น 2600 MHz ที่ กสทช.จะนำมาประมูล ซึ่งดีแทคมีความสนใจเข้าร่วมประมูล

"ดีแทคยังคงมีการลงทุนขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง จากการประกาศงบลงทุนราว 7 หมื่นล้าน ภายใน 3 ปี (2559-2561) จากปี 2559 ที่ได้ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งการลงทุนดังกล่าวถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าดีแทคยังคงมุ่งมั่น ในการพัฒนาโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้จะเพิ่มความหนาแน่นของเซลไซต์ 25% ของสถานีฐานทั้งหมด ถึงแม้ในปีที่ผ่านมาจะมีปัจจัยหลายๆ อย่าง มีการแข่งขันมาก โอเปอร์เรเตอร์ก็ต้องลงทุนมาก"

รายงานข่าวแจ้งว่า ทีโอทีได้ส่งแผนการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz ถึง กสทช.โดยแผนดังกล่าว ทีโอทีแจ้งความประสงค์ที่จะใช้คลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz จำนวน 60 MHz เพื่อนำไปให้บริการ 3 บริการ ได้แก่ 1. บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สาย (Wireless Broadband :WBB) 2.บริการโมบายบรอดแบนด์ (Mobile Broadband :MBB) และ 3.บริการความจุโมบายบรอดแบนด์ให้แก่ผู้ให้บริการเครือข่ายเสมือนแบบไม่มีโครงข่าย (MVNO)

นายสิทธิโชค นพชินบุตร ดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาดดีแทค กล่าวว่า สิ่งที่ดีแทคต้องการอยากจะสื่อสารกับลูกค้าของดีแทคทั้ง 25 ล้านราย และลูกค้าทั่วประเทศคือ เรื่องคุณภาพของโครงข่าย ที่ดีแทคให้ความสำคัญมาตลอด แม้ดีแทคจะไม่สามารถชนะการประมูลคลื่นความถี่ในย่าน 1800 และ 900 MHz ที่ กสทช. เปิดประมูลไปเมื่อช่วงที่ผ่านมา แต่ดีแทคได้ลงทุนโครงข่ายกับคลื่นความถี่ที่มีอยู่จำนวน 55 MHz ที่อยู่ในสัญญาสัมปทานกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) อย่างต่อเนื่องแม้จะสิ้นสุดสัมปทานในเดือน ก.ย.ปี 2561 ทั้งนี้ กรอบเงินลงทุนของดีแทควางไว้ 70,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีคือ 2559-2561 โดยในปีที่แล้วใช้ไปแล้ว 20,000 ล้านบาท

สำหรับการเลือกซูเปอร์สตาร์อย่าง "อั้ม พัชราภา" มาเป็นเมเจอร์ พรีเซ็นเตอร์คนแรก นายสิทธิโชค กล่าวว่า ด้วยเหตุผลที่ว่า อั้ม พัชราภา มีภาพเป็นตัวแทนของผู้ที่สามารถสื่อสารไปยังลูกค้าของดีแทคทั้ง 25 ล้านรายได้เป็นอย่างดี และ อั้ม พัชราภา ยังมีผู้ติดตามในอินสตราแกรมมากกว่า 7.5 ล้านราย ซึ่งดีแทคเชื่อว่าสามารถถ่ายทอดความเป็นดีแทคได้เป็นอย่างดี โดยแคมเปญ "ลื่นไหล กับ ดีแทค ซูเปอร์ 4 จี ลื่นสุด กว้างสุด" ใช้งบ 150 ล้านบาท สำหรับการทำตลาดอย่างหนักในช่วง 3 เดือนนี้ ส่วนค่าตัวของ อั้ม พัชราภา ไม่สามารถเปิดเผยได้ โดย อั้ม พัชราภา จะมีสัญญากับดีแทค 1 ปี

บทข่าวจาก แนวหน้า
http://www.naewna.com/business/252706







โดยก่อนหน้านี้ " TOT และ AIS ได้บรรลุข้อตกลงทดลองใช้งานคลื่นความถี่ 2100 MHz ร่วมกัน "

อ่านข่าวต่อได้ที่: http://www.thairath.co.th/content/730200
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่