กรีนการ์ด EB-3 ผ่านการจ้างงาน

มีคำถามมากมายว่า กรีนการ์ด ขอมาได้อย่างไรบ้าง แล้วเราต้องทำอย่างไร ให้ได้กรีนการ์ด บางคนฟังต่อๆ กันมาว่า ต้องแต่งงานกับคนอเมริกัน หรือ ก็ต้องให้พ่อแม่ยื่นเรื่องให้ลูก หรือ เสี่ยงโชคล็อตเตอรี่กรีนการ์ด หรือ ลงทุนอย่างน้อย $500,000 ขึ้นไป แต่บางคนอาจเคยได้ยินการรับเป็นบุตรบุญธรรม หรือ การขอลี้ภัยทางการเมือง หรือ เพิ่งเคยได้ยินมาว่า ขอกรีนการ์ดผ่านการจ้างงาน ซึ่งที่กล่าวมานั้น ผมเรียกว่า เส้นทางที่จะทำให้ได้มาซึ่งสถานะผู้มีถิ่นฐานถาวร หรือ กรีนการ์ด นั่นเอง โดยสามารถจำแนกกลุ่มหลักของเส้นทางที่ได้มาซึ่งกรีนการ์ด ดังนี้
1.    การขอกรีนการ์ดผ่านสายสัมพันธ์ครอบครัว
2.    การขอกรีนการ์ดผ่านการจ้างงาน
3.    การขอกรีนการ์ดผ่านการเสี่ยงโชค
4.    การขอกรีนการ์ดผ่านการลงทุน
จากที่เราเคยได้ยินมา ถ้าเข้าข่ายในกลุ่มหลักเหล่านี้ แสดงว่าน่าจะได้ข้อมูลมาพอสมควร ขึ้นอยู่กับข้อมูลนั้นอัพเดทเป็นปัจจุบัน หรือไม่  บางทีขั้นตอนต่างๆ ในแต่ละเส้นทางที่ได้มาซึ่งกรีนการ์ด ไม่เหมือนกัน เราก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียด

เส้นทางการขอกรีนการ์ดผ่านการจ้างงาน คนไทยไม่ค่อยรู้จัก หรือ เป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยพอสมควร ส่วนใหญ่จะมาอเมริกาด้วยวีซ่าชั่วคราว H1-B, J-1, F-1, B1/B2, L1 หรือ E-2  ถ้าวีซ่าย้ายถิ่นฐานก็จะมาด้วยกลุ่ม K-1, IR/CR เป็นส่วนใหญ่ มีจำนวนน้อยมากที่มาด้วย EB-2, EB-3 ซึ่งเป็นกลุ่มวีซ่าย้ายถิ่นฐานผ่านการจ้างงาน เพราะด้วยขั้นตอนมากกว่าประเภทอื่นๆ และการหานายจ้างที่เป็นผู้รับรองได้ยาก หรือ อาจไม่มีคุณสมบัติเพียงพอนั่นเอง

เราจะสังเกตว่า นายจ้างอเมริกันที่ต้องการคนต่างชาติมาทำงานในอเมริกา สามารถยื่นขอกรีนการ์ดเพื่อให้คนงานเข้ามาทำงานให้แก่ตนได้ โดยมีเงื่อนไขว่านายจ้างจะต้องพยายามหาคนงานอเมริกันเข้าทำงานเสียก่อน หลังจากที่ไม่สามารถหาคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าทำงานได้แล้ว จึงจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอ Permanent Labor Certification (PERM) กับ Department of Labor (DOL) และยื่นเรื่องไปยัง USCIS ให้แก่คนต่างชาติได้

กรีนการ์ด EB-3 ผ่านการจ้างงาน ที่ออกให้แก่คนต่างชาติ แบ่งเป็น 3 ประเภท
1. Professional Workers จะต้องเป็นคนที่จบมหาวิทยาลัยและทำงานในสาขาวิชาชีพ เช่น สถาปัตยกรรม, ทนายความ, หมอ, วิศวกร และอาจารย์สอนหนังสือที่มีความสามารถเฉพาะด้านนั้นๆ
2. Skilled Workers ไม่จำเป็นต้องจบมหาวิทยาลัย แต่จะต้องมีประสบการณ์จากการฝึกงานหรือจากการทำงานเป็นเวลาอย่างน้อยสองปี ได้แก่คนทำงานด้านคอมพิวเตอร์, ช่างเย็บผ้า, ช่างเทคนิค, หัวหน้าคุมคนงาน, นักข่าว, นักหนังสือพิมพ์, คนออกแบบ, คนเขียนแบบ
3. Unskilled Workers ได้แก่งานประเภทอื่นๆ ที่ไม่เข้าข่ายข้างต้นเป็นงานที่ไม่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถพิเศษ เป็นงานที่คนงานสามารถทำได้โดยใช้การฝึกฝนหรือประสบการณ์น้อยกว่าสองปี ได้แก่ คนทำความสะอาด, คนทำสวน, คนทำงานในไร่, พนักงานโรงงาน, พนักงานในสวนสนุก, พ่อครัวแม่ครัว

ขั้นตอนในการขอกรีนการ์ดให้แก่คนงานต่างชาติ
ในแต่ละปีรัฐบาลอเมริกันให้โควต้ากรีนการ์ด EB-3 ผ่านการจ้างงาน แก่คนงานต่างชาติเป็นจำนวนประมาณ 40,000 ราย จากทั่วโลก
นายจ้างจะต้องพิสูจน์ว่านายจ้างไม่สามารถหาคนงานในอเมริกาที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และเต็มใจที่จะทำงานในตำแหน่งหน้าที่งานที่นายจ้างเปิดรับสมัคร โดยนายจ้างต้องยื่นขอ PERM จาก DOL ตามประเภท โดยปกติ กลุ่มงาน Professional และ Skilled Workers จะอนุมัติยากกว่า กลุ่มงาน Unskilled Worker (Other Workers) เนื่องจากงานกลุ่มดังกล่าวอาจแย่งงานคนอเมริกันได้สูงกว่า โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. นายจ้างต้องขอให้ DOL พิจารณากำหนดอัตราค่าแรงสำหรับตำแหน่งและหน้าที่ของงานที่เปิดรับสมัคร เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดอัตราค่าแรงของงานที่เปิดรับสมัคร
2. นายจ้างจะต้องทำการประกาศรับสมัครหาคนงานอเมริกันเข้าทำงาน นายจ้างจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ DOL ได้ระบุไว้อย่างเคร่งครัด โดยนายจ้างจะต้องติดป้ายประกาศการรับสมัครงานที่สำนักงานของนายจ้าง, นายจ้างจะต้องประกาศหาคนงานในศูนย์ข้อมูลรับสมัครงานของรัฐ และจะต้องลงตีพิมพ์การรับสมัครงานในหนังสือพิมพ์
3. หลังจากที่นายจ้างไม่สามารถหาคนงานอเมริกันที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและเต็มใจเข้าทำงานดังกล่าวแล้ว นายจ้างจึงจะสามารถยื่นคำร้อง PERM เพื่อให้ DOL พิจารณาอนุมัติ

PERM เป็นระบบที่รัฐบาลระบุให้นายจ้างต้องปฏิบัติตามเพื่อพิสูจน์ให้ DOL เห็นว่า คนต่างชาติไม่ได้แย่งงานจากคนงานอเมริกัน มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. นายจ้างจะต้องประกาศรับสมัครหาคนงานอเมริกันจากสื่อต่างๆ อย่างน้อยสามประเภท ได้แก่ ศูนย์ข้อมูลรับสมัครงานของรัฐ, ลงประกาศในหนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ 2 ครั้ง และประกาศรับสมัครงานจากสิ่งอื่นๆ อีก เช่น ลงโฆษณาในเว็บไซต์ของนายจ้าง หรือในกรณีที่ต้องการหาพ่อครัวแม่ครัวอาหารไทยก็ควรจะลงประกาศรับสมัครในหนังสือพิมพ์ไทยในอเมริกา เป็นต้น
2. นายจ้างจะต้องพิจารณาใบสมัครของคนงานอเมริกันที่ได้รับทั้งหมด และจะต้องเรียกคนที่สมัครงานเข้ามาสัมภาษณ์ ถ้าคนที่สมัครงานไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน นายจ้างจึงจะสามารถบอกปฏิเสธไม่รับคนงานอเมริกัน นายจ้างจะต้องเก็บข้อมูล และเอกสารรายละเอียดทั้งหมดไว้เพื่อให้ DOL ตรวจสอบ หากนายจ้างปฏิเสธรับคนอเมริกันเข้าทำงาน โดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ หรือ เพื่อต้องการรับคนต่างชาติเข้าทำงาน ในขั้นตอนการยื่น PERM กับ DOL หรือ I-140 กับ USCIS จะโดนปฏิเสธกลับมาอย่างแน่นอน
3. หลังจากที่ไม่สามารถหาคนงานอเมริกันเข้าทำงานได้แล้ว นายจ้างจึงยื่นแบบฟอร์ม 9089 ให้ DOL พิจารณา โดยต้องระบุรายละเอียดและขั้นตอนการรับสมัครคนงาน และรายละเอียดของคนงานต่างชาติที่ตนต้องการรับเข้าทำงาน และคุณสมบัติที่เหมาะสมของคนงานต่างชาติดังกล่าว
4. หลังจากที่ DOL อนุมัติ PERM แล้ว นายจ้างก็สามารถยื่นคำร้อง I-140 ต่อ USCIS เพื่ออนุมัติ หลังจากได้รับการอนุมัติและ Priority Date ถึงกำหนด คนงานต่างชาติก็สามารถยื่นเรื่องไปยัง NVC เพื่อนัดวันสัมภาษณ์ที่สถานทูตอเมริกาที่อยู่ในประเทศนั้น ๆ หรือ ยื่นเรื่องเปลี่ยนสถานะ (Adjustment of Status : AOS) I-485 ต่อ USCIS โดยปกติจะเปลี่ยนจากวีซ่า F-1, H-1B, L-1 เป็น กรีนการ์ด ที่อเมริกาได้เลย

คนที่วีซ่าขาดหรืออยู่อย่างผิดกฎหมายในอเมริกา จะไม่มีสิทธิยื่นขอ กรีนการ์ด EB-3 ผ่านการจ้างงานได้ โดยเฉลี่ยระยะเวลาในการยื่นเรื่องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น Priority Date, ขนาดกิจการของนายจ้าง, ความจำเป็นของอุตสาหกรรมของนายจ้าง, ประเภทงาน, ผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมหากไม่มีคนทำงานในกลุ่มที่ยื่นเรื่อง เป็นต้น เราลองเปรียบเทียบ ระหว่าง 2 นายจ้าง เช่น ร้านอาหาร กับ โรงงานผลิตอาหาร ใน 2 นายจ้างงานนี้ สามารถยื่นให้กับผู้สมัครต่างชาติได้ ดูระยะเวลาที่แตกต่างกัน ดังนี้

                                                       ระยะเวลา
ขั้นตอน                           ร้านอาหาร                 โรงงานผลิตอาหาร
PERM ที่ DOL                  6-36 เดือน                 3-10 เดือน
I-140 USCIS                   6-12 เดือน                 3-6 เดือน
NVC                              2-4 เดือน                   1-3 เดือน
(AOS สำหรับเปลี่ยน
สถานะวีซ่าเป็นกรีนการ์ด     6-18 เดือน                 3-8 เดือน
ที่อเมริกา)

โอกาสที่ DOL ปฏิเสธ PERM จากร้านอาหารมีสูงมาก และโอกาสที่ DOL อนุมัติ PERM ที่โรงงานผลิตอาหารก็มีสูงมากเช่นกัน

บางครั้งเราเสียทั้งเวลา ทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ และโดนปฏิเสธ อาจเป็นเพราะคุณสมบัติของเราเอง หรือ หากเป็นเพราะคุณสมบัติของนายจ้างที่เราเลือก บางครั้งเมื่อผ่านขั้นตอนต่างๆ มาหลายขั้นตอนแล้วนายจ้างไม่ต้องการคนงานในตำแหน่งที่เรายื่นอีกต่อไป เรื่องเราก็ไปต่อไม่ได้ จบตรงนั้น บางคนไม่พร้อมทั้งค่าใช้จ่าย ค่าทนายความและอื่นๆ เราก็ไม่ควรดำเนินการ การลองผิด ลองถูก ในการยื่นเรื่อง ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ สิ่งที่เราทำไปในอดีตมีผลต่ออนาคตเสมอ ถ้าเราเลือกได้ เราควรเลือกเส้นทางที่มีโอกาสสูงที่สุด เรามีความพร้อมทุกด้านมากที่สุด เราเลือกให้คนอื่นให้ทำเหมือนเราไม่ได้ เส้นทางชีวิตเรา เราเลือกเอง เราเลือกอย่างไร ได้อย่างนั้น เลือกดี ได้ดีเสมอครับ

สิ่งที่ทุกคนมักมองข้าม ลืมนึกไป ตอนเราเลือกทนายความในการดำเนินการ ยิ่งโดยเฉพาะหากเราสมัครอยู่ไทย ไม่ได้อยู่อเมริกา เราจะสังเกตว่า ทนายความที่อเมริกา หรือ เอเจนซี่ต่างๆ ทั่วโลกมีมากมาย ซึ่งมันก็เหมือนกันกับทุกวงการครับ เราไม่รู้หรอกว่า เราจะเจอทนายความที่ดี มีความเป็นมืออาชีพ หรือจะเจอแบบไหน บางคนบอกว่า ค่าทนายความสูงดีมาก หรือ บางคนบอกถูกดีกว่า เพราะดำเนินการเหมือนกัน จริงๆ แล้วสิ่งที่สำคัญ คือ ทำได้ตามที่ตกลงกันหรือไม่ บางทีทนายความก็มีลูกเล่นเยอะ ในการที่จะเก็บเบี้ยย่อยตามรายทาง บางครั้งดูเหมือนจ่ายถูก พอรวมๆ แล้วอาจแพงมากกว่า บางทีก็ทำไม่ได้ตามที่ตกลง และเราก็ต้องจ่ายอยู่ดี  อีกอย่างที่สำคัญ คือ เวลาที่เราย้ายมาอยู่ที่อเมริกา ใครจะดูแล จัดการทั้งการไปรับที่สนามบิน เรื่องบ้านพัก การไปทำใบขับขี่ การติดต่อโรงเรียนในพื้นที่ให้ลูกที่ตามเรามา การไปทำบัตร SSC การซื้อรถกับ Dealer ทั้งที่เราไม่มีเครดิต การติดต่อกับธนาคาร การปรับตัว การรายงานตัวเริ่มทำงานกับนายจ้าง การยื่นภาษี การติดตามบัตรกรีนการ์ดถาวรกับ USCIS การช่วยเหลือถ้าเรามีปัญหากับด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือเวลาเรามีปัญหาอื่นๆ อยากคุยกับใครสักคนที่นี่ เราจะคุยกับใคร ถ้าเราติดต่อทนายความเอง ไม่มีคนไทยที่ถือกรีนการ์ด หรือ ถือสัญชาติอเมริกันในสำนักงานที่อเมริกา บางแห่งเป็นสำนักงานทนายความอย่างเดียว มีคนไทยช่วยแปล แต่ไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการทำงาน ส่วนใหญ่สำนักงานทนายความจะไม่มีการช่วยหานายจ้าง หรือ ดำเนินการใดๆ  จุดนี้เป็นสิ่งสำคัญมากๆ เพราะถ้าไม่มีคนไทยที่มีบทบาทหน้าที่ในการทำงาน การตามงานกับทนายความ หรือ ประสานงานต่างๆ กับนายจ้างและอื่นๆ ไม่ง่ายเลยครับ

การใช้ชีวิตที่อเมริกา ผมมองว่าเป็นเรื่องของเพื่อน ครอบครัว ที่เรามาอยู่ด้วยกัน ครอบครัวคนไทยเราใหญ่ขึ้นทุกวัน เราอยู่ที่นี่อย่างถูกกฏหมาย เป็นครอบครัวที่พร้อมช่วยเหลือกันทุกด้าน เราสามารถขับรถไปหาทุกคนได้ในระยะเวลาสองชั่วโมง เราทำอาหารทานด้วยกัน แชร์ประสบการณ์ร่วมกัน แสดงความยินดีกับทุกคนที่ประสบความสำเร็จ เมื่อเรามองไปดูในการเลือกบางคนอาจมองที่ค่าทนายเป็นที่ตั้ง บางคนอาจมองที่รายละเอียดเป็นที่ตั้ง บางคนอาจมองว่าอยู่คนเดียวได้ ไม่ว่าเราจะมองแบบไหน เราอยู่ในโลกกลมๆ ใบนี้ อยู่ที่อเมริกา นั้นต้องสร้าง Connection เพื่อให้เราประสบความสำเร็จตามที่เราวางแผนไว้ คนที่ไม่ใช่ ยังไงก็ไม่ใช่ ครอบครัวเราเต็มไปด้วยกัลยาณมิตร สิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข ทำเลยครับ


“ลงเรือให้ถูกลำ สำคัญกว่า”

By
Thum Ideas

**เนื่องจากมีคนถามมาหลังไมค์จำนวนมาก ว่า ทำเอง? หรือ สมัครกับที่ไหน? ผมสมัครไปกับ LAE เป็นรุ่นแรกครับ ไม่ค่อยมีเวลามาตอบเพราะทำงานเยอะที่อเมริกา ทุกรุ่นสนิทกันมากเหมือนครอบครัวที่นี่ คงมีรุ่นอื่นมารีวิวเพิ่มหลังจากมีเวลาว่าง ดังนั้นใครสนใจก็ติดต่อเองนะครับ**
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่