หลักและข้อควรปฏิบัติระหว่างการเดินป่า

ปราชณ์เมธีมักจะกล่าวว่า ต้นไม้ย่อมต้องมีราก คนย่อมต้องมีแหล่งกำเนิด และผมก็คิดว่าบทความนี้ก็ควรเป็นเช่นเดียว เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อเรื่องหลักก็ควรที่จะต้องมีการกล่าวถึงที่มาที่ไปซักหน่อย ....

ย้อนกลับไปเมื่อราวปี พ.ศ. 2557 โชคชะตาได้พัดพาผมกับ "พอล" มิตรสหายที่ดีที่สุดคนหนึ่ง รอนแรมเดินทางไปที่เกาะลอมบ็อค ประเทศอินโดนีเซีย  ...  เราจะไปเดินป่ากันที่ ภูเขาไฟรินจานี


ด้วยความสูง 3726 เมตร และดินภูเขาไฟที่ร่วนจนเดิน 3 ก้าวจะถอยมา 1-2 ก้าว ทำให้ต้องใช้กำลังมากกว่าปกติในการเดิน สำหรับผมที่เริ่มเดินป่าใหม่ๆ นับเป็นความเหนื่อยล้าอย่างแสนสาหัส ขาผมเป็นตะคริว เหงื่อผมหยดราวกับเป็นทางน้ำ แต่ยังไงก็ตามความงดงามของธรรมชาติที่น่าประทับใจก็มาชดเชยกับความเหนื่อยล้าได้อย่างคุ้มค่า ปากปล่องภูเขาไฟที่พ่นควันออกมาดูราวกับกาน้ำเดือด , ทะเลสาบกว้างใหญ่ผิวน้ำเรียบราวกับกระจก สะท้อนให้เห็นภาพเมฆสีขาวตัดกับท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้มอย่างชัดเจน , ทอดตาไปในน้ำเห็นปลาน้อยแหวกว่ายอย่างไร้ความวิตกกังวล และที่สำคัญที่สุดคือ บ่อน้ำพุร้อนที่ผมกับพอลถอดเสื้อผ้าเหลือแต่กางเกงในลงไปแช่น้ำ ข้างๆ นั่งไว้ด้วยสาวรัสเซียนุ่งบิกินี่ที่พบเจอกันระหว่างทาง ถ้าไม่นับว่าสามีเค้าจะมารอรับอยู่ที่เชิงเขา ผมก็ดูจะมีความสุขล้นเหลือกับทริปนี้ ....

เวลาล่วงเลยมาจนถึงปี 2559 เดือนสิงหาคม อยู่ๆ ผมก็มีความรู้สึกอยากจะไปแช่บ่อน้ำพุร้อนขึ้นมา เลยจัดแจงทริปแบบฉุกละหุก แนบพอลคนเดิม คราวนี้พ่วงด้วยด้วย"ฉุย" มิตรสหายที่ดีอีกคนของผมไปด้วย ฉุยเป็นคนทำงานบริษัททั่วไปที่มีรอบเอว 37 นิ้ว  ไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปเดินป่าเท่าไหร่นัก กินเหล้าแต่ไม่ออกกำลังกาย และด้วยความเป็นหัวหน้าที่ต้องรับมือกับลูกน้องทำให้ผมหงอกขึ้นประปรายเต็มหัว ดูไปแก่กว่าคนรุ่นราวคราวเดียวกันเป็น 10 ปี นานๆทีผมก็จะชักชวนฉุยออกไปเดินป่าตั้งแคมป์ สนทนากันใต้หยาดน้ำค้าง แน่นอนว่าด้วยการโฆษณาชวนเชื่อของผมว่าจะพาไปแช่บ่อน้ำพุร้อน นั่งคุยสาวรัสเซีย ทำให้ฉุยตกปากรับคำร่วมเดินทางไปครั้งนี้ด้วยอย่างง่ายดาย

รอบนี้คนขึ้นรินจานีค่อนข้างเยอะ ลูกหาบไม่มีเหลือแม้แต่คนเดียว เราต้องแบกของขึ้นเองทั้งหมด ผมพาฉุยฝ่าความเหนื่อยล้าขึ้นเขา คอยกรอกหูฉุยเป็นระยะๆ ว่าถ้าขึ้นไปถึงแล้วจะได้ใส่กางเกงในตัวเดียวแช่น้ำพุร้อน นั่งสบตากับสาวผมทอง นั่นคงเป็นแรงผลักดันที่ยิ่งใหญ่พอจะพาให้ฉุยไปจนถึงที่หมายได้สำเร็จ

วันที่ 2 เราไปตั้งแคมป์ที่จุดกางเต็นท์ไม่ไกลจากบ่อน้ำพุร้อนนัก ด้วยความที่รอบนี้คนขึ้นมาค่อนข้างเยอะ เราเห็นเต็นท์ตั้งเรียงรายกันเต็ม สภาพดูไม่ต่างอะไรกับชุมชนแออัดที่ขาดการดูแลความเรียบร้อย พอเริ่มบ่ายคล้อยผมก็ชักชวนพอลและฉุยหอบข้าวของไปแช่บ่อน้ำพุร้อน สวรรค์อยู่ข้างหน้า ความสุขเล็กๆ อยู่อีกไม่ไกล ให้มันได้ชดเชยความเหนื่อยล้า ให้มันได้ชดเชยกับเรี่ยวแรงที่ทุ่มแทไป ระหว่างทางผมก็อดไม่ได้ที่จะงัดคำโฆษณาชวนเชื่อมาเป่าหูฉุยต่อ "เมื่อผ่านเนินข้างหน้าไป ก็จะเห็นบ่อน้ำพุร้อนแล้ว" ผมร้องบอกฉุย เสียงเต็มเปี่ยมไปด้วยความคาดหวัง เมื่อพ้นเนินไป นี่คือภาพที่ผมเห็น


ผมไม่อยากจะเชื่อ เหมือนฝ่ามือกลายเป็นฝ่าเท้า สวรรค์กลายเป็นนรก มันเป็นอย่างนี้นี่เอง บ่อน้ำพุที่เคยมีคนแวะมาแช่ผ่อนคลายความเหนื่อยล้า กลายเป็นแดนเถื่อน ไร้กฏหมาย ใครใคร่กางเต็นท์ตรงไหนก็กางได้ ใครใคร่เทเศษอาหารทิ้งตรงไหนก็ทิ้งได้ เศษอาหารเทเต็มทางน้ำร้อน ขยะเกลื่อนกลาดไปทั่วบริเวณ ผมหันไปมองหน้าพอล พอลมองหน้าผม เราเห็นความผิดหวังในสีหน้าของอีกฝ่าย พอลเริ่มขวดคิ้ว รอยย่น 3-4 เส้นปรากฏบนหน้าผาก ผมสีหน้าเรียบเฉยไร้อารมณ์ หลังจากนิ่งเงียบมองไปรอบๆ อยู่นาน สุดท้าย " รินจานี ตายเสียแล้ว" ผมรำพึงออกมา ที่ตามมาหลังจากนั้น คือความรู้สึกผิดที่มีต่อฉุย ถ้าฉุยฟ้องสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เอาผิดผมฐานโฆษณาเกินจริง นี่ผมคงติดคุกไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวันไปแล้ว


นอกจากภาพน้ำพุร้อนที่เเห็นแล้ว ฝูงปลาที่เคยแหวกว่ายอยู่ริมทะเลสาบ กลายสภาพเป็นปลาลอยคอ ปลาถูกตกมาทำอาหาร โยนหัวทิ้งไว้ลอยตามริมน้ำไปทั่ว มีขยะลอยอยู่ริมน้ำ มองห่างออกไป เห็นปากปลาพะงาบๆ ขึ้นมาหายใจเต็มไปหมด เป็นสิบๆ เป็นร้อยตัว ผมทอดถอนใจ รำพึงออกมา "น้ำเริ่มจะเน่าเสียแล้ว"


ผมขอฉายภาพกว้างๆ ของบรรยากาศโดยรอบให้ชมกัน บริเวณนี้เมื่อหลายปีก่อน เคยเป็นทะเลสาบที่เงียบสงบ


แผนการเดินทางรอบนี้ของเดิมกะว่าจะใช้เวลานอนพักผ่อน แช่น้ำพุร้อนสบายๆ ไม่รีบ ไม่ร้อน 4 วัน 3 คืน น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมพอดี แต่พอเห็นสภาพน้ำพุร้อนแล้ว คณะเดินทางของเราก็เลยเปลี่ยนแผนจากยึดพื้นที่โดยละมุนละม่อม กลายเป็นแผนล่าถอยอย่างฉับพลัน แล้ววันต่อมา เราก็ลงมาถึงข้างล่างเป็นเวลา 3 ทุ่มพอดี

หลังจากที่ผมพกพาความผิดหวัง  ขอบข้าวของกลับประเทศมาอย่างทหารพ่ายศึก  ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าหากวันนึงประเทศไทยที่รักยิ่งของเรา ต้องกลายสภาพมาเป็นแบบรินจานี อะไรจะเกิดขึ้น ?  ถ้าวันหนึ่งอุทยานแห่งชาติของเรา สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามของเรา กลายสภาพมาเป็นเช่นนั้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ? นั่นก็เป็นที่มาของ งานเขียนชิ้นนี้ บทความที่จะนำมาลองต่อไปนี้ ผมขอร้องให้พอลผู้ชอกช้ำจากบ่อน้ำพุร้อนเช่นกัน เขียนขึ้นมาหลังจากกลับมาประเทศไทยแล้ว

อาจจะช้าไปหน่อยที่จะกล่าวถึงความเป็นมาของพอล เนื่องจากตัวละครนี้ปรากฏอยู่ตั้งแต่บรรทัดที่ 2 ของบทความ เป็นตัวละครสำคัญในเรื่อง พอล เป็นนักวิชาการ ที่มักจะชอบพร่ำบอกผมเสมอถึงหลักวิถีแห่งฟ้า ความเป็นไปของดิน ความสนับสนุนเกื้อกูลกันของธรรมชาติ พอลเป็นเพื่อนผมมา 30 กว่าปี และเหนืออื่นใด พอลยังเป็นเหมือนอาจารย์ในการเดินป่าของผมอีกด้วย ก็ได้พอลนี่แหละที่สอนหลักแห่งวิชา "ไปมาไร้ร่องรอย" ให้กับผม พอลเรียกมันว่า "Leave no Trace Principle" แน่นอนว่าหลักวิชานี้พอลไม่ได้คิดขึ้นมาเอง แต่ได้มาจากการไปร่ำเรียนจากแดนไกล ไม่ว่าสำนักไหนต่างยึดหลักการนี้เป็นแม่นมั่น  จริงเท็จเช่นไรผมไม่อาจทราบได้ แต่พอลเคยหายตัวออกไปจากประเทศไทยเป็นเวลา 10 กว่าปี ตอนที่ผมพบพอลอีกครั้งเมื่อ 5-6 ปีก่อน พอลอ้างว่าได้รอนแรมไปทั่วเจ็ดคาบสมุทร ระหว่างนั้นก็ได้ไปลงทะเบียนเรียนวิชา การใช้ชีวิตและกู้ภัยฉุกเฉินในป่าขั้นสูง ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษยาวเฟื้อยว่า Advanced wilderness navigation, living techniques, and emergency response จากมหาวิทยาลัยในรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา

หลังจากผมขอร้องพอลให้เขียนบทความ ผ่านไป 4 เดือน บทความยาว 2 หน้ากระดาษ A4 ซึ่งคาดว่าพอลคงใช้เวลาเขียนวันละครึ่งบรรทัดก็แล้วเสร็จ ในชื่อบทความว่า "หลักและข้อควรปฏิบัติระหว่างการเดินป่า (HIKING TRAIL ETIQUETTE)" ซึ่งผมขอยกบทความที่พอลเขียนมาลงไว้ ณ ที่นี้ โดยไม่มีการดัดแปลงเนื้อหาใดๆ เพื่อคงไว้ซึ่งความระลึกถึงที่มีต่อพอล สหายที่ดีของผม (พอลยังมีชีวิตอยู่นะครับ)  ผมเชื่อเหลือเกินว่าหากนักเดินทางทุกท่านยึดหลักการนี้อย่างเคร่งครัด ประเทศชาติของเรา อุทยานของเรา ทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าของเรา จะอยู่คู่กับเราได้ ไปอีกนานแสนนาน ...

จบบทนำ
พีท
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่