เมื่อพระอรหันต์พบขอทานผู้เป็นโรคเรื้อน ขอใส่บาตร..แล้วจะเป็นอย่างไร ?

พระพุทธเจ้า ทรงให้ความสำคัญและทรงบัญญัติพระวินัยว่าด้วยการบิณฑบาตและการขบฉันภัตตาหาร ของพระภิกษุไว้ 30 ข้อ วันนี้ขอนำมาเพียง 1 ข้อ


ข้อที่ 1 "ภิกษุถึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตโดยเคารพ"

ข้อนี้ทรงสอนให้เคารพในบุคคลผู้ให้ และเคารพในของที่เขาให้ ไม่แสดงอาการดูหมิ่นหรือรับมาอย่างเสียไม่ได้ ชวนให้เข้าใจว่า เมื่อพ้นหน้าเขาแล้วท่านคงเททิ้ง หรือตั้งแลไว้ไม่ยอมฉัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นประโยชน์ในการรักษาศรัทธาของญาติโยมไว้ จึงทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นมาว่า เมื่อออกรับบิณฑบาตต้องรับอาหารไม่คำนึงว่าอาหารนั้นจะประณีตหรือไม่ เมื่อรับแล้วต้องฉัน ห้ามเอาไปเททิ้ง ถือเป็นมารยาทอย่างหนึ่งของพระภิกษุ

อย่างเรื่องในอดีต มีพระอรหันต์รูปหนึ่ง ท่านปลงใจได้ในเรื่องอาหารอย่างน่าเลื่อมใสมาก มีเรื่องเล่าว่า คราวหนึ่งท่านออกบิณฑบาต พบขอทานคนหนึ่งกำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่ริมทาง

ธรรมเนียมการรับประทานอาหารของชาวอินเดีย สมัยนั้นเขาเอาอาหารใส่รวมกันในถาดเพียงถาดเดียว ส่วนมากเป็นอาหารแห้ง ๆ มีอะไรก็คลุก ๆ เข้าด้วยกัน ไม่แบ่งเป็นจาน ๆ อย่างพวกเรา เวลารับประทานอาหารก็นั่งล้อมวง รับประทานพร้อมกันทั้งครอบครัว ช้อนอะไรก็ไม่ใช้ มือใครมือมันหยิบอาหารใส่ปากเอาเอง

นายขอทานคนที่ว่านี้เป็นโรคเรื้อนงอมแงม นิ้วมือแต่ละข้อแทบจะขาดหลุดทั้งนั้น แต่ถึงแม้ยากจน เขาก็ใจบุญ พอเห็นพระอรหันต์บิณฑบาตตรงมา ก็ดีใจว่าวันนี้จะได้ถวายทาน รีบเอามือกวาดอาหารในถาดกันไว้เป็นแถบ ๆ ว่า แถบนี้ยังไม่ได้กิน แถบโน้นกินแล้ว จากนั้น ก็ยกถาดขึ้นสาธุท่วมหัวนิมนต์พระอรหันต์ให้รับบาตร       

พระอรหันต์รับอาหารของขอทานโดยไม่แสดงอาการรังเกียจเลย แม้เขาจะเอานิ้วขี้เรื้อน ทั้ง 5 หยิบอาหารใส่บาตรอย่างไม่ถนัดถนี่นัก บังเอิญนิ้วขี้เรื้อนนิ้วหนึ่งเกิดขาดหลุดตกลงไปในบาตร...

เป็นเราคงไม่ปล่อยจนได้ของแถมอย่างนี้หรอก แค่เห็นนิ้วร่องแร่งก็ปิดฝาบาตรแน่นเดินหลีกไปแล้ว

"แต่พระอรหันต์ท่านมีเมตตาสูง ท่านหมดกิเลสจริง ๆ เขาแถมนิ้วมือให้นิ้วหนึ่ง ท่านก็ไม่ว่ากระไร เท่านั้นยังไม่พอท่านตั้งใจฉลองศรัทธาของขอทานขี้เรื้อนอย่างเต็มที่ หวังให้เขาได้บุญมาก ๆ ทันตาเห็น จะได้หมดเวรเป็นขอทานแค่ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายเสียที ท่านรับบาตรแล้วก็ตรงไปที่ร่มไม้ใกล้ ๆ ลงนั่งขัดตะหมาด วางบาตรไว้ข้างหน้า หยิบนิ้วขี้เรื้อนท่อนนั้นโยนทิ้งเหมือนเป็นเศษไม้เศษผงธรรมดา แล้วท่านก็หยิบคำข้าวขึ้นฉันหน้าตาเฉย"

ฝ่ายขอทานเห็นแล้วก็ดีอกดีใจยกใหญ่ เป็นพระอรหันต์ท่านทำใจได้ แต่ถ้าไม่ใช่ก็ยากอยู่นะ

ชาวบ้านทั่วไป พอตักบาตรก็อยากให้พระฉันของที่ตัวถวาย กับข้าวจะประณีตไม่ประณีต เหมาะกับวัยกับสังขารของท่านหรือไม่ ก็ไม่ค่อยคำนึงถึง ถ้าท่านเผลอแสดงอาการไม่อยากได้ เขาก็เสียใจ

Cr.www.winnews.tv


อ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับพระวินัยที่พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้ ให้รับบาตร ไม่ต้องมีเงื่อนไขใดๆ และเคารพในการให้ทานนั้น จะจน จะเป็นโรค ก็ไม่รังเกียจ เพราะคนทำบุญก็ย่อมอยากได้บุญ อาหารแต่ละเม็ด หรือเงินแต่ละบาทก็ถวาย แปลว่าเขาสละเลือดเนื้อเขามาให้ทานทั้งนั้น เพราะถ้าเขาไม่เอามาทำบุญ อาหารหรือเงินนั้น เขาก็สามารถนำไปกิน เอาไปใช้ชีวิตของเขาหรือลูกหลานเขาได้ ถ้ามัวแต่มาจับผิดตั้งแง่ คิดว่าอันนู้นไม่ดี อันนี้ไม่รับ คงมีแต่พระอรหันต์ที่ทำบุญได้  ซึ่งก็ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น
อมยิ้ม04อมยิ้ม04อมยิ้ม03
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่