เที่ยวพระนครศรีอยุธยา ไปกับแอดมินเพจประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ไม่อิงละคร

ก่อนจะเข้าเมืองก็ต้องเห็นแนวกำแพงเมือง แต่ก่อนมองจากตรงนี้คือบนเจดีย์ภูเขาทองไปคงเห็นกำแพงเมืองเจดีย์และพระปรางค์สลับกันไปมา
กำแพงเมือง
        กำแพงพระนครในชั้นแรกสร้างกรุงเห็นจะยังไม่ได้ก่อด้วยอิฐ เข้าใจว่าจะเป็นแต่เชิงเทินดิน ใช้ขุดดินทางริมน้ำกับข้างใยขึ้นถม คูที่ขุดเอาดินขึ้นมาทางข้างในกำแพงเดี๋ยวนี้ยังปรากฏอยู่ กำแพงอิฐจะมาก่อขึ้นต่อหลัง เพราะรากกำแพงอิฐที่พบในเวลานี้อยู่บนเชิงเทินดิน สูงกว่าระดับดินธรรมดาตั้งแต่วาหนึ่งถึง ๖ ศอก ตัวเชิงเทินดินที่เป็นพื้น ตั้งกำแพงกว้างอย่างน้อยราว ๘ วา กำแพงหนา ๒ วาเศษ ก่ออิฐ ๒ ข้างไว้ช่องกลางถมดินกับอิฐหัก ส่วนสูงตั้งแต่เชิงกำแพงถึงปลายใบเสมา คะเนว่าบางแห่งถ้าในที่ต่ำคงจะราว ๓ วา ถ้าที่สูงคงจะราว ๑๐ ศอกเศษ เพราะพบเศษกำแพงที่เหลือจากรื้ออยู่ที่วัดท่าทรายแห่งหนึ่ง สูงจากพื้นดิน ๙ ศอกเศษเกือบคืบ กับที่ใต้วัดจีนเยื้องหน้าวัดสุวรรณมีประตูช่องกุฏอยู่ด้วยอีกแห่งหนึ่ง ตรงนั้นเป็นที่ดอนกำแพงสูง ๖ ศอกคืบมีเศษ ที่คิดว่ากำแพงตอนนั้นสูงเท่านี้ก็เพราะด้วยกำแพงที่เหลืออยู่นั้น สูงพ้นหลังประตูช่องกุฏขึ้นไปอีกศอกเศษ ซึ่งคะเนว่าเกือบจะถึงที่ตั้งใบเสมา เพราะธรรมดาประตูช่องกุฏก็อยู่ไล่เลี่ยหรือต่ำกว่าพื้นเชิงเทินำปเพียงนิดน้อย พ้นเชิงเทินขึ้นไปไม่กี่มากน้อยก็ถึงที่ตั้งเสมา กับได้ขุดพบเสมากำแพงเมืองยังเป็นรูปดีอยู่เสมาหนึ่ง กว้างศอกคืบ หนา ๒ ศอก สูง ๒ ศิกคืบ ถ้าเอาส่วนของใบเสมาบวกเข้ากับกำแพงตรงวัดท่าทราย ก็คงได้ราว ๓ วา กำแพงใต้วัดจีนราว ๑๐ ศอก ถึงจะยิ่งหย่อนกว่านี้ไปบ้างก็ไม่สู้มากนัก แต่ถ้าคิดเอาส่วนสูงของกำแพง ตั้งแต่ระดับดินไปจนขาดปลายเสมา คงจะสูงเสล ๔ วาทั้งหมด แนวกำแพงพระนครวัดได้ ๓๑๐ เส้น ในเมืองวัดตามกว้างในที่คอดได้ ๔๐ เส้น ตามยาวได้ ๙๘ เส้น

           กำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยาเท่าที่เหลืออยู่
           กำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยา
กำแพงเมืองที่พระเจ้าอู่ทองทรงสร้างครั้งแรกนั้นเป็นเพียงเชิงเทินดิน และมีเสาไม้ระเนียดปักข้างบน ต่อมาจึงได้ก่ออิฐถือปูนขึ้น มีการสร้างป้อมต่างๆอาทิ ป้อมมหาไชย ป้อมซัดกบ ป้อมเพชร ป้อมหอราชคฤห์และป้อมจำปาพล เป็นต้น ป้อมขนาดใหญ่ๆมักตั้งอยู่บริเวณทางแยกระหว่างแม่น้ำ เช่น ป้อมเพชรตั้งอยู่ตรงที่บรรจบของแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสัก ป้อมมหาไชยตั้งอยู่มุมวังจันทรเกษมบริเวณที่เป็นตลาดหัวรอในปัจจุบัน ตัวป้อมได้ถูกรื้อเพื่อนำอิฐไปสร้างพระนครใหม่ที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑  กำแพงเมืองทั้งหมด มีความยาวประมาณ ๑๒.๕ กิโลเมตร หนา ๕เมตร สูง ๖ เมตร มีป้อมปืนประจำอยู่โดยรอบ มีประตูเมือง ๑๘ ประตูประตูช่องกุด(ประตูเล็ก) ๖๑ ประตู ประตูน้ำ ๒๑ ประตู รวมมีประตูทั้งสิ้น ๙๙  ป้อมปราการมีทั้งหมด 29 ป้อม     ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่ป้อมที่ยังคงสภาพเดิม ป้อมเพชรเป็นป้อมที่มีความโด่งดังที่สุด

ขยายกำแพงเมืองด้านตะวันออก

กำแพงเดิมก่อนแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ด้านเหนือตั้งแต่หน้าพระราชวัง คงจะไปตามแนวถนนป่ามะพร้าวแล้วไปเลี้ยวมรามุมใต้ประตูหอรัตนชัย วกลงไปข้างในห่างจากถนนรอบกรุงเดี๋ยวนี้ถึงป้อมเพ็ชร แต่ป้อมเพ็ชรมาตามทางริมน้ำทิศใต้ทิศตะวันตกบรรจบ ทิศเหนือจดคลองท่อ ที่ซึ่งเป็นวังจันทรเกษมเดี๋ยวนี้อยู่นอกพระนคร จะได้กล่าวต่อไปในภายหลัง

และเหตุที่กำแพงเดิมอยู่หังวังจันทร์เกษมห่างจากแม่น้ำเดี๋ยวนี้เข้าไปมากนั้น ก็เห็นจะเป็นด้วยครั้งแรกสร้างกรุงที่แถวนั้นจะเป็นหาดทรายและลำลาบลุ่มมาก เพราะในเวลานี้เมื่อขุดดินลงไปลึกสักศอกเศษ ก็พบพื้นล่างเป็นทราย ครั้นมาภายหลังที่ดอนขึ้น ชานพระนครกว้างออกไป จึงได้สร้างพะเนียดที่จับช้างขึ้นระหว่างวังจันทร์เกษม กับที่ซึ่งเป็นวัดขุนแสนวัดซองเดี๋ยวนี้ และบางทีก็จะได้ใช้เป็นที่ทอดปล่อยเลี้ยงช้างหลวงด้วย

ครั้นมาในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เกิดศึกหงสาวดีติดพระนคร คงจะทรงเห็นว่า การที่ไว้ชานพระนครกว้าง ปล่อยให้กำแพงกับคูห่างกัน ย่อมเป็นทางให้ข้าศึกข้ามคูเข้ามาถึงกำแพงได้ง่าย เพราะไกลทางปืน จึงโปรดให้ขยายกำแพงพระนครออกไปตั้งถึงขอบริมน้ำ แต่ครั้งนั้นเห็นจะยังไม่แล้วเสร็จ

มาเมื่อจุลศักราช ๙๒๔ ปี ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา จึงปรากฏว่าได้ทำกำแพงอีกคราวหนึ่ง ก็เห็นจะทำเพิ่มเติมกำแพงที่ค้างมาในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดินั้นเอง กำแพงใหม่ตอนที่ยกออกมานี้ แยกจากกำแพงเก่าที่ท่าสิบเบี้ย วงเอาวัดราชประดิษฐานและที่ซึ่งภายหลังเป็นวัดขุนแสน วังจันทร์เกษมไว้ข้างใน แล้ววกลงไปบรรจบป้อมเพ็ชร ซึ่งเป็นถนนรอบกรุงที่ใช้เดินกันไปมาอยู่ทุกวันนี้ ส่วนกำแพงเดิมที่อยู่ภายในหลังวังจันทร์เกษมเข้าไปคงจะรื้อปราบลงเป็นถนนในพระนคร คงเป็นถนนป่ามะพร้าวข้างวัดพลับพลาชัยแน่


ขุนหลวงหาวัดก่อกำแพงหน้าวัด

อนึ่งกำแพงเมืองข้างวัดหลวงด้านริมน้ำ เดิมมีชั้นเดียว และตอนนี้ก่อผิดกว่าที่อื่น เชิงกำแพงมีลายบัวคว่ำด้วย ครั้งศึกพระเจ้าอลองพราญีติดพระนคร ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ ข้าราชการไปเชิญเสด็จขุนหลวงหาวัดลาพระผนวช ออกช่วยทรงจัดการป้องกันรนักษากรุง ขุนหลวงหาวัดโปรดให้ก่อกำแพงที่ข้างวังลงในที่ริมแม่น้ำ ต่ำกว่าที่กำแพงเดิมอีกชั้นหนึ่ง กำแพงสายนี้ก็ตรวจพบแล้ว แต่อยู่ในที่น้ำท่วมต่ำมาก ครั้นขุดวังคราวนี้ตั้งใจจะถมชายตลิ่งหน้ากำแพงเก่า ให้เท่ากับระดับถนนหน้าจวนมหารใน จะเอากำแพงสายนี้ไว้ ก็จะต้องแหวกดินเป็นคูจึงจะเห็น แต่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าดูแลอย่างไร จึงได้ถมเสีย


ป้อมตามกำแพงเมือง

     ตามแนวกำแพงมีป้อมเป็นระยะรอบพระนคร ตามที่ตรวจพบแล้วในเวลานี้มี ๑๖ ป้อม เข้าใจว่าจะมีมากกว่านี้ แต่ไม่มีเวลาพอที่จะขุดค้นได้ตลอด ภายหลังเมื่อตรวจตราได้ความอย่างไร จะได้เพิ่มเติมต่อไป ป้อมรนั้นถ้าอยู่ในที่สำคัญ เช่นตรงแม่น้ำหรือทางร่วม ก็เป็นป้อมใหญ่ก่ออย่างแข็งแรง แต่ป้อมเดหล่านี้ยังเหลือพอที่จะเห็นซวดทรงสัณฐานได้ ๒ แห้งคือ ป้อมเพ็ชรแห่งหนึ่ง เป็นป้อมใหญ่ก่อสำหรับป้องกันข้าศึกที่จะมาทางน้ำตรงมุมพระนครด้านใต้ ป้อมนี้ก่อยื่นออกไปจากแนวกำแพงหนา ๓ วามีเศษ กลางป้อมเป็นพื้นดินว่าง มีบันไดอิฐขึ้นเทิงเชินในป้อม ตามเหลี่ยมป้อมที่พื้นดินมีประตูคูหาก่อเป็นรูปโค้ง มีรอยติดบานที่จะใช้เปิดปิดเข้าออกได้ คูหากว้าง ๔ ศอก สูง ๕ ศอก บนหลังคูหามีช่องกลวงตลอดขึ้นไปถึงเชิงเทิน

  กับป้อมริมประตูข้าวเปลือกอีกแห่งหนึ่ง เป็นป้อมคู่ตั้งอยู่ ๒ ฟากคลอง แต่เล็กกว่าป้อมเพ็ชร ก่อย่อเหลี่ยมเข้าเป็นท่าบรรจบกัน บนป้อมเป็นพื้นอิฐ ตลอดตามเหลี่ยมป้อมมีประตูคูหาโค้งเหมือนป้อมเพ็ชร เข้าใจว่าเมื่อมีข้าศึกมาติดพระนคร คงจะลากปืนใหญ่ออกตั้งยิงป้องกันตามช่องคูหา แต่ถ้าเมื่อเห็นจะเสียท่วงที ก็คงลากถอยปืนใหญ่ไปในป้อมเอาไม้แก่นปักลงในช่องว่างเป็นระเนียดปิดช่องคูหากันหน้าบานประตู ส่วนบนป้อมก็คงจะตั้งปืนใหญ่ได้ ด้วยมีที่กว้าง


ชื่อป้อม

ป้อมตามกำแพงเมืองซึ่งมีชื่อในพระราชพงศาวดาร ก็มีแต่ป้อมมหาไชย ป้อมเพ็ชร หอราชคฤห์ ป้อมนายการ(เห็นจะเป็นป้อมในไก่) ป้อมซัดกบหรือป้อมท้ายกบ กับป้อมจำปาพลอีกป้อมหนึ่ง พงศาวดารไม่ได้กล่าวให้เป็นเข้าใจว่าอยู่ที่ใด แต่ป้อมมหาไชยนั้นได้ความแน่นอนแล้วว่า เป็นป้อมอยู่มุมวังจันทร์เกษม อยู่ในที่ซึ่งเป็นตลาดหัวรอ ป้อมนี้ก็ทีจะเป็นป้อมใหญ่อย่างแข็งแรงเหมือนกัน เพราะตั้งอยู่ในที่เลี้ยว จากแม่น้ำหน้าวัดสามพิหาร ซึ่งจะเป็นทางเข้าไปถึงข้างพระราชวังหลวง

เมื่อครั้งพระเจ้าตะเบงซวยตี้กษัตริย์กรุงหงสาวดียกทัพเข้ามาติดพระนคร ครั้งทรงช้างที่นั่งมายืนอยู่ที่วัดสามพิหาร เร่งให้แม่ทัพนายกองต้อนพลเข้าหักพระนคร พระยารามเอาปืนนารายณ์สังหารลงสำเภาไม้รักแม่นาง ยิงขึ้นไปถูกกิ่งโพธิใหญ่ ๓ กำ หักลงมาใกล้ข้างช้างที่นั่งพระเจ้าตะเบงซวยตี้ ขณะนั้นชาวป้อมมหาไชยก็ยิงปืนใหญ่น้อยสาดเข้าไปถูกรี้พลมอญพะม่าตายมาก ทัพหงสาวดีต้องถอย

อนึ่งเมื่อแรกพระเพทราชาขึ้นเสวยราชสมบัติ กบฏธรรมเสถียรขี่ช้างพาพวกเข้ายืนอยู่ที่ตรงรอทำนบฟากตะวันออก พระพุทธเจ้าเสือเมื่อยังเป็นกรมพระราชวังบวร เสด็จขึ้นไปบนป้อมมหาไชย ทรงจุดปืนใหญ่ยิงไปถูกช้างซึ่งขบถธรรมเสถียรขี่มาล้มลงตายในที่นั้น แต่ขบถธรรมเสถียรกับอ้ายกุลาทาษผู้เป็นควาญหาถูกปืนไม่ เป็นแต่ตกช้างลงมาก็เจ็บป่วยสาหัส จึงตามจับตัวได้

และป้อมเพ็ชรนั้น เป็นป้อมตั้งตรงมุมพระนครด้านใต้ตรงแม่น้ำบางกะจะ เป็นป้อมสำหรับต่อสู้ข้าศึกที่จะมาทางเรือจากข้างใต้ ต่อป้อมเพ็ชรขึ้นไปทางขื่อหน้าก็มีป้อมใหญ่รายเรียงขึ้นไปอีก ๒ ป้อมในระยะที่ใกล้กัน ป้อมกลางจะมีชื่อเสียงอย่างไรไม่ได้ความ แต่ป้อมเหนือที่ตั้งอยู่ข้างวัดจีนหน้าวัดสุวรรณตรงมุมเกาะแก้วนั้น คงเป็นชื่อหอราชคฤห์ ซึ่งพระมหาธรรมราชาเสด็จไปประทับทรงบัญชาการศึกป้องกันทัพพระยาละแวก ที่ยกเข้ามาปล้นกรุงคราวมาตั้งอยู่ที่ขนอนบางตะนาวศรี

ครั้งนั้นป้อมนายการ(ในไก่)ก็ได้ยิงต่อสู้ข้าศึกด้วย ป้อมในไก่นี้ทีจะอยู่เหนือและใกล้ๆกับป้อมเพ็ชรทางลำน้ำสำเถาล่ม คือกันไม่ให้ทัพเรือขึ้นไปทางเหนือได้

ป้อมซัดกบหรือท้ายกบ เป็นป้อมอยู่มุมพระนครตรงลำน้ำหัวแหลม คืออยู่ในแถวที่ข้างเหนือโรงทหารทุกวันนี้ ที่คิดว่าป้อมนี้เป็นป้อมซัดกบ ก็เพราะมีความในพระราชพงศาวดารว่า เมื่อพะม่ายกมาตีกรุงในครั้งหลัง พระศรีสุริยภาค(น่าจะเป็นพระศรีสุริยพาห)นายป้อมซัดกบประจุปืนมหากาฬมฤตยูราช ๒ สัด ๒ นัด ยิงค่ายพม่าวัดภูเขาทอง เพราะหน้าป้อมนี้ก็ตรงไปทางลำน้ำภูเขาทองด้วย

ป้อมจำปาพลนั้น กรมขุนราชสีห์ลงไว้ในแผนที่ของท่านว่า ป้อมที่ออกชื่อมาว่าเป็นป้อมซัดกบนั้นเป็นป้อมจำปาพล แต่ในจดหมายเหตุอีกฉะบับหนึ่งซึ่งอ้างว่าเป็นคำให้การขุนหลวงหาวัดว่า ป้อมจำปาพลอยู่ถัดประตูเข้าเปลือกเหนือวัดท่าทราย แต่เห็นว่าป้อมจำปาพลนี้หาใช่ป้อมตามกำแพงไม่ เป็นป้อมชั้นนอก

ข้อที่จะเห็นว่าป้อมนี้อยู่นอกพระนครนั้น คือมีความในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อครั้งพระเจ้ากรุงหงสาวดีตะเบงซวยตี้)ยกทัพเข้ามาติดพระนครในศักราช ๙๐๕ ปี ครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้เจ้าพระยาจักรีออกไปตั้งค่ายตำบลลุมพลี เจ้าพระยามหาเสนาออกตั้งค่ายบ้านดอกไม้ป้อมท้องนาหันตรา พระยาพระคลังตั้งป้อมท้ายคู พระสุนทรสงครามตั้งค่ายป้อมจำปาพล ในการสงครามคราวนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพร้อมด้วยพระสุริโยทัย ซึ่งเป็นสมเด็จพระอัครมเหสี และพระราเมศวร พระมหินทราธิราชราชโอรส ทรงช้างพระที่นั่งยกพลออกไปต่อยุทธกับพระเจ้าหงสาวดีที่ทุ่งภูเขาทอง ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียทีเบนให้หลังแก่ข้าศึก พระสุริโยทัยก็ขับช้างพระที่นั่งสอึกเข้ารับไว้ ช้างพระเจ้าแปรรับได้ล่างถนัด ช้างพระสุริโยทัยแหงนหงายเสียที พระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ต้องพระอังษาพระสุริโยทัยตะพายแล่งมาถึงราวพระถันสิ้นพระชนม์บนคอช้าง พระราเมศวร พระมหินทราธิราชก็ขับช้างพระที่นั่งเข้ากันพระศพพระราชมารดาเข้าพระนครได้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงโปรดให้เชิญพระศพพระสุริโยทัยมาไว้ที่สวนหลวง ครั้นรุ่งขึ้นพระมหาอุปราชาแต่งพลเข้าตีค่ายพระสุนทรสงครามแตก เสียค่ายและป้อมจำปาพล ครั้นเลิกการสงครามแล้ว จึงโปรดให้แต่งการพระราชทานเพลิงพระศพพระสุริโยทัย และที่ซึ่งพระราชทานเพลิงนั้น โปรดให้สถาปนาเป็นพระอารามชื่อวัดสบสวรรค์ มีความดังนี้

ถ้าจะคิดว่าป้อมที่มุมพระนครตรงแม่น้ำหัวเเหลมเป็นป้อมจำปาพล ป้อมนั้นก็อยู่ข้างสวนหลวง ถ้าทัพหงสาวดีตีป้อมนี้ได้ก็คงเมืองแตก พระศพพระศรีสุริโยทัยก็คงจะไม่อยู่มาจนถึงเวลาพระราชทานเพลิง หรือจะคิดว่าป้อมเหนือวัดท่าทรายเป็นป้อมจำปาพล ตามที่จดหมายเหตุขุนหลวงหาวัดกล่าว ก็ถ้าข้าศึกตีได้เมืองก็ต้องแตกอีก และทัพหงสาวดีคราวนี้ก็ตีพระนครไม่ได้ จึงเห็นว่าป้อมจำปาพลไม่ใช่ป้อมตามกำแพงเมือง เป็นป้อมนอกพระนคร คงจะเป็นป้อมที่อยู่ฟากตะวันตก เหนือวัดท่าวัดการ้องขึ้นไป ที่ตรงปากคลองภูเขาทองข้าม ซึ่งในเวลานี้ก็ยังมีซากป้อม และวัดที่อยู่ในบริเวณนั้นก็ยังเรียกชื่อว่าวัดป้อมอยู่
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่