กษัตริย์นักบินพระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 กษัตริย์นักบินผู้ทรงพระปรีชา
อันเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางถึงพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ว่าทรงเปี่ยมล้นไปด้วยพระอัจฉริยภาพหลากหลายด้าน โดยเฉพาะทางด้านการบินที่ทรงมีความชำนาญในการบังคับอากาศยานชนิดต่างๆ ทั้งอากาศยานทหาร และอากาศยานพาณิชย์ ยากที่จะมีผู้ใดเสมอเหมือน จนทรงได้รับการขนานนามเป็น “กษัตริย์นักบินพระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี”

ขณะยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาการด้านการบินมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และทรงทุ่มเทพระวรกายด้านการบินอย่างจริงจังมาตลอดหลายสิบปี เริ่มตั้งแต่ครั้งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาระดับอุดมศึกษา ณ ประเทศออสเตรเลีย ได้ทรงศึกษาหลักสูตรด้านการทหารเป็นระยะเวลา 4 ปี ที่โรงเรียนคิงส์สกูล นครซิดนีย์ และวิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา

ระหว่างทรงศึกษา ทรงสนพระราชหฤทัยในด้านเครื่องยนต์ โปรดการต่อโมเดลรถถัง เรือรบ และเครื่องบินทหารเป็นพิเศษเฉกเช่นพระราชบิดา หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารดันทรูนในปี พ.ศ.2518 พระองค์ทรงฝึกฝนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสบการณ์ด้านวิทยาการการบินอย่างต่อเนื่อง

ในปี พ.ศ.2519 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรด้านการบินเพิ่มเติมอย่างหลากหลาย อาทิ หลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป หลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์โจมตี และแบบโจมตีติดอาวุธ จนสามารถขับเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ประเภทต่างๆ ได้จนทรงพระชำนาญ ทำให้ทรงต่อยอดพัฒนาความรู้ความสามารถด้านการบินเพิ่มพูนยิ่งขึ้น โดยทรงฝึกฝนเครื่องบินปีกตรึงแบบต่างๆ ไปจนถึงเครื่องบินขับไล่ด้วย

ปี พ.ศ.2523 ขณะที่พระองค์ทรงติดตาม สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทรงเข้ารับการฝึกฝนบนเฮลิคอปเตอร์แบบยูเอช-1 เอช ของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา และต่อมาระหว่างปี พ.ศ.2525-2526 ได้ทรงศึกษาหลักสูตรการบินเปลี่ยนแบบเป็นเครื่องบินขับไล่แบบ บ.ข.18ข (F-5E) และหลักสูตรเครื่องบินขับไล่ชั้นสูงที่ฐานทัพอากาศวิลเลียมส์ รัฐอริโซนา ในเวลานั้นพระองค์ทรงสะสมชั่วโมงบินได้มากกว่า 2,000 ชั่วโมง นับเป็นสิ่งที่ยากนักสำหรับนักบินทั่วโลกจะกระทำได้

ด้วยมีพระอุปนิสัยโปรดความมีระเบียบวินัยความละเอียดถี่ถ้วน และแม่นยำในขั้นตอนที่ซับซ้อน ทำให้พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในเรื่องที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์กลไก และเรียนรู้วิทยาการการบินต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วกว่านักบินทั่วไป อีกทั้งยังทรงรอบรู้เทคนิคการบินใหม่ๆ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ พร้อมกับทรงตั้งพระราชหฤทัยแน่วแน่ที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ และความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการบินสมัยใหม่แก่กองทัพอากาศไทย...

กระทั่งเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 พระองค์ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นครูการบินเครื่องบินขับไล่แบบ บ.ข.18ข (F-5E) และ บ.ข.18ค (F-5E) ของกองทัพอากาศ โดยทรงสอนทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ ตลอดจนทรงเข้าร่วมการฝึกซ้อมและการแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศต่างๆ อีกด้วย

ด้วยพระปรีชาสามารถนี้พระองค์มีพระราชวินิจฉัยต่อว่า วิทยาการทางการบินของเครื่องบินพาณิชย์เป็นเรื่องที่น่าสนใจ จึงมีพระราชประสงค์ทรงฝึกบินในฐานะนักบินพาณิชย์เพิ่มเติม โดยในปี 2547 ทรงเริ่มฝึกการบินเครื่องบินลำเลียง เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์นำไปสู่การบินเครื่องพาณิชย์อย่างจริงจัง และด้วยพระปรีชาสามารถในความรู้ทางการบินเป็นอย่างดีนี่เอง ทำให้พระองค์สามารถฝึกฝนการบินตามหลักสูตรการบินพาณิชย์จนได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี และใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก จากกรมการขนส่งทางอากาศ รวมถึงทรงได้รับใบอนุญาตครูฝึกภาคอากาศ และผู้ตรวจสอบนักบินสำหรับเครื่องบินพาณิชย์ในเวลาต่อมา

ในปี 2548 พระองค์ได้ทรงเข้ารับการฝึกฝนตามหลักสูตรกัปตันของสายการบินแห่งชาติ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และทรงเริ่มปฏิบัติการการบินจนได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตำแหน่ง “นักบินที่ 1” ในปี 2549 แม้ขณะนั้นพระองค์จะมีพระราชกรณียกิจมากมาย แต่ก็ยังทรงปฏิบัติพระราชภารกิจการบินของบริษัทการบินไทยอย่างสม่ำเสมอ จนมีความเข้าพระราชหฤทัยในเรื่องการบินพาณิชย์เป็นอย่างดี

อีกทั้งยังมีพระวิสัยทัศน์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการบินต่างๆ อีกมากมาย จนกระทั่งในปี 2552 บริษัทการบินไทยได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตำแหน่ง “ที่ ปรึกษาพิเศษ” ทั้งยังทรงเป็นองค์ประธานศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติการของบริษัทการบินไทย โดยพระราชทานคำแนะนำ อันก่อให้เกิดความก้าวหน้าในการกิจการของสายการบินแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรมนานัปการ

ด้วยพระราชหฤทัยที่ทรงมีความห่วงใยในความทุกข์ร้อนของราษฎรไทย ประกอบกับมีพระประสบการณ์ในด้านการบินสูง พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเครื่องพระราชพาหนะไปทรงเยี่ยม และพระราชทานขวัญกำลังใจแก่ราษฎรในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์

ยิ่งไปกว่านั้นด้วยพระเมตตาที่มีต่อราษฎรไทยที่ประสบอุทกภัยและประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พระองค์มีพระราชดำริให้บริษัทการบินไทย จัด “เที่ยวบินพิเศษมหากุศล” เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจัดหาอุปกรณ์ด้านการแพทย์สำหรับโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นนักบินที่ 1 นำผู้โดยสารเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสู่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และกลับจากท่าอากาศยานเชียงใหม่สู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ในโอกาสที่บริษัทการบินไทยครบรอบการดำเนินธุรกิจ 50 ปี พระองค์ยังมีพระมหากรุณาธิคุณปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นนักบินที่ 1 ใน “เที่ยวบินพิเศษมหากุศล” อีกครั้ง ในการนำคณะพุทธศาสนิกชนชาวไทยเดินทางไปกราบสังเวชนียสถาน ณ สาธารณรัฐอินเดีย และนำรายได้จากเที่ยวบินพิเศษขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อสมทบทุนมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานในพระองค์ (ม.ท.ศ.) และสมทบกองทุนพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า ทีปังกรรัศมีโชติ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้วย

ด้วยพระราชหฤทัยที่ทุ่มเทอุตสาหะฝึกฝนด้านวิทยาการการบินอย่างจริงจังตลอดหลายสิบปีนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้ทรงใช้ความเชี่ยวชาญด้านการบินในการประกอบพระราชกรณียกิจในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านการทหารแก่กองทัพไทย และยังถ่ายทอดวิทยาการความรู้ นำมาใช้พัฒนากิจการการบินเชิงพาณิชย์ และสายการบินแห่งชาติอย่างอเนกอนันต์ อันเป็นคุณูปการใหญ่ยิ่งแก่พสกนิกรชาวไทยที่ได้รับรู้ถึงพระปรีชาสามารถพระอัจฉริยภาพ และพระมหากรุณาธิคุณของ “กษัตริย์นักบินพระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี”



CD : http://www.msn.com/th-th/news/national/%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b9%87%e0%b8%88%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b8%b9%e0%b9%88%e0%b8%ab%e0%b8%b1%e0%b8%a7%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%8a%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a5%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88-10-%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%b1%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%a2%e0%b9%8c%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%9a%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b8%9c%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%97%e0%b8%a3%e0%b8%87%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b8%8a%e0%b8%b2/ar-AAl2bjo?li=BBr91nk&ocid=SK216DHP
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่