เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจิตแพทย์คนนี้เก่ง และควรพูดอะไรแค่ไหน?

เหมือนกับเวลาที่เราไม่สบายทางกาย เราก็จะพยายามถามเพื่อน ถามใครๆว่าป่วยเป็นโรคนี้ หมอคนไหนเก่ง ใช่มั้ยคะ..ตอนนี้ตัวเองพบจิตแพทย์อยู่ เพื่อนก็บอกว่า อาจต้องลองเปลี่ยน หาคนที่แมทซ์กับเรา คลิ๊กกับเราได้ คือ การพบจิตแพทย์แต่ละครั้งมีค่าใช้จ่าย (แถมไม่มีประกันภาครัฐหรือเอกชนไหนที่รับเคลมด้วย) การจะไปพบเรื่อยๆโดยไม่มีจุดหมาย (เดิมทีโรคทางใจก็เรื้อรังอยู่แล้ว) ก็รู้สึกกลัวว่า จะไหวกับค่าใช้จ่ายหรือเปล่า..?
อีกประเด็นหนึ่ง ที่สงสัยคือ คนไข้มีหลายคน วนเวียนกันกลับไปพบจิตแพทย์ รายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือนว่ากันไป แน่นอนว่าจิตแพทย์ต้องจำเรื่องราวของคนไข้อย่างละเอียดไม่ได้ (คาดว่าหลังจากคนไข้ออกจากห้องแล้ว คงโน้ตเป็นประเด็นๆเอา) ถ้าอย่างนั้น เราควรใช้เวลาบอกเล่าเรื่องราวอย่างละเอียด ตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ยุ่งเหยิง ซับซ้อนหรือไม่คะ? เป็นการเสียเวลา เสียเงินเปล่าหรือไม่? จริงๆแล้ว เราควรพูดแค่ประเด็น หรือควรระบายความคิดออกมากันแน่คะ??
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 5
จากประสบการณ์ส่วนตัวบวกกับคำบอกเล่าของคนรู้จักที่เคยไปพบจิตแพทย์มาแล้วพบว่า จิตแพทย์ที่สามารถช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้นจะมีคุณลักษณะประมาณนี้ครับ
    - เป็นจิตแพทย์ให้พื้นที่พูดคุยกับคนไข้ประมาณหนึ่ง แล้วสามารถ "แสดงความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง จับประเด็น สะท้อนปัญหาได้ตรงจุด พร้อมให้คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับเปลี่ยนชีวิตในทางที่ดีขึ้นได้อย่างตรงจุด และรู้สึกว่าทำได้จริง"
    - เป็นจิตแพทย์ที่ "ไม่ด่วนวินิจฉัย ไม่ด่วนจ่ายยา" เพราะตระหนักว่าการมีชื่อโรคและการใช้ยา ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุสำหรับปัญหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิต ประเมินวินิจฉัยด้วยความระมัดระวัง จ่ายยาเท่าที่จำเป็นกับเคสที่จำเป็น ในระยะเวลาเท่าที่จำเป็น
    - เป็นจิตแพทย์ที่หากตัวเองไม่มีเวลามากในการพูดคุย หรือไม่สันทัดที่จะคุย ก็จะ "พยายามหาช่องทางส่งต่อให้คุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษาหรือนักจิตวิทยาคลินิก" เพื่อให้คนไข้มีโอกาสได้พูดคุยทำความเข้าใจตัวเอง เข้าใจปัญหา

หรือเราสามารถใช้ความรู้สึกของเราเป็นตัวบอกได้อีกทางหนึ่ง ก็คือ เมื่อเราได้พูดคุยกับจิตแพทย์ (หรือนักจิตวิทยา) ท่านนี้แล้วเรารู้สึกว่า
    1.เขาดูมีท่าทีที่จะรับฟังเราอย่างเต็มใจ และพยายามจะเข้าใจเรา
    2.เขาสามารถแสดงความเข้าใจเราได้ตรงตามจริง ทั้งการคิด การรู้สึก
    3.เขาสามารถทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เป็นอยู่ได้มากขึ้น ชัดเจนขึ้น เห็นในสิ่งที่เรามองไม่เห็น หรือมองข้ามไป
    4.เขาทำให้เรารู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยด้วย
    5.เขาทำให้เรารู้สึกมีความหวังว่าอะไรๆ จะดีขึ้นหลังจากที่ได้คุยกันไปสักพัก
    6.เขาทำให้เรารู้สึกว่าความหวังนั้นไม่ใช่ลมๆ แล้งๆ แต่เรามีความมั่นใจว่าเราสามารถไปถึงจุดนั้นได้จริง
    7.เรารู้สึกได้ว่า treatment ที่เขาจัดให้ ไม่ว่าจะเป็นการคุย การทำกิจกรรม การทดลองใช้ชีวิตแบบใหม่ (หรือการใช้ยาในกรณีพบจิตแพทย์) ใดๆ ก็ตามทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม

    การได้พูดถึงรายละเอียด ความคิด ความรู้สึก ความเป็นมาทุกอย่างไม่ว่าจะซับซ้อนแค่ไหน มันเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และต้องมีครับ เพราะคนเราจะไม่สามารถใช้ชีวิตได้ดีเลย ถ้ายังมองไม่เห็นหรือยังไม่เข้าใจว่าตัวเองพลาดตรงไหน ติดหลุมพราง สะดุดตรงไหน ดังนั้นหากเราได้ทบทวนและทำความเข้าใจมันอย่างละเอียดพอ เราก็จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตของตัวเองได้อย่างดี แถมยังดีในระยะยาวด้วย (เพราะจะไม่พลาดกับปัญหาเดิม)

    การรักษาโดยใช้ยาเป็นหลักอย่างเดียวมักพบว่า ยาทำได้เพียงช่วยประคองความรู้สึก หรือไม่ทำให้อาการทรุดลงไป แต่ไม่ได้ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิต วิธีการคิดหรือการมองโลกเปลี่ยนไปจากเดิมเท่าไหร่ ซึ่งการเปลี่ยนที่เนื้อใจตัวบุคคลนี่ล่ะที่เป็นหัวใจสำคัญของการรักษาใจที่แท้จริงอันจะทำให้ชีวิตของคนผู้นั้นดีขึ้น (ซึ่งจะเกิดขึ้นผ่านการพูดคุย) ดังนั้นในมุมมองส่วนตัวของผมแล้ว
การรักษาใจที่มีประสิทธิภาพที่สุด ควรมีพื้นฐานอยู่บนการพูดคุยเพื่อเข้าใจปัญหาที่แท้จริงและเข้าใจตัวเองเป็นหลัก โดยมีการใช้ยาประกอบเฉพาะในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น

    แม้ว่าการพูดคุยจะเป็นสิ่งจำเป็น แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีโอกาสได้คุยแบบนั้นกับจิตแพทย์ (หรือนักจิตวิทยา) ทุกคนนะครับ เพราะอาจมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้การบริการ ในระดับอุดมคติ ที่เราต้องการไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น
    - จำนวนคนไข้หรือคนที่มาปรึกษาที่เยอะมากเกินไปจนเกินรับมือของจิตแพทย์ (แต่ต้องรีบปิดงานให้เสร็จ)
    - ความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจของจิตแพทย์ (หรือนักจิตวิทยา) ที่อาจไม่อยู่ในจุดที่พร้อมเพียงพอจะให้บริการ เช่น ความเหนื่อยล้าทั้งกาย-ใจ ปัญหาทางสุขภาพ
    - ดุลพินิจการวางแนวทางการรักษาต่อประเด็นปัญหาของคนไข้ (ว่าควรจัดยาอย่างเดียว หรือจัดให้มีการพูดคุย หรือมีกิจกรรมอื่นร่วมด้วย)

    ซึ่งจิตแพทย์ (หรือนักจิตวิทยา) ที่อาจไม่มีความพร้อมเพียงพอที่จะช่วยเหลือให้ผู้มารับการรักษาดีขึ้น จากคำบอกเล่าของผู้มาปรึกษาที่ผมรวบรวมมาจะเป็นประมาณว่า
    1.ถาม 2-3 คำถามแล้ววินิจฉัยทันทีว่าเป็นโรคทางจิตเวช พร้อมจ่ายยาแล้วให้กลับบ้าน (ยังไม่ทันรู้รายละเอียดเชิงลึก ก็จัดชื่อโรคให้เสียแล้ว)
    2.ฟังสั้นๆ แล้วแนะนำว่าเป็นเพราะคุณเครียดเกินไป เพราะฉะนั้นอย่าเครียดมากนะ จ่ายยาคลายเครียด ยานอนหลับ แล้วให้กลับบ้าน (ยังไม่ทันเข้าใจความเครียดนั้นดี ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไงไม่ให้เครียดก็ต้องกลับบ้านเสียแล้ว)
    3.พูดหรือทำอะไรบางอย่างที่ทำให้คนไข้รู้สึกแย่ลงกว่าเดิมหรือรู้สึกอึดอัด (โดยที่หมอคิดว่าที่ทำอยู่นั้นดีแล้ว)
    4.รักษาด้วยการใช้ยาเป็นหลัก โดยไม่มีพื้นที่ในการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจปัญหาอย่างชัดเจน (แบบนี้มักจะวนอยู่กับปัญหาเดิมเป็นปีๆ ไม่เคลื่อนไปไหน)
    หรือ อย่างที่ 5. คือ เข้ากันไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยสไตล์ อุปนิสัย วิธีการพูดคุย หรือช่วงอายุที่แตกต่างกันเกินไป คุยกันไม่เข้าใจ ก็ทำให้การรักษาใจขาดประสิทธิภาพได้

    แหล่งบริการและบุคลากรทางสุขภาพจิตในประเทศไทยถือว่ายังมีจำนวนน้อยและขาดแคลนมาก ตัวเลือกอาจมีไม่มากนัก แต่ถึงกระนั้น
การเลือกแหล่งรักษาใจที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณา เพราะยิ่งเรารักษาใจตัวเองได้เร็วและมีคุณภาพมากเท่าไร เราก็ยิ่งกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุขได้เร็วขึ้นเท่านั้น

ลองใช้หลักเกณฑ์ที่ผมนำเสนอข้างต้นในการเลือกแหล่งช่วยเหลือทางจิตใจที่พร้อมที่สุดสำหรับเรานะครับ ยิ้ม

ปล บทความนี้เป็น version 2 ที่ปรับเนื้อหาให้มีความเหมาะสมและสุภาพมากขึ้นครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่