ปราชญ์ชาวนาไทยกับคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง

ช่วงนี้เห็นหลายกระทู้มากไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาราคาข้าวตกต่ำ  เรื่องความเหลื่อมล้ำ  และเรื่องเศรษฐกิจไม่ดี แต่บังเอิญวันนี้ได้อ่านบทความนึงที่ไปสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวนาไทย เราว่าได้ข้อคิดดีๆเยอะเลย เราไม่ได้เป็นชาวนา (เราปลูกอะไรก็ตายหมด) แต่คิดว่าหลายอย่างในที่นี้เราเอาไปประยุกต์ใช้ได้  เลยอยากเอามาแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นดู  เราตัดมาแค่บางส่วนนะคะ  บทความเต็มๆต้องไปอ่านในลิงค์

ที่มา http://www.posttoday.com/analysis/interview/468174

"เมื่อทุกข์มากๆ วันนึงชาวนาจะตาสว่างเอง" เดชา ศิริภัทร ปราชญ์ชาวนา....

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...กิจจา อภิชนรจเลข

มองด้วยสายตานก ทุ่งข้าวหลายพันธุ์ปลูกเรียงสลับอย่างเป็นระเบียบ สีเขียวอ่อนแซมเขียวเข้มแปลกตา คั่นกลางด้วยถนนลูกรัง อีกฝั่งเป็นบ้านทรงไทยหลังใหญ่ เรือนเพาะชำบ่อน้ำ และกระท่อมใต้ต้นไม้ร่มรื่น เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ยืนเหม่อมองสุนัขสองตัววิ่งลุยทุ่งนาอย่างสบายอกสบายใจ ลมหนาวพัดมาเป็นระยะ อากาศยามบ่ายน่าเอนหลังนอน ในวันที่แวดวงวิชาการยกย่องผู้อาวุโสวัย68 คนนี้เป็นปราชญ์ชาวนา ผู้แตกฉานด้านเกษตรกรรมธรรมชาติ สร้างลูกศิษย์ลูกหามากมายให้ยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเอง กวาดรางวัลดีเด่นมาประดับไว้เต็มตู้ และยังได้รับเชิญไปบรรยายในต่างประเทศทุกปี นี่คือตัวอย่างของชาวนาที่ประสบความสำเร็จ มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าชาวนาอีกหลายล้านคนกำลังเผชิญวังวนแห่งความทุกข์ซ้ำซาก

"จน เครียด เป็นหนี้"วงจรอุบาทว์ชาวนาไทย
"เดิมทีเราทำนาแบบธรรมชาติคือ ใช้ควาย ใช้แรงงาน ทำนาได้ปีละครั้ง ปลูกไว้กินเองก่อน เก็บพันธุ์ข้าว เหลือค่อยขาย ส่วนที่ขายนี่แหละก็คือกำไร เขาทำแบบนี้กันมาร้อยปีๆ กระทั่งปี 2512 มีการส่งเสริมให้ทำเกษตรแผนใหม่  พัฒนาข้าวพันธุ์กข.ซึ่งสามารถปลูกได้ทั้งปี แต่ต้องลงทุนสูง ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ค่าน้ำมัน เมื่อได้ผลผลิตเยอะก็ต้องขาย ทีนี้พอราคาข้าวตกต่ำ แต่ต้นทุนแพง ขายไปขายมาก็ขาดทุน สุดท้ายเลยเจ๊ง

พอเป็นแบบนี้ ธกส.ก็ตั้งขึ้นเพื่อให้ชาวนากู้เงินดอกเบี้ยต่ำ ถ้าไม่กู้ก็ทำนาไม่ได้ เพราะต้องลงทุนก่อน แล้วเอาข้าวไปขายเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ มีกำไรเหลือค่อยเอาไปซื้อข้าวกิน ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าชาวนายุคนี้เปลี่ยนจากพึ่งพาตนเองมาเป็นพึ่งพาตลาด สหกรณ์บ้านเราก็ไม่รวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง ดันขายปุ๋ยขายยาเหมือนพ่อค้า ระบบแบบนี้มันเลยทำให้เกษตรกรอ่อนแอ ต่อรองก็ไม่ได้ มีแต่ทรงกับทรุดอย่างเดียว ปีไหนข้าวราคาดีก็พออยู่ได้ ปีไหนฝนแล้ง น้ำท่วม ข้าวเป็นโรค แมลงลงก็แย่ ชาวนาไทยเลยจนกันถ้วนหน้า"

ยิ่งสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกผันผวน ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา เวียดนามแข่งปลูกข้าวส่งออกจนแซงอันดับโลก แถมยังคุณภาพดีและราคาถูกกว่าบ้านเรา เนื่องจากใช้สารเคมีน้อย ต้นทุนต่ำ ...ไทยจึงตกอยู่ในที่นั่งลำบาก "อย่างเวียดนามผมไปประชุมกับเขามา 20 กว่าปี ประเทศเขารบกันตลอด เพิ่งมาเปิดประเทศทีหลังเราด้วยซ้ำ เขาก็ศึกษาเราว่า ที่ไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลกนี่ทำยังไง ดูข้อเสียเราหมด จนหลายปีก่อนรัฐมนตรีเกษตรเวียดนามประกาศเลยว่าเขาจะเอาชนะไทยให้ได้ ผมก็บอกว่า อ้าว ไม่กลัวเหรอว่าถ้าทำแบบไทย ชาวนาจะจนเหมือนเรา เขาบอกอย่างมั่นใจเลยว่ามีวิธี เขารู้แล้วว่าทำไมชาวนาเราถึงจน หลังจากนั้นเวียดนามประกาศนโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม นั่นคือ ลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสม ลดการใช้ปุ๋ยเคมี  ลดการใช้ยาปราบศัตรูพืช และเพิ่มผลผลิต  เพิ่มคุณภาพ เพิ่มกำไร เขาไม่ได้ลด-เพิ่มแบบชุ่ยๆ แต่รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลืออีกหลายอย่าง เช่น ยกเว้นภาษี ให้เงินกู้ กำหนดราคาข้าวให้ชาวนาได้กำไร ทำมาเป็น 20 ปี พอเปิดเออีซีปุ๊บ เขาชนะเราไปเยอะเลย ต้นทุนก็ถูกกว่า ผลผลิตสูงกว่า คุณภาพก็ดีกว่า"....

เลิกโฆษณาสารเคมี=ตาสว่าง

ทีนี้ตอนไปเวียดนาม ก็เห็นว่าชาวนาเขาแทบไม่ใช้สารเคมีเลย แต่ว่าสูบบุหรี่กันทั้งบ้านทั้งเมือง ส่วนชาวนาบ้านเราไม่สูบบุหรี่ แต่ใช้ยาใช้ปุ๋ยกันแทบทุกคน สุดท้ายมาพบว่าที่รัฐบาลเวียดนามออกนโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม  เขาลดการโฆษณาด้วย เขาห้ามไม่ให้โฆษณาปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงเลยนะ แต่บ้านเราโฆษณาโครมๆทุกวันตั้งแต่เสาไฟฟ้าข้างถนนยันยอดไม้ ใช้แล้วดี ข้าวงาม ไม่มีแมลง ไม่มีโรค ไอ้โฆษณาของบริษัทเกษตรนี่แหละตัวดี มันให้ข้อมูลผิดๆใส่สมองเขาวันแล้ววันเล่าเดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่าจนฝังอยู่ในหัว ไอ้เรานานๆไปใส่ข้อมูลให้ทีมันเด้งออกมาเลย ไปเบียดเขาที่ล้างสมองอยู่ทุกวันไม่ไหวหรอก สุดท้ายข้อมูลแย่ๆเหล่านี้เลยทำให้ชาวนาไทยไปไม่รอด"

กองทุนที่จะส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ก็ไม่มี ไม่มีใครมาบอกว่าสารเคมีอันตรายแบบนั้นแบบนี้ มีบอกแต่ข้อดีอย่างเดียว ฉะนั้นรัฐบาลลองห้ามโฆษณาดูสัก 6 เดือน ดูซิว่ามันจะดีขึ้นไหม แต่ไม่มีทางหรอก เพราะพวกบริษัทเกษตรมันไม่ยอมเด็ดขาด. มันเห็นแล้วไงว่าขนาดบุหรี่ คนติดๆยังหยุดได้ ผลประโยชน์มันมหาศาล ก็แจกจ่ายไปทั่ว เลยมีอิทธิพลฝังรากหยั่งลึกมาเป็นสิบๆปี เราจะไปค้านเขาได้ยังไง"

เกษตรอินทรีย์วิถีอันยั่งยืน...ตัวอย่างดีๆแต่ไม่มีใครทำ

อย่างคุณชัยพร (พรหมพันธุ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2538 ผู้ทำนาอินทรีย์จนได้รับฉายาว่าชาวนาเงินล้าน) ลูกศิษย์เรานี่แหละ เขาทำนาจนร่ำรวย จากที่ 25 ไร่ขยายเป็น 112 ไร่ ทำปีละ 2 ครั้ง กำไรเป็นล้าน เพราะต้นทุนเขาต่ำมาก ทำกันสองคนผัวเมีย เก็บเมล็ดพันธุ์เอง ไม่ใช้ยา ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไถเอง จ้างรถเกี่ยวอย่างเดียว ขณะที่ชาวนาคนอื่นซื้อหมด ทั้งพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ยา เพื่อนบ้านก็เห็นนะว่าเขารวย ส่งลูกเรียนป.โท ปลูกบ้านหลังละ 5 ล้าน ซื้อที่เพิ่มทุกปี รางวัลนี่เป็นเข่งๆ ไปต่างประเทศเป็นว่าเล่น ทุกอย่างมันชัดเจนว่าดีกว่าพวกใช้ปุ๋ยใช้ยา แต่ทำไมพวกนั้นยังจน ยังเป็นหนี้อยู่"

"เศรษฐกิจพอเพียง"

"คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ก็ต้องรู้ก่อนว่ามันมี 3 ห่วง 2 เงื่อนไข 3 ห่วงคือ
1.ความพอประมาณ ถ้าเรามีปัญญาก็จะรู้ว่าความพอประมาณของนั้นแค่ไหน
2.ความมีเหตุผล เช่น จะใช้ปุ๋ย ใช้ยา ใช้ไปเพื่ออะไร ไม่ดียังไง ควรทำหรือไม่ควรทำ  
3.ภูมิคุ้มกัน เช่น คนอื่นแห่กันไปใช้เคมีหมด เรามีภูมิคุ้มกันก็ไม่ทำตามเขา เพราะว่าเรามีความรู้ พึ่งพาตัวเองได้ ไม่ได้อ่อนแอถึงขนาดต้องทำตามกระแส  

สามอย่างนี้มันทำให้รอด แต่ชาวนาส่วนใหญ่ไม่มีสักอย่าง พอประมาณไม่มี เหตุผลก็ไม่มี ภูมิคุ้มกันก็ไม่มี นอกจาก 3 ห่วงนี้ยังมี 2 เงื่อนไขเป็นร่มโพธิ์ คือ 1.ความรู้ ต้องรู้จริง ไม่ใช่รู้หลอกๆ เช่น รู้ว่าปุ๋ยมันเป็นยังไง ยาฆ่าแมลงเป็นยังไง อินทรีย์เป็นยังไง ตลาดเป็นแบบไหน ต้องรู้หมด  2.ต้องมีคุณธรรมด้วย ไม่โลภ ไม่ไปโกงเขา ขายปุ๋ย ขายยาเสียเอง ทั้งที่รู้ว่าไม่ดีแต่ก็ยังขายให้คนอื่น
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่