….พระเล่นการเมือง หรือว่า การเมืองเล่นพระ.../วัชรานนท์

กระทู้คำถาม
“หมอผี” คือผู้นำชุมชนในยุคแรก  นอกจากจะเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณ  หมอผียังมีบทบาทเป็นทั้งผู้ปกป้องและรักษา    ก็ต่อเมื่อศาสนพราหมณ์ค่อยๆ เข้ามาผู้นำชุมชนก็ถูกเปลี่ยนมือมาที่ “หมอพราหมณ์”  และคล้อยหลังไม่นานศาสนาพุทธเข้ามาอีก   จากนั้นบทบาทของผู้นำชุมชนก็ถูกแชร์ระหว่าง “หมอพราหมณ์” กับ “เจ้าอาวาส”      ต่อมา...เมื่อชุมชนต้องการขยายอาณาเขตของตัวเองขึ้นเรื่อยๆ   ก็เกิดผู้นำใหม่ขึ้นมาอีกในบทบาทหนึ่งคือบทบาทของนักรบ   กล่าวโดยย่อๆ เมื่ออาณาเขตกว้างขึ้นๆ ก็ถูกเรียกว่า “ราชอาณาจักร”  ส่วนศาสนา(ทั้งพุทธและพราหมณ์)ที่ดำรงอยู่กับชุมชนนั้นมาตั้งแต่ต้นก็เติบโตไปพร้อมๆ กับราชอาณาจักรและถูกเรียกว่า “ศาสนจักร”     แม้แนวทางทั้งสองอาณาจักรจะแตกต่างกันหรือที่เรียกว่า ฝ่ายหนึ่งเป็นโลกิยะอีกฝ่าคือโลกุตระ    แต่ดูเหมือนว่าทั้งสองอาณาจักรจะตัดกันไม่ขาด    เอาเฉพาะมุมมองส่วนตัวของผมนะครับ  ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ   แต่เป็นความตั้งใจของผู้นำทั้งสองอาณาจักรที่ตักตวงผลประโยชน์ให้กับฝ่ายตนนั่นเอง



เมื่อใดก็ตามที่การเมือง “ภายใน” ของอาณาจักรใดอาณาจักรหนึ่งคุกรุ่นขึ้นมา  เรามักจะเห็นการ “ยืมมือ” และ “ยื่นมือ" ของอีกอาณาจักรหนึ่งเข้าช่วยและเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายตน   อย่างกรณีพระเทวทัตเข้าไปปั่นหัวพระเจ้าอาชาตศรัตรูเพื่อกำจัดพระพุทธเจ้า และปูทางให้ตัวเองขึ้นปกครองคณะสงฆ์แทนพระพุทธเจ้า   หรืออย่างกรณีในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถส่งพระภิกษุขึ้นเชียงใหม่เพื่อไปบิณบาตรขอเมืองเชลียงจากพระเจ้าติโลกราชหลังจากที่สองเมืองสู้รบกันมาอย่างนาน    และที่เห็นได้ชัดเจนในสมัยปลายรัชสมัยกรุงธนบุรี   ถึงขั้นที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่มีความเห็นแยกเป็นสองฝ่าย  เช่นกรณีที่พระเจ้าตากนิมนต์พระราชาคณะเข้ามาถามว่าพระสงฆ์จะไหว้คฤหัสถ์ที่บรรลุโสดาบันได้หรือไม่  บางฝ่ายตอบว่าได้(เพื่อเอาใจพระเจ้าตาก)  บางฝ่ายตอบว่าไม่ได้   ปรากฏว่าฝ่ายที่ตอบว่าได้รอดตัวและได้ปูนบำเหน็จไป ส่วนฝ่ายที่ตอบว่าไม่ได้ก็ถูกลงโทษ    ต่อมาเมื่อสิ้นสมัยของพระเจ้าตาก   พระสงฆ์ที่เคยตอบว่าได้ก็ถูกลงโทษ   ส่วนพระสงฆ์ที่เคยตอบว่าไม่ได้ก็ได้ดี  เช่นนี้



ระยะหลังๆ พระเข้าไปเล่นการเมืองเองหรือการเมืองดึงพระออกไปเล่นเริ่มเด่นชัดขึ้น    อย่างเช่นกรณีการเกิดธรรมยุตินิกายที่ลุกลามใหญ่โตเกี่ยวโยงศาสนาจักรและราชอาณาจักรอีรุงตุงนังในสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบันนี้  สถานะของ “วัดราษฏร์” และ “วัดหลวง” คือร่องรอยและหลักฐานของปัญหาการเมืองภายในของศาสนจักร  แม้รัฐจะพยายามเข้าไปแก้ปัญหาแต่ก็ล้มเหลวและคาราคาซังอยู่ถึงปัจจุบัน  ปัญหาเรื่องนี้ลุกลามข้ามแม่น้ำโขงไปถึงฝั่งลาวและเกิดการแตกความสามัคคีในศาสนจักรของประเทศลาวด้วย    ก็ต่อเมื่อคอมมิวนิสต์เข้ามาปกครองปัญหานี้ก็ถูกกำจัดโดยสิ้นซาก  ประเทศลาวจึงกลับมานับถือนิกายเดียวและดั้งเดิมต่อไป   รวมไปถึงการตัดตำแหน่งพระราชาคณะชั้นนู้นชั้นนี้ออกไปอย่างมากมาย




๑. มีความเป็นไปได้ที่สงฆ์หรือคณะสงฆ์จะล้ำเส้นออกนอกศาสนจักรมาเล่นการเมืองแบบเปิดหน้า  เช่นกรณีพระพิมลธรรมอนันตปรีชานำไพร่พลออกมาแล้วปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าทรงธรรมในยุคอยุธยาตอนกลาง   หรือกรณีพระเจ้าฝางที่ตั้งก๊กตัวเองขึ้นหลังกรุงแตกครั้งที่สอง   รวมไปถึงพระครูธรรมโชติแห่งหมู่บ้านบางระจันด้วย  


๒.  มีความเป็นไปได้เช่นกันที่ฝ่ายรัฐจะล้ำเส้นออกนอกราชอาณาจักมาเล่นการเมืองในศาสนจักร   อย่างเช่นการสั่งลงโทษเฆี่ยนสมเด็จพระวันวัต วัดบางหว้าใหญ่เมื่อตอนต้นรัตนโกสินทร์    หรือการสั่งจับพระพิมลธรรม (วัดมหาธาตุ)เข้าคุกในยุคสฤษดิ์        หรือแม้กรณีการแต่งตั้งตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช  ที่ดูเหมือนว่าอำนาจการแต่งตั้งหรือตัดสินจะอยู่ในมือของฆราวาสไปเสียแล้ว


ทั้งสองกรณีข้างบน  ชี้ให้เห็นว่า  เมื่อหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอ่อนแอหรือหมดประโยชน์ในส่วนใดส่วนหนึ่งแล้ว  อีกฝ่ายหนึ่งจะไม่รีรอที่จะเข้าไปขยายอำนาจในส่วนนั้นๆ  อันนี้รวมไปถึงการดึงระบบการศึกษาที่วัดและคณะสงฆ์เคยมีบทบาทสูงในสังคมไทยมาเป็นร้อยๆ ปีมาไว้ในกำมือของรัฐ    ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้รัฐขยายอำนาจในการกำกับทิศทางและปลูกฝังแนวคิดของสังคมได้มากขึ้น


ปล.  ในอดีต  แคว้นสุโขทัยซึ่งเป็นแคว้นเล็กมากเมื่อเทียบกับประเทศไทยในปัจจุบัน  เคยมีคณะสงฆ์ถึงสามฝ่ายคือ  ฝ่ายอรัญญวาสี  ฝ่ายคามวาสี  และคณะสงฆ์วัดป่าแก้ว   แต่ไม่เคยปรากฏว่าคณะสงฆ์จะมีปัญหากระทบกระทั่งกันจนต้องยืมมือฝ่ายบ้านเมืองเข้ามาร่วมสกรัม   ทั้งศาสนจักรและราชอาณาจักรควรจะศึกษาตัวอย่างจากตรงนี้  


แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่