เจ้าสัวเจริยญฮุบ"อัมรินทร์ทีวี"หลักจากขาดทุนสะสมอย่างหนักมาหลายปี

กระทู้คำถาม
เด่นวันนี้
ข่าว จาก 100
26 พ.ย. 2559 06:00 น.

‘เสี่ยเจริญ’ฮุบช่องอมรินทร์ ‘ทีวีดิจิทัล’ระส่ำหนีขาดทุน/ดึงพันธมิตรร่วมหุ้น
“ฐากร” ยอมรับกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลประสบปัญหาขาดทุน ย้ำไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยกสทช.นัดถก 14 ธ.ค.หาช่องช่วยเหลือเชื่อ “กลุ่มวัฒนภักดี” หรือกลุ่ม “เจ้าสัวเจริญ”ซื้อหุ้น “อมรินทร์” ช่วยเสริมความแข็งแกร่ง

บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง(AMARIN) หนึ่งในผู้ให้บริการทีวีดิจิทัล แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ให้แก่บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ในราคาหุ้นละ 4.25 บาท รวมเป็นมูลค่า 850 ล้านบาท ทำให้ผู้ซื้อ (บริษัท วัฒนภักดี) เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 47.62 เพื่อนำเงินไปลงทุนเพิ่มในธุรกิจทีวีดิจิทัลและชำระค่าใบอนุญาต รวมทั้งชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เช่น การผลิตรายการโทรทัศน์ เป็นต้น

“จากการที่ในปัจจุบันภาวะอุตสาหกรรมธุรกิจทีวีดิจิทัลมีการแข่งขันสูง บริษัทจึงเห็นว่าการมีพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner)ที่มีความพร้อมด้านเงินทุนและมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงมีสถานะทางการเงินและสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มธุรกิจที่หลากหลายจะทำให้บริษัทได้รับเงินตามจำนวนที่ต้องการและยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจได้”

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ โดยอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น(Whitewash) ในการนี้ผู้ซื้อจะส่งบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการบริษัท ไม่เกิน 3 คน และไม่มีแผนที่จะเพิกถอนหุ้นของกิจการออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนใน ตลท. อีกทั้งยังไม่มีนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงแผนการบริหารจัดการ โครงสร้างองค์กร และโครงสร้างทางการเงินของกิจการอย่างมีนัยสำคัญ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) แสดงความเห็นกรณีที่ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด โดยนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี เข้าซื้อหุ้น บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นในอัตราส่วน 47.62% ว่า ปัจจุบันบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง บริษัทแม่ของ บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด หนึ่งในผู้ถือครองใบอนุญาตทีวีดิจิทัลของ กสทช. ในชื่อช่อง “อมรินทร์ทีวี”

ในกรณีดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนมือเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งตามเงื่อนไขสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากผู้รับใบอนุญาตยังเป็นบริษัท หรือนิติบุคคลเดิมอยู่ เพียงแต่หลังจากนี้ทางอมรินทร์ทีวี ต้องมีการแจ้งมายังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์(กสท.) ถึงการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย

นายฐากร กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่า การที่ตัวผู้ถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเปลี่ยนแปลงตัวผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่ว่าจะมาจากปัญหาขาดทุน หรือต้องการเพิ่มความแข็งแกร่งทางธุรกิจก็ตาม ถือเป็นเรื่องปกติทางธุรกิจ สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกอุตสาหกรรม จึงไม่ตื่นตระหนกแต่อย่างใด

“การที่ อมรินทร์ได้ คุณฐาปน หรือกลุ่มไทยเบฟ(บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ) มาเสริมความแข็งแกร่ง เชื่อว่าในส่วนของทีวี ส่วนตัวเห็นว่ากลุ่มตัวกล่าวค่อนข้างความเป็นมืออาชีพ และมีความสามารถด้านคอนเทนต์(รายการ) จึงน่าจะเข้ามาช่วยยกระดับด้านเรตติ้งและคอนเทนต์ในการนำเสนอผู้ชมได้ ฉะนั้นส่วนตัวจึงเห็นว่าในมุมธุรกิจหากได้พันธมิตรเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง คนได้ประโยชน์สุด ก็คือประชาชน ที่จะได้ชมรายการดีๆ มากขึ้นจึงอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เยอะๆ”

นายฐากร กล่าวว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่าการที่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง ขายหุ้นให้บริษัท วัฒนภักดี เนื่องจากขาดทุนอย่างหนักจากการประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ซึ่งกรณีการขาดทุนของผู้ประกอบการในขณะนี้ ทาง กสทช.ขอยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมที่จะช่วยเหลือในแง่มุมทางกฎหมายที่สามารถดำเนินการ โดยในการประชุมบอร์ด กสทช. วันที่ 14 ธันวาคม 2559 นี้ ก็จะมีการเสนอเรื่อง กสทช. อุดหนุนค่าเชื่อมต่อสัญญาณทีวีดิจิทัลขึ้นดาวเทียม แทนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่าย เป็นเวลา 3 ปี เพื่อเชื่อมต่อสัญญาณให้ประชาชนสามารถรับชมทีวีได้ผ่านทางทีวีดาวเทียม หรือเคเบิลทีวี

ก่อนหน้านี้ หรือในการประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาได้มีมติอนุมัติในหลักการแล้ว แต่บอร์ดได้ให้กลับไปทบทวนจำนวนเงินช่วยเหลือใหม่ จากที่บอร์ด กสท.เสนองบช่วยเหลือมาทั้งสิ้น 2,500 ล้านบาท หากบอร์ด กสทช. อนุมัติก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที และจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้



แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่